เวลาที่เราได้ยินใครๆ ต่างเรียกชายหนุ่มวัย 30 กว่าๆ อย่าง วิโรจน์ ปลอดสันเทียะว่าน้าโรจน์ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเขาถูกเรียกขานด้วยตำแหน่งน้องของแม่ได้อย่างไร

จนกระทั่งได้รู้ว่า เขาคือน้าโรจน์ของเหล่าเด็กๆ นักเรียนวัยอนุบาลและชั้นประถม ที่มาเรียนรู้วิชาธรรมชาติผ่านกลีบบางของดอกไม้ สีเขียวของผักรสขม และวิธีเปลี่ยนธรรมชาติรอบตัวให้กลายเป็นเมนูมื้ออร่อย รวมทั้งเป็นคนบ่มเพาะความรู้ ความเข้าใจ และความรักในธรรมชาติให้กับเด็กๆ ผ่านห้องเรียนกลางแปลงผักสวนครัวมาหลายต่อหลายปี และผ่านการทำงานเรื่องการพึ่งพาตัวเองมาเป็นจำนวนนับหลักสิบปี

การศึกษาทำให้เราลอยตัวอยู่เหนือสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ให้เราห่างจากต้นไม้ ให้เราห่างจากสายลมแสงแดด ให้เราห่างจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ผมเลยอยากจะให้เด็กๆ ลองกลับมาอยู่กับธรรมชาติ ลองมาอยู่กับสิ่งรอบๆ ตัวที่เกิดขึ้น ได้ยินเสียงนกร้อง เวลาเงยหน้ามองฟ้าเห็นก้อนเมฆก็จะชวนให้เขาหยุดดู ให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความเชื่อมโยงกับโลกมากขึ้น

ผมอยากชวนให้เด็กๆ รู้ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลก โลกนี้ยังมีสิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้เราเป็นเราได้ในปัจจุบัน

นั่นคือความตั้งใจของน้าของนี้ผ่านบทบาทและชีวิตของเขา

วิชาปู่ ตำรายาย และคลาสเรียนธรรมชาติในวัยเด็ก

วิโรจน์บอกว่าวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติเป็นสิ่งที่เขาเจอะเจอมาตั้งแต่เด็ก เขาเกิดที่สระบุรี มีตายายอยู่ที่สุรินทร์ แม้ว่าพ่อแม่จะเข้ามาทำงานและพาเขามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แต่ทุกๆ ปิดเทอม เขาจะได้ไปอยู่กับปู่ย่าหรือตายายสลับกันไป

พื้นที่สระบุรีกับนครราชสีมาก็จะมีพื้นที่ติดกัน ปู่ของผมมีเชื้อสายไทยโคราชอยู่ และยังมีลักษณะการใช้ชีวิตที่เหมือนกับคนไทยสมัยก่อน มีการปลูกข้าว และในพื้นที่ที่ปลูกข้าวก็จะต้องมีข้าวหลายพันธุ์ด้วยนะ อย่างเช่นต้องมีข้าวเหนียวไว้สำหรับงานบุญ เราต้องห่อข้าวต้มมัดหรือต้องทำข้าวหลาม ทำขนมไปถวายพระในงานบุญต่างๆ ส่วนขนมจีนก็ต้องมีข้าวอีกพันธุ์หนึ่งที่แข็งหน่อย ไม่ค่อยมียางมาปลูกไว้ เพราะใช้ครกไม้ตำแป้งทำขนมจีนได้เส้นที่ดี ส่วนข้าวที่กินประจำวันก็จะมีแยกไว้เหมือนกันโรจน์เล่าถึงธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกันผ่านครอบครัวที่เติบโตมา

นอกจากได้วิ่งเล่นในทุ่งนา เขายังได้เรียนรู้วิธีหาของป่าแบบคุณปู่ชาวไร่ ได้วิชาประดิษฐ์เครื่องใช้ไม้สอยอย่างกระบุง ตะกร้าจักสาน และของเล่นพื้นบ้านจากวัสดุธรรมชาติรอบตัวที่ปู่ทำไว้ใช้สอย ได้เข้าคลาสกับคุณตาซึ่งเป็นหมอยาพื้นบ้าน ได้เห็นวิธีการรักษาโรคแบบคนสมัยก่อน และได้เรียนรู้การเข้าครัวผ่านคุณย่าคุณยายนักปรุง

วิโรจน์เล่าว่า ทั้งย่าและยายมักจะชวนเขาและลูกๆ หลานๆ ที่มาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่หัดทำอาหาร เรียนรู้วัตถุดิบ และได้รู้จักรสชาติที่หลากหลายของอาหารพื้นถิ่นมาตั้งแต่จำความได้ และอีกสิ่งที่แตกต่างจากเด็กวัยเดียวกัน คือวิโรจน์ไม่ได้เริ่มต้นเรียนชั้นอนุบาลด้วยซ้ำ ห้องเรียนของเขาคือการวิ่งเล่นไปมาในทุ่งกว้าง แต่ผู้ใหญ่ในบ้านจะสอนเขาเรื่องการใช้ชีวิตผ่านธรรมชาติรอบตัว

ตอนเด็กๆ คุณยายจะชวนดูว่ากลีบดอกไม้ใบไม้แต่ละชนิดมันมีลักษณะอย่างไรบ้าง เช่นดอกไม้บางอย่างมี 5 กลีบ บางชนิดมี 8 กลีบเป็นเลขคู่ ฐานกลีบเป็น 6 เหลี่ยม

สมัยเด็กๆ ไม่ได้เริ่มเรียนด้วยการจับดินสอ บ้านต่างจังหวัดจะเป็นลานกว้างๆ แล้วเป็นลานดินลานทราย ก็เรียนรู้เรื่องต่างๆ ด้วยการเขียนลงบนลานทรายนั่นแหละครับวิโรจน์เล่ายิ้มๆ ก่อนจะเฉลยว่าวิธีเรียนแบบนั้น ถูกจดจำและนำมาใช้เมื่อเขาได้เป็นน้าโรจน์ของเด็กๆ ในเวลาต่อมา ทั้งที่ในวันวัยแบบนั้น เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความฝันของตัวเองคืออะไร 

ฝันที่อยากกลับบ้านตั้งแต่ออกจากบ้าน

เขาเรียนตามลำดับไหล่มาเรื่อยๆ และเอนทรานซ์ได้ที่คณะมนุษยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 จึงไม่ได้ไปเรียนที่นั่น เลยมาเลือกเรียนเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในคณะรัฐศาสตร์ เพราะการได้ไปอยู่ต่างจังหวัดและเห็นความหลากหลายของแต่ละชุมชน ทำให้เขาเริ่มปรับแต่งความฝัน ด้วยการเรียนรัฐศาสตร์และมุ่งมั่นจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด และเป็นเด็กกิจกรรมที่ชอบไปออกค่ายและเดินทางไปในหลายๆ ท้องถิ่น

ความรู้สึกตอนเด็กๆ ก็คือทุกปิดเทอม เราไม่อยากกลับเข้ากรุงเทพฯ ตอนที่แม่ขับรถออกมา ก็จะเหลียวไปดูบ้านตาหรือบ้านปู่จนสุดสายตา จนโตก็ยังจำได้ว่าเราอยากจะอยู่อย่างนั้น อยากอยู่กับธรรมชาติ อยากใช้ชีวิตเกี่ยวกับท้องถิ่นที่ตัวเองเคยอยู่

ตอนทำค่ายอาสาตามที่ต่างๆ เราเริ่มไปทำแปลงผัก ไปสอนเด็ก ไปทำงานหลายๆ เรื่องครับ สิ่งที่ได้เห็นคือการเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ระหว่างรุ่นเรากับเด็กรุ่นใหม่ที่โตมา แม้จะห่างกันแค่ประมาณ 10 กว่าปีเองนะ แต่เราเห็นว่าในหลายครั้ง เรารู้สึกว่าเขาไม่ค่อยมีสมาธิหรือจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ค่อยนิ่งเหมือนเราตอนที่เป็นเด็ก และก็ได้เห็นว่าในแต่ละท้องถิ่นมีทรัพยากรดีๆ เยอะมาก แต่ว่ายังไม่สามารถต่อยอดผลผลิตที่อยู่รอบๆ ตัวได้” 

หลังเรียนจบ วิโรจน์ได้ทำงานกับสำนักวิจัยเอแบคโพลอยู่หลายปี เนื้องานเป็นการวิจัยที่ต้องออกไปต่างจังหวัด ลงพื้นที่แทบทั่วประเทศ เติบโตในสายงานตามสมควร แต่นั่นก็ทำให้เขาต้องกลับมานั่งโต๊ะประจำอยู่ในกรุงเทพฯ  และเริ่มชัดเจนว่าการอยู่กับที่อาจไม่ใช่สิ่งที่ใช่ 

และนั่นคือจุดที่เขาหาเจอว่าชีวิตต้องการอะไร

กลับมาเรียนรู้และสร้างการเรียนรู้อีกครั้ง

หลังเห็นประกาศมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนาที่รับเจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์ที่สวนผักบ้านคุณตา เขาก็ตั้งใจเบนเข็มอาชีพ แล้วเข้าไปทำงานและเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องของการปลูกพืชผัก องค์ความรู้ต่างๆ ของการพึ่งพาตนเอง ทั้งการทำสบู่ การทำอาหารแปรรูปต่างๆ เลยรวมไปถึงวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้เริ่มทำงานในฐานะวิทยากรที่ถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้มา

เขาทำงานในฐานะวิทยากรอยู่ 2-3 ปี และเริ่มชัดเจนว่าความฝันก้อนใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมา คือใช้วิธีการและองค์ความรู้ก้อนเดียวกันนี้ไปสอนเด็กๆ จนกระทั่งได้รู้จักกับป้าหน่อย (พอทิพย์ เพชรโปรี) แห่ง Health Me Organic Way ที่ชักชวนไปช่วยงาน ทั้งงานในร้านที่ได้เห็นกระบวนการผลิตอาหารที่ดีกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้เรียนรู้การสอนเด็กๆ อย่างเข้าใจธรรมชาติของพวกเขา 

และนั่นทำให้เขาได้เริ่มเป็นน้าโรจน์ของเด็กๆ ขึ้นมาจริงๆ

หลักสูตรของยาย วิธีของป้า สู่หลักการของน้าโรจน์

รอบๆ บ้านเราก็จะมีแปลงผัก ย่าก็จะตั้งโจทย์ว่าวันนี้ย่าจะทำส้มตำให้กิน ก็จะบอกลูกหลานรวมถึงผมด้วยว่า ให้วิ่งไปหาผักที่จะมากินกับส้มตำแล้วอร่อย เราก็วิ่งไปเก็บยอดผักต่างๆ ไปเก็บผักที่ย่าปลูกไว้รอบๆ บ้าน มันเป็นกิจกรรมที่สนุก และทำให้สนใจที่จะเรียนรู้ หรือบางทียายจะทำเมนูแกงเขียวหวาน หรือต้มยำ เราก็จะถูกใช้ให้วิ่งไปหาวัตถุดิบต่างๆ มันก็เลยทำให้เรามีพื้นฐานในเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ แล้วก็การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผ่านฤดูกาล ผ่านช่วงเวลาต่างๆ เช่นยายก็จะสอนว่าฤดูฝนมีหน่อไม้ มียอดผักต่างๆ เกิดขึ้น ฤดูหนาวมีสะเดา มันก็หมุนเวียนผ่านการใช้ชีวิตร่วมกับปู่ย่าตายายน่ะครับเขาเล่าถึงวัยเด็กให้ฟังเป็นฉากๆ ทาบทับกับหน้าที่ปัจจุบัน ที่กำลังถ่ายทอดสิ่งเดียวกันนี้ให้กับเด็กๆ ในเมืองที่อาจไม่มีบ้านนอกให้กลับไปใช้ชีวิตช่วงปิดเทอม

ถ้าโรงเรียนมีความต้องการให้สอนเกี่ยวกับเรื่องอาหาร แต่ว่าต้องเชื่อมโยงกับหลักวิทยาศาสตร์ เราก็จะดึงเอาวิทยาศาสตร์มาอ้างอิงกับอาหารที่เรากิน อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงของสีของพืชผักต่างๆ เมื่อเจอความเป็นกรดเป็นด่าง ก็จะชวนให้เด็กมารู้จักกับหลักวิทยาศาสตร์พวกนี้ด้วยครับ แล้วก็มีการเชื่อมโยงวิชาศิลปะบ้างครับ เอาตอนที่ยายสอนมาใช้ อย่างเช่น การพาเด็กดูดอกไม้ใบไม้ จำนวน นับเลข ดูความสมมาตร ศิลปะของใบไม้แต่ละชนิดด้วยครับ แล้วก็จะมีงานภาพพิมพ์จากใบไม้ กิ่งไม้ต่างๆ

เราพยายามบูรณาการวิชาต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกันกับธรรมชาติให้มากที่สุด

โรจน์บอกว่าลักษณะการทำงานร่วมกันระหว่างพื้นที่เรียนรู้และโรงเรียน คือโรงเรียนจะตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้เด็กมาเรียนรู้อะไร เช่นเดียวกับที่เขาจะเสนอไปว่าในช่วงนี้ ฤดูนั้นเหมาะกับการทำกิจกรรมใดด้วย 

บางกิจกรรมที่เราเสนอไปอย่างเช่น การย้อมผ้า เด็กๆ อยากเรียนรู้เรื่องของวิทยาศาสตร์กับสีจากธรรมชาติ เราก็ชวนเด็กมาย้อมผ้าจากแก่นฝางบ้าง จากดอกดาวเรือง จากดอกอัญชัน ก็ชวนเด็กๆ มาทดลองสนุกกัน แล้วก็ชวนให้เขาคิดตามอย่างเป็นระบบอย่างรอบด้านมากขึ้น

ยากไหม ก็ยากครับ แต่ไม่ได้อัดความรู้แน่นๆ ลงไปในคราวเดียว กิจกรรมบางอย่างก็อาจจะมีการละลายพฤติกรรมก่อน ชวนพาเดินดูสวน พาเที่ยวแล้วก็ให้เขาเห็นความแตกต่างหลากหลายของธรรมชาติในแปลงผักก่อนครับ แล้วเราก็ดูความต้องการของเด็กแต่ละคน พอเราทำจริงๆ เราก็จะเห็นว่าเด็กในเมืองมักจะมีสมาธิอยู่ในระดับหนึ่งแล้วเราก็อาจจะสอดแทรกเรื่องของเกม กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ลงไปด้วยเพื่อดึงให้เด็กๆ อยู่กับเราได้นานขึ้นครับ

เติมความรู้และรับพลังจากการเรียนรู้ร่วมกันกับเด็กๆ

พอได้สอนเด็กจริงๆ ก็รู้สึกว่าเติมพลังเราได้มากกว่าการทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ เพราะบางทีเราจะเครียดมาก กลัวจะให้ข้อมูลเขาน้อยเกินไป ไม่พอกับความต้องการของเขา แต่การทำงานกับเด็ก บางทีเราเริ่มพูดเยอะก็จะเห็นว่าเด็กเริ่มหลุดโฟกัสไปจากเรา ก็อาจจะต้องชวนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่คลายให้เด็กมีความสนุกสนานขึ้น ได้หาวิธีที่จะปลูกเมล็ดพันธุ์บางอย่างให้เขาในรูปแบบที่ต่างไป

หลังทำงานกับ Organic Way เขาเริ่มต้นทำงานกับโรงเรียนอีก 2-3 แห่งในฐานะครูพิเศษ สอนเด็กๆ ทำแปลงผัก ปลูกผัก ทำอาหาร วิทยาศาสตร์ในสวน และวิชาอีกหลากหลายที่พาเด็กๆ ออกมานอกห้องสี่เหลี่ยม

การเชื่อมโยงวิชาต่างๆ ผ่านกิจกรรมธรรมชาติ อย่างเช่นเราชวนเด็กๆ มาทำอาหารชื่อเมนูพระรามลงสรงกัน ดั้งเดิมเป็นเมนูที่มีผักบุ้งราดซอสถั่วกับเนื้อหมู แต่เราต้องการเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ที่เขากำลังเรียนอยู่ในวิชาวรรณคดี เราก็เสริมไปว่าถ้าลองเปลี่ยนจากพระรามลงสรงไปเป็นตัวละครอื่นๆ ในรามเกียรติ์ได้ไหม ก็พาเขาไปดูว่าผักที่มีอยู่ในแปลงว่ามีสีอื่นไหม มีฟักทองอยู่ ฟักทองเป็นอะไรดี เป็นพระลักษณ์ดีไหม หรือมีปลูกเผือก สีเผือกเป็นเหมือนกับหนุมานหรือเปล่า เรามีถั่วและมะเขือสีม่วงปลูกอยู่ในแปลง จะเป็นไมยราพไหม หรือเรามีผักใบเขียวอย่างอื่น จะเป็นทศกัณฐ์ไหม เราก็พาเด็กไปเรียนรู้ตรงนี้ด้วย

วิโรจน์เล่าว่าในทุกๆ กิจกรรมล้วนสอดแทรกวิชาความรู้ในตำราไปได้ทั้งนั้น เขาสอนเด็กๆ ปลูกสมุนไพรแล้วเก็บไปทำสเปรย์ไล่ยุง นอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้การพึ่งตนเองแทนการซื้อหาจากร้านค้า เขายังเหมือนได้เรียนวิชาเคมีล่วงหน้าไปแบบกลายๆ ด้วย

การสอนเป็นเหมือนการไปแอบฝากเมล็ดพันธุ์วิชาต่างๆ ผ่านธรรมชาติ เราไม่รู้หรอกว่าเมล็ดพันธุ์ที่เราไปแอบหยอดไว้ในหัวใจของเด็กๆ เมล็ดพันธุ์ไหนมันจะโต เราก็เลยพยายามแอบหยอดเมล็ดพันธุ์หลากหลายไว้ในสมอง ในจิตใจของเด็กๆ ซึ่งเราก็จะเห็นการต่อยอดอะไรต่างๆ ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

แต่การเข้าไปสอน บางทีก็ไม่ได้เป็นแค่วิชา แต่ขยายความเชื่อมโยงไปถึงการจัดการของโรงเรียนด้วย เช่น เมื่อเข้าไปทำงานกับโรงเรียนแล้วเห็นปัญหาขยะอาหารจากโรงอาหารมีเป็นจำนวนมาก เขาก็ริเริ่มชวนเด็กๆ คุยเรื่องโลกร้อนกัน แล้วก็ให้คาถาเด็กๆ ไปว่า

วิธีการจัดการโลกร้อนที่ดีที่สุดที่น้าโรจน์จะบอกเด็กๆ ได้ก็คือการกินข้าวให้หมดจาน เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการกินข้าวให้หมดจานนะครับ

ผลลัพธ์น่าชื่นใจคือเด็กๆ ในโรงเรียนช่วยลดอาหารที่เหลือในจานได้มากพอสมควร และต่อยอดให้ผู้ปกครองและโรงเรียนขยับขยายความเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

สอนพ่อแม่ให้รู้รส

มากไปกว่าเด็กๆ เขาเล่าถึงกิจกรรมเปิดผัสสะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชวนให้ผู้ปกครองมีสมาธิอยู่กับปัจจุบันในการกิน เพื่อรับรสทั้ง 9 หวาน เปรี้ยว ฝาด เค็ม จืด เผ็ดร้อน หอมเย็น ขม เบื่อเมา 

คนส่วนมากจะกินตามสิ่งที่ตัวเองชอบและสิ่งที่คนอื่นบอกให้เราชอบ ยิ่งในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราจะเห็นการรีวิวอาหารบอกว่าร้านนี้อร่อย ร้านนั้นอร่อย ความอร่อยมันเหมือนเป็นแพทเทิร์นเดียวกัน การกินตามที่เขาบอก ส่วนหนึ่งมันทำให้คนลืมไปว่า การบริโภคอาหารของเรามันไร้ฤดูกาล อยากกินฤดูไหนก็สามารถกินอาหารได้ แต่มันค่อนข้างจะส่งผลกระทบต่อโลกของเรา ทั้งการใช้สารเคมี การขนส่งจากที่ไกล ต้องมีห้องเย็นเก็บรักษาอาหาร ต้องใช้พลังงานมหาศาล แต่คนไม่ได้ตระหนักถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากกิจกรรมการบริโภคของเราเท่าไหร่

เรากินอาหารที่มาจากซีกโลกหนึ่งมีคนบอกว่าอร่อย โดยที่เราไม่ได้คำนึงว่ากว่าที่จะอาหารจานจะเดินทางมาถึงเรา มันสร้างผลกระทบอะไรกับโลกของเราบ้าง ก็เลยชวนให้เขาหันมาอยู่กับสติ มีสติกับการกินอาหารแต่ละคำให้มากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการกินยังไงยังไงไม่ให้เกิดโรคครับ คือรสทั้ง 9 ถ้าเกิดกินรสใดรสหนึ่งมากเกินไป หรือไม่สมดุล เช่น กินรสหวานมากเกินไปจะก่อให้เกิดโรคนั้น การกินรสเปรี้ยวมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคนี้ ชวนให้เขากลับมามีสติกับการปรุง การกินมากขึ้น

หลักไมล์ใหม่ที่เมืองแพร่ 

มีแฟนอยู่แพร่ครับ แล้วแฟนเป็นผู้ใหญ่บ้าน” 

เขาเล่ายิ้มๆ ก่อนจะขยายความว่ากำลังทำกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่แพร่ในช่วงที่เมืองล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ที่ไม่มีกิจกรรมจากโรงเรียน แม้เราจะเห็นเขาสอนเรื่องการทำอาหาร การปลูกผัก ปลูกต้นอ่อน เพาะถั่วเขียวเพาะถั่วงอกทางคลาสออนไลน์อยู่บ้าง แต่หน้าที่หลักในตอนนี้คือช่วยแฟนทำแปลงผัก ขึ้นรูปแปลงผัก แนะนำเรื่องการปลูกการผลิตของกลุ่ม ของชุมชน ของหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่การสอนเหมือนงานที่เคยทำ 

ทำให้เขาดูเลยครับ พอทำงานกับชุมชนแบบนี้ก็จะเห็นว่าความรู้ดั้งเดิมของเกษตรกรได้ขาดช่วงไป ระหว่างช่วงที่เปลี่ยนจากเกษตรธรรมชาติของปู่ย่าตายาย กลายมาเป็นเกษตรแบบปัจจุบัน เราก็ไปชวนเขากลับมาเรียนรู้ว่าการกำจัดวัชพืชที่เหมาะสมควรทำอย่างไร วัชพืช หญ้า ไม่ได้เป็นศัตรูที่จะมาแย่งอาหารต้นพืชชนิดหลักที่เราปลูก บางทีมันช่วยดูแลแล้วก็ช่วยซัพพอร์ตทำให้พืชผักของเรางามมากขึ้น ชวนให้เขาดูเรื่องระบบนิเวศ บางทีก็จะมีกิจกรรมพาเขาจับแมลง ดูว่าแมลงชนิดนี้มีประโยชน์หรือมีโทษอะไรยังไงเขาเล่าถึงสิ่งที่ทำด้วยรอยยิ้ม

วิโรจน์ยอมรับว่าแม้จะผ่านงานสอนคนมามากมายหลายคลาส แต่งานนี้ก็หินไม่ใช่น้อย 

เพราะว่าเกษตรกรมีชุดความคิดที่ถูกเปลี่ยนไปในระดับหนึ่งที่ก็ไม่เหมือนกับคนที่อยู่ในเมือง คนในเมืองที่มาเรียนรู้กับเรา เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มันอินทรีย์จริงๆ แต่ว่าพอมาทำงานกับชาวบ้าน เกษตรกร ส่วนหนึ่งเขามีความต้องการเรื่องเศรษฐกิจ เกษตรอินทรีย์ต้องอาศัยแรงงานมาทดแทนทางลัดในการใช้สารเคมี เราก็ลองชวนเขาทำธนาคารใบไม้เล็กๆ ในชุมชนในหมู่บ้าน หรือลองทำอะไรอีกหลายๆ อย่างเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนผ่านของเกษตรกร

เขาเล่าว่าในพื้นที่จังหวัดแพร่มีคนที่ปลูกลำไยมาก ทุกปีก็จะต้องตัดแต่งกิ่งลำไยและเอากิ่งลำไยที่ตัดแต่งไปเผาถ่านซึ่งทำให้เกิดมลภาวะในจังหวัดค่อนข้างมาก เขาจึงมองว่าจะทำอย่างไรที่เพิ่มมูลค่าให้กิ่งลำไยนั้นได้ จึงลองเอาไปย่อยให้เป็นขี้เลื่อยส่งไปให้เพื่อนเชฟลองรมควันอาหาร จากกิ่งไม้หนึ่งกิ่งถ้าเอาไปเผาถ่านได้ราคาไม่ถึง 5 บาท เมื่อนำไปรมควัน อาหารจะมีกลิ่นหอมหวานคล้ายๆ กับเนื้อลำไย ไปอบไก่ อบไส้กรอก เพื่อให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น และทำให้เขาและชาวบ้านเริ่มต้นสร้างกระบวนการการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่นสนใจวัชพืชอย่างใบหมี่ด้วยการเริ่มชวนชาวบ้านมาทำแชมพูจากใบหมี่เพื่อลองใช้เองในชุมชน

ถามถึงนาทีที่เป็นอยู่ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่เขากลับยิ่งชัดเจนในการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และส่งต่อความรู้ความเข้าใจนี้ไปสู่คนอื่นๆ

เราเห็นคำตอบของการพัฒนาเล็กๆ ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า พอเราเปลี่ยนตัวเองให้คนอื่นเห็นแล้วคนรอบๆ ตัวเปลี่ยนแปลงตาม ผมคิดว่ามันยั่งยืนและชัดเจนขึ้นเขายิ้ม และยืนยันว่าพร้อมจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่ลงมือสะสมมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้สังคมรอบตัว

แต่กว่าสิบปีในแวดวงธรรมชาติและการพึ่งพาตนเอง เขาก็ยังบอกว่าธรรมชาติก็ยังมีเรื่องใหม่ๆ ให้เขาได้เรียนรู้อยู่เสมอ

เราเคยพาเด็กๆ ไปดูนกที่นาเกลือที่หนึ่งครับ แล้วก็ไปเจอบ่อนาเกลือที่มันกลายเป็น สีส้มๆ แดงๆ เราเคยอ่านตำราเจอว่าวัตถุดิบที่มาทำเป็นเต้าหู้ มันชื่อว่าดีเกลือ แล้วเราก็เลยลองตักเอาน้ำในบ่อนาเกลือนั้น เอามาทำเป็นทำเป็นเต้าหู้ มันก็ได้เป็นเต้าหู้จริงๆ อันนี้เกิดจากการเชื่อมโยงข้อมูลที่เรามีกับสิ่งที่เราไปเจอในธรรมชาติ ในนาเกลือ หรือเราทดลองคั้้นน้ำจากใบชะครามที่ขึ้นอยู่ในนาเกลือมาทำเต้าหู้ เราก็ได้เรียนรู้ว่ามันทำได้

บางทีธรรมชาติก็จะทำให้เราเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวเราได้มากขึ้น

เขายิ้มปิดท้าย เป็นยิ้มที่เรารู้สึกเหมือนรอยยิ้มเรียบง่ายของเด็กน้อยที่ค้นพบบางอย่างในธรรมชาติด้วยตัวเอง

ภาพถ่าย: greenery. โรงเรียนอนุบาลเลิศวินิต นนทบุรี โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ กรุงเทพมหานคร  โรงเรียนทอรัก สมุทรปราการ