‘ขยะอาหาร’ น่าจะเป็นคำที่เราคุ้นเคยกันดีในช่วงนี้ เพราะการรณรงค์เรื่องการกินอาหารให้หมดจาน หรือกำจัดขยะอาหารให้ไปถูกที่ถูกทางเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างกำลังให้ความสนใจ

ปริมาณขยะอาหารที่ถูกทิ้งในแต่ละวัน ทั้งจากฝีมือของเราและภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงมือเรา จากสถิติของ Food and Agricultural Organization (FAO) ระบุว่า ในแต่ละปีมีอาหารที่ถูกทิ้งมากถึง 1.3 ร้อยล้านตัน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมาทั้งหมดบนโลก รวมกันแล้วได้ปริมาณมหาศาลอย่างน่าตกใจ ในคราวนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับขยะอาหาร อีกหนึ่งขยะที่ใกล้ตัวเราให้ลึกซึ้งมากขึ้น

Food Loss กับ Food Waste ขยะอาหารเหมือนกัน แล้วต่างกันตรงไหน
Food Waste น่าจะเป็นคำกล่าวถึงขยะอาหารที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะนี่คือคำยอดฮิตในยุคที่ปัญหาขยะเป็นสิ่งที่ควรตระหนักถึง แต่นอกจาก Food Waste ยังมีขยะอีกประเภทที่เรียกว่า Food Loss ที่สร้างปัญหาให้โลกนี้ไม่แพ้กันเลยล่ะ

ถ้าให้เรียงตามสายการผลิต ขยะอาหารประเภท Food Loss เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน เพราะมันคือขยะที่เกิดจากต้นทางผู้ผลิต ยาวไปจนถึงหน้าชั้นวางขาย เริ่มตั้งแต่การทิ้งวัตถุดิบ เช่น พืชผักที่ไม่สวยงามตามมาตรฐาน การบรรจุหีบห่อไม่ได้คุณภาพ การคำนวณการขนส่งที่ผิดพลาด หรือการจัดเก็บที่ไม่ดีพอ จึงทำให้อาหารเหล่านั้นเสียไปก่อนที่จะถูกวางขาย

โดยสถิติจากสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า 13% ของอาหารที่ถูกผลิตในแต่ละปีเสียหายและถูกทิ้งในระหว่างการผลิต เก็บเกี่ยว และขนส่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกายังมีการคำนวณกันคร่าว ๆ ด้วยว่า Food Loss ในประเทศต่อปี อาจคิดเป็นเงินมากถึง 218 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว ลองคิดดูว่าถ้าเอา Food Loss ที่ถูกทิ้งทั่วโลกมารวมกันจะกลายเป็นเม็ดเงินมากมายมหาศาลขนาดไหน

ส่วน Food Waste ถือเป็นขยะอาหารในลำดับต่อไปตั้งแต่การวางขายบนห้างร้านเช่น การถูกทิ้งไว้บนชั้นเพราะรูปร่างหน้าตาไม่สวยเท่าพืชผลอื่น หรือการสั่งมาวางขายมากเกินไป ยาวไปจนถึงการที่เราซื้อมาแล้วจัดเก็บผิดวิธี กินไม่หมด ปล่อยทิ้งให้เน่าเสีย โดยปริมาณของ Food Waste ที่ถูกทิ้งในแต่ละวันก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะแค่ในประเทศไทยเอง จากขยะมูลฝอยกว่า 1.3 กิโลกรัมที่เราสร้างในแต่ละวัน 64% ก็เป็นขยะอาหารเข้าไปแล้ว และในระดับโลกยังบอกว่า 17% ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมา ถูกทิ้งไปด้วยฝีมือของภาคครัวเรือนอีกด้วย

ขยะอาหารไม่ใช่ปัญหาของผู้ผลิตหรือผู้บริโภค แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน
ในเมื่อขยะอาหารเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ผลิตและตัวเรา การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การหวังพึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงเท่านั้น หากผู้ผลิตแก้ไข แต่เรายังทิ้งอาหารเป็นว่าเล่น หรือหากเราตั้งใจวางแผนการซื้อและกิน แต่ผู้ผลิตไม่ยอมแก้ ปัญหานี้ก็คงไม่หมดไปง่าย ๆ

ในระดับผู้ผลิตจึงควรมีการพัฒนาระบบการผลิตอาหารให้ยั่งยืนมากขึ้น อาจเริ่มตั้งแต่การไม่ตั้งมาตรฐานพืชผักรูปร่างสวย ยอมรับในรสชาติมากกว่าหน้าตา เรื่อยไปจนถึงการพัฒนาระบบจัดเก็บและขนส่งอาหารให้ได้คุณภาพเพื่อยืดอายุอาหารให้อยู่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ในระดับอื่น ๆ เราอาจเห็นบทบาทขององค์กรใหญ่ ๆ อย่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่เข้ามาส่งเสริมนโยบายลดขยะอาหาร เช่น สนับสนุนการส่งต่ออาหารที่เหลือจากผู้ผลิตไปสู่ผู้ยากไร้ในประเทศ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ลดเม็ดเงินที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และยังลดมลพิษที่เกิดจากการจัดการขยะอาหารแบบผิด ๆ ได้ด้วย ในประเทศไทยเอง หลายคนก็น่าจะคุ้นเคยกับบทบาทของ Scholars of Sustenance (SOS) ซึ่งทำงานอย่างกระตือรือร้นเป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์กรต่าง ๆ กับผู้ที่ต้องการอาหาร เพื่อลดขยะอาหารในประเทศ ใครสนใจก็สามารถเข้าไปสนับสนุนได้เช่นกัน

ในระดับคนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา การช่วยเหลือพืชผักหน้าเบี้ยวกลับมาเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารที่บ้าน หรือการเลือกซื้อสินค้าในวันหมดอายุใกล้ ๆ เพื่อกินทันที การสั่งอาหารให้พอดีกิน ก็เป็นวิธีง่าย ๆ ที่เราสามารถเริ่มได้เพื่อช่วยลดขยะอาหาร

ท้าทายขึ้นมาอีกหน่อย การวางแผนการซื้ออาหารเข้าครัวในแต่ละเดือนก็ช่วยให้เราสามารถเลือกซื้อและเลือกปรุงอาหารได้โดยไม่มีอะไรถูกทิ้งไว้ในตู้เย็นได้เช่นกัน การวางแผนแบบนี้ควบคู่ไปกับการจัดการตู้เย็นให้รู้ว่าเรามีอะไรเหลือ และมีอะไรใกล้หมดอายุ ยังช่วยให้เราลดขยะอาหาร และไม่ทิ้งอะไรไปให้รู้สึกเสียดายของได้อีกหลายอย่างเลย ท้ายที่สุดในปลายทาง หากมีขยะอาหารเหลือจริง ๆ การแยกขยะเหล่านั้นไปทำปุ๋ย (สำหรับใครที่มีเครื่องทำปุ๋ยที่บ้าน) หรือแค่แยกใส่ถุงไว้เฉพาะให้พี่ ๆ เก็บขยะเขาไปจัดการต่อได้ ก็ดีกว่าการทิ้งรวมกับเศษอาหารอื่น ๆ แล้วส่งขยะเหล่านั้นไปฝังกลบแบบผิด ๆ จนเป็นมลพิษ

และอีกหนทางที่ผู้บริโภคอย่างเราจะช่วยเหลือโลกผ่านการกินได้ง่าย ๆ โดยเข้าไปร่วมขบวนการ Save 1/3 ของ WWF Foundation ได้ที่ saveonethird.org โดยการลงชื่อและแชร์รูปอาหารพร้อมใส่ไอคอน Save 1/3 ลงในภาพ เพื่อบอกให้เพื่อนและคนรอบตัวรู้ว่า คุณก็เป็นอีกคนที่กำลังส่งเสียงเรื่องนี้อยู่เหมือนกันนะ!

ที่มาข้อมูล:
onethird.io
www.fao.org
www.postharvest.com
www.un.org
www.seub.or.th