ฤดูร้อนที่เพิ่งผ่านพ้นไป พิสูจน์ชัดเจนว่า เราทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติโลกร้อนอย่างหลีกไม่พ้น ซึ่งเป็นคำเตือนว่า เรากำลังก้าวสู่สารพัดวิกฤติในอนาคตอันใกล้ ทั้งภัยแล้ง จำนวนแหล่งน้ำจืดทั่วโลกลดลง พืชพรรณล้มตาย ผลผลิตทางการเกษตรไม่งอกงาม กระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนผืนดิน อุณหภูมิน้ำในทะเลสูงขึ้นทำให้เกิดปะการังฟอกขาว กระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในทะเล ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีปลายทางคือวิกฤติอาหาร แล้วอาจส่งต่อไปถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกรวมถึงมนุษย์
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นยังพอมีทางแก้ แต่ต้องทำอย่างรวดเร็วและจริงจัง ซึ่งวิธีหนึ่งที่แก้ได้ตรงจุด ก็คือ การปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นแบบทบทวีคูน และต้องทำทันที ไม่อย่างนั้นเราอาจไม่มีโอกาสกอบกู้โลกใบนี้ให้กลับคืนมาได้ เพราะว่าถ้าโลกร้อนไปกว่านี้ การปลูกพืชและดูแลให้เติบโตอาจทำไม่ได้อีกต่อไป
ท่ามกลางสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไม่ปกติเช่นนี้ หากคิดจะปลูกต้นไม้ ก็ควรให้ได้ประโยชน์หลาย ๆ ทางไปพร้อมกันในคราเดียว อารมณ์ประมาณว่า ปลูกหนึ่งได้ถึงสอง สาม สี่ ครั้งนี้ Greenery. จึงขอเสนอว่า ควรเลือกหาพืชยืนต้นกินได้มาปลูกเป็นหลัก หรือเรียกให้น่ารักขึ้นไปอีกหน่อยก็คือ “ผักยืนต้นกินได้” นั่นเอง เพราะนอกจากจะปลูกแค่ครั้งเดียวก็สามารถเก็บกินเป็นอาหารได้ชั่วลูกหลานอย่างยั่งยืนแล้ว เรายังได้ต้นไม้ใหญ่ไว้ช่วยเพิ่มร่มเงา ดูดซับมลพิษในอากาศ และสร้างความเย็นให้กับโลกได้อีก ตรงโจทย์เป๊ะ ! ว่าแล้วอย่ารอช้า ไปทำความรู้จักและหาต้นไม้เหล่านี้มาปลูกกันเลย
“แคนา” อย่ามองฉันเป็นแค่ไม้ประดับ เพราะกินได้ ประโยชน์เพียบ
ไม้ยืนต้นที่เรามักเห็นปลูกประดับตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ กันอย่างชินตา เมื่อออกดอกสีขาว ก็จะร่วงลงสู่พื้น คนไม่รู้ก็คิดว่าเป็นแค่ไม้ยืนต้นที่ให้ดอกสวยเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ดอกสีขาวของแคนานั้นเป็นดอกไม้กินได้ แถมส่วนต่าง ๆ ของต้น ยังใช้เป็นยาได้อีก เช่น เปลือกต้น ใช้เป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใบของแคนานำมาต้มแล้วเอาน้ำที่ได้มาอมบ้วนปาก รักษาสุขภาพช่องปาก หรือจะใช้ตำพอกแผลก็ได้ ส่วนดอกสีขาวนั้น มีสรรพคุณช่วยขับลม ขับผายลม ขับเสมหะและโลหิต ได้
เมนูเด็ดของดอกแคนาก็คือ นำมาลวกสุกกินกับน้ำพริก ให้รสขมอมหวาน เจริญอาหารดีไม่น้อย หรือใครจะลองนำหมูสับผสมกับเครื่องสมุนไพรแล้วบรรจุใส่ลงในดอกก่อนนำไปย่างไฟให้สุก ก็ได้อั่วดอกแคนารสอร่อยไว้ลิ้มลอง หากเก็บดอกแคนาได้เยอะ ๆ สามารถนำมาตากแห้งไว้ใช้ชงเป็นชารสหวานเจือขม หรือ เก็บไว้ใช้ปรุงอาหารก็ได้เช่นกัน
“แคบ้าน” ต้านไข้หัวลม ทำแกงส้มอร่อยเด็ด
ต้นแคบ้านโตเร็ว ปลูกไม่นานก็เก็บผลผลิตกินได้ มีให้เลือกปลูกทั้งชนิดดอกสีขาวและดอกสีแดง (เรียก แคแดง) ส่วนที่นักปรุงนักกินคุ้นชินที่สุดก็คือ ดอกแค นำมาปรุงแกงส้ม ต้มลวกกินกับน้ำพริก หรือจะนวดหมูสับกับสามเกลอปรุงรสให้ได้ที่แล้วบรรจุใส่ลงในดอก ก่อนนำไปชุบไข่ หรือ ชุบแป้งทอด ก็ได้เมนูดอกแคบรรจุไส้ ของกินอร่อยจากผักหลังบ้าน เกสรที่เป็นก้านซ่อนอยู่ด้านในนั้นมีรสขม ความขมนี้เป็นยา แต่ถ้าไม่ชอบก็ให้ปลิดออกก่อนจึงนำมาปรุงอาหาร
ดอกแคบ้านได้ชื่อว่าเป็นยา เพราะในยามออกดอกดก จะเป็นช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูจากฝนเป็นหนาว อาจทำให้เกิดอาการไข้หวัดได้ง่าย หรือที่เรียกว่า “ไข้หัวลม” ซึ่งกินอาหารที่ปรุงด้วยดอกแค จะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพนี้ได้ หรือถ้าใครมีแผลในปาก ก็ให้ไปถากเปลือกต้นแคส่วนด้านในที่มีสีชมพูอ่อน ๆ มาตำกับเกลือให้นุ่มแล้วเคี้ยว ๆ อม ๆ ให้รสฝาดจากสารแทนนินในเปลือกแคช่วยสมานแผล ส่วนรสเค็มจากเกลือช่วยฆ่าเชื้อโรคในอีกทาง ป้องกันการติดเชื้อ
“กระถินไทย” ผักยืนต้นริมรั้วคู่ครัวไทย
คนยุค 90 ที่โตมาในช่วงคาบเกี่ยวกับบ้านสวนและบ้านปูน จะคุ้นกับคำว่า “กระถินริมรั้ว” เป็นอย่างดี เพราะหลายบ้านเลือกปลูกผักกระถินรอบรั้ว แล้วตัดแต่งเป็นแนวสวยงาม แถมยังเก็บยอดมาเป็นอาหารได้อีกด้วย กระถินเป็นไม้โตเร็ว มีสองชนิดคือ “กระถินไทย” ต้นเตี้ย ซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นที่นักกินคอนเฟิร์มว่าอร่อยที่สุดทั้งส่วนยอดและฝัก และ “กระถินยักษ์” ต้นสูงใหญ่ โตไว อย่างหลังนี้จัดเป็นพืชต่างถิ่นรุกราน ที่อาจทำลายความหลากหลายของพืชพรรณในธรรมชาติได้ ดังนั้นแนะนำให้ปลูกเป็นกระถินไทย พันธุ์พื้นบ้านจะดีต่อระบบนิเวศมากกว่า
ยอดกระถินมีรสมัน ๆ กินแกล้มกับหลายเมนูเพื่อชูรสชาติให้วิเศษขึ้น อย่างเช่น ยอดกระถินกินเป็นเหมือดในขนมจีนน้ำพริก ถือเป็นของคู่กันที่ขาดไม่ได้ หรือเมนูเด็ดอย่าง หอยนางรมทรงเครื่องกินแนมผักกระถิน ที่สารสำคัญในผักกระถินจะช่วยเปลี่ยนรสชาติคาร์โบไฮเดรตจากแพลงก์ตอนพืชที่หอยนางรมกินเข้าไป ให้กลายเป็นน้ำตาล ผสานคูณสองกับเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลาย ที่ก็ช่วยเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลด้วยเช่นกัน เวลากินหอยนางรมคู่ผักกระถินจึงเกิดรสหวานขึ้นเองอย่างอัศจรรย์
ฝักผักกระถินอ่อนที่ยังไม่เข้าเมล็ด นำมาล้างสะอาด หักเป็นท่อน ๆ ใส่ลงในจานขนมจีนน้ำยาลาว เพิ่มความอร่อย ส่วนฝักที่หนุ่มเข้าเมล็ดแล้ว แกะเอาเมล็ดผักกระถินกลิ่นรสคล้ายสะตอทว่าอ่อนเบากว่า (คนภาคใต้เรียกชื่อผักกระถินว่า “สะตอเบา”) มาใส่หรือโรยหน้าส้มตำจานแซ่บ บ้างก็กินเป็นผักเคียงน้ำพริก อร่อยเหาะ ไม้กระถินและฝักกระถินแก่ นำไปต้มกับน้ำและนำน้ำต้มนั้นไปใช้หมักปลาร้าร่วมกับเกลือ จะให้ตัวปลาร้าที่มีสีแดงสวย ขณะที่น้ำปลาร้าปรุงรสสำหรับใส่ส้มตำ ถ้าหั่นฝักผักกระถินแก่ลงต้มไปทั้งเปลือกฝัก จะช่วยให้กลิ่นปลาร้าเข้มข้น และน้ำปลาร้ามีสีแดงสวยชวนกินยิ่งขึ้น
“ผักติ้ว” ซากุระอีสาน ดอกใบกินได้ให้รสเปรี้ยว
ต้นติ้ว หรือที่คนไทยภาคกลางเรียก ต้นแต้ว นั้น ทุกวันนี้เรามักเห็นนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเช่นกัน เพราะนอกจากทรงต้นสวยแล้ว เวลาแทงยอดอ่อนจะมีใบสีแดง และเวลาออกดอกจะทิ้งใบทั้งหมด เหลือแต่ดอกสีขาวผสมแดงของขั้วดอกบานสะพรั่งเต็มต้น จนถูกเปรียบเปรยจากคนอีสานว่าเป็น “ซากุระแห่งที่ราบสูง” โดยจะมีสองสายพันธุ์คือ พันธุ์ดอกสีขาว และดอกสีชมพูเรื่อ ๆ ซึ่งอย่างหลังนี้ใบจะมีขนนุ่ม ๆ ด้วย และมีดอกมีรสขมนิด ๆ ต่างจากชนิดดอกขาว
ยอดอ่อน และดอกต้นติ้วนั้นกินได้ มีรสเปรี้ยวเจือฝาดเปี่ยมเสน่ห์ จัดเป็นผักเคียงอาหารรสเผ็ด ๆ เช่น น้ำพริก แจ่วบอง ลาบ น้ำตก ฯลฯ ก็ช่วยชูรสชูโรงได้ดี หรือจะเด็ดเฉพาะใบใส่ลงหม้อต้มปลาน้ำใสอย่างคนอีสาน ก็ได้รสเปรี้ยวอ่อน ๆ แบบธรรมชาติ พร้อมกลิ่นหอมสดชื่น ให้ซดน้ำแกงได้คล่องคอยิ่งขึ้น ดอกติ้วยังนำมาปรุงยำก็ได้ หรือ จะใส่ลงต้มแกงเพิ่มรสเปรี้ยวเช่นเดียวกับใบอ่อนก็ได้เช่นกัน และมีข้อมูลระบุว่า รสเปรี้ยวอมฝาดของดอกและใบติ้ว มีสรรพคุณช่วยระบายท้องด้วย
“ขี้เหล็ก” หลับสบาย คลายเครียด ช่วยแก้ท้องผูกให้คลาย
ขี้เหล็กเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้กินได้และโตเร็ว มากประโยชน์ที่น่าปลูก เพราะนอกจากจะนำยอดอ่อนและดอกมาปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านยอดนิยมอย่าง แกงขี้เหล็ก ได้แล้ว (แกงขี้เหล็กภาคกลางใส่กะทิ ส่วนของภาคอีสานเป็นแกงน้ำดำที่แกงใส่น้ำปลาร้ากับหนังวัวหรือหนังหมู) อาหารที่ปรุงจากยอดหรือดอกขี้เหล็ก นั้นคืออาหารเป็นยา เพราะมีสรรพคุณทั้งช่วยระบายท้อง ส่งเสริมระบบขับถ่าย แถมยังพ่วงฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับสบาย คลายเครียดได้อีกด้วย
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ในดอกอ่อนและใบอ่อนของขี้เหล็กมีสารชื่อ “บาราคอล” ซึ่งมีฤทธิ์สงบประสาท คลายเครียด และทำให้หลับสบาย และยังพบสาร แอนธราควิโนน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอีกด้วย ในหนังสือ “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” ยังระบุสรรพคุณเพิ่มเติมของขี้เหล็กอีกว่า ส่วนดอกและยอดอ่อนนั้นช่วยเจริญอาหาร ใบขี้เหล็กใช้เป็นยาแก้ระดูขาว แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ แถมส่วนของดอกยังใช้ล้างศีรษะแก้รังแคได้ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ยอดและดอกขี้เหล็กจะมีคุณเชิงสุขภาพ แต่ก่อนจะรับประทานก็ต้องรู้จักวิธีจัดการเพื่อลดทอนฤทธิ์ของสารเคมีลงบ้าง ป้องกันไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ โดยให้นำยอดหรือดอกขี้เหล็กไปต้มน้ำทิ้งก่อนสักหนึ่งน้ำ แล้วจึงนำไปปรุงอาหารต่อ ด้วยวิธีนี้จะช่วยลดรสขมของขี้เหล็กลงได้ ทั้งยังช่วยให้ผู้รับประทานขี้เหล็กได้สารสำคัญในปริมาณที่พอเหมาะส่งเสริมสุขภาพตามที่กล่าวมาได้
“สะเดา” ไม้มรดกมากคุณค่า เป็นยาบำรุงธาตุ
เวลาเข้าสู่ฤดูหนาวดอกสะเดาจะบานสวย เด็ดมาฟาดไฟ พร้อมด้วยการพรมน้ำซาวข้าว ให้มีกลิ่นหอม หรือ นำมาต้มลวกให้สุก แล้วกินกับน้ำปลาหวาน เคียงกุ้งย่าง หรือ ปลาดุกย่างมัน ๆ เข้ากันดีเป็นที่สุด
ดอกสะเดามีให้เลือกกินสองชนิด คือ สะเดามัน ช่อสั้น ๆ ดอกอัดแน่นเป็นกระจุก วัยรุ่นชอบ แต่คนสูงอายุกินแล้วมักท้องอืด และสะเดาขม ช่อดอกยาว ออกดอกห่าง ๆ กัน มีรสขม โดนใจคนสูงวัย ทว่าหลายปีที่ผ่านมายังเคยเจอดอกสะเดาที่มีรสทั้งมันและขมผสมกันด้วย สงสัยจะเกิดการกลายพันธุ์
สะเดาเป็นยา ใบอ่อนแก้โรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสีย พุพอง ได้ ก้านสะเดาแก้ไข้ป่า ดอกสะเดาที่เราท่านกินกันนั้น แก้พิษในเลือด (โลหิต) แก้ริดสีดวง แก้เม็ดยอดในปาก คันคอ และยังช่วยบำรุงธาตุในร่างกายได้อีกด้วย
เท่านั้นไม่พอสะเดาเป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เช่น ทำวงกบประตูหน้าต่าง ทำโต๊ะเก้าอี้ เป็นต้น ทั้งยังเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถปลูกไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลานได้ และยังเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นสินทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงินได้อีก เรียกได้ว่าปลูกสะเดาไว้มีแต่ได้กับได้
“มะรุม” ผักยืนต้นอุดมวิตามิน สารพัดประโยชน์
ช่วงหนึ่งมะรุมนั้นฮิตในแวดวงสุขภาพกันมาก แม้วันนี้ความนิยมในเชิงการค้าจะลดลง แต่คุณค่าของมะรุมไม่ได้ลดตาม เพราะพืชชนิดนี้โตเร็ว มากคุณค่า กินได้ตั้งแต่ ยอดอ่อน ใบ ดอก ฝักอ่อน และเมล็ดในฝักแก่ ความโดดเด่นเชิงสุขภาพของมะรุม คืออุดมไปด้วย วิตามินสารพัด ทั้ง วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม โพแทสเซียม และธาตุเหล็ก ในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังมีโปรตีนและใยอาหารอีกด้วย ในทางการแพทย์แผนไทย ใบมะรุมนั้นใช้รักษาเลือดออกตามไรฟัน ดอกช่วยขับปัสสาวะ บำรุงกำลัง ฝักมะรุม ช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ปัสสาวะพิการ เมล็ดมะรุมยังมีฤทธิ์แก้ไข้ได้ด้วย
ยอดและดอกมะรุม นำมาลวกกินเป็นผักแนมน้ำพริก ฝักอ่อนปอกเปลือก แล้วทำแกงส้ม กินแล้วอร่อยชะมัดยาด ครั้งหนึ่งเคยไปเยือนปราณบุรี แม่ครัวทางนั้นทำแกงส้มมะรุมใส่เนื้อปลาทะเลซึ่งทีเด็ดคือเขาจะใส่กะทิลงไปด้วย ให้อารมณ์คล้ายแกงคั่ว แต่น้ำมากกว่า กินแล้วได้รสมัน ๆ ของกะทิมาเสริมความกลมกล่อมให้ชวนเติมข้าวเพิ่ม นอกจากนี้ยังเคยเห็นนักปรุงอาหารบางคนนำเมล็ดมะรุมหรือใบมะรุมมาทำให้แห้งและบดเป็นผง ชงเป็นชาดื่ม หรือใช้ผสมลงกับเนื้อขนมเค้ก คุกกี้ ก็ให้รสหวานธรรมชาติและสีเขียวสวยอีกด้วย ดีงามตามท้องเรื่องแบบนี้ไม่หามาปลูกติดบ้านไว้ไม่ได้แล้ว
“มะขามเปรี้ยว” ไม้มงคล ดอก ใบ ผล กินได้ไม่รู้หมด
คนไทยเชื่อว่ามะขามเป็นไม้มงคล เพราะคำว่า “ขาม” ในชื่อ นั้นพ้องกับคำว่า “เกรงขาม” มะขามเปรี้ยวปลูกไว้ต้นเดียวก็เก็บมากิน มาปรุงอาหารได้ยาวนาน โดยเฉพาะมะขามเปียก เครื่องปรุงรสเปรี้ยวคู่ครัวไทยที่ขาดไม่ได้
มะขามเป็นพืชที่กินได้หลายส่วน เช่น ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวอมฝาด เก็บไปใส่ต้มไก่ใบมะขามอ่อน หรือ ต้มกะทิปลาสลิดใบมะขามอ่อน ก็ซดแล้วได้รสเปรี้ยวธรรมชาติและกลิ่นหอมชวนน้ำลายสอ ดอกมะขามมีรสเปรี้ยวติดฝาดเช่นกัน จะเก็บไปใส่ในพริกน้ำปลา หรือ ใช้โขลกลงทำน้ำพริกมะขามร่วมกับฝักมะขามอ่อนก็ได้ มะขามฝักอ่อนที่ยังแบนไม่เข้าเมล็ด สาว ๆ แถวบ้านชอบเก็บมาจิ้มกับกะปิโหว่ กินเป็นของเรียกน้ำลายและคลายความง่วงงุนระหว่างวัน หรือจะนำมาตำทำน้ำพริกมะขามก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าชอบเนื้อมะขามมากหน่อย ต้องรอให้ฝักโตจึงนำมาปอกเปลือก แล้วหั่นเอาแต่เนื้อมาโขลกน้ำพริก
ฝักมะขามและการปอกเปลือกนั้นต้องรู้เคล็ดลับจึงจะทำได้ง่ายและคล่องมือ คุณป้าข้างบ้างที่ทำมะขามดองขายไม่หวงสูตร บอกเคล็ดวิชามาว่า ให้นำไปลวกน้ำร้อนสักอึดใจ แล้วตักขึ้นแช่น้ำเย็น เท่านี้ก็นำมารูดเปลือกออกได้ง่ายสบาย ๆ แล้วจึงนำไปดองหรือแช่อิ่ม ผลมะขามเปรี้ยวสุก แกะเอาแต่เนื้อได้มะขามเปียก เก็บเอาไว้ในตู้เย็นจะช่วยคงสีสวย ไม่คล้ำดำ
นอกจากนี้เมล็ดมะขามนำมาคั่วสุก คนอีสานหลายคนชอบมาก นำมาทุบแกะเปลือกออก แล้วอม ๆ เคี้ยว ๆ เป็นของกินเล่น ในตำรายาไทยจะใช้เมล็ดมะขามคั่วปอกเปลือก ต้มกับน้ำเกลือจนนิ่มแล้วนำมากิน หรือนำเมล็ดมะขามแช่น้ำให้นิ่มข้ามคืนแล้วกินก็ได้เช่นกัน จะช่วยเบื่อพยาธิตัวกลมและพยาธิเส้นด้าย ได้นั่นเอง
มะขามยังเป็นพืชที่มีใบขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและดักจับมลพิษในอากาศได้ดี ที่สำคัญ ยังเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นสินทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงินได้เช่นเดียวกับสะเดา อีกด้วย
“ยอ” พืชใบขมอร่อย ผลเป็นยาบำรุงร่างกาย ขับเลือดลม
ยอ เป็นต้นไม้ที่ทรงต้นไม่สวยเท่าไร แต่ใบใหญ่ ๆ เงา ๆ ของพวกมันนั้น เวลาใส่รองใต้ห่อหมก นำไปห่อปลาแล้วนึ่งหรือ ฉีกใส่แกงอ่อมปลาดุกอย่างภาคกลางแล้วเพิ่มมิติรสชาติในอาหารให้เปี่ยมเสน่ห์ ยอเป็นไม้มงคลที่คนไทยถือว่าหากบ้านไหนปลูกไว้คนในบ้านนั้นจะได้รับแต่คำเยินยอ
เวลาจะกินใบยอ ต้องเลือกใบเพสลาด หรือใบที่กลางหนุ่มกลางอ่อน จึงจะมีเนื้อสัมผัสที่นิ่มนวลและรสชาติเข้มข้นกำลังดี นักปรุงอาหารบางคน ระบุให้สังเกตและเลือกเก็บใบยอใบที่ 3-5 จากยอด ฉันเคยเรียนทำห่อหมกปลาช่อนกับแม่ครูสอนทำอาหารมือฉมังท่านหนึ่ง กำลังจะใช้มีดหั่นใบยอ ก็โดนท่านตีมือเข้า บอกว่า ใบยอถ้าหั่นแล้วขอบใบจะคม เวลากินแล้วให้สัมผัสไม่นิ่มนวล ดังนั้นควรใช้วิธีการฉีกใบด้วยมือและเอาก้านกลางแข็ง ๆ ทิ้งไป ก่อนนำไปลวกน้ำเดือดผสมเกลือเล็กน้อย ตักขึ้นมาพักให้คลายร้อน บีบน้ำให้หมาด แล้วจึงนำไปใช้ปรุงอาหาร รสขมของใบยอนั้นมีสรรพคุณช่วยเจริญอาหารและแก้ไข้
นอกจากกินได้แล้ว น้ำคั้นใบยอ นำมาสระผมฆ่าเหาได้ชะงัด หรือจะนำมาทาแก้ปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้า นำไปย่างให้ตายนึ่งและมีความร้อนก่อนนำมาประคบแก้ปวดบวมอักเสบได้
ตอนเป็นเด็กฉันยังเห็นญาติ ๆ ในบ้านที่เป็นสาวรุ่น ชอบนำผลยออ่อนมาสับเฉือนเอาแต่เนื้อแล้วตำกินอย่างส้มตำ เพิ่งมารู้เอาภายหลังตอนที่เรียนแพทย์แผนไทยว่า ผลยอดิบนั้น ช่วยขับโลหิตระดู ขับเลือดลม ขับลมในลำไส้ และขับผายลมได้ และยังมีโอกาสได้ไปดูงานที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ทำให้รู้จักกับยาสมุนไพรตำรับหนึ่งชื่อ “ยากวนกุลกา” เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย ที่มีผลยอเป็นส่วนผสมหลัก รวมไปถึงผลยอดองน้ำผึ้งใช้รับประทานบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย เห็นไหมว่าประโยชน์ของยอนั้น น่าเยินยอจริง ๆ
นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผักยืนต้นกินได้มากประโยชน์ที่นำมาเล่าสู่ฟัง เพราะจริง ๆ แล้ว ผักยืนต้นกินได้ยังมีอีกหลากหลายชนิดที่ไม่ได้เอ่ยถึง ซึ่งหากปลูกไว้ เราก็ได้ทั้งเสบียงอาหารติดบ้าน และยังช่วยแก้ปัญหาวิกฤติโลกร้อนไปด้วยในคราวเดียวกัน ที่สำคัญปลูกแค่ครั้งเดียวก็เก็บกินยาว ๆ ไปได้ชั่วลูกชั่วหลานแบบคุ้มแสนคุ้ม ดีงามตามท้องเรื่องขนาดนี้จะรีรออยู่ใย เร่งไปเสาะหาเหล่าผักยืนต้นกินได้มาปลูกไว้ให้เกิดประโยชน์ต่อเราและต่อโลกกันเถิด
ภาพประกอบ: Paperis
ที่มาข้อมูล:
หนังสือ “50 สูตรอร่อยกับผักยืนต้น จาก 8 พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร” โดย มูลนิธิชีววิถี (Bio Thai)
หนังสือ “สารานุกรมสมุนไพรไทย รวมหลักเภสัชกรรมไทย” โดย วุฒิ วุฒิธรรมเวช
หนังสือ “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” โดย ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาศ ชวลิต และ วิเชียร จีรวงส์
หัวข้อข่าว “เปิดตำรับ “ยอเป็นยา” ด้วย “กุลกา” ชูกำลัง” โดย MGR Online