หากใครมีโอกาสได้มานิวยอร์ก น่าจะเคยได้เห็นคนเดินถือถุงที่เต็มไปด้วยขวดน้ำและกระป๋อง เคยสงสัยไหมคะว่าเขาเก็บไปทำไม? ได้เงินเท่าไหร่? คุ้มไหม? เก็บไปที่ไหน?

Chuyao เพื่อนสาวชาวจีน และ Ishita เพื่อนสาวชาวอินเดียของเราเดินตามความสงสัยนี้ และหยิบเอาหัวข้อนี้ไปเป็นธีสิสค่ะ เราเลยได้มีโอกาสไปร่วม ‘Walking tour with your local recycler’ ร่วมกับพวกเธอ ซึ่งทัวร์นี้จะพาเรารู้จักกับคนเก็บกระป๋องหรือที่เรียกว่า canners และไปสำรวจ ‘Sure We Can’ คอมมูนิตี้ของกลุ่มคนเก็บกระป๋องกันให้มากขึ้น

ภาพรวมของระบบการรีไซเคิลขวดของที่นิวยอร์ก ที่นี่ไม่ได้ใช้การชั่งกิโลขายแบบบ้านเรา แต่จะมี 2 ระบบ แบบแรกคือ ‘Container Deposit Legislation’ หรือ ‘Bottle bills’ คือนโยบายเพื่อกระตุ้นอัตราการรีไซเคิลที่บังคับใช้ 24 รัฐในอเมริกา โดยบริษัทน้ำดื่มและผู้บริโภคต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ ด้วยการจ่ายค่ามัดจำ 5 เซ็นต์ต่อขวดน้ำและกระป๋องหนึ่งใบ ซึ่งเราจะได้เงินคืนเมื่อนำขวดไปคืนตามจุดรับต่างๆ และค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้จะรับผิดชอบโดยโรงงานน้ำดื่มนั้นๆ

ส่วนแบบที่สองคือ ระบบเทศบาล เราจะต้องแยกประเภทขยะ ขวดและกระป๋องใส่ถังสีน้ำเงิน รัฐจะส่งรถมาเก็บขยะรีไซเคิลและส่งต่อไปยังโรงแยกขยะเพื่อขายเป็นกิโลกรัมให้โรงงานรีไซเคิลต่อไป ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในส่วนนี้จะรับผิดชอบโดยรัฐทั้งหมด

ศูนย์รวมขวดและกระป๋อง

Sure we can คือศูนย์กลางรวบรวมขวดและกระป๋องแห่งใหญ่ที่สุดของเขตบรูกลิน ดำเนินการแบบองค์กรไม่แสวงผลกำไร ปีนี้องค์กรก็จะอายุครบ 10 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือและสนับสนุนคอมมูนิตี้ของแคนเนอร์ (Canners) หรือคนเก็บขวดและกระป๋อง ซึ่งนอกจากจะเป็น recycling center ยังเป็น community space และ sustainability hub ที่ทำเรื่องการจัดสวนและงานศิลปะอีกด้วย

ขั้นตอนการทำงานของที่นี่คือเป็นศูนย์รวม คัดแยก และส่งต่อ โดยมีพื้นที่ให้เหล่าแคนเนอร์ได้ทำความสะอาดและแบ่งยี่ห้อของขวดและกระป๋อง ก่อนจะแพ็กใส่ถุงรอโรงงานมารับ โดยจะเป็นถุงแบบพิเศษ เมื่อใส่ถึงเส้นที่กำหนดจะเท่ากับ 144 ใบต่อถุง ช่วยลดเวลาในการนับ และอย่างที่เล่าไปตอนแรกว่ากระป๋องพวกนี้อยู่ในระบบรับซื้อคืนโดยโรงงานที่ผลิต เมื่อโรงงานมารับซื้อคืนจากที่นี่จะจ่ายให้กระป๋องละ 7.5 เซ็นต์โดย Sure We Can จะเก็บค่าดำเนินการกระป๋องละ 1 เซ็นต์ และแคนเนอร์จะได้ 6 เซ็นต์ ถ้าพวกเขาคัดแยกยี่ห้อ แต่ถ้าไม่คัดแยกมา ที่นี่จะจ่ายให้แค่ 5 เซ็นต์แล้วทีมงานและอาสาสมัครจะเป็นคนจัดการต่อ

ออกไปเก็บขวดกับแคนเนอร์

ทีนี้ก็ได้เวลาที่เราจะได้ลองไปเก็บขวดกันบ้าง ไกด์ของเราในวันนี้คือ ปิแอร์ แคนเนอร์ที่ทำงานแบบไม่เต็มเวลา เขาทำตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 11 โมงเช้า เฉพาะในเขตบรูกลิน จะได้ประมาณ 35-50$ ปิแอร์แอบกระซิบให้ฟังว่าช่วงเวลาที่พีคสุดคือ ตี 4 เพราะบาร์ต่างๆ จะปิดและเอาขวดมากองทิ้งหน้าร้าน แถมยังเป็นเวลาที่แคนเนอร์คนอื่นๆ ไม่ค่อยออกมา ก็คือมีคู่แข่งน้อยนั่นเอง และจะได้เยอะมากในแมนฮัตตัน แถมยังบอกด้วยว่า “คุณจะไม่มีวันอดตายในแมนฮัตตัน” โดยแต่ละคนก็จะมีรถเข็นหรือไม้หาบส่วนตัวเพื่อขนถุงใส่ขวดค่ะ

ปิแอร์อธิบายต่อว่า เทคนิคสำคัญคือต้องเลือกขวดที่ผลิตหรือรับซื้อคืนในนิวยอร์กเท่านั้น ถ้ามาจากรัฐอื่น เมืองอื่น ก็จะไม่มีค่า จะไม่สามารถขึ้นเงินได้ ส่วนใหญ่ของรีไซเคิลจะต้องใส่อยู่ในถุงพลาสติกใส หรือเก็บจากถังขยะริมถนน แต่บางทีก็ต้องเปิดแล้วรื้อถุงดำ มารยาทที่สำคัญคือ เปิดแล้วต้องปิดให้เหมือนเดิม และแน่นอนว่ามันก็ต้องมีเรื่องตื่นเต้น ปิแอร์เล่าว่าสิ่งที่สยองที่สุดที่เคยเจอก็คือ ศพ! แต่นั่นไม่ใช่ส่ิงที่เขากลัวที่สุดค่ะ สิ่งที่เขาไม่ชอบที่สุด คือ แก้ว เพราะมันแตกง่าย บาดมือ อันตราย และมีน้ำหนัก จึงมักจะเลือกเก็บกระป๋องและขวดน้ำมากกว่า

ในวงการแคนเนอร์ มีทั้งคนที่ทำเป็นอาชีพแบบจริงจังและคนที่ทำเป็นงานอดิเรก รายได้จากการเก็บขวดนับว่าไม่น้อย บางคนสามารถทำได้ถึงวันละ 70$ แต่ถ้านับเป็นรายชั่วโมงจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5$ เท่านั้น (100 ขวด) ซึ่งไม่มากพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน มีประกันสุขภาพ หรือมีความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานในมหานครแห่งนี้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเลือกได้พวกเขาย่อมอยากมีอาชีพที่มั่นคงกว่านี้ แต่นี่คือสิ่งที่พวกเขาเลือกแล้วจากตัวเลือกที่มี อย่างน้อยมันคือเงินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาเอง

ด้านมืดของงานเก็บกระป๋อง

ในความจริงแล้วการเก็บขวด ถือว่าผิดกฎหมาย นับว่าเป็นการขโมยของค่ะ (แต่ก็ไม่ได้มีการจัดการหรือจับอย่างจริงจัง) ส่วนกองขวดและกระป๋องที่ถูกจัดหมวดหมู่นับแสนใบที่แคนเนอร์เก็บมาไว้ที่ Sure We Can อาจทำให้ใจฟูว่ามันกำลังจะได้รีไซเคิล ในทางตรงกันข้าม มันคือปริมาณขวดที่เก็บสะสมไว้นานเป็นเดือนและโรงงานไม่สนใจที่จะมารับคืนต่างหาก

ฉู่เหยา เพื่อนของเรามาเก็บข้อมูลและทำรายงานที่นี่กว่า 7 เดือน เธอเล่าให้เราฟังว่า ที่นี่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและรัฐก็พยายามจะสั่งปิดด้วยซ้ำ แถมยังประสบปัญหาเรื่องการดีลกับโรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อสู้กันมานานเพราะโรงงานไม่สนใจมารับ คือต้องโทรไปตาม ทำให้บางครั้งก็ไม่สามารถหมุนเงินให้แคนเนอร์ได้ ด้วยความที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่นี่ทำได้เพียงออกเป็นคูปองแล้วให้แคนเนอร์นำมาขึ้นเงินเมื่อโรงงานมารับซื้อคืนแล้ว

ปัญหายังมีอีก ทั้งขวดกระป๋องเหล่านี้กินพื้นที่ในการเก็บ ไม่สามารถทับแบนได้ เนื่องจากโรงงานต้องเช็คตราบริษัทและสถานที่ผลิต ระบบนี้จึงสร้างปัญหาให้ทั้งสองฝ่าย ที่นี่ก็ไม่มีพื้นที่จัดเก็บและมีปัญหาเรื่องความสะอาด แมลง หนูในหน้าร้อน ฝั่งโรงงานเองก็ไม่อยากวิ่งรถมารับเพราะมันกินพื้นที่ในการคนส่ง เสียทั้งค่ารถและเสียเงินในการซื้อคืน ต่างจากระบบรีไซเคิลของเทศบาลซึ่งบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไร

สุดท้ายแล้วเรื่องของแคนเนอร์ก็ยังเป็นเส้นเบลอๆ หากจะพูดกันเรื่องความถูกต้อง แต่หากจะมองอีกมุมนอกจากแคนเนอร์จะเป็นนักเก็บขวด นี่คือนักแยกขยะและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของเมือง เป็นคนที่ทำงานหนักแต่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ ในสังคม

วัตถุประสงค์ของ Walking with your local recycler ครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การมาเรียนรู้วิธีการเก็บขวด แต่ยังพาเรามาตั้งคำถามว่า พวกเราจะสามารถสู้กับอำนาจที่มองไม่เห็นและเดินไปด้วยกันกับนักรีไซเคิลเหล่านี้ได้อย่างไร เช่นกันกับที่เราอยากเล่าเรื่องเทาๆ เหล่านี้ให้ทุกคนฟัง เพราะปัญหาเรื่องขยะไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม และไม่ใช่เรื่องของคนแค่กลุ่มเดียวค่ะ

ที่มาข้อมูล:

http://www.surewecan.org/
https://untappedcities.com/2018/04/06/join-a-walking-tour-in-a-hidden-recycling-hub-with-local-recyclers/

ภาพถ่าย: Parppim Pim