เปลี่ยนขยะเปียกให้เป็นปุ๋ย กำจัดเศษอาหารฉบับคนบ้านเล็ก

ทันทีที่เรากวาดเศษอาหารทิ้งแค่เล็กน้อย แต่กลับกลายเป็นภาระหนักอึ้งในกระบวนการกำจัดขยะอาหารที่ปลายทาง

ปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) ทั้งหมดในประเทศทั้งที่มาจากครัวเรือน ร้านอาหาร ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร มีมากกว่า 17 ล้านตัน หากนำมาเฉลี่ยเป็นรายคนก็ปาเข้าไปหลักร้อยกิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งในขยะอาหารกองพะเนิน มีทั้งส่วนที่กินได้ (Edible) แต่ถูกทิ้ง 39% กับส่วนที่กินไม่ได้ (Inedible) อีก 61% เลยทีเดียว ซึ่งตลอดระยะทางของการผลิตไปจนถึงปลายทางที่อาหารเหล่านั้นถูกเทลงถัง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะขยะอาหารเป็นตัวการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภาคคมนาคม แถมมากกว่าสายการบินอีกนะ!

ในฐานะคนกินจากครัวเรือน ลองย้อนกลับไปยังขั้นตอนก่อนทิ้ง ที่เราช่วยกันได้ในหลายมิติ ทั้งการไม่ทำให้อาหารที่ยังกินได้ต้องถูกทิ้งไปเปล่า ๆ เช่น เลือกวัตถุดิบบิดเบี้ยว (Ugly Food) มาปรุงอาหาร หรือการกินอาหารให้หมดจานในปริมาณที่ตักมาอย่างพอดี ไปจนถึงการลดปริมาณการสั่งอาหารดิลิเวอรีที่ในหนึ่งอิ่มเต็มไปด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากมาย

ที่สำคัญ เศษอาหารไม่จำเป็นต้องมีปลายทางที่การฝังกลบเท่านั้น ยิ่งเศษอาหารในบ้านหลังเล็ก เราจัดการเองได้ไม่ยาก โดยมีอุปกรณ์ถังหมักหลายรูปแบบที่คนบ้านเล็กเลือกได้ตามความถนัดและความเหมาะสมของพื้นที่อยู่อาศัย มาเป็นตัวช่วยแปรรูปเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย เพิ่มพลังชีวิตให้ต้นไม้ และไม่ต้องจัดการแยกขยะเปียกออกจากขยะรีไซเคิลให้วุ่นวายอีกต่อไป

ถังดินเผา
ถังหมักอาหารของคนรักธรรมชาติ นอกจากรูปร่างหน้าตาเป็นมิตรเพราะปั้นจากดินและเอาไปเผาออกมาเป็นถังดินเผาวางซ้อนกันเป็นคอนโดฯ แล้ว การหมักยังอาศัยกระบวนการธรรมชาติล้วน ๆ ใช้อากาศ จุลินทรีย์ สัตว์ และแมลงตัวเล็ก ๆ เป็นผู้ช่วย เพิ่มวัสดุช่วยย่อย (Compost Starter) อีกเล็กน้อยอย่างใบไม้แห้ง ปุ๋ยคอก กากกาแฟ และดิน ทำหน้าที่ดูดซับความชื้นในเศษอาหาร

ขั้นตอนง่าย ๆ แค่แยกของเหลวออกจากเศษอาหาร เทใส่ถังดินเผา กลบหน้าด้วยวัสดุช่วยย่อย เติมซ้อนชั้นไปได้เรื่อย ๆ (ระหว่างกระบวนการถ้าเปิดฝาแล้วพบเจอราสีขาว ๆ แปลว่ามาถูกทางแล้ว!) ตอนหมักอาจส่งกลิ่นเปรี้ยวเล็กน้อย มีแมลงและสัตว์ตัวเล็ก ๆ แวะมาทักทายบ้างเป็นเรื่องปกติ รอหมักจนครบระยะประมาณ 30 วัน ก็ตักปุ๋ยหมักพร้อมใช้จากชั้นล่างสุดของคอนโดฯ ดินเผามาใช้ได้เลย ถังดินเผานี้ใช้ได้เป็น 10 ปีไม่มีเสียหาย เหมาะกับบ้านเล็กที่ยังพอมีพื้นที่นิดหน่อยหรือระเบียงคอนโดฯ ขนาดกำลังดีก็วางได้สบาย ๆ

กล่องหมักพลาสติก
กระบวนการคล้ายคลึงกับถังหมักดินเผา แต่สะดวกสบายกว่าหน่อย เหมาะกับบ้านเล็กที่พื้นที่ใช้สอยจำกัดขึ้นมาอีกนิด กล่องหมักทำจากถังพลาสติกมีฝาปิดทั่วไป เป็นการหมักธรรมชาติเหมือนกับถังดินเผา แต่ปิดฝามิดชิด และใช้วิธีต่อท่อนำอากาศจากภายนอกเข้ามาหมุนเวียนในกระบวนการหมัก ขั้นตอนง่าย ๆ แค่นำเศษอาหารที่แยกของเหลวออกจนแห้ง มาคลุกกับวัสดุช่วยย่อย (ใบไม้แห้ง ปุ๋ยคอก กากกาแฟ ดิน) แล้วเทลงกล่อง ระหว่างทางหมักต้องหมั่นเปิดฝาออกเพื่อคลุกเศษอาหารกับวัสดุช่วยย่อยเป็นระยะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลาย กล่องหมักแบบพลาสติกกันแมลงและกลิ่นได้ดี จะได้กลิ่นเปรี้ยวบ้างก็ตอนที่เปิดฝาเพื่อใส่เศษอาหารและคลุก ระยะหมักใช้เวลา 30 วัน ได้ปุ๋ยหมักพร้อมตักใส่กระสอบเก็บไว้ใช้ได้เลย

ถังโบกาฉิ
ถังหมักในชื่อเรียก Bio Trash เป็นถังระบบปิด 2 ชั้น และหมักในวิธีการที่เรียกว่าโบกาฉิ (Bokashi) คือการหมักแบบอับอากาศ (Fermentation) เหมือนการหมักดองอาหารแบบที่เรากินนี่แหละ ขั้นตอนแรก เตรียมเศษอาหาร แยกส่วนที่เป็นของเหลวออกทั้งหมด ก่อนใส่ลงถังหมัก โรยจุลินทรีย์แห้งกลบด้านบนเศษอาหารทุกครั้งเพื่อช่วยในกระบวนการย่อย (ถ้าเจอราขาวก็เตรียมเฮ เพราะแสดงว่าจุลินทรีย์ทำงานได้ดี) กดเศษอาหารให้แน่นเพื่อให้อากาศผ่านได้น้อยที่สุด ปิดฝามิดชิด เติมเศษอาหารได้ทุกวันและปิดให้มิดชิดเหมือนเดิม ใช้เวลารอระยะหมักประมาณ 14-30 วัน จะได้ปุ๋ยน้ำคุณภาพดี เปิดก๊อกกรอกใส่ขวดเก็บที่ร่ม ผสมน้ำ 20 เท่าก่อนเอาไปใช้ ส่วนปุ๋ยหมักต้องผสมดินก่อนใช้ (ถังบางรุ่นต้องผสมดินหมักต่ออีก 14 วันถึงนำปุ๋ยไปใช้ได้ ควรหาข้อมูลก่อนใช้นะ) ถังแบบนี้กันกลิ่น กันแมลงได้ดี แต่เวลาเปิดฝาเพื่อเติมเศษอาหารจะได้กลิ่นเปรี้ยวจัดเพราะอับอากาศ

เครื่องหมักเศษอาหารไฟฟ้า
เครื่องหมักเศษอาหารไฟฟ้ามีความแตกต่างกับถังหมัก 3 แบบที่กล่าวข้างต้น ตรงที่ใช้ไฟฟ้า หมายความว่าต้องเสียบปลั๊กไว้ตลอด และทิ้งกระดูกกับสัตว์เปลือกแข็ง เช่น เปลือกหอย กระดองปู ฯลฯ ลงไปไม่ได้ ต้องแยกทั้งของเหลวและของแข็งออกจากเศษอาหารก่อนเทลงเครื่อง (ขณะที่ 3 แบบข้างต้น ทิ้งรวมกระดูกสัตว์ได้ แต่ก็ย่อยไม่ได้อยู่ดีนะ) ระบบไฟฟ้าจะปั่นกวนเศษอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยที่เราต้องเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มากับเครื่องเพื่อช่วยย่อย ขณะหมักจะได้กลิ่นดินอ่อน ๆ บางคนเห็นว่าไม่สะดวกเพราะต้องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลาและมีค่าซ่อมบำรุงตามมาแน่ ๆ รวมทั้งราคาค่อนข้างสูง แต่สำหรับบ้านเล็กที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกอย่างตึกแถวหรือที่อยู่อาศัยที่บานหน้าต่างมีจำกัด เปิดเครื่องปรับอากาศบ่อย ๆ ก็อาจเหมาะกับเครื่องหมักแบบไฟฟ้า เพราะควบคุมสภาพแวดล้อมได้ดี ไม่มีกลิ่นและแมลงรบกวน ส่วนระยะหมักใช้เวลา 24 ชั่วโมงขึ้นไป ปุ๋ยหมักที่ได้มีความเข้มข้นสูง ต้องผสมดิน 10 เท่า ก่อนนำไปใช้ปลูกพืช

ปุ๋ยพร้อมใช้ ดูยังไง?

– ดูด้วยตาแล้วไม่เห็นเศษอาหารหลงเหลือ

– สัมผัสแล้วแห้ง ไม่มีความร้อน ไม่มีความชื้น

– ดมแล้วได้กลิ่นดิน ไม่มีกลิ่นเปรี้ยวหรือกลิ่นหมัก

ที่มาข้อมูล:
www.nationthailand.com/thailand/general/40029249
www.facebook.com/FarmBehindTheBarn
www.youtube.com/watch?v=IV3beO8dF4Q
www.youtube.com/watch?v=270pIcifXR8
www.facebook.com/PakDoneThailand
workpointtoday.com/thailand-food-waste
www.facebook.com/watch/?v=825694798007213
www.facebook.com/chookeit.cityfarm 

Send Us a Message