สิ่งที่เราเลือกกินส่งผลกับชีวิตของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม อาหารที่ดีมาจากสิ่งแวดล้อมที่ดีเสมอ ถ้าเรามองอาหารให้เป็นพลังงาน ทุกวันนี้ถือว่าเราขาดทุน ในสมัยปู่ย่าตายายเรา เนื้อหมูมาจากชุมชนเพราะหมูเลี้ยงกันเองในชุมชน เราได้กำไรเรื่องพลังงาน เพราะอาหารที่หมูในชุมชนกินมาจากเศษอาหารของบ้านของร้านอาหารมาเทรวมกัน แล้วมีคนขนข้าวหมูไปให้หมูทุกวัน คำนวณเป็นพลังงานแล้วเราใส่พลังงานไป 1 แคลอรี เพราะมันคือเศษอาหารของเราเป็นหลัก
ในวันที่หมูโตเต็มที่แบบไม่ต้องใช้สารเร่งใดใด เราเชือดมันแล้วเอามาเป็นอาหาร เราได้พลังงานกลับมา 30 แคลอรี ในขณะที่เทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารเข้ามาพร้อมกับคำสัญญาว่า วิทยาการที่มีจะทำให้ชีวิตพวกเราดีขึ้น แต่ทว่ากลายเป็นค่านิยมที่ว่าเนื้อหมูที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมนั้นสะอาดกว่าหมูที่เลี้ยงในชุมชน จนตอนเด็กๆ ผู้เขียนถึงกับเอ่ยปากบอกแม่ว่า “อย่าซื้อหมูแถวบ้านนะ หมูอนามัยราคาถูกกว่าดีกว่า” (หมูที่เลี้ยงด้วยเศษอาหารจากชุมชนไม่มีค่าขนส่งทางไกล ไม่มีค่าเก็บควบคุมอุณหภูมิ กลับมีราคาแพงกว่าหมูที่ต้องซื้ออาหารมาเลี้ยง หมูที่ต้องขนส่งมาด้วยระยะทางไกล และต้องคุมอุณหภูมิ ได้อย่างไร ?)
จนหมูในชุมชนเริ่มทยอยหายไป ราคาหมูอนามัยจากระบบอุตสาหกรรมจึงถูกกำหนดตามความต้องการของผู้ผลิต หมูฟาร์มที่เลี้ยงรวมศูนย์อยู่ในไม่กี่พื้นที่ในภาคกลางต้องการอาหารไปให้หมูที่อยู่รวมกันมาก อาหารก็ต้องมากตาม และอาหารที่หมูเหล่านั้นกินมาจากไหน ถ้าไม่ใช่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ทำให้ค่า PM2.5 สูงจนคนไทยสุขภาพเสียกันทุกวันนี้…ปรากฎการณ์เช่นนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า ระบบอาหารในวันนี้ของเรานั้นยั่งยืนจริงหรือไม่ และเราควรมีทางเลือกในการกินมากกว่านี้หรือเปล่า
เรามักได้ยินเรื่อง ‘แม่แจ่มโมเดล’ ที่ระดมคนเก่ง ๆ และทุ่มงบประมาณมหาศาลเข้าไปแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันกันมาตลอดเวลานับสิบปี
พื้นที่ที่คนพูดถึงมากคือ ‘แม่แจ่ม‘ เป็นเสมือนด่านหน้าของการต่อสู้เพื่ออากาศสะอาด อย่างที่เรามักได้ยินเรื่อง ‘แม่แจ่มโมเดล’ ที่ระดมคนเก่ง ๆ และทุ่มงบประมาณมหาศาลเข้าไปแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันกันมาตลอดเวลานับสิบปี แต่การแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ก็ไม่สามารถทำให้ปัญหา PM2.5 หมดไปได้ ในขณะที่ประชาชนต้องมีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซื้อเครื่องฟอกอากาศ อยู่บ้าน เปิดแอร์ เพื่อหายใจอยู่ในห้อง ไม่อยากออกไปไหน คนไม่เดินทาง การท่องเที่ยวซบเซา เศรษฐกิจแย่ เราจะยอมจำนนต่อปัญหาและมีชีวิตแบบนี้ตลอดไปได้อย่างไร
ทำไมผมคิดอย่างนั้นกับปัญหา PM2.5 ?
พืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด มีลักษณะพิเศษคือ เป็นพืชที่สามารถขนและลำเลียงอกจากพื้นที่ป่าได้ เพราะในทางกฎหมายข้าวโพดเป็นพืชล้มลุก ไม่ถือเป็นไม้ยืนต้น ไม่ถือว่าทำลายป่า เพราะแบบนั้นทำไมถึงปลูกข้าวโพดในป่าได้ อ๋อ…เพราะมันเป็นป่าเสื่อมโทรม เลยอนุญาตให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดได้ แล้วป่าเสื่อมโทรมคืออะไรหรือ ? อ๋อ…หนึ่งในนิยามของป่าเสื่อมโทรมคือป่าที่เกิดไฟป่า จึงเสื่อมโทรม
นอกจากนั้น ต้องบอกว่าระบบการผลิตข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมนั้นถูกออกแบบไว้ดีอย่างยิ่ง ทั้งการกระจายเมล็ดพันธุ์ วัสดุในการปลูกข้าวโพด การรับซื้อต่อเนื่องและแน่นอน หรือการขนส่งก็ตาม เรียกว่าถ้าตัดสินใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในระบบพันธสัญญา เกษตรกรายนั้นสามารถลงมือทำได้เลยโดยที่อุปสรรคน้อย ทั้งยังความเสี่ยงต่ำ สมมุติว่ามีป่าเสื่อมโทรมที่โดนไฟป่าเผามา ด้วยความที่เคยเป็นป่ามาก่อน ดินสะสมแร่ธาตุและสารอาหารมาเป็นปี ๆ แค่เอาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมาลง ข้าวโพดก็งอกงาม 2-3 crop แรก ที่ลงนี่เห็นเงินเป็นกอบเป็นกำแน่นอนเพราะแทบไม่มีต้นทุนอะไรนอกจากเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด
ไฟป่าที่เพิ่งเกิดเมื่อเดือนมีนาคมถึงเมษายน พอเริ่มเอาเมล็ดพันธุ์ลงดินก็ถึงหน้าฝนพอดี จึงไม่ต้องรดน้ำ (ค่าฝุ่น PM2.5 จึงสูงมากช่วงเดือน มี.ค-เม.ย) แต่พอผ่านไปสักสองปี พลังงานในดินถูกดูดเอามาใช้จนเกลี้ยง จึงจำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคาข้าวโพดจึงขึ้น ๆ ลง ๆ ทำให้เริ่มไม่มีกำไร เกษตกรก็จำเป็นต้องจะมองหาพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ๆ เป็นเหตุผลว่าทำไมพอมีป่าเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้น พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดจึงมากขึ้นตามไปด้วย เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ทุกปี
อาชีพปลูกข้าวโพดจึงเหมือนเข้าแล้วออกไม่ได้
อาชีพปลูกข้าวโพดจึงเหมือนเข้าแล้วออกไม่ได้ และที่มาของปัญหาทั้งหมดก็กลับไปยังปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม ความที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการปฏิบัติแบบประชาชนชั้นสอง เมื่อชีวิตเขาไม่สามารถหมุนตามการพัฒนาของเมืองใหญ่ เกิดความเหลื่อมล้ำ เมื่อมีช่องว่างทางสังคม เมื่อเรามองว่าไม่ใช่ปัญหาของเรา ช่องว่างนั้นก็กว้างขึ้น และชาวบ้านก็จำเป็นต้องใช้เงินเช่นกัน พอมีคนที่เสนอโอกาสเข้ามาเติมช่องว่างนั้น ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นและมันก็ย้อนกลับมาเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ
คำถามสำคัญคือ เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ? เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับประเทศสิงคโปร์ สถานการณ์คล้ายในไทยที่ควันลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมกับแหล่งกำเนิดควันในประเทศ สิงคโปร์จัดการปัญหาโดยการลิสต์รายชื่อของบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องควันพิษ และเริ่มควบคุมพฤติกรรมการผลิตของบริษัทเหล่านั้นทันที
ในบริบทของการทำปศุสัตว์รายย่อยในพื้นที่ เพราะนอกจากจะสร้างความมั่นคงด้านอาหารแล้ว ยังสร้าง Local Economic
ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่สุดแล้วเราอาจต้องเริ่มแก้ปมปัญหาจากจุดเล็ก ๆ อย่างการหันมาจริงจังกับ ‘Local Food’ ในบริบทของการทำปศุสัตว์รายย่อยในพื้นที่ เพราะนอกจากจะสร้างความมั่นคงด้านอาหารแล้ว ยังสร้าง Local Economic เพราะเงินก็ไหลเวียนอยู่ในระบบของชุมชน ทุกวันนี้โมเดลนี้ยังมีอยู่ตามต่างจังหวัด เขามีระบบแบบหลวม ๆ ว่าในชุมชนล้มหมูวันละตัว แบ่งซื้อเนื้อหมูกัน เป็นวิธีสู้แบบคนตัวเล็ก ๆ ไปด้วยกัน โดยมีหมุดหมายคือการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนและเกื้อกูลกันอย่างที่มนุษย์ควรทำ
ภาพ : มะเป้ง