หลายคนคงเคยได้ยินกันว่าสัตว์ในทะเลกินถุงพลาสติกเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุน หรือข่าวน้องพะยูนมาเรียมที่พบพลาสติกอุดตันลำไส้เล็ก และไม่ใช่แค่สัตว์ในทะเลเท่านั้นที่ได้รับอันตรายจากขยะในทะเล แต่ยังมีนกทะเล (seabird) สิ่งมีชีวิตที่มีการค้นพบว่ากินพลาสติกมากที่สุดในบรรดาสัตว์ทะเลทุกชนิดในโลก และวาฬน้ำลึก เช่น วาฬหัวทุย (sperm whale) วาฬนำร่อง (pilot whale) และกลุ่ม beaked whales ที่ปกติอาศัยและหากินอยู่ใต้ทะเลลึกกว่า 1,600 ฟุต กลับเป็นสิ่งมีชีวิตที่มาเกยตื้นตายพร้อมพลาสติกเต็มท้องมากขึ้นทุกวัน
โดย UNESCO ได้ประมาณการว่ามีสิ่งมีชีวิตในทะเลกว่า 100,000 สายพันธุ์ เสียชีวิตเพราะพลาสติก โดยสาเหตุหลักมาจากการเข้าใจผิดคิดว่าขยะพลาสติกเป็นอาหาร ทำให้สัตว์ทะเลกินเข้าไป จนพลาสติกเข้าไปอุดตันลำไส้ สะสมในกระเพาะอาหารไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้รู้สึกอิ่มแต่ขาดสารอาหารหรืออาหารเป็นพิษ หรือเศษพลาสติกเข้าไปบาดอวัยวะภายใน เป็นเหตุให้เสียชีวิต ไปจนถึงการสะสมของไมโครพลาสติก ที่อาจส่งผลให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติ และค้างอยู่ในร่างกายส่งต่อมายังคนได้อีกด้วย
แต่ไม่ใช่แค่ถุงพลาสติกเท่านั้นที่เป็นฆาตกร ยังมีขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ ทั้งขวด คอนเทนเนอร์ ฝาขวด ก้นกรองบุหรี่ และเศษพลาสติกอีกจำนวนมากที่พบในซากของสัตว์ทะเล
ทำไมนกทะเลถึงกินพลาสติก ทั้งที่นกก็น่าจะกินหนอนกินข้าวโพด แล้วไหงหิวจนตาลายไปกินเอาฝาขวดน้ำได้ล่ะ แล้วทำไมพลาสติกที่ลอยน้ำถึงไปอยู่ในท้องวาฬที่หากินใต้ทะเลลึกได้
ทำไมสัตว์ทะเลถึงกินพลาสติก? จึงเป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามหาคำตอบ
ทำไมนกถึงกินพลาสติก
นกทะเล (seabird) เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินพลาสติกมากที่สุดในบรรดาสัตว์ทะเลทุกชนิดในโลก แล้วรู้หรือไม่ว่า นกไม่ได้กินพลาสติกเพราะเห็นผิดเป็นแมงกะพรุน แต่กินเพราะพลาสติกกลิ่นเหมือนปลาต่างหาก!
นกทะเลจัดเป็นสัตว์สายทะเล พวกมันจึงไม่ได้กินหนอนกินพืชเหมือนนกชนิดอื่นบนบก แต่กินปลาเป็นอาหารหลัก ท้องทะเลจึงเป็นเหมือนห้องครัวขนาดใหญ่ และเจ้านกพวกนี้จะอพยพย้ายถิ่นฐานทุกปี นก Shearwaters เป็นนกทะเลสายพันธุ์หนึ่ง นิสัยของพวกมันมักบินข้ามจากเกาะรังทางตอนเหนือมุ่งหน้าไปทางใต้ตามชายฝั่งตะวันตกของทวีปยุโรปและแอฟริกาเหนือ เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตในฤดูร้อนอันอบอุ่นตลอดทั้งปี พวกมันจึงย้ายที่อยู่กว่าแปดครั้งในหนึ่งปี และเดินทางกว่า 40,000 ไมล์ข้ามฟากโลก
นักวิจัยพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมการย้ายถิ่นของเจ้านกพวกนี้ให้มากขึ้น โดยการทดลองจับนกมาแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกไม่ทำอะไรเลย กลุ่มที่สองติดกล่องที่ใส่แม่เหล็กไว้เพื่อรบกวนไม่ให้นกรับรู้ตำแหน่งด้วยสนามแม่เหล็กโลก กลุ่มที่สามใส่สารเคมีที่ทำให้นกไม่ได้กลิ่น แล้วพาทั้งสามกลุ่มนั่งเรือห่างจากรังของมันออกไป 500 ไมล์ เพื่อทดสอบว่านกกลุ่มไหนจะกลับบ้านได้ก่อนกัน
ผลการทดลองพบว่า นกสองกลุ่มแรกสามารถบินตรงกลับรังได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่กลุ่มที่สามนั้นกระจัดกระจาย พวกมันใช้เวลากว่าสัปดาห์กว่าจะกลับมาที่เดิม การทดลองนี้ทำให้พบว่า นกย้ายถิ่นและรู้ทิศทางจากการดมกลิ่น แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ พวกมันไม่ได้ตามกลิ่นกลับมาที่รัง แต่กลิ่นช่วยให้พวกมันรู้ว่ามันอยู่ที่ไหน เหมือนมีแผนที่ทะเลอยู่ในหัว และรู้ว่าควรจะบินไปที่ไหนเพื่อหาอาหาร
ซึ่งกลิ่นที่มีผลสำคัญต่อนกคือ สาร dimethyl sulfide (DMS) ซึ่งปล่อยมาจากแพลงก์ตอนพืช เมื่อแพลงตอนพืชเหล่านี้โดนแพลงตอนสัตว์มากิน ก็จะปล่อยสารนี้ออกมา กลิ่นนี้จึงเป็นสัญญาณของอาหารอันโอชะ เพราะที่ใดมีแพลงตอนสัตว์ กุ้งจิ๋ว ปลาจิ๋ว ที่นั่นย่อมมีปลาใหญ่มาคอยกิน และเจ้านกก็ตามไปกินปลานั่นเอง
ปัญหาคือเมื่อขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล เวลาผ่านไปจะเริ่มมีแพลงตอนสาหร่าย algae มาเกาะและทำให้มันมีกลิ่น DMS ดึงดูดสัตว์ในทะเลมาล้อมวงกินอาหาร
และนี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมนกทะเล รวมถึงปลาบางชนิดจึงกินพลาสติก พวกมันไม่ได้หิวจนตาลาย แต่เพราะพวกมันกินอาหารจากการดมกลิ่น เลยคิดว่าพลาสติกที่มีสาหร่ายเกาะเป็นปลานั่นเอง และเพราะพวกมันมีนิสัยย้ายถิ่นฐานตามแหล่งอาหารด้วยการดมกลิ่น ก็เลยหนีไม่พ้นพลาสติก
วาฬใต้ทะเลลึกมาเจอกับพลาสติกลอยน้ำได้อย่างไร
มาต่อกันที่วาฬ วาฬบางสายพันธุ์หากินใต้ทะเลลึกที่มืดสนิท การเข้าใจผิดว่าเป็นแมงกะพรุนจึงไม่ใช่สาเหตุของวาฬกลุ่มนี้
แต่ในใต้ท้องทะเลลึกที่มองไม่เห็น วาฬกลุ่มนี้ใช้เสียงสะท้อนในการหาอาหาร (echolocation) ส่งคลื่นเรดาร์และโซนาร์ไปกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น เพื่อคำนวณทิศทางจากเสียงสะท้อน (วิธีเดียวกับสัตว์ที่หากินตอนกลางคืนอย่างค้างคาวหรือโลมา)
ส่วนพลาสติกที่เหมือนจะลอยน้ำ เมื่อเวลาผ่านไป มีสาหร่ายและแพลงก์ตอนมาเกาะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น และค่อยๆ จมลงใต้น้ำนั่นเอง นอกจากนั้นพลาสติกยังทำปฏิกิริยากับเเสงแดด ทำให้แตกสลายกลายเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งเคยมีการค้นพบเศษพลาสติกขนาดเล็กใต้ผิวน้ำทะเลลึกกว่า 7 ไมล์ จึงเกิดการเข้าใจผิดและกินพลาสติกนั่นเอง
นอกจากนั้น วาฬบางชนิดที่หากินและขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ก็กำลังอยู่ในอันตราย เพราะการขึ้นมาหายใจและรับอาหารเข้าไปของมันในหนึ่งครั้งนั้น อาจเก็บเอาเศษขยะปนไปกับอาหารได้ถึง 10-30% และเสี่ยงต่อการสะสมในร่างกาย และวาฬอีกกลุ่ม (Baleen whales) ที่แม้ว่าพวกมันจะมีตัวกรองอาหาร หรือบางตัวมีฟันและช่องคอที่แคบเพื่อกรองให้กินได้เฉพาะสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ก็กำลังหนีไม่พ้นเศษพลาสติกและไมโครพลาสติก
คำถามสำคัญต่อจากนี้คือ ทำไมเราถึงยังมีขยะพลาสติกมากมายในทะเล
จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2559 พบว่าขยะที่พบมากที่สุดในทะเลคือ ถุงพลาสติก 15,850 ชิ้น (คิดเป็น 38% ของขยะทั้งหมดที่พบ) รองลงมาคือ หลอด ฝาขวด และเศษเชือก ตามลำดับ และจากข้อมูลสถิติที่เปิดเผยเมื่อปี 2561 พบว่าเมื่อปี 2558 ไทยติดอันดับ 6 ของประเทศผู้ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด นอกจากนั้นสถานการณ์ขยะทะเลในไทยยังพบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดทั้งหมด 11.47 ล้านตัน ซึ่งกําจัดไม่ถูกต้อง 1.55 ล้านตัน
นอกจากนั้นมูลนิธิสืบนาคะเสถียรพบว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (ปี 2546–2560) พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 3,702 ตัว
จากผลการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง พบว่ามีสัตว์เกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 54% โลมาและวาฬ 41% และพะยูน 5% โดยขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกยตื้น
และสาเหตุหลักของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากการทิ้งขยะจากชุมชน นักท่องเที่ยว การประกอบอาชีพทางทะเล และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมจากบนบกกว่า 80% การกำจัดขยะที่ขาดประสิทธิภาพ การเพิ่มขึ้นของขยะจากการบริโภค และความมักง่ายของการทิ้งขยะไม่เป็นที่
ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องช่วยกัน ลด ละ และเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งส่งเสริมการทิ้งขยะให้เป็นที่และการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเรา เพื่อโลก เพื่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
เราจะลดปริมาณขยะในทะเล และช่วยชีวิตสัตว์ทะเลได้อย่างไร คงเป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบ
*ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องขยะพลาสติกกับนกทะเลได้ด้วยคีย์เวิร์ด Midway Island หรือสารคดี Midway a Plastic Island
ที่มาข้อมูล
www.nationalgeographic.com/seabird
www.nationalgeographic.com/dms
www.nationalgeographic.com/whales
www.seub.or.th
เครดิตภาพ: Shutter Stock