ภาพท้องทะเลที่เต็มไปด้วยขยะ ข่าวคราวของสารพัดสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก รวมถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ทำให้หลายๆ คนอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตมาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยโลกให้ยั่งยืนขึ้น 

ซึ่งหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่คนเริ่มสนใจก็คือวิถีชีวิตแบบ zero waste หรือการใช้ชีวิตแบบขยะเหลือศูนย์ที่จะไม่สร้างขยะใหม่ๆ และพยายามหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่จนไม่หลงเหลืออะไรมาเป็นภาระให้โลก วิถีชีวิตแบบขยะเหลือศูนย์นี้แม้จะเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนว่าเราสามารถช่วยลดขยะให้โลกได้ แต่การปฏิบัติจริงนั้นอาจจะเป็นเรื่องยากเกินไป 

แต่ Zero Factory ร้านรวมสินค้าและกิจกรรมของคนรักษ์โลกแห่งนี้ กำลังบอกเราว่า เราทุกคนต่างก็สามารถช่วยโลกได้โดยไม่ต้องฝืนไลฟ์สไตล์ของตนเอง

สะสมประสบการณ์ Zero Waste

หากให้เรานิยามสถานที่แห่งนี้จากสิ่งที่ตนเองเห็น เราคงจะอธิบายว่าที่นี่คือร้านค้า Bulk Store แห่งใหม่ใจกลางปากคลองตลาด 

แต่เมื่อได้พูดคุยกับ หน่อไม้ – สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน ผู้ก่อตั้ง เขาบอกกับเราว่า Zero Factory ไม่ใช่ร้านค้ารีฟิลอย่างที่หลายๆ คนคิด แต่ตั้งใจจะให้พื้นที่ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะชวนให้คนมาลดขยะในชีวิตประจำวันได้ ผ่านสินค้าไลฟ์สไตล์ดีไซน์ดี และกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ช่วยให้ทุกคนรู้สึกว่าการลดขยะเป็นเรื่องง่าย เหมือนที่เขาทำได้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา 

“ตัวผมเองไม่ได้อยู่ดีๆ มาสนใจ zero waste หรืออินกับปัญหาโลกร้อน แต่เริ่มมาจากผมได้ขวดน้ำเป็นของขวัญจากที่ทำงานเก่า เป็นขวดน้ำที่สวยดีผมเลยพกติดตัวไปตลอด นั่นทำให้ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของการพกขวดน้ำ ไม่ใช่ในแง่ลดขยะนะ แต่ช่วยประหยัดเงินได้ เพราะผมเป็นคนชอบดื่มกาแฟ บางร้านพกขวดไปเขาก็ลดราคาให้ สามารถเอาไปใส่น้ำเปล่าได้ด้วยเพราะผมเป็นคนกินน้ำเยอะมาก พอเริ่มใช้ขวดมาเติมน้ำในออฟฟิศ เราเห็นเลยว่ามันลดขวดน้ำดื่มไปได้เยอะมาก จึงเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนั้น เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่านิสัยรักษ์โลกใครๆ ก็ทำได้”

นอกจากชีวิตประจำวัน หน่อไม้บอกว่าเขายังได้สังเกตขยะที่เกิดขึ้นจากการทำงานดีไซเนอร์ของเขา “งานของผมมันเป็นการออกแบบอีเวนต์ ทำนิทรรศการที่ต้องสร้างโครงสร้างชั่วคราวขึ้นมา ทุกครั้งเราจะเห็นว่าถ้าอีเวนต์จบทุกอย่างก็กลายเป็นขยะ”

“เริ่มคิดว่าเราจะสามารถเปลี่ยนวัสดุโครงสร้างให้มันยั่งยืนมากขึ้นหรือสร้างขยะน้อยลงได้ไหม เป็นเหมือนการค่อยๆ นำความยั่งยืน การลดขยะเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันและการทำงานไปพร้อมๆ กัน”

ตั้งแต่เริ่มสนใจเรื่องความยั่งยืน หน่อไม้ได้นำแนวคิดนี้มาออกแบบร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น การสร้างจุดถ่ายรูปในงาน ‘TEDxBangkok 2017’ จากแก้วกาแฟใช้แล้วของผู้เข้าร่วมงาน หรือเนรมิต ‘งานวัดลอยฟ้า : จิตตนคร’ ขึ้นมาในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนโดยใช้เศษผ้าเหลือใช้จากพระธาตุในภาคใต้ มาเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้าง จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้เขาเห็นว่าแนวคิดและการใช้ชีวิตแบบ zero waste สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างสร้างสรรค์และหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมรณรงค์แบบที่หลายๆ คนเข้าใจ

“พอได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมาเรื่อยๆ ทำให้ผมเข้าใจปัญหาขยะมากขึ้น เริ่มรู้สึกว่ามีประเด็นน่าสนใจและอยากเล่าให้คนอื่นฟัง แต่ผมไม่ใช่สายรณรงค์ เราถนัดงานออกแบบข้อมูล ออกแบบพื้นที่ จึงอยากใช้สิ่งที่เราถนัด ใช้ความคิดสร้างสรรค์นี่แหละ มาช่วยให้ทุกคนคิดว่ามันทำได้ง่ายเหมือนที่ผมทำได้ เมื่อเขามีมุมมองเป็นบวกต่อสิ่งเหล่านี้ ก็จะสามารถเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ได้จริง”

เปิดพื้นที่ชวนคนมาลดขยะอย่างสร้างสรรค์

จากความตั้งใจที่จะออกแบบพื้นที่ เพื่อให้คนเมืองรู้สึกว่าการลดขยะเป็นเรื่องง่าย จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้น Zero Factory สถานีแรกที่เกิดขึ้นใน ATT U PARK BANGNA ที่เป็นเสมือน pop-up exhibition ชั่วคราว ซึ่งสามารถบอกเล่าวิถี zero waste อย่างสร้างสรรค์ ผ่านหลากหลายกิจกรรมที่มีพาร์ทเนอร์สายกรีนมาร่วมมือไปด้วยกัน

ไม่ได้สร้างร้าน Bulk Store ขึ้นมาใหม่ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดและมีคนที่เขาทำอยู่แล้ว เราจึงชวนคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ zero waste มานำเสนอเรื่องราวของเขา ผ่านกิจกรรมและผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้คนหลากหลายสามารถมามีส่วนร่วมได้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากมาร่วมมือไปด้วยกัน”

พาร์ทเนอร์ของ Zero Factory ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันประกอบไปด้วย Refill Station ปั๊มน้ำยาที่จะมาเป็นสเตชั่นทางเลือกในการซื้อสินค้าได้โดยไม่ง้อบรรจุภัณฑ์พลาสติก Kinto แบรนด์อุปกรณ์ชา-กาแฟ ไปถึงกระบอกน้ำดีไซน์มินิมอล ที่จะช่วยให้ทุกคนอยากพกติดตัวไปใช้ซ้ำมากขึ้น i bag u แบรนด์กระเป๋าที่ผลิตจากผ้าส่วนเกินในอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมกับคอนเซปต์หลักว่าการใช้กระเป๋า i bag u 1 ครั้งสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 5 ใบ และ moreloop ตัวกลางนําผ้าคุณภาพดีที่เกินจากการผลิตของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปและโรงทอผ้ามาใช้งานต่อที่จะมาร่วมสร้างกิจกรรมอันหลากหลายในอนาคต

ปัจจุบันนี้ Zero Factory ไม่ได้เป็น pop-up exhibition ชั่วคราวแล้ว แต่ปักหลักอย่างถาวรอยู่ในตึกแถว 1 คูหาใจกลางปากคลองตลาด ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ตั้งของ Zero Factory ยังเป็นส่วนหนึ่งของสตูดิโอเซรามิก Flowers in the vase และร้านกาแฟ Sunflower / ſ สโลว์บาร์ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มร้อนเย็นในแก้วเซรามิก ที่ทุกส่วนต่างก็ลดขยะไปด้วยกัน 

เราอยากใช้ตรงนี้เป็นศูนย์กลางที่นอกจากจะมีสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ในอนาคตจะยังมีกิจกรรม clothes swap หรือแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า มีการแลกเปลี่ยนพูดคุย เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการก็ได้ ให้ที่นี่เป็นเหมือนจุดรวมตัวของแนวคิด zero waste ผ่านผลิตภัณฑ์และกิจกรรมที่หลากหลาย”

“Zero Factory ไม่ใช่ธุรกิจแบบเต็มตัว แต่เป็นงานทดลองที่ทำให้เห็นว่าเราสามารถช่วยลดขยะได้ในทุกมุม และหวังว่าจะทำให้ทุกคนเชื่อว่าเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งส่วนเล็กๆ ในการช่วยกันรักษาและดูแลโลกใบนี้อย่างยั่งยืนในแบบที่ทุกคนพอจะทำได้”

Zero Factory

174 ถนนอัษฎางค์ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เปิด: ทุกวันเสาร์ 13.00 น.
FB: Zerofactory
โทรศัพท์: 0892088881