หากพูดเรื่องปัญหาขยะ การรีไซเคิลน่าจะเป็นทางออกแรกๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง แต่จากสถิติกลับพบว่า มีการรีไซเคิลเพียง 17% ในนิวยอร์ก* 34.3 % ใน US** และ 20% ในประเทศไทย*** เท่านั้น
ทำไมตัวเลขรีไซเคิลถึงต่ำ? จากการสัมภาษณ์เพื่อทำทีสิสส่วนตัวของเรา พบว่าคนส่วนใหญ่แม้รู้จักการรีไซเคิล แต่ยังมีความสับสนและมีคำถามมากมาย เช่น รีไซเคิลคืออะไร? ทิ้งขยะใส่ถังรีไซเคิลแล้วไปไหน? เบอร์บนพลาสติกคืออะไร? โรงงานแยกขยะอย่างไร? หลอดหรือช้อนส้อมพลาสติก รีไซเคิลได้ไหม? เราต้องล้างขวดก่อนทิ้งไหม? และอีกมากมาย เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีคำถามเหล่านี้เหมือนกัน
เราเลยลุยไปหาคำตอบที่ Sims Municipal Recycling Facilities หรือ SMR (ต่อไปนี้จะขอเรียกอย่างย่อว่า Sims) Sims เป็นบริษัทเอกชนสัญชาติออสเตรเลีย ที่เริ่มต้นจากกิจการ metal recycling ก่อนจะขยายกิจการไปยังยุโรป และมาสู่ municipal recycling ในอเมริกา
ศูนย์กลางในการแยกขยะรีไซเคิลแห่งนิวยอร์ก
Sims ได้รับสัมปทานในการแยกขยะรีไซเคิลของเมืองนิวยอร์ก เป็นศูนย์กลางในการแยกขยะรีไซเคิล อันประกอบด้วยพลาสติก แก้ว โลหะ (plastic glass metal) หรือพูดง่ายๆ ว่า ขยะที่ถูกทิ้งใส่ถังรีไซเคิลสีน้ำเงิน และถังขยะข้างถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐทั้งหมด จะถูกส่งมาคัดแยกที่นี่เพื่อส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลต่างๆ ซึ่งในแต่ละปีมีขยะจำพวกนี้มากถึง 200,000 ตัน
Recyclarium ศูนย์การเรียนรู้เรื่องรีไซเคิล
ไม่ได้แค่ทำหน้าที่แยกขยะ แต่ที่นี่ยังมี Recyclarium หรือ The Recycling Education Center ศูนย์การเรียนรู้เรื่องการรีไซเคิลสำหรับเด็กประถม ซึ่งผู้ใหญ่อย่างเราก็สามารถสนุกไปด้วยได้ เพื่อให้ความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์และการรีไซเคิล
ที่ The Recycling Education Center เป็นการจำลองเทคโนโลยีต่างๆ ที่ Sims ใช้ในการแยกขยะมาให้เห็นกันทีละขั้นตอนแบบจับต้องได้ โดยแบ่งเป็น 5 สเตชั่นในการเดินดู
Station 1: Your Stuff
ส่วนนี้จะเล่าเรื่องที่มาของวัสดุต่างๆ กว่าจะมาเป็นพลาสติก หรือกล่องกระดาษที่เราใช้กันนั้นทำมาจากอะไรบ้าง ใช้ทรัพยากรไปเท่าไหร่ และสถิติการใช้ในปัจจุบัน
Station 2: You Get Rid of It
ส่วนนี้จะเน้นเรื่องวิธีการแยกขยะอย่างไร มีอะไรบ้างที่เราสามารถนำมารีไซเคิลต่อได้และไม่ได้ รวมทั้งยังได้เห็นการเดินทางของขยะที่เราทิ้งลงถังรีไซเคิล ก่อนจะมาถึงมือ Sims
Station 3: Sims Sorts It
ส่วนนี้คือการจำลองกระบวนการและเทคโนโลยีในการแยกขยะของ Sims มาให้เห็นกันทีละขั้น โดยเราสามารถทดลองเล่นได้อีกด้วย
Station 4: Drop It Off
ให้ความรู้เกี่ยวกับขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลที่นี่ได้ แต่สามารถนำไปที่อื่นได้
Station 5: Industries Use It
ส่วนสุดท้ายที่ฉายภาพให้เห็นว่าขยะของเราสามารถรีไซเคิลไปเป็นอะไรได้บ้าง และปิดท้ายด้วยโอกาสในการทำงานและตำแหน่งต่างๆ ในวงการนี้
หลังจากนี้ ก็ถึงเวลาที่เราจะได้เข้าไปชมโรงแยกขยะของจริงที่ยิ่งใหญ่อลังการสุดๆ
กระบวนการแยกขยะสุดอลังการของ Sims
กระบวนการหลักของที่นี่ คือ รถขนขยะจะได้รับการชั่งน้ำหนักบริเวณทางเข้า แล้วนำขยะมาเทรวมกันในห้องแรก (The tipping floor) โดยส่วนนี้จะมีน้ำเข้ามาทางด้านหลังเพื่อทำความสะอาด → ตักเข้าสายพานและยกขึ้นไปยัง The Liberator ซึ่งจะเป็นเครื่องสับเพื่อให้ของหลุดออกจากถุงพลาสติกย่อยๆ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการแยกตามสายพาน → จุดที่หนึ่ง Disc screen คือการแยกด้วย ขนาดและรูปร่าง ซึ่งจุดนี้จะมีแผ่นเหล็ก spin เพื่อให้แก้วแตก และใช้ตะแกรงที่มีรูขนาด 2.5 นิ้ว เพื่อกรองเศษแก้วออก ซึ่งพวกหลอด ฝาขวด ช้อนส้อม จะถูกกรองออกไปที่จุดนี้ไปด้วย → ต่อมาคือ Drum Magnet แยกด้วยแม่เหล็ก เพื่อเอาเหล็กและอลูมิเนียมออก → Optical scanner (กล่องสีส้ม) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นในอเมริกา หลักการทำงานคล้ายๆ ระบบ Photo recognition แต่ละตัวจะโฟกัสที่กระดาษและพลาสติกที่ต้องการ ซึ่งพลาสติกแยกตามเบอร์บนฉลากรีไซเคิลนั่นเอง เจ้าเครื่องนี้สามารถแยกได้ 100,000 ชิ้นต่อนาที → คัดแยกด้วยมือ เป็นขั้นตอนตรวจสอบความเรียบร้อย สำหรับพลาสติกที่ไม่มีฉลากระบุและบางชนิดที่อาจหลุดรอดมา → อัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ส่งไปขายต่อให้กับโรงงานรีไซเคิล ระหว่างทางถุงพลาสติกจะถูกคัดออกและส่งไปแลนด์ฟิลด์ กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 2 – 10 นาที และขยะสามารถแยกได้ถึง 14 ประเภทเลยทีเดียว
Sam Silver เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา ยังเล่าเกร็ดเสริมให้เราฟังอีกว่า
- การล้างขวดหรือไม่ ไม่มีผลต่อกระบวนการแยก เพราะที่นี่ก็จะมีการล้างก่อนเข้าสายพานอยู่แล้ว แต่การล้างนั้นจะดีต่อคนแยกเอง เพราะขยะจะได้ไม่เน่าและส่งกลิ่นเหม็นในถังขยะของเรา
- เราจำเป็นต้องแยกขยะที่มีแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบออก นับเป็น E-waste เพราะแบตเตอรี่จะเสียดสีและทำให้เกิดประกายไฟในระบบนี้ได้
- ขยะที่คนเข้าใจผิดและส่งมามากที่สุด คือ ลูกโบว์ลิ่ง
- เครื่องจักรในการแยกขยะเกือบทั้งหมดได้รับการพัฒนามาจากฝั่งยุโรป โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์และเยอรมัน เนื่องจากไม่มีแลนฟิลด์ (พื้นที่ฝังกลบขยะ)
- ขยะที่ไม่ชอบมากที่สุด คือ ถุงพลาสติก เพราะมันจะบินไปติดในเครื่องทำให้เครื่องขัดข้อง และถุงใส่อาหาร เพราะจะทำให้เครื่องเหนียวเลอะเทอะ
หัวใจของการรีไซเคิล คือการแยกประเภท ตราบใดที่ของชนิดเดียวกันอยู่ด้วยกัน มันจะสามารถนำไปผลิตเป็นสิ่งใหม่ได้เรื่อยๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะสามารถรีไซเคิลได้ประมาณ 12 ครั้ง แต่มันคือ การ downgrade ของที่ได้จะมีคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ เช่น จากขวดน้ำกลายเป็นกระดาษทิชชู่ (ใช่ค่ะ กระดาษทิชชูสีน้ำตาลที่เราใช้กันนั้น ก็ทำมาจากพลาสติก!)
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าเทคโนโลยีการแยกขยะจะก้าวหน้าไปมากแค่ไหน แต่ขยะเหล่านั้นจะไม่สามารถมาถึงจุดแยกขยะนี้และไม่มีโอกาสไปรีไซเคิลต่อได้เลย ถ้าเราไม่แยกใส่ถังมาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้น ปัญหาขยะสามารถเริ่มแก้ที่ตัวเราได้ด้วยการแยกขยะตั้งแต่วันนี้
แต่อย่าลืมว่า การรีไซเคิลคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในกระบวนการคัดแยกและผลิตยังจำเป็นต้องใช้น้ำและทรัพยากรจำนวนมาก ทางที่ดีที่สุดคือการที่เราลดการใช้ขยะให้น้อยลงนะคะ
ที่มาข้อมูล:
* www.grownyc.org/recycling/facts
**https://archive.epa.gov/epawaste/nonhaz/municipal/web/html
***https://en.wikipedia.org/wiki/Waste_management_in_Thailand
ภาพถ่าย: Parppim Pim