ชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติได้ ช่างเป็นชีวิตที่มีความสุข อาหารและวิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อไรก็ตามที่ธรรมชาติแวดล้อมดีอาหารจะดี ทริปกินของ Slowfood ได้เดินทางสู่จังหวัดพัทลุง อำเภอควนขนุน เพื่อหาคำตอบว่าทำไมจังหวัดนี้จึงรุ่มรวยเรื่องอาหารที่มีรสอร่อยขนาดนี้ โดยมี ปุ้มปุ้ย จริยา ชูช่วย สาวนักเขียนชาวพัทลุง ผู้ตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ กลับมาทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนที่พัทลุงบ้านเกิด โดยพาหนะที่เรานั่งเป็นรถสองแถววินเทจครึ่งเหล็กครึ่งไม้ของลุงแขก ซึ่งทำหน้าที่รับใช้ชาวอำเภอควนขนุนมากว่าครึ่งศตวรรษ  และคำตอบที่เราค้นพบก็คือ เบื้องหลังวัตถุดิบอาหารชั้นเลิศที่หลากหลายรวมถึงภูมิปัญญาแห่งปากศิลป์นั้น คือ Wetland หรือพื้นที่ชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดอย่าง “ทะเลน้อย” นั่นเอง 

เราใช้เวลาที่ควนขนุนมากพอสมควร เพราะรู้สึกหลงรักทะเลน้อย ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า Wetland เป็นพื้นที่เชื่อมเรื่องสภาพแวดล้อม ความอยู่ดีกินดีของผู้คน และความยั่งยืน เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่สำคัญในการมีอยู่ของระบบนิเวศ พื้นที่ชีวิตของพืชและสัตว์ที่หลากหลาย ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อการอยู่รอดของมนุษย์ 

Wetland (พื้นที่ชุ่มน้ำ) ทำหน้าที่เหมือนไตที่กรองระบบน้ำในร่างกาย และร่างกายของโลกเรานี้กำลังเสื่อมโทรมลง

ถ้าเปรียบโลกนี้เป็นร่างกาย Forrest (ป่าเขา) ทำหน้าที่เสมือนปอดที่ฟอกอากาศ Wetland (พื้นที่ชุ่มน้ำ) ทำหน้าที่เหมือนไตที่กรองระบบน้ำในร่างกาย และร่างกายของโลกเรานี้กำลังเสื่อมโทรมลง พื้นที่ป่าถูกทำลายและลดจำนวนลงทุกปี พื้นที่ชุ่มน้ำก็เช่นกัน 50% ของพื้นที่ชุ่มน้ำบนโลกนี้ถูกทำลายลง โลกจึงต้องประชุมเพื่อหาทางรักษา Wetland บนโลกนี้ไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม จนเป็น Ramsar Convention (อนุสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อความยั่งยืน) โดยที่ประเทศไทยมี Ramsar Site อยู่ 15 พื้นที่ (พื้นที่ชุ่มน้ำที่รายชื่อขึ้นทะเบียนอยู่กับ Ramsar) โดยทะเลน้อย พัทลุงเป็น Site แรกของไทยที่ขึ้นทะเบียนและเป็นลำดับที่ 948 ของโลก 

ทะเลน้องพัทลุงเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงแม้จะมีพื้นที่เล็กเมื่อเที่ยบกับ Wetland อื่นอื่นของไทย ใน Ramsar Site (ประมาณ 480 ตารางกิโลเมตร หรือ 17,500 ไร่) แต่ความสมบูรณ์หลากหลายของพืชและสัตว์ไม่ได้เป็นรองเลย เพราะระบบเต็มไปด้วยนาข้าว ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ทะเลน้อยที่มีพืชน้ำปกคลุม มีสัตว์ตั้งแต่แมลง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด นกทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพกว่า 287 ชนิด ประมาณว่า ช่วงมกราคมถึงเมษายน ที่มีนกอพยพหนีหนาวมารวมกับนกประจำถิ่น โดยจะมีนกในทะเลน้อยกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นตัว อย่างเช่น นกจับแมลงตะโพกเหลือง เป็นหนึ่งในนกอพยพทางไกลที่ใช้ จ.พัทลุง เป็นทางทางผ่าน เป็นนกที่เรามีโอกาสพบได้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง 

ทะเลน้อย เป็นทางผ่านในการอพยพลงไปยังประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งนกเหล่านี้มักจะหยุดพักเพื่อหาอาหาร และเพื่อสะสมพลังงานเป็นเวลาสั้น ๆ นอกจากนี้ นกขนาดเล็กหลายชนิดจะอพยพเป็นฝูงในเวลากลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงศัตรูและประหยัดแรง (กลางวันคงร้อน) การมีนกเยอะเป็นความน่ายินดีของธรรมชาติ เพราะสิ่งมีชีวิตที่ปลูกป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นหาใช่งาน CSR ของมนุษย์ แต่เป็นนกที่ปินอยู่บนฟ้าต่างหาก เพราะนกกินผลไม้บินไปถ่ายไป มูลนกที่ตกลงดินในสภาวะที่เหมาะสม ต้นไม้จะขึ้นมา เพราะธรรมชาติจะทำหน้าที่ของเขาเอง 

ทริปนี้เรายังได้ไปนอนบ้านของ พี่หนุ่ม ศุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ (เจ้าของ Wetland Camp) ชมรมดูนก ปากประ ทำให้ได้เห็นว่าคลองปากประเป็นลำน้ำที่ไหลลงมาจากเขา โดยที่ไม่ค่อยได้ผ่านที่อยู่อาศัยของมนุษย์ พื้นที่ตรงนั้นจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำขนาดเล็กมากมาย เราจึงมองออกไปเห็นเครื่องมือจับปลาอย่าง “ยอ” เต็มไปหมด พี่หนุ่มบอกว่าการใช้ยอคือการจับสัตว์น้ำที่ยุติธรรมที่สุด ตัวไหนว่ายผ่านจังหวะยกยอพอดีก็ไม่ได้ไปต่อ ยกทีนึงได้ปลาเต็มเลย พื้นน้ำตรงนั้นจะอุดมสมบูรณ์ขนาดไหน ปลาที่เจอมากเป็น ปลากะตักใหญ่ (Indian anchovy)

ระบบบำบัดน้ำเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่ต่ำที่สุด

อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของ Wetland คือการกรองน้ำ ที่เป็นของเสียมาจากแผ่นดินดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น โดยพื้นน้ำทั้งหลายในทะเลน้อย และพืชน้ำเหล่านี้มีมากมายหลากหลายชนิด โดยพระเอกของทะเลน้อยคือต้นกระจูด ชาวบ้านดึงขึ้นมาจากหนองน้ำด้วยมือเอากลับบ้านตากให้แห้งเอามาสานเป็นภาชนะ เหมือนกระเป๋ากระจูดผลิตมาจากการกรองคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Sinks) ยังยืนกว่านี้หาไม่มีแล้ว ระบบบำบัดน้ำเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่ต่ำที่สุด เมื่อเที่ยบกับระบบบำบัดน้ำเสียใดใดที่มนุษย์สร้างขึ้น (เครื่องฟอกไตในโรงพยาบาล จะดีเท่า ไตในร่างกายเรา ได้อย่างไร) เราจึงมีต้นทุนแค่ดูแลรักษา Wetland ให้เหมือนเราดูแลไตเรา

Wetland ยังทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลาก ช่วยกักเก็บน้ำส่วนเกินและค่อยค่อยคายออกมาเมื่อฤดูร้อนที่ขาดฝน (มีสถานะเหมือนแก้มลิง) โดยพืชพุ่ม ผักน้ำ ต้นไม้น้ำ ช่วยชะลอการไหลบ่าที่รุนแรงและช่วยเติมน้ำกลับเข้าสู่ระบบน้ำใต้ดิน (Ground Water Recharge)

Wetland คือสถานที่พักพิงและอนุบาลพืชและสัตว์น้ำที่สำคัญ ความหลากหลายทางชีวภาค (Biodiversity) เป็นของคุ่กับพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะเป็นแหล่งอาหารและแหล่งพักพิง พอเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหญ้าก็จะขึ้นเยอะ พัทลุงจึงมีควายน้ำ เวลาน้ำลงพวกควายก็กินหญ้า พอน้ำท่วมและผืนน้ำปกคลุมดิน พวกควายน้ำก็ว่ายไปกินพืชน้ำได้ 

นอกจากควายน้ำ พัทลุงยังเป็นเมืองแห่งวัว เพราะมีหญ้าตามธรรมชาติผืนใหญ่ไม่มีวันหมดสิ้นงอกมาให้วัวกินตลอด เราเห็นวัวในทุกที่ของพัทลุง โดยธรรมชาติเวลาวัวอยู่กันเยอะ ๆ จะเกิดการต่อสู้กันตามธรรมชาติ เพราะสิ่งมีชีวิตก็จะแย่งชิงกัน 3 อย่าง คือ แย่งชิงอำนาจ วัวตัวผู้จะชนกันเพื่อแย่งกันเป็นจ่าฝูง แย่งชิงผลประโยชน์ วัวตัวผู้ก็ชนกันเพื่อแย่งชิงทุ่งหญ้าและอาหาร และสุดท้ายคือแย่งผู้หญิง วัวตัวผู้ก็ชนกันเพื่อแย่งวัวตัวตัวเมีย ธรรมชาติใช้สิ่งนี้เพื่อคัดแยกสายพันธุ์ที่แข็งแรง สำหรับคนนอกมองว่าเป็นการทรมานสัตว์ แต่คนในพื้นที่รักและผูกพันกับวัวมาก เห็นได้จากภาพชินตาขณะนั่งทานข้าวเช้า เราก็จะเห็นคนพาวัวออกมาวิ่ง (เหมือนนักมวย) ตัวไหนสู้เก่งก็จะมีลักษณะที่แข็งแรง มีสร้อยคอสวยงาม มีขมิ้นและสมุนไพรพอกที่เขา และพวกมันจะสวมใส่รองเท้าสำหรับวัว สมเป็นเมืองแห่งวัวชน

เห็นไหมว่า Wetland ทำหน้าที่กำหนดการตั้งชัยภูมิที่เหมาะสมของเมือง เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เมืองใหญ่ที่มีแหล่งอาหารอยู่ใกล้ (มี local food) จะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก 

เราแทบจะเรียก Wetland ว่า Wonderland ได้เลยเพราะพื้นที่ชุ่มน้ำนี่เป็นพื้นที่ที่สร้างสมดุลให้กับโลกใบนี้ 

จากที่เขียนมานี่เราแทบจะเรียก Wetland ว่า Wonderland ได้เลยเพราะพื้นที่ชุ่มน้ำนี่เป็นพื้นที่ที่สร้างสมดุลให้กับโลกใบนี้ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Wetland ถูกบุกรุกและทำลายจากการขยายพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และการขยายตัวของพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรม สรุปว่ามนุษย์เป็น Big Bad Wolf ของการทำลาย Wetland ถ้าปัญหาเกิดจากมนุษย์ เราก็ต้องแก้ที่มนุษย์ นอกจากนักวิทยาศาสตร์หรือนักสิ่งแวดล้อมที่เขาทำหน้าที่ดูแลรักษา Wetland กันอยู่ แล้วมนุษย์ธรรมดาตาดำ ๆ อย่างเราทำอะไรได้บ้าง ? คำตอบคือ ทำได้แน่นนอนเพราะธรรมชาติแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน สิ่งกรีน ๆ ที่ทุกคนทำได้เลยคือการสร้างนิสัยที่ดี เช่น ลดการใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นเคมี (เพราะทุกอย่างไหลลงแหล่งน้ำ) ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) พกกระบอกน้ำ พกกล่องใส่อาหาร ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ใช้ภาชนะครั้งเดียวทิ้งที่สามารถย่อยสลายได้หรือใช้วัสดุที่สามารถ Recycle ได้จริง ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ 

หากมีโอกาส มะเป้งแนะนำว่าคุณควรพาตัวเองไปสัมผัสประสบการณ์ชีวิตในพื้นที่ Wetland (ไปอย่างเคารพและไม่สร้างผลกระทบในพื้นที่) สักครั้ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำให้กับตัวเอง และส่งต่อความตระหนักรู้นี้สู่คนรอบตัวที่เรารัก สนับสนุนสินค้าและบริการของผู้คนที่ทำงานเรื่องการรักษา Wetland เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยรักษา Wetland และนั่นก็คือการรักษาโลกใบนี้

ขอขอบคุณ
– ปุ้มปุ้ย จริยา ชูช่วย (สาวพัทลุง ผู้หลงรักงานหัตกรรมและทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน)
– พี่หนุ่ม ศุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ (นักดูนก เจ้าของ Wetland Camp)