เกาะอะไรดี๊ดี มีพร้อมพรั่งทั้งทะเลและภูเขา มาที่เดียวเที่ยวเพลินได้ทุกรสชาติ ทะเลสวย น้ำใส ป่าร่มครึ้ม น้ำตกที่กระโดดได้เหมือนลากูน มีของกินอร่อย มีอาหารทะเลสดทุกมื้อ- ฉันกำลังพูดถึงเกาะยาวใหญ่ เจ้าของวิถีชีวิตบ้านบ้านที่น่าอิจฉาเป็นที่สุด!

ในการเดินทางมาเที่ยวตามวิถีชุมชนครั้งนี้ การได้ล้อมวงชิมอาหารบ้านๆ ลุยโคลนลงนา ล่องเรือกลางทะเล และกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่ารสอร่อยรอบๆ สำรับ ล้วนมาจากธรรมชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งชาวบ้านเกาะยาวใหญ่ร่วมกันดูแลนี่เอง  

ชีวิตร่ำรวยธรรมชาติ บนขาที่พึ่งพาตัวเอง

คนยาวใหญ่อยู่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้มานานนับร้อยปี ชาวบ้านมีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ กันอยู่ เช่น ทำสวนยางพารา ทำสวนมะพร้าว ทำประมงพื้นบ้าน มีบางส่วนที่เลี้ยงกระชังปลา กระชังล็อบสเตอร์ ฯลฯ การเป็นเกาะที่เกือบเหมือนตัดขาดจากภายนอก ทำให้ผู้คนเน้นการพึ่งพาตัวเองเป็นหลักและรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างดีที่สุด

เกาะยาวใหญ่มีหมู่บ้านย่อยๆ 4 หมู่ แต่ละหมู่มีป่าชุมชนเป็นของตัวเอง (เท่มาก) ป่าชุมชนเป็นเหมือนขุมทรัพย์ทุกสิ่งของชาวบ้าน เป็นแหล่งน้ำจืด แหล่งอาหาร แหล่งยาสมุนไพร ยามจำเป็นต้องใช้สอยก็ตัดไม้มาสร้างบ้านซ่อมเรือจากป่าชุมชนของตัวเอง การรักษาป่าจึงเท่ากับรักษาชีวิตที่ร่ำรวยเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน

น้ำมันชายหยาดเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่ หมาดหยาด เสริมทรัพย์ หมอพื้นบ้านสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ทำจากสมุนไพร 10 ชนิด (บางชนิดหาได้จากป่าเกาะยาวใหญ่เท่านั้น) เคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว เป็นยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาดีมาก ชาวบ้านบางคนที่ถูกไฟคลอกรุนแรงก็รักษาหายได้จากน้ำมันชายหยาด จนทุกวันนี้ตกทอดเป็นทรัพย์สินทางภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเกาะยาวใหญ่ภูมิใจ

แม้จะเป็นเกาะในทะเล แต่บนเกาะยาวใหญ่ยังปลูกข้าวทำนากันอยู่มาก บังยา- ดุสิทธิ์ ทองเกิด เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตอนเด็กๆ ที่นี่มีข้าวพื้นเมืองที่อร่อยมาก เป็นข้าวน้ำกร่อยโดยเฉพาะ เหนียวและนุ่มมากเสียจนเวลาแม่หุงข้าวแล้วลูกๆ จะกินข้าวมากกว่ากับเสียอีก เสียดายที่เมื่อพอเศรษฐกิจเฟื่องฟู คนส่วนใหญ่เลือกขายที่ดินและออกไปทำงานนอกเกาะ พันธุ์ข้าวพื้นบ้านจึงสูญหายไปด้วย

ครั้นฟองสบู่แตกคนกลับบ้านมาทำนา จึงต้องใช้พันธุ์ข้าวจากที่อื่นๆ แต่ถึงอย่างนั้นการมีข้าวเป็นของตัวเองยังเป็นเรื่องสำคัญ บังยาคิดหาวิธีการทำนาที่แตกต่างเพื่อใช้แรงและทรัพยากรน้อยลง จนมาลงตัวที่การทำนาโยน คือเพาะต้นกล้าข้าวให้มีอายุ 10-18 วัน เป็นต้นอ่อนในหลุมเพาะเล็กๆ เสียก่อน จากนั้นค่อยถอนกล้าไปโยนในนา ตุ้มดินจะถ่วงน้ำหนักลงดินทำให้ต้นกล้าตั้งตรงได้ ไม่ว่าเราจะโยนจากท่าทางไหนก็ตาม พวกเราสนุกกับการทำนาโยนมาก โดยเฉพาะลินดา- นักท่องเที่ยวชาวสโลวักยอมลุยโคลนลงไปโยนกล้าข้าวเหมือนได้กลับเป็นเด็กอีกครั้ง ข้อดีของนาโยนคือไม่ต้องใช้กล้าข้าวมาก ต้นข้าวอาจไม่สวยแต่แตกกอเยอะและได้ผลผลิตสูง เมล็ดข้าวเต็มสมบูรณ์ดี นอกจากลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว การนำเอาเศษอาหารจากโรงเรียนและมัสยิดในชุมชนมาทำเป็นปุ๋ยธรรมชาติเพื่อบำรุงต้นข้าว ก็ถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะสด ลดขยะ ได้ผลผลิตข้าวดีกว่าเดิม เกิดประโยชน์หลายอย่างไปพร้อมๆ กัน

อาหารหรอยแรงที่เกาะยาวใหญ่

เราเติมพลังกันด้วยมื้อเที่ยงแสนอร่อยจากอาหารพื้นบ้านแท้ๆ ได้แก่ แกงส้มโชน (ตูน) ปลาคุดคุด ผักไหทะเลต้มกะทิ แกงเลียงกุ้ง ปลาทูแขกทอดขมิ้น และน้ำชุบ (น้ำพริก) กุ้งสด กินกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ของดีประจำเกาะ จ๊ะดา- อุไรวรรณ ไถเหี้ยม ผู้ดูแลอาหารการกินตลอดทริปนี้เล่าให้ฟังว่า ในมื้ออาหารคนเกาะยาวใหญ่ ต้องมีกับข้าวอย่างน้อย 3 อย่าง คือแกง (อาจเป็นแกงส้ม แกงเลียง ต้มส้ม) ของทอด (ส่วนใหญ่เป็นปลา) และน้ำชุบกินกับผักสด (นี่ขนาดไม่มีอะไรจะกิน! ถ้าเลี้ยงแขกจะอลังกว่านี้) ที่เรียกว่าน้ำพริกว่าน้ำชุบก็เพราะเวลากินต้องนำผักสดลงไปชุบลงในน้ำพริก และถ้าอยากกินแกงให้อร่อย ให้ ‘จานน้ำแกง’ คือเอาน้ำแกงมาราดข้าว จ๊ะดาชวนให้ลองชิม ‘ข้าวดัง’ หรือข้าวที่ไหม้ติดก้นหม้อ กินคู่กับแกงเลียง ได้รสชาติความกรุบกรอบจากข้าว หอมกลิ่นไหม้นิดหน่อย ผสานกับน้ำซุปรสนัวก็อร่อยไปอีกแบบ

อาหารพื้นบ้านของเกาะยาวใหญ่หลายเมนู ฉันเพิ่งเคยกินเป็นครั้งแรก แต่ก็ขึ้นอันดับอาหารในดวงใจทันที ทั้งแกงคั่วปู แกงกะทิลูกกล้วย (กล้วยดิบ) ต้มส้มผัก (ใส่หยวกกล้วย สับปะรด ผักบุ้ง เปรี้ยวจากมะขาม สับปะรด หอมกะปิและปลาย่างตำ) ยำมะม่วงปลาฉิ้งฉ้าง น้ำชุบทอด (น้ำพริกผัด) ข้อสำคัญคือเป็นอาหารใต้ที่ไม่เผ็ด และวัตถุดิบส่วนใหญ่ได้มาจากผักพื้นบ้าน ผักหัวไร่ปลายนา เช่น ผักเหรียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ อย่างผักไหทะเลก็เป็นผักพื้นบ้านที่ขึ้นอยู่ตามชายหาดนี่เอง อาหารที่นี่จึงสด สะอาด ปลอดภัยและเต็มไปด้วยพลังชีวิต แม้แต่กุ้งหอยปูปลาชาวบ้านก็ไม่ซื้อเก็บแช่ไว้ในตู้เย็น เพราะทุกคนมีทะเลที่สมบูรณ์เป็นเหมือน ‘ตู้เย็นธรรมชาติ’ อยู่แล้ว จะกินเมื่อไหร่ค่อยออกมาซื้อหรือหากินเองก็ยังได้ เป็นชีวิตที่น่าอิจฉาเหลือเกิน

บ่ายคล้อย เราไปล่องป่าโกงกางบริเวณคลองย่าหมี ป่าแถบนี้ร่มครึ้มและสวยงามมาก บางช่วงมีกิ่งไว้ระโยงระยางเหมือนกับได้ล่องป่าอะเมซอน นักท่องเที่ยวอาจเช่าเรือคายัคมาพายเที่ยวชมความงามแบบช้าๆ ก็จะได้ความรื่นรมย์ไปอีกแบบ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยถูกนำไปขายให้นักธุรกิจเพื่อทำเป็นท่าเรือยอร์ช แต่ชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้คัดค้านและได้รับชัยชนะในที่สุด ที่ดินในสายตาของนักลงทุนอาจเป็นแค่เม็ดเงิน แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว ที่นี่คือป่า คือทุกอย่างของชีวิต ทุกวันนี้ชาวบ้านเกาะยาวใหญ่ยังมาใช้ประโยชน์ในป่าโกงกางนี้ เช่น จับปลา หาปูสำหรับกินกันเองในชีวิตประจำวันเป็น ‘ธนาคารกินได้’ ที่เบิกใช้ได้ไม่มีวันหมด  

superlife ที่ใครก็อิจฉา

เสน่ห์ของการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่คือการได้พักแบบโฮมสเตย์กับชาวบ้าน ซึ่งมีบรรยากาศหลากหลายแบบ บ้างอยู่ริมสวนมะพร้าว บ้างอยู่ริมสวนยาง ได้เห็นวิถีชีวิตพื้นถิ่นแท้ๆ ที่เรียบง่ายและสงบงาม สิ่งที่ฉันประทับใจที่สุดสำหรับที่นี่คือความสะอาด บ้านชาวบ้านทุกหลัง (แม้บางแห่งไม่ได้ร่วมเป็นที่พักโฮมสเตย์) สะอาดเอี่ยมเรี่ยมแร้ตั้งแต่ลานดินหน้าบ้านไปจนถึงพื้นบ้าน บางบ้านถึงขั้นเอากาบมะพร้าวที่เหลือทิ้งมาเรียงก่อเป็นหลุมปลูกต้นไม้ดูแล้วงามตางามใจนัก ผู้คนใจดี มีแต่รอยยิ้ม เวลาชาวบ้านออกจากบ้านแล้วไม่ล็อคประตู หรือขี่มอเตอร์ไซค์แล้วจอดไว้โดยไม่ดึงกุญแจออก อาจชวนให้ผู้มาเยือนรู้สึกสงสัย แต่เมื่อได้รับคำตอบว่า ที่นี่ไม่มีการลักขโมย ทุกคนอยู่ได้อย่างสบายใจไร้กังวล ทำเอานักท่องเที่ยวต่างชาติร่วมทริปอุทานเสียงดังว่า “นี่มัน superlife เลยนะเนี่ย ชีวิตดีขนาดนี้ เราจะอยากได้อะไรอีก?”

น้ำท่าบนเกาะยาวดีงามเหลือเกิน เวลาไปเที่ยวเกาะบางแห่งเรามักพบว่ามีปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่บ่อยๆ แต่ที่เกาะยาวใหญ่นี้มีน้ำจืดเหลือเฟือซึ่งเป็นผลมาจากการรักษาป่าชุมชนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งทุกอย่างประจักษ์ชัดเมื่อฉันได้ไปร่วมเดินป่าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่คลองบอนด้วยตัวเอง ป่าดิบชื้นที่นี่สมบูรณ์มากจนมองเห็นน้ำซับผุดออกมาจากดินได้ตลอดเวลา บางแห่งก็เป็นรินน้ำเล็กๆ ไหลรวมกันจนกลายเป็นธารน้ำน้อยๆ เป็นแหล่งน้ำจืดให้ชาวเกาะยาวใหญ่ใช้ได้ตลอดทั้งปีไม่มีหมดแม้จะเป็นฤดูแล้งก็ตาม

โดยส่วนตัวฉันตื่นเต้นกับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลากสายพันธุ์จำนวนมหาศาลซึ่งปกติจะหาดูได้ในสวนพฤกษศาสตร์ หม้อข้าวหม้อแกงนี้บางแห่งชาวบ้านใช้ห่อข้าวเหนียวมูนนึ่งกินเหมือนข้าวต้มลูกโยนได้ด้วย จุดที่น่าสนใจอีกอย่างคือต้นยางที่ชาวบ้านจะเจาะเนื้อไม้ให้เป็นโพรงเพื่อเอาน้ำมันยางไปขาย น้ำมันนี้ใช้ทาเรือได้อย่างดี เวลาตักน้ำมันยางไปแล้วต้องเผาไฟคล้ายทำความสะอาดแผลให้ต้นไม้ด้วย ทำให้ช่องน้ำมันไหม้เป็นรอยดำ จนมีคำเปรียบล้อเลียนกันว่า ‘หน้าดำเหมือนรูยาง’ ต้นยางนี้ถือเป็นสมบัติตกทอดกันในหมู่ลูกหลานของแต่ละบ้านเท่านั้น คนที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ไม่สามารถแอบมาใช้ประโยชน์ได้ การรักษาต้นยางซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่จึงไม่เพียงช่วยรักษาป่าเท่านั้นหากยังรักษาบ่อเงินบ่อทองของครอบครัวตัวเองเอาไว้อีกด้วย

ปลูกป่าอย่างสนุก

ในการเดินป่าครั้งนี้ ชาวบ้านและเด็กๆ ถือเป็นโอกาสปลูกป่ากันไปในคราวเดียว พวกเราพกก๋งกับลูกกระสุนที่ทำจากดินเหนียวภายในบรรจุเมล็ดไม้ขนาดเล็ก กับเมล็ดไม้ขนาดใหญ่อีกหลากหลายพันธุ์ไปช่วยกันยิงเมล็ดไม้ในผืนป่า เป็นความสนุกสนานที่ได้ประโยชน์เหลือหลาย ขากลับออกจากป่า ชาวบ้านบางส่วนถอนกล้าพะยอมต้นเล็กๆ ในป่าไปเพาะขยายต่อในธนาคารต้นกล้าของชุมชนเพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้ช่วยกันปลูกขยายพันธุ์ต่อไป ไฮไลท์ของการเดินป่าเส้นทางนี้คือการได้โดดลงน้ำตกหินกอง ที่มีน้ำใสแจ๋วในบ่อกลมเหมือนลากูนส่วนตัว เป็นเหมือนรางวัลอันชื่นใจจากการเดินทางจนเหนื่อยหลายชั่วโมง

เตยปาหนันเป็นไม้พื้นถิ่นอีกชนิดหนึ่งที่นำมาเพิ่มมูลค่าได้ เตยปาหนันเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่า ขอบก้านใบมีหนามแหลม มีขั้นตอนการจัดการวัตถุดิบที่ซับซ้อนและยาวนาน (ริดหนาม ลนไฟ ตัดเป็นเส้น ตำให้นิ่ม แช่น้ำ ตากแห้ง ใช้มีดกรีดให้บางก่อนนำมาสาน รวมแล้วใช้เวลานานนับสิบวันในการเตรียมเตย) ทำให้ภูมิปัญญาการจักสานเตยปาหนันเริ่มเลือนหายไป ผู้เฒ่าผู้แก่ที่พอจะทำได้ก็อายุมากขึ้นทุกที แต่ก็น่าดีใจว่าเริ่มมีเด็กๆรุ่นใหม่เริ่มสนใจเรียนรู้สืบทอดความรู้นี้ ต่อไปเรายังอาจได้เห็นความรู้นี้ขยายผลและคลี่คลายงานออกไปได้ร่วมสมัยมากขึ้นก็เป็นได้

ในน้ำมีกุ้งหอยปูปลา (และพะยูน)

มาทะเลทั้งทีจะไม่ให้โดดน้ำกันเลยก็เกินไป ชาวบ้านเลยพาเราไปชมความงามยามเย็นที่แหลมหาด มีลักษณะคล้ายแนวผืนทรายที่ยื่นยาวไปในทะเล ถ้ามาตอนวันน้ำลดจะเดินออกไปในทะเลได้ไกลเหมือนเดินบนสันหลังมังกร โดยมองเห็นเกาะยาวน้อยได้อยู่ใกล้ๆ ความโดดเด่นของแหลมหาดคือเป็นแหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์อยู่ ชาวบ้านเล่าว่าวันดีคืนดีมีคนพบเจอลูกพะยูนมาเกยหาดเล่นน้ำอยู่ด้วย ทำเอานักท่องเที่ยวตื่นเต้นดีใจกันยกใหญ่ ฉันโดดลงไปเล่นน้ำอย่างสบายใจ เท้าทั้งสองข้างสัมผัสรับรู้ถึงต้นหญ้าทะเลที่อยู่ใต้น้ำ นึกเสียใจนิดหน่อยว่าไม่ได้มาในวันน้ำลด อดเดินหาดยามเย็น เพราะอาจจะได้เดินหาหอยชักตีนหรือตกปลาทรายได้  หรือยิ่งไปกว่านั้นอาจได้ชมปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสงยามค่ำคืนด้วย ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เกิดจากแพลงตอนในทะเลทำปฏิกิริยาบางอย่างกับออกซิเจน จนเกิดการเปล่งแสงวิบวับสีฟ้าอมเขียวคล้ายกับหิ่งห้อย มองดูคล้ายทะเลเรืองแสง บังยาพาเราออกไปท่าเรือพยายามโยนหินลงไปเพื่อดูแสงสีในน้ำแต่ก็เกิดน้อยมากจนมองแทบไม่เห็น ใครโชคดีไปเที่ยวถูกจังหวะคงได้ชมกันล่ะ

ความที่ทะเลอุดมสมบูรณ์มากชนิดที่ไปวางเบ็ด วางลอบก็มีกุ้งหอยปูปลากินกันในครอบครัวได้สบายๆ ทำให้อาหารทะเลของที่นี่สดและมีเหลือเฟืออย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถแจ้งกับเจ้าบ้านโฮมสเตย์เพื่อสั่งอาหารทะเลมากินเพิ่มเติมเป็นอาหารพิเศษมื้อค่ำได้ในราคาสบายกระเป๋า ฉันเองปลื้มปริ่มกับปูม้าที่สดเสียจนไม่สามารถกลับไปกินปูม้าที่อื่นได้แล้วจริงๆ เลย (ฮา)

การมาเยือนเกาะยาวใหญ่จึงเหมือนได้กลับบ้าน มาเติมพลังจากความเรียบง่ายเปี่ยมพลัง เราอาจเลือกนอนพักนิ่งๆ หรือเรียนรู้วิถีชีวิตบ้านๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ก็ได้ ทั้งการเดินป่า เล่นน้ำตก พายเรือคายัค ทำนา ตกปลาทราย หาหอยชักตีน ทำอาหารและขนมพื้นบ้าน ฯลฯ แล้วเราจะได้พบว่า การกลับมามีชีวิตธรรมดาสามัญที่พึ่งพาตัวเองได้ มันเป็นชีวิตที่เต็มเปี่ยมจากภายในเหลือเกิน

ขอขอบคุณ: การท่องเที่ยวโดยชุมชนยาวใหญ่ ผู้สนับสนุนการเดินทาง

เกาะยาวใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดพังงา เดินทาได้จากกระบี่ พังงาและภูเก็ต โดยภูเก็ตมีรอบเรือมากที่สุด ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินภูเก็ตประมาณ 1 ชั่วโมงถึงท่าเรือบางโรง กิจกรรมบางอย่างทำได้เฉพาะวันน้ำลด ก่อนไปเที่ยวตรวจสอบวันข้างขึ้นข้างแรมก่อนไปเที่ยว
FB: การท่องเที่ยวโดยชุมชนยาวใหญ่
โทรศัพท์ 087-272-6733, 089-726-2419

ภาพถ่าย: วิรตี ทะพิงค์แก