นักสืบอาหาร สืบที่มาก่อนเลือกกิน

มั่นใจว่าคนกินอย่างเรา คงสับสนไม่น้อยเมื่อยืนอยู่ท่ามกลางสารพัดวัตถุดิบในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ป่าวประกาศว่า “ซื้อฉันสิ เพราะฉันมีตรารับรองนี่นั่นนู่นด้วยนะ”
.
แม้รู้ดีว่าควรเลือกกินอาหารที่ดี จากกระบวนการผลิตที่แคร์เราและโลกใบนี้ แต่ยังงง ๆ ว่ามาตรฐานเหล่านั้นปลอดภัยจริงไหม หรือยังมีรายละเอียดในรูปแบบของดอกจันตัวจิ๋วซ่อนอยู่จุดไหน เพราะถึงจะแปะโลโก้ตัวเบ้อเริ่มว่าปลอดภัย แต่ในรายละเอียดก็ยังมีเรื่องที่บอกไม่หมดอยู่ในโลโก้อยู่มากมาย เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจความแตกต่างของโลโก้แต่ละแบบ เราก็จะเลือกกินได้ถูกต้องกับสิ่งที่เราต้องการมากยิ่งขึ้น
.
แล้วมีตรามาตรฐานอะไรบ้างที่เราควรทำความรู้จักไว้ ไปดูกัน

Q GAP รับรองโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แปะอยู่ในสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังใช้เคมีในชนิดและปริมาณที่กำหนด ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร อาจมีสารเคมีตกค้าง แต่อยู่ในระดับปลอดภัยกับคนกิน

Organic Thailand รับรองโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ประเทศไทย แปะบนสินค้าเกษตรและอาหารที่ไม่ใช้สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนเร่ง และไม่ใช้พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (GMOs)

USDA organic รับรองโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (The United States Department of Agriculture) แปะบนสินค้าเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และไม่ใช้พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) ส่วนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนเร่งโต

IFOAM ตรารับรองเกษตรอินทรีย์ ให้การรับรองโดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) โดยจัดทําโครงการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM (IFOAM Accreditation Program) ภายใต้กรอบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก ยอมรับเป็นเกณฑ์มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ขั้นตํ่า ให้สินค้าอินทรีย์เพื่อการนําเข้า

FAIRTRADE รับรองโดย Fairtrade Labelling Organizations International (FLO) แปะบนสินค้าที่ทุกขั้นตอนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำหนดราคาขั้นต่ำให้ผู้ผลิต จ้างงานเป็นธรรม และไม่ใช้แรงงานเด็ก

Blue Brand Standard มาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชาวประมงพื้นบ้าน ให้การรับรองโดยสมาคมรักษ์ทะเลไทย และ องค์การอ๊อกแฟม ประเทศไทย แปะอยู่บนสินค้าประมงจากการทำประมงอย่างรับผิดชอบ แคร์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ผลิตอาหารทะเลสด สะอาด ไม่ใช้สารเคมี

ปศุสัตว์ OK รับรอง ไก่ หมู เป็ด โค และไข่ โดยกรมปศุสัตว์ ยืนยันมาตรฐานฟาร์ม การเชือดที่่ถูกกฎหมาย สะอาด และถูกสุขลักษณะ รวมทั้งตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้

Cage-free DLD รับรองโดยกรมปศุสัตว์ แสดงถึงมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage free) ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ มีการจัดการสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้แม่ไก่มีสุขภาพดี แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ส่งผลให้ผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ

นอกจากนี้ ยังมี ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) เป็นกระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ให้เกษตรกรรายย่อยเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ร่วมกัน และสร้างความเข้มแข็งในกลุ่ม โดยดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างผู้บริโภคหรือหน่วยงานในพื้นที่ มาร่วมตรวจเยี่ยมฟาร์ม เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเชื่อมั่นกันและกัน ซึ่งการรับรองรูปแบบนี้ ช่วยเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ได้ยื่นขอการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ให้สามารถพัฒนาตัวเองและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้

ขณะเดียวกัน วัตถุดิบที่ปลูกเอง ขายเองบางเจ้า อาจจะไม่ได้มีตรามาตรฐานหรือโลโก้ตัวโต ๆ มาบอกว่าแคร์คนกินแค่ไหน อย่างผักท้องถิ่นตามตลาดนัดชุมชน หรือ Farmer Market ต่าง ๆ อาจจะปลอดภัยแบบไร้โลโก้ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงจำเป็นต้องปลุกความสงสัยในตัว สืบให้รู้ที่มาของวัตถุดิบอาหารก่อนพากลับบ้าน ด้วยการชวนคุยกันให้เคลียร์ว่าที่มาของวัตถุดิบนั้น ๆ มาจากไหน ปลูกยังไง มีให้กินฤดูไหนบ้าง ไล่ศัตรูพืชยังไง ฯลฯ นอกจากจะได้ความมั่นใจ อาจจะได้วิธีปรุง หรือวิธีกินใหม่ ๆ ที่น่าอร่อยเพิ่มเติมด้วย

ที่มาข้อมูล:
– กรมปศุสัตว์ เครื่องหมาย
ตรารับรองสินค้าเกษตรในประเทศไทย
ตรารับรองมาตรฐานสินค้า
www.youtube.com/watch?v=9gocV3zRxvs
https://certify.dld.go.th/certify/images/download/meetingdownload/2562_2OK/6.pdf

Send Us a Message