ทำไมเมล็ดผักไม่งอก?” เป็นปัญหายอดฮิตของคนที่เริ่มปลูกผัก แต่เชื่อเถอะว่าปัญหานี้จะหมดไปได้หากเราทำความเข้าใจเรื่องเมล็ดพันธุ์กันก่อนลงมือปลูก

ปัจจุบันนี้คนเมืองสามารถหาซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก (เมล็ดพันธุ์ทางการค้า) ที่ต้องการปลูกได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ร้านอุปกรณ์การเกษตร ร้านขายต้นไม้ หรือแม้กระทั่งในห้างสรรพสินค้าก็มีเมล็ดพันธุ์ผักยอดนิยมของคนไทยหลากหลายชนิดด้วยเหมือนกัน

ในตลาดเขียวก็มักจะมีเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บเองโดยตรงมาแบ่งปันหรือจำหน่าย โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่บางชนิดไม่ค่อยมีในร้านทั่วไป

โดยปกติเวลาเราเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์เรามักคิดถึงว่าเราอยากกินอะไรเราก็จะซื้อผักชนิดนั้นๆมาปลูกโดยดูจากชนิดผักหน้าซองแต่จริงๆแล้วยังมีข้อมูลที่จำเป็นด้านหลังซองที่ควรสังเกตด้วยดังนี้

เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดพันธุ์  แสดงถึงอัตราความงอกของเมล็ดพันธุ์ ที่ควรมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งตัวเลขมาก ก็แสดงว่าอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์จะมากด้วย

• เปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ แสดงถึงการไม่มีสิ่งเจือปนในเมล็ดพันธุ์ ควรมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

• วัน เดือน ปีในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ควรดูวันที่ผลิตใกล้กับวันที่เราจะทำการเพาะปลูก และหากเมล็ดพันธุ์ใกล้หมดอายุแล้ว อัตราการงอกก็จะลดลงไปด้วย หรือบางครั้งเมล็ดพันธุ์อาจไม่งอกเลย

นอกจากนั้น ถ้าเราไปซื้อเมล็ดพันธุ์ตามร้านไม่ว่าจะที่ไหน เราไม่ควรซื้อซองเมล็ดพันธุ์วางขายตากแดดตากลม  ซึ่งปัจจัยนี้มีส่วนทำให้เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพได้

หลังจากที่เราเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์แล้วเราสามารถเพาะเมล็ดพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ เพาะเมล็ดพันธุ์ลงดินในภาชนะที่มีรูระบายน้ำ แล้วย้ายต้นอ่อนลงถาดหลุม ประมาณ 20 วันเมื่อต้นอ่อนมีใบจริงงอกเราจึงย้ายลงแปลงหรือลงกระถาง ส่วนอีกวิธีคือการหว่านเมล็ดพันธุ์ลงแปลงหรือลงกระถาง แต่วิธีนี้อาจจะทำให้เปลืองเมล็ดพันธุ์และได้ต้นกล้าที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก

อีกสิ่งที่สำคัญคือการให้ความชื้นกับเมล็ดพันธุ์อย่างสม่ำเสมอทั้งเช้าและเย็น หากอากาศร้อนมากเราสามารถเพิ่มช่วงเวลากลางวันได้

ความชื้นที่มากพอจะทำให้เมล็ดพันธุ์งอกได้ โดยการรดน้ำควรใช้วิธีการสเปรย์น้ำให้เป็นละอองฝอย เพราะถ้าเรารดน้ำแรงไปเมล็ดจะไหลไปตามน้ำ ทำให้สูญเสียเมล็ดพันธุ์ไปอย่างน่าเสียดาย

พูดได้เลยว่า หากเราเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่เมล็ดพันธุ์ในขั้นตอนแรกนี้ให้ดี เราก็จะมีต้นกล้าที่ดี แข็งแรงพร้อมปลูกต่อไปได้ 

สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่ต้องการปลูกผักแล้วสามารถเก็บพันธุ์และปลูกต่อเองได้ แนะนำให้ลองหาซื้อเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่มาจากการเก็บรักษาและปรับปรุงพันธุ์เอง โดยชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะมีความทนทานต่อโรคและแมลงตามท้องถิ่น และยังเป็นการช่วยสนับสนุนและอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้าน เพื่อระบบการผลิตผักอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ภาพถ่าย: กรชชนก หุตะแพทย์, Greenery.