เมื่อพูดถึงคนเมืองที่หันมาทำธุรกิจผักอินทรีย์ในทุกวันนี้ เรามักนึกถึงคนหนุ่มสาวที่อยากสร้างอาหารดีๆ ไว้กินเอง เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของผักผลไม้ในตลาด แต่ PLANT:D มีจุดเริ่มต้นที่ต่างออกไป เพราะนี่คือธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากใช้การปลูกผักอินทรีย์มาแก้ปัญหาผู้สูงอายุในชุมชนเมือง 

ในแวดวงของคนทำเกษตรอินทรีย์อาจไม่ได้คุ้นเคยกับชื่อของ นก-ธนัน รัตนโชติ ก่อนที่เขาจะมาปลุกปั้น PLANT:D  กันมากนัก แต่ในแวดวงของคนทำธุรกิจ เขาคือที่ปรึกษาและนักวางแผนกลยุทธ์องค์กรมือฉมัง ผู้คลุกคลีอยู่กับการวางแผน แก้ไขปัญหา และช่วยให้ธุรกิจทั่วไปรวมถึงธุรกิจเพื่อสังคมมากมายมีกำไรอย่างยั่งยืนได้

หลังจากทำงานเป็นที่ปรึกษามาหลายปี ธนันตัดสินใจลงสนามสร้างธุรกิจของตนเองอย่างเต็มตัว โดยธุรกิจแรกที่เขาทำคือ Green Save แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในราคาที่คนเมืองจับต้องได้ 

“เรารู้อยู่แล้วว่าเคมีเกษตรฉีดน้ำยาอันตราย แต่ไม่รู้ว่าอันตรายแค่ไหนจนได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทที่ขายเคมีเกษตรในช่วงหนึ่ง พอเราไปลงพื้นที่ศึกษาในไร่ สวน นา เราเจอว่าเขาฉีดเยอะกว่าที่เรารู้มาก ล้างยังไงก็ไม่ออกหรอก เหมือนเรากำลังกินยาพิษอยู่ จึงเริ่มคิดว่าเราควรกินอาหารปลอดภัย แต่อาหารปลอดภัยบ้านเราแพง ราคาไม่ได้เผื่อให้คนกินได้ทุกวัน จึงเริ่มคิดว่าทำอย่างไรให้ที่บ้านมีของปลอดภัยกินในราคาไม่แพง”

จากความสนใจในการหาผักปลอดภัยกินเอง กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ช่วยให้คนในหมู่บ้านเดียวกัน รวมตัวกันสั่งสินค้าตรงจากเกษตรกรที่ไม่ไกลนักเพื่อลดต้นทุนการขนส่งได้ แต่ขณะที่ Green Save กำลังไปได้ด้วยดี ธนันก็ต้องเผชิญกับอีกหนึ่งปัญหาใหม่ที่เขาอยากแก้ไข 

และนั่นจึงกลายเป็นที่มาของ PLANT:D โมเดลธุรกิจสวนผักอินทรีย์ที่ปลูกโดยผู้สูงอายุ

เริ่มจากแก้ปัญหาใกล้ตัว สู่การแก้ไขปัญหาของสังคม

เหมือนกับธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วไป PLANT:D เริ่มต้นขึ้นมาด้วยความหวังจะแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาที่ว่าไม่ใช่ปัญหาของธนันเอง แต่เป็นปัญหาของคนใกล้ตัวอย่างคุณแม่วัยเกษียณที่ใช้ชีวิตอยู่ติดบ้าน

“คุณแม่ผมเป็นโรคเส้นเลือดในสมอง แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตเหมือนคนเป็นโรคนี้ทั่วไป แต่ว่าความแคล่วคล่องว่องไว ในการคิด การพูด และการเคลื่อนไหวไม่เหมือนเดิม จากปกติที่มีงานอดิเรกคือการทำสวนเดินดูไม้ผลไม้ดอกที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านก็ทำไม่ได้ เขาเลยเริ่มเฉา ดูทีวีเยอะขึ้น ไม่เคลื่อนไหวไปไหน เราก็รู้สึกว่าไม่โอเคแล้ว ในระยะยาวจะต้องเจ็บป่วยแน่ๆ จึงคิดว่าจะให้เขาปลูกอะไรดี ที่สามารถเดินออกไปดูได้ แต่เดินแค่นิดเดียว เราเลยนึกถึงการปลูกผักในบ้าน เพราะปลูกง่าย โตเร็ว สามารถกินได้และน่าจะตรงจริตของเขา จากที่ตัวเราเองไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านของการปลูกผักอะไรมาก่อนเลย ก็ไปลงเรียนปลูกผักในเมืองกับคนที่เขาเปิดสอน แล้วก็เอาแต่ละวิธีมาลองปรับให้เหมาะกับสำหรับผู้สูงอายุอย่างแม่ของเรา”

หลังจากศึกษาการปลูกผักมาได้สักพัก ธนันจึงได้รู้ว่าผักอินทรีย์นั้นสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในแง่ของความปลอดภัยและกระบวนการปลูกที่ต้องใช้ความใส่ใจ เพราะกระบวนการปลูกแบบอินทรีย์ของ PLANT:D นอกจากจะไม่ใช้สารเคมีแล้วยังได้ออกแบบให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการปลูกตั้งแต่การยีเมล็ด ผสมดิน ใส่ปุ๋ย รดน้ำ และรอให้ผลผลิตค่อยๆ โต ช่วยแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุนั่งดูทีวีทั้งวันได้ 

“เราก็เริ่มออกแบบวิธีปลูกบนพื้นที่ที่เขาทำได้ เป็นการปลูกบนโต๊ะทำให้เขาไม่ต้องก้มๆ เงยๆ ปลูกผักหลายๆ อย่างในกระถาง ให้มีกิจกรรมหลากหลาย เขาสามารถยกได้ไม่หนักเกินไป”

“พอออกแบบเสร็จก็ให้แม่ทำ ซึ่งมันเวิร์กมาก เขาสามารถปลูกต้นไม้เล็กๆ ได้ เดินนิดๆ หน่อยๆ ได้ ที่สำคัญคือเขาดูมีความสุขมากขึ้น”

จากการแก้ไขปัญหาคุณแม่ติดเก้าอี้ กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเพื่อสังคมได้เมื่อเขานำสิ่งที่ทำไปเล่าให้เพื่อนๆ ในรุ่นราวเดียวกันฟัง “พ่อแม่ของเพื่อนๆ รุ่นเราที่เกษียณแล้วก็มีพฤติกรรมที่คล้ายกันคือเหงาๆ เบื่อๆ ไม่มีไรทำเราก็เลยบอกว่าปลูกผักแบบนี้ดีนะ เพื่อนๆ สนใจก็นำไปลองทำกับพ่อแม่ของเขา แต่พอปลูกแล้วกลับไม่เวิร์กเหมือนบ้านเรา” 

ธนันพบนอกจากกระบวนการปลูกที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือลูกหลานที่มาช่วยดูแลสวนผักบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่มักขาดหายไปในบ้านของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เขาจึงตัดสินใจสร้างแผนธุรกิจที่ช่วยให้ทุกบ้านปลูกผักให้งอกเงยได้จริง

“ถ้าคนที่บ้านช่วยดูให้ไม่ได้เขาก็ต้องจ้างใครสักคนมาช่วยดูแลสวน แต่บ้านเดียวคงจ้างไม่ไหว ถ้าเป็น 20-30 บ้านลงขันกันจ้าง ให้เขามาช่วยดูหมุนเวียนกันไปน่าจะทำได้ แต่ปัญหาต่อมาคือเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ้าง ก็เลยมาคิดว่าเราไม่ควรปลูกผักเป็นงานอดิเรกเฉยๆ แล้ว ต้องมีการขายผัก แล้วนำกำไรมาจ้างคน และเหลือพอให้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ ได้ด้วย นั่นกลายมาเป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมของ PLANT:D” 

มุ่งหน้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพไทย เพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุ

PLANT:D นอกจากจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ยังต้องการเป็นสตาร์ทอัพที่สามารถเติบโตแผ่ขยายไปยังชุมชนผู้สูงอายุที่กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ให้ได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธนันเดินทางสายประกวดมากมาย เพื่อหาต้นทุนมาต่อยอดธุรกิจให้ก้าวหน้าต่อไป และยังช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นให้ธุรกิจของเขาเช่นกัน

“เราใช้เวลาพัฒนากระบวนการและโมเดลธุรกิจเป็นปีๆ ก่อนนำลงไปทำงานกับชุมชนตัวอย่างจนมั่นใจว่าเป็นโมเดลที่ใช้ได้จริงสามารถนำไปต่อยอดได้ จึงเริ่มนำ PLANT:D ไปแข่งหาทุนของธุรกิจเพื่อสังคมในระดับ early stage สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ใช่ธุรกิจที่มีคนเป็นหมื่นเป็นแสนคนในเครือข่ายการทำงาน แต่ว่ามีไอเดียได้เริ่มลองทำแล้ว ซึ่งมีทั้งชนะได้ทุนในระดับ Seed Fund จากในประเทศมาทำงาน และเข้ารอบ Finalist ในระดับต่างประเทศ”

สำหรับสตาร์ทอัพทั่วไป เงินลงทุนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจขยายได้เร็ว แต่กับธนันแล้วการเดินสายแข่งขันไม่ได้มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องชนะเพื่อให้ได้เงินลงทุน แต่เป็นการพิสูจน์ว่าโมเดลธุรกิจของ PLANT:D เป็นไปได้ในสายตาของนักธุรกิจระดับโลก

“ช่วงแรกที่ไปแข่งขันเราไม่ได้คิดว่าจะชนะหรอกเพราะมันเพิ่งเริ่มต้น แต่พอเราเป็น Finalist ในการแข่งขันสตาร์ทอัพใหญ่ๆ ของโลกมันก็เหมือนเป็นตราแสตมป์”

“เหมือนเวลาเราไปดูหนังแล้วมีช่อมะกอกเราก็เชื่อว่าเป็นหนังดี ธุรกิจก็คล้ายๆ กัน เวลาเราคุยกับใครว่าอยากจะทำงานด้วยแล้วช่อมะกอกสองอัน สามอันติดอยู่ เขาก็รู้ว่าเราไม่ได้ยกเมฆมาคุย ก็ทำให้การคุยกันเป็นเรื่องง่ายขึ้น”

ลงพื้นที่สร้างเครือข่ายผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นจริง

หลังจากเดินสายประกวดมาเป็นปี ธุรกิจของ PLANT:D ก็ไปเข้าตากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ทำงานสร้างเครือข่ายกับชุมชนผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่ต้องการกิจกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างความเป็นเครือข่ายในผู้สูงอายุได้จริง

“ปกติกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่เขาจัดจะทำเป็นครั้งๆ ไป ครั้งนี้มาระบายสี ครั้งหน้าทำกระเป๋า ครั้งต่อทำอาหาร ทำขนม เป็นเหมือนกิจกรรมแก้เหงา แต่ก็แก้เหงาได้แค่วันเดียว หกวันที่เหลือเหงาเหมือนเดิม มันก็ไม่ได้เป็น community ด้วย เพราะคนไม่ได้สร้างเครือข่ายทำงานจริง พอเขาเริ่มรู้จักว่าเราทำงานอะไร ก็มาเริ่มชวนให้เราทำงานด้วยจึงได้ลงพื้นที่จริงๆ”

ธนันบอกว่าแผนธุรกิจของ PLANT:D นอกจากจะออกแบบพื้นที่ให้ผู้สูงอายุสามารถปลูกผักได้ ยังต้องออกแบบกระบวนการปลูกที่สนุกช่วยให้เขาอยากปลูกต่อไป ซึ่งนั่นคือการสร้าง community ที่ชวนให้ผู้สูงอายุได้ออกมาพบเจอเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ในทุกสัปดาห์

“ยกตัวอย่างเช่นชุมชนที่เรามาวันนี้ เราเจอกันทุกๆ สัปดาห์มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ผักแทบจะไม่ซ้ำชนิดกันเลย นอกจากจะทำให้เขาไม่เบื่อแล้ว ยังได้ตั้งตารอว่าสัปดาห์หน้ามีเรื่องใหม่ๆ มาให้รู้ ได้กลับมาก็พูดคุยอัพเดต ว่าสิ่งที่กลับไปทำได้ผลเป็นยังไงบ้าง”

“จากคนที่อยู่บ้านใกล้กันแต่ไม่คุยกันเลยตอนนี้มีกรุ๊ปไลน์ที่ได้คุยกันเรื่องผัก มันคือการสร้าง community จริงๆ ซึ่งสิ่งนี้ผมมองว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้สภาพใจของผู้สูงอายุดีขึ้น”

กระบวนการทำงานของ PLANT:D นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้เวลาว่างได้อย่างเป็นประโยชน์ ยังสามารถช่วยให้ทุกคนรู้สึกว่าเขายังมีคุณค่าในสังคม

“ปัญหาสำคัญของคนเกษียณอายุคือเขาจะรู้สึกว่าเราไม่เป็นที่ต้องการแล้ว องค์กรที่ทำงานจึงเกษียณเขา พอมาอยู่บ้านก็เริ่มไม่ค่อยทันโลกคุยกับลูกหลานก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง คุณค่าในตัวเองก็จะลดลงไปอีก แต่พอได้ปลูกผักให้คนในบ้านกิน เขาก็เริ่มเกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าอยู่ การได้รวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็ทำให้เขารู้สึกเป็นที่ยอมรับขึ้นมาอีกครั้ง”

ชวนผู้สูงวัยมาปลูกผัก เพิ่มความสุขใจในระยะยาว

ในวิธีการทำงาน PLANT:D จะเริ่มจากสอนให้ผู้สูงอายุทุกคนใช้วิธีการทำเกษตรแบบแนวตั้ง เริ่มปลูกผักที่ตนเองกินเป็นประจำก่อน จากนั้นเมื่อได้ผลผลิตมากเกินความต้องการบริโภคในครัวเรือนของตนเองแล้ว ค่อยนำไปจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ

“โมเดลการปลูกและขายของเราในแต่ละชุมชนแยกจากกันไปเลย ผลผลิตของที่นี่จะขายเฉพาะกับชุมชนในละแวกนี้เท่านั้น พอเราได้ทำงานกับผู้สูงอายุมาสักพักจนผลผลิตคงที่ ก็มีปฎิทินการปลูกและตัดที่ชัดเจน ให้คนที่สนใจเขาพรีออเดอร์เข้ามา”

“ซึ่งลูกค้าก็จะรู้ว่าใครปลูกมายังไงบ้าง วิธีการเป็นยังไง ถึงแม้เราจะไม่ได้มีตรารับรองอย่างออร์แกนิกไทยแลนด์หรือการรับรองโดยชุมชน (PGS) ก็ตาม แต่ว่าเรารับรองโดยการบอกเล่า ลูกค้าก็รับรู้ได้ถึงความโปร่งใสในกระบวนการผลิต”

ปัจจุบัน PLANT:D ทำงานกับชุมชนผู้สูงอายุทั้งหมด 5 ชุมชน โดยในแต่ละชุมชนมีเครือข่ายประมาณ 20-50 ครอบครัวที่มีผลผลิตสามารถนำไปจัดจำหน่ายได้เป็นประจำและสามารถสร้างกำไรได้จริง ซึ่งธนันบอกเราว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแรกๆ เท่านั้น

“ตอนนี้ธุรกิจมันสามารถอยู่ได้ มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งเป้าหมายต่อไปทำยังไงเราถึงจะสามารถขยายการทำงานของ PLANT:D ให้สามารถทำงานกับชุมชนผู้สูงอายุที่มีอยู่อีกหลายร้อยจุดในกรุงเทพฯ อีกหลายพันจุดในจังหวัดอื่นๆ ได้ ซึ่งมันค่อนข้างท้าทาย เพราะเราไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มประเภทที่คนขายอยู่คนละที่แล้วเราเชื่อมเฉยๆ แต่เราต้องสร้างกลุ่มผู้ปลูกใหม่ ให้เขามีความสุข และสร้างชุมชนให้พวกเขาได้”

แน่นอนว่าการสร้างธุรกิจให้มีกำไรและอยู่ได้ด้วยตนเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ธนันบอกเราว่ายังมีสิ่งที่สำคัญกว่าในการทำงานของเขา

“สำหรับเราแล้วรายได้ของผู้สูงอายุเป็นแค่ปลายทาง ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลักในการทำงานของ PLANT:D แม้ว่าเราจะขายผักก็ตาม เราเชื่อว่าถ้าเราทำให้เขามีความสุขในการปลูกและมีความสุขในการอยู่ร่วมกันได้มันจะไปถึงตรงนั้นเองโดยอัตโนมัติ”

“ซึ่งความสุขในการทำงานคือการที่เรารู้ว่าวันจันทร์เราจะได้ออกจากบ้านมาเจอเพื่อน ได้คุยกัน หัวเราะกัน เล่าเรื่องราวที่ตอนเองได้เรียนรู้ในหนึ่งสัปดาห์ ในกิจกรรมเวิร์กช็อปส่วนที่เราสอนเนี่ยมีน้อยมากเลยนะ แต่สิ่งที่มาคุยกันเยอะกว่า และนี้คือสิ่งที่ทำให้ทุกคนออกมา”

“ถ้าในอดีตเขามีสภากาแฟ อันนี้อาจจะเป็นสภาผักก็ได้ ถ้ามีคนมาถามว่าความสำเร็จเราคือตรงไหน ผมคงตอบว่าคือทำให้มีสภาผักเกิดขึ้นในชุมชน”


ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง