พลาสติกสำหรับโลกทุกวันนี้อาจถูกมองว่ารับบทเป็นขยะตัวร้าย แต่แท้จริงแล้วพลาสติกนั้นถูกออกแบบมาเพื่อรับบทฮีโร่ในการแก้ปัญหา แม้กระทั่งในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานให้นิยามของพลาสติกไว้ว่า ‘สารประกอบอินทรีย์ที่สังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้แทนวัสดุธรรมชาติ’

ทำไมพลาสติกถึงเป็นตัวร้าย

พลาสติกถูกสร้างขึ้นมาในศตวรรษที่ 18 โดย John Wesley Hyatt นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ต้องการหาวัสดุมาทำลูกบิลเลียดแทนงาช้าง พลาสติกมีคุณสมบัติยืดหยุ่น ทนทาน และราคาถูก ทำให้พลาสติกกลายเป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้ พลาสติกที่เรารู้จักกันดี เช่น Polypropylene (PP) อย่าง ฝาขวด อุปกรณ์การแพทย์ บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ ช้อนส้อมพลาสติก แก้วน้ำ Polyethylene (PE) อย่างขวดน้ำ ถุง เครื่องใช้ ของเล่น ท่อน้ำ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ Polyethtylene terephthalate (PET) อย่างขวดน้ำที่เราใช้กันบ่อยๆ

ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลายและต้นทุนในการผลิตต่ำ ทำให้พลาสติกกลายเป็นวัสดุยอดนิยมในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการนำมาทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาขยะในปัจจุบัน หนึ่งในทางออกของการจัดการขยะพลาสติกคือการรีไซเคิล แต่..กระบวนการรีไซเคิลนั้นเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องใช้พื้นที่ ทรัพยากร และการจัดการที่มีต้นทุนมหาศาล และที่สำคัญไม่ใช่พลาสติกทุกประเภทสามารถรีไซเคิลได้ แม้พลาสติกจะสามารถรีไซเคิลได้ การรีไซเคิลพลาสติกแบบอุตสาหกรรมมีต้นทุนสูง จึงทำให้มีพลาสติกขนาดเล็กจำนวนมากไม่ถูกนำไปรีไซเคิล เพราะไม่คุ้มทุน

อีกประเด็นคือ พลาสติกแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน และมีจุดหลอมเหลวไม่เท่ากัน สาเหตุที่พลาสติกบางชนิดรีไซเคิลไม่ได้ เพราะไม่สามารถหลอมเหลวครั้งที่สองได้ หรือบางชนิดสามารถหลอมเหลวได้เพียงสองครั้ง มากกว่านี้จะไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่คือ ชนิด PP เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่โรงงานรีไซเคิลไม่รับพลาสติกชนิดนี้ไปรีไซเคิล

ทุกปัญหามีทางแก้ (เพราะมีคนพยายามหาทางแก้) เสมอ

Dave Hakkens นักออกแบบชาวดัตช์ เห็นคุณค่าในพลาสติกและเข้าใจปัญหานี้ เขาลุกขึ้นมาตั้งสร้างเครื่องรีไซเคิลพลาสติกระดับครัวเรือน และก่อตั้ง Precious Plastic ออนไลน์คอมมูนิตี้สำหรับคนที่สนใจและอยากเริ่มรีไซเคิลพลาสติกด้วยตัวเอง Precious Plastic เริ่มต้นขึ้นในปี 2013 โดยมีสตูดิโอหลักอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ วางตัวเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ความรู้เรื่องพลาสติก พิมพ์เขียวเครื่องย่อยพลาสติกที่สามารถดาวน์โหลดเพื่อไปสร้างเองได้ และเทคนิคในการรีไซเคิลพลาสติก แบบฟรีๆ ที่ปัจจุบันมีเครือข่ายทั่วโลก

โมเดลการดำเนินโครงการแบบยั่งยืน

พลาสติกอายุยาวเท่าใด ปัญหาขยะพลาสติกย่อมยาวกว่านั้น (และแน่นอนว่ายาวกว่าอายุของคนๆ หนึ่ง) เดฟ จึงตั้งใจสร้างโปรเจกต์นี้ให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้ตัวเองด้วยโมเดลดังนี้

  • เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เน้นแชร์ความรู้ และวิธีการทำ (พิมพ์เขียว+แปลนสตูดิโอ) ให้คนไปทำเองได้มากกว่าการสร้างสินค้า
  • เป็นอิสระที่ไม่ขึ้นต่อแหล่งเงินทุน หรือการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ให้ดำเนินการด้วยคนในคอมมูนิตี้ที่สนใจในปัญหา ทำให้ดำเนินการโดยอาสาสมัคร 100 %
  • มีช่องทางสนับสนุน 2 ทาง คือ บริจาคเงิน กับ บริจาคสกิลและแรงงาน / บริจาคเพื่อสนับสนุนทีมงานในการทำวิจัยพัฒนาเครื่องย่อยพลาสติก การให้แรงงานคือการมาเป็นอาสาสมัครทำงาน สร้างโมเดลเครื่องย่อยขยะที่สตูดิโอ
  • กระจายอำนาจ เป็นศูนย์กลางเพียงส่วนการสร้างเครือข่ายออนไลน์ มีแผนที่โชว์ที่อยู่ของคนในคอมมูนิตี้ในประเทศต่างๆ และหน้าที่ เช่น คนที่มีเครื่องย่อยพลาสติก (Machine builders), คนที่สนใจ (want to get started), คนที่มีสถานที่ (work spaces) เป็นต้น เพื่อเน้นให้คนได้มาเจอกันและทำงานร่วมกันในประเทศของตัวเองได้ง่ายขึ้น

Precious Plastic ในประเทศไทย

กิจกรรมหลักๆ ของ Precious Plastic ตอนนี้ คือ หนึ่ง เเจกพิมพ์เขียวเครื่องย่อยและเครื่องสับพลาสติกพร้อมแปลนสตูดิโอ ที่สามารถดาวน์โหลดสร้างได้เองที่บ้านเลย สอง เป็นแหล่งรวบรวมเทคนิคและวิดีโอสาธิตวิธีการรีไซเคิลต่างๆ ที่เป็นคอนเทนต์จากทีม PP เองและวิดีโอจากทางบ้าน สาม ทำแผนที่เครือข่ายสมาชิกสมาชิกที่กระจายตัวกันทั่วโลก นอกจากนั้น ส่วนล่าสุดคือ Bazar ซึ่งเป็นออนไลน์มาร์เก็ต เพื่อเชื่อมผู้ซื้อและผู้ผลิต คนที่อยากสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากเครื่องรีไซเคิลพลาสติก รวมไปถึงการซื้อขายเครื่องย่อยพลาสติกและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย ปัจจุบัน Precious Plastic มีเครือข่ายทั่วโลก ทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และ ล่าสุดประเทศไทย!

ตอนนี้ ในประเทศไทยมีเครื่องย่อยพลาสติกอยู่สองที่ ได้แก่

เชียงใหม่: โดยคุณโบและคุณเป เจ้าของแบรนด์ BOPE ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องตัดและหลอมพลาสติกเครื่องแรกในประเทศไทย ทั้งสองเริ่มต้นจากการสนใจปัญหาขยะพลาสติก ขายเศษพลาสติกบวกกับพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะ จึงนำมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะเหล่านี้ ผลิตภัณฑ์ของที่นี่เป็นกระถางต้นไม้ กระเบื้อง ที่รองแก้ว และอื่นๆ เครื่องย่อยพลาสติกนี้สามารถย่อยและหลอม PP ได้ คุณเปแนะนำวิธีการทดสอบ คือนำไปลอยน้ำ ถ้าลอย แปลว่าสามารถนำมาหลอมในเครื่องได้ ถ้าไม่ลอย คือหลอมไม่ได้

สนใจติดตามผลงานและผลิตภัณฑ์ได้ที่ www.facebook.com/bopeshopcm

2 กรุงเทพฯ: Precious Plastic Bangkok อีกกลุ่มที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาพลาสติก และกำลังออกแบบผลิตภัณฑ์น่ารักๆ จากการรีไซเคิลฝาขวดน้ำ ล่าสุดพวกเขานำผลงานไปจัดแสดงที่ Bangkok Design Week โดยสามารถติดตามกิจกรรมจากกลุ่มได้ที่ www.facebook.com/PreciousPlasticBKK

Precious Plastic เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าพลาสติกนั้นมีค่ามากกว่าจะกลายเป็นขยะตัวร้าย หากเรารู้วิธีการจัดการและนำไปใช้อย่างเหมาะสม และสำหรับปัญหาพลาสติกที่ดูจะเป็นเรื่องระยะยาว คำถามอาจไม่ใช่ขยะพลาสติกจะอยู่บนโลกนี้ไปนานเท่าไหร่? หรือ เราจะจัดการขยะพลาสติกอย่างไร? แต่อาจเป็น ทำไมเราถึงเลือกใช้วัสดุที่มีอายุเป็นร้อยปี มาสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานเพียงไม่กี่นาที?

https://preciousplastic.com

ขอบคุณภาพถ่าย: BOPE เชียงใหม่