เหมือนกับที่เรื่องของรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ได้กลายมาเป็นแนวคิดในการประเมินผลกระทบกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ที่ถูกจุดขึ้นเมื่อปี 2000 หลังจากไม่นาน ในปี 2002 แนวคิดเรื่องรอยเท้าน้ำ (Water Footprint) ก็เกิดขึ้นตามมา โดยศาสตราจารย์ Arjen Hoekstra แห่งองค์การ UNESCO-IHE

วอเตอร์ฟุตพรินต์เป็นดัชนีชี้วัดปริมาณน้ำจืดที่ใช้ในทางตรงและทางอ้อมของผู้บริโภคหรือผู้ผลิต ซึ่งมีผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยจะคำนวณจากการใช้น้ำตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตสินค้าหรือบริการ ว่าปริมาณน้ำที่ใช้ไปและปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกมามีอยู่เท่าไร ซึ่งเขามีการแบ่งประเภทของวอเตอร์ฟุตพรินต์ออกไว้ถึง 6 ชนิดด้วยกัน คือ วอเตอร์ฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ วอเตอร์ฟุตพรินต์ของธุรกิจ วอเตอร์ฟุตพรินต์ของประเทศ วอเตอร์ฟุตพรินต์ของผู้บริโภค วอเตอร์ฟุตพรินต์ของชุมชน และวอเตอร์ฟุตพรินต์ทางภูมิศาสตร์

ส่วนการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์ผ่านสูตรการคำนวณ นอกจากจะดูปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตทั้งหมดแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงแหล่งน้ำที่นำมาใช้ด้วยอีก 3 ประเภท คือ Blue Water ที่น้ำจากแหล่งธรรมชาติทั้งผิวดินและใต้ดิน, Green Water คือน้ำที่อยู่ในรูปความชื้นในดิน และ Gray Water ซึ่งเป็นน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต และตัวแปรที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดจะถูกนำมาคิดคำนวณ

อย่างเช่นบริษัทผลิตชีสในประเทศเช็กได้ทำประเมินก็พบว่าผลิตภัณฑ์ชีส Gran Moravia 1 กิโลกรัม มีค่าวอเตอร์ฟุตพรินต์เท่ากับ 2.097 ลิตรต่อชีส 1 กิโลกรัม จากการใช้น้ำในหนึ่งวงรอบการผลิต คือน้ำสีเขียว 1944 ลิตร น้ำสีฟ้า 72 ลิตร และน้ำสีเทา 78 ลิตร

จริงอยู่ว่าเรื่องการวัดวอเตอร์ฟุตพรินต์เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นนานแล้ว แต่ไม่ได้รับการพูดถึงสักเท่าไรเพราะเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะถูกชี้ไปที่เรื่องการปล่อยคาร์บอนมากกว่า แต่ที่เราอยากหยิบเรื่องนี้มาเล่าในเวลานี้ เพราะตอนนี้ภาคธุรกิจที่สนใจและให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวอเตอร์ฟุตพรินต์ด้วย ซึ่งธุรกิจที่ผ่านการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์ จะได้รับการรับรองและสามารถมีฉลาก Water Footprint แสดงบนตัวผลิตภัณฑ์ได้ ก็จะช่วยจูงใจผู้บริโภคสายยั่งยืนที่พร้อมจะยืนอยู่ข้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยินดี

วอเตอร์ฟุตพรินต์เป็นกลไกที่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกเหตุผลหนึ่งที่เรื่องวอเตอร์ฟุตพรินต์ควรได้รับการพูดถึง คือพยากรณ์ที่บอกว่า ปีนี้โลกเราจะเจอกับปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่จะทำให้เกิดความร้อนแล้งกินเวลานาน และปัญหาการขาดแคลนน้ำย่อมเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพิงน้ำเป็นหลัก และวอเตอร์ฟุตพรินต์จะเป็นกลไกที่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อลดการใช้น้ำให้น้อยลงขณะเดียวกันก็เป็นการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตอนนี้เราใช้น้ำกันมากน้อยแค่ไหน McKinsey & Co. บริษัทท็อปทรีของการให้คำปรึกษาธุรกิจให้ข้อมูลว่า ปี ๆ หนึ่งโลกเราใช้น้ำ 4,500 พันล้านลูกบาศก์เมตร และได้พยากรณ์ว่า ในปี 2030 โลกเราจะใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นเป็น 6,900 พันล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะเดียวกัน องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรก็ร่วมกันนำพาประเด็นนี้ไปสู่การจัดการ ไม่ว่าจะ UNESCO, องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF), บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC), สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) หนึ่งในนั้นคือการผลักดันให้เกิดฉลากวอเตอร์ฟุตพรินต์ในภาคธุรกิจ ที่จะช่วยบ่งบอกความใส่ใจกับการใช้น้ำของเจ้าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสะท้อนถึงการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ถึงตอนนี้ วอเตอร์ฟุตพรินต์เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายธุรกิจในหลายประเทศ อย่างโคคาโคล่าในกลุ่มประเทศยุโรป ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปลีกแปรรูป หรือผลิตภัณฑ์พาสต้าที่พิจารณาตั้งแต่การปลูกพืชคือข้าวสาลี กระบวนการผลิต การบรรจุ การขนส่ง ตลอดจนการปรุงอาหาร

ค่าของวอเตอร์ฟุตพรินต์บนฉลากแสดงถึงความจริงใจและเปิดเผยการใช้น้ำ เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

ค่าของวอเตอร์ฟุตพรินต์บนฉลากที่แสดงถึงความจริงใจและเปิดเผยการใช้น้ำ เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องการใช้ทรัพยากร ที่ไม่ได้มีผลแค่พลเมืองในประเทศนั้น ๆ แต่ยังมีผลต่อการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศที่ใช้มาตรการทางภาษีมาเป็นเครื่องมือในการผลักดันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะในอเมริกากับยุโรปที่มีนโยบายสนับสนุนการนำเข้าสินค้าที่ผ่านการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์

เรื่องนี้ประเทศไทยไม่ได้ตกขบวน เพราะสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ก็ได้ส่งเสริมธุรกิจเพิ่มคุณค่าสินค้าด้วยฉลากวอเตอร์ฟุตพรินต์เช่นกัน และมีหลายกลุ่มธุรกิจที่ชูภาพลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตนเองแล้ว เช่น ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจเกษตร

โดยเฉพาะธุรกิจเกษตรซึ่งมีภาพความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำโดยตรงในการผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว แปรรูป มีการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อลดค่าวอเตอร์ฟุตพรินต์ด้วยการทำเกษตรแม่นยำ หรือทำเป็นสมาร์ตฟาร์ม ที่หากสามารถควบคุมและลดการใช้น้ำลง และควบคุมน้ำเสียในกระบวนการผลิตได้ ก็ใช้เป็นแนวทางในการผลิตที่ยั่งยืนได้ และหากต้องการมีฉลากเพื่อแสดงจุดยืนของการเป็นผู้ผลิตที่ใส่ใจเรื่องน้ำ เพื่อยกระดับสินค้า ขยายกลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเพิ่มมูลค่าไปสู่การส่งออก จะต้องขอการรับรองวอเตอร์ฟุตพรินต์ ที่สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งยึดหลักมาตรฐานสากล ใช้พื้นฐานการประเมินวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน และการกำจัดเศษซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน

เป็นอีกครั้งที่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าเรื่องน้ำหรือเรื่องอื่น ๆ เครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้และเกิดทางออกได้เสมอ คือแก้ปัญหาด้วยกลไกทางเศรษฐกิจ เพราะการใช้ทรัพยากรทุกอย่างบนโลกนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างแยกจากกันไม่ได้ของการผลิตและการบริโภค และเราทุกคนมีส่วนในการช่วยให้โลกดีขึ้นหรือแย่ลงในทุกวัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

ภาพประกอบ: missingkk

ที่มาข้อมูล:
www.waterfootprint.org/water-footprint-2/frequently-asked-questions
www.theguardian.com/sustainable-business/water-footprinting-local-issue
http://fic.nfi.or.th/waterfootprint/index.php/component/content/article/79-studybasic/75-footprint23
http://fic.nfi.or.th/waterfootprint/index.php/label-wf
https://waterfootprint.fti.or.th/page/view/certified_factory?page=2&search=true&province=all&type=all&area=all&estate=all&year=all