เดี๋ยวนี้การบินไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ต่างแดนน่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดฮิตสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะเรามีทั้งโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม Work and Travel และอีกสารพัดกิจกรรมน่าสนุกต้อนรับช่วงหยุดยาวที่อยู่บ้านก็คงเบื่อ ไปเที่ยวแบบปกติก็คงไม่หนำใจ

แน่นอนว่าหนึ่งในโครงการที่ติดเช็กลิสต์ที่ใครหลายๆ คนขอให้ได้ไปลองสักครั้งในชีวิต คงหนีไม่พ้นโครงการอาสาสมัคร WWOOF หรือที่เล่าเรียกกันเล่นๆ ว่าไปเป็นหมาป่านี่แหละ 

ซึ่งโครงการเจ้าหมาป่านี้ก็ไม่ได้เพิ่งมาบูมแค่ปีสองปีที่ผ่านมาหรอกนะ เพราะมันคือโครงการในฝันของวัยรุ่นหลายๆ คนมายาวนานเกือบ 30 ปีแล้วล่ะ!

WWOOF เดิมมาจาก Working Weekends on Organic Farms เริ่มต้นขึ้นช่วงปี 70 ในประเทศอังกฤษเพื่อให้คนเมืองได้ลงไปทำกิจกรรมกับเกษตรกรออร์แกนิกแลกกับที่พักและอาหาร ผ่านแนวคิดของ Sue Coppard เลขาสาวจากลอนดอน ซึ่งสนใจเรื่อง Organic Movement เป็นอย่างมาก เพราะเธอมองว่าคนเมืองส่วนใหญ่ช่างห่างไกลกับวิถีชนบทและมีความเข้าใจเรื่องออร์แกนิกน้อยเสียเหลือเกิน

อาจเป็นเพราะ Sue เกิดและใช้ชีวิตตลอดช่วงวัยเด็กใน East Croydon ประเทศอังกฤษ ที่ซึ่งทำให้เธอได้ใกล้ชิดกับป่าเขารวมไปถึงวิถีชีวิตชนบทแบบการทำเกษตรเลี้ยงชีพ เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในลอนดอนเธอจึงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงไลฟ์สไตล์อันเรียบง่ายเหล่านั้น

เธอจึงวางแผนคร่าวๆ ว่าถ้าหากมีเวลาว่างสักช่วงจะขอลองจัดทริปอาสาลงไปช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ในฟาร์มที่ต่างจังหวัด แต่เธอคิดว่าการลงไปทำงานในฟาร์มคนเดียวคงไม่ใช่เรื่องสนุกสักเท่าไหร่ เธอจึงขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ เพื่อติดต่อ John Davy ประธานของ Emerson College ใน Sussex ซึ่งกำลังศึกษาเรื่อง Biodynamic อยู่ในขณะนั้น เพื่อพากลุ่มคนเมืองที่สนใจลงไปร่วมเรียนรู้เรื่องการทำการเกษตรในฟาร์มแถบนั้น

แม้ในตอนนั้น John จะมองว่าการพาคนเมืองลงมาเที่ยวเล่นในฟาร์มอาจไม่ค่อยเกิดประโยชน์เท่าไหร่นัก แต่สุดท้ายเขาก็ยอมตอบตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือ Sue จึงดำเนินการซื้อพื้นที่โฆษณาเล็กๆ ในนิตยสาร Time Out เพื่อหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์กลุ่มเล็กๆ ลงไปทำงานในฟาร์มที่ Sussex ซึ่งงานในขณะนั้นก็เป็นงานง่ายๆ อย่างการช่วยเกษตรกรล้างจ้านและเก็บเมล็ดพันธุ์พืช

หลังจากนั้น WWOOF ก็เริ่มกลายเป็นกิจกรรมบอกปากต่อปาก จนทำให้เริ่มมีผู้สนใจมากขึ้น ต่อมา WWOOF จึงได้เปลี่ยนความหมายไปเป็น Willing Workers On Organic Farms แต่ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นการประกาศหาแรงงานข้ามชาติ และเป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทำงานในต่างประเทศอย่างจริงจังมากกว่าการเป็นอาสาสมัคร ความหมายของ WWOOF จึงถูกเปลี่ยนใหม่อีกครั้งในปี 2000 ให้เป็น World Wide Opportunities on Organic Farms

โดยการจะเริ่มต้นออกเดินทางไปเป็นเจ้าหมาป่าหรือ WWOOFer นั้นก็มีขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่เลือกประเทศที่เราสนใจ จากจำนวนประเทศมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น จีน ฮาวาย ออสเตรเลีย หรือที่ไทยเราเองก็มีนะ แล้วตกลงเลือกโฮสต์ที่จะรับเราไปดูแลโดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของฟาร์มต่างๆ ได้ในเว็บไซต์ของ WWOOF ประจำประเทศนั้นๆ หรือถ้าประเทศไหนไม่มีหน่วยงานของตนเอง ก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน WWOOF Independents ได้เลย ซึ่งโฮสต์ทั้งหมดของ WWOOF ก็ปลอดภัยมั่นใจได้เพราะถูกคัดกรองมาอย่างดีแล้วแน่นอน

เมื่อเหล่าหมาป่าเจอโฮสต์ที่ถูกใจแล้ว หน้าที่ของเราก็คือการเขียนแนะนำตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหน จะไปอยู่อาศัยกี่วัน ซึ่งนี่ก็แล้วแต่ความว่างของแต่ละคน จะไปแค่ไม่กี่สัปดาห์หรืออยู่ยาวเป็นปีเลยก็ยังได้ เสร็จแล้วก็จ่ายเงินค่าสมาชิกซึ่งราคาจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำการเกษตรในโครงการ WWOOF กันสักหน่อย จากนั้นก็รอเวลาตอบกลับว่าโฮสต์จะยินดีต้อนรับเราไปร่วมช่วยทำเกษตรในช่วงนั้นๆ หรือเปล่า

พอได้รับการยืนยันเรียบร้อยแล้ว WWOOFer ทั้งหลายก็ต้องเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อม เพราะหลายๆ ที่ก็ไม่ได้กินหรูอยู่สบายสักเท่าไหร่ เนื่องจากงานนี้เราต้องลงไปทำจริง เรียนรู้จริง ทั้งการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร ตัดฟืนหรือทำบ้านดิน แต่แน่นอนว่าจะได้ประสบการณ์กลับมาล้น ดีไม่ดีก็อาจจะได้เพื่อนหมาป่าจากต่างชาติมาเพิ่มอีกต่างหาก

และแน่นอนว่านอกจากประสบการณ์สุดพิเศษส่งตรงจากฟาร์มออร์แกนิกที่หาไม่ได้จากที่ไหนแล้ว โครงการ WWOOF ยังช่วยแบ่งเบางานจากเกษตรกรออร์แกนิกไปได้มากมายหลายหมื่นชั่วโมง แถมยังทำให้เหล่าหมาป่าคนเมืองได้ใกล้ชิดและตระหนักถึงความสำคัญของวิถีแบบออร์แกนิกมากขึ้นด้วยล่ะ

เพราะฉะนั้นใครปีหน้าใครที่มีเวลาว่าง ก็ลองหาเวลาไปเปิดประสบการณ์เป็นหมาป่ากันได้นะ!

ส่วนคราวหน้า เราจะเอาเรื่องน่าสนใจในวงการออร์แกนิกเรื่องไหนมาเล่า ก็อย่าลืมติดตามกันได้ใน Organic Story บทถัดไปเลย

ภาพประกอบ: paperis