หลังจบงาน “Happy Meat Happy Me สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้” ที่สร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริโภคในการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยและกระตุ้นให้เกิดการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างมีมนุษยธรรมก่อนส่งออกจำหน่าย เมื่อปลายปี 2565

ห่างกันไม่กี่เดือน เมื่อวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) ก็นำแคมเปญชุดที่สองออกมาหนุนแรงเพื่อส่งเสียงถึงกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ให้จัดระบบการเลี้ยงไก่ในฟาร์มอย่างมีสวัสดิภาพและเป็นรูปธรรม ในรูปแบบงานศิลปะ ผ่านงาน “เอ้ก–อี–เอ้ก-อ๊ากกก” เทศกาลศิลปะเพื่อไก่และคน ที่ BACC หรือหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

งานนี้มีศิลปินเข้าร่วมส่งเสียงผ่านงานศิลปะ 4 รูปแบบ ที่ต่างก็สื่อสารถึงความทุกข์ทรมานของไก่จากการเลี้ยงที่ขาดการคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ และหวังจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มธุรกิจ ในการจัดระบบพื้นที่ลดความแออัดภายในโรงเรือน จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อให้ไก่แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติเพื่อที่ไก่จะได้ไม่เจ็บป่วยง่าย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ฟาร์มลดการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ที่จะส่งผลกระทบทั้งกับสุขภาพสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นลูกโซ่ และทำให้เกิดวิกฤติเชื้อดื้อยาทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ขณะเดียวกันก็เสนอทางออกที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ ด้วยการเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงอย่างให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพ เพื่อความยั่งยืนของระบบอาหารที่เกื้อกูลกันของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

มากมายเท่าไรที่คนทั่วโลกบริโภคไก่ ?
ทางองค์กรได้ให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมชมงานในวันนั้นว่า ทั่วโลกทั้งใบนี้มีไก่ที่ถูกฆ่าเพื่อการบริโภคจำนวนมากถึง 7 หมื่นล้านตัวต่อปี และด้วยการบริโภคขนาดมหาศาล ก็นำมาสู่ระบบการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมที่เร่งการผลิตจนสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนและสัตว์ รวมถึงผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ต้องการเลี้ยงให้หน้าอกใหญ่กว่าขา ซึ่ง 2 ใน 3 ของจำนวนไก่ทั้งหมด ไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติเพราะต้องอยู่อย่างแออัดในโรงเรือน ขาพิการ เดินไม่ได้

การถูกจำกัดพื้นที่ของไก่ ส่งสารมาถึงเราผ่านงานอินสตอลเลชั่นขนาดใหญ่ยักษ์ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้า “ชีวิต A4” เป็นผลงานของครูเซียง-ปรีชา การุญ หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา ที่นำภูมิปัญญาด้านจักสานของชาวบ้านมาประยุกต์เป็นไก่ขนาดความสูง 3 เมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดเพียงกระดาษ A4 ใช้วัสดุจากไม้ไผ่ สุ่มไก่ หวาย ฟางข้าว และเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับไก่ตัวนี้ได้ทั้งการถ่ายภาพ และเขียนข้อความสื่อสารบนกระดาษสีขาวผืนเล็กที่มีเตรียมไว้ให้ เพื่อให้กระดาษผืนนี้เติมเต็มเป็นขนไก่ทั้งตัว สื่อความหมายว่าเราจะคืนคุณภาพชีวิตและจิตวิญญาณให้กับไก่

ครูเซียงเล่าว่า เขากับทีมงานสร้างสรรค์งานชุดนี้ขึ้นจากการที่ได้รู้ว่าไก่ในฟาร์มมีระยะเดินเท่ากับกระดาษ A4 เท่านั้น ความที่อาศัยอยู่ในชนบทอีสาน ทำให้ครูเซียงได้คลุกคลีกับไก่ที่เลี้ยงธรรมชาติ และอิจฉาที่ไก่มีอิสระ กระโดดได้ บินขึ้นต้นไม้ก็ได้ อยากจะพาลูกไปคุ้ยเขี่ยหากินที่ไหนก็ไปได้ทุกที่

“แต่ไก่ในฟาร์มมีชีวิตที่หดหู่มาก มีขาก็เหมือนไม่มี เดินได้นิดเดียวก็ล้มเหมือนขาพิการ กระดูกขามันน่าจะอ่อนมาเพราะเขาเลี้ยงมาเพื่อให้มีอกใหญ่ จะได้มีเนื้อเยอะ งานศิลปะของเราที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาตินี้จะเห็นว่าไก่ตัวใหญ่มาก แต่ขามันนิดเดียวเอง

“เรารู้ว่าสุดท้ายไก่มันจะกลายมาเป็นอาหารของเรา แต่ก่อนที่จะมาเป็นอาหารก็อยากจะเห็นไก่มีชีวิตที่ดีกว่านี้ เพราะมันก็มีชีวิตเหมือนกันกับเรา ผ้าสีขาวเรามีไว้ให้ทุกคนไปเขียนข้อความเกี่ยวกับไก่ อยากบอกอะไรก็เขียนลงไปเลย”

งานของครูเซียงและคณะ สื่อถึงไก่ที่ถูกตรึงเอาไว้ในพื้นที่แคบ ๆ มีพื้นที่ใช้ชีวิตเฉลี่ยประมาณแผ่นกระดาษ A4 ตาถูกผูกไว้ให้อยู่ในโลกมืด ถูกบังคับให้กินตามเวลาที่คนเลี้ยงกำหนดโดยการเปิดปิดไฟเพื่อบอกเวลากลางวันและกลางคืน ขนไก่จากผืนผ้าค่อยๆ เติมเต็มบนสุ่มซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวไก่ มีข้อความหลากหลายความรู้สึกที่สะท้อนออกมาจากคนดูเพื่อขอพื้นที่ยืนให้ไก่ เช่นว่า “Good life for all chicken” “Save 2 les poulets” “หยุด!!! ทรมานไก่” หรือภาพไก่ในกรงขังที่ประกอบคำสั้น ๆ ว่า “Chicken very sad”

ความแซดของไก่ยักษ์ เดินทางมาอยู่บนโต๊ะอาหาร ในผลงานมิกซ์มีเดีย “The Last Suffer” งานคอลลาจร่วมสมัยของนักรบ มูลมนัส ที่คนในแวดวงศิลปะคุ้นเคยในสไตล์ที่มีเอกลักษณ์ งานนี้เขาจับมือกับ มารีญา พูนเลิศลาภ ทำงานสื่อผสมที่ทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมได้บนโต๊ะอาหาร ซึ่งมีแนวคิดมาจากภาพเขียนของลีโอนาร์โด ดา วินชี “The Last Supper” อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ที่ตอนนี้สื่อสารกับเราว่า ความอร่อยบนโต๊ะอาหาร มาจากความเจ็บปวดของไก่ และหวังว่านี่จะเป็นจานสุดท้าย

ข้อมูลจากมารีญาที่ทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกในฐานะทูตองค์กร มาถึงมือนักรบและแปลงออกมาผ่านภาพประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นแบบบันดาลใจ และเปลี่ยนบริบทในภาพให้สะท้อนถึงความเจ็บปวดของไก่จากการเลี้ยงที่สร้างความทุกข์ทรมานเพื่อให้ผลผลิตตามที่นายทุนต้องการ ภาพที่เคลื่อนไหวได้ถูกฉายขึ้นผนังที่เบื้องหน้าคือโต๊ะอาหารตัวยาว พร้อมเสิร์ฟอาหารฟาสต์ฟู้ดจากไก่และเรื่องราวที่บอกเล่าถึงการจะได้มาของเนื้อไก่

มารีญาเล่าว่า ทั้งเธอและนักรบอยากให้คนที่มานั่งบนโต๊ะตัวนี้ ได้เห็นถึงการเลี้ยงไก่ในระบบอุตสาหกรรมว่าไก่ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และมีผลกระทบอย่างไรกับไก่ กับคน และโลกของเรา

“ไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบนี้จะไม่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ จึงมีปัญหาทางสุขภาพทั้งกายและจิตใจ และต้องใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณที่เยอะเกินควรแบบองค์รวม คือป่วยหรือไม่ป่วยก็ได้ยา สุดท้ายยามาอยู่ในตัวคนกิน และเรื่องนี้เชื่อมโยงไปถึงการเกิด PM2.5 ที่มาจากการปลูกข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมเพื่อนำมาผลิตอาหารไก่ เกิดการเผาแปลงที่เป็นปัญหาฝุ่นควัน เป็นสิ่งที่เราอยากจะบอกว่า การกินของเรากระทบกับสิ่งแวดล้อม”

ไก่สีขาวในร่างกายมนุษย์ เคลื่อนไหวอยู่บนลานหน้าหอศิลป์ เป็นการแสดง Performance Art ในชื่อ “Kult of Chicken” ของนลธวัช มะชัย แห่งลานยิ้มการละคร เขาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านท่าทางและการเคลื่อนไหวในลักษณะต่าง ๆ ด้วยศิลปะร่ายรำแบบบูโตผสมผสานกับศิลปะการแสดงสดในศาสตร์อื่น ๆ โดยมีไก่และผู้บริโภคเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง เพื่อสะท้อนถึงสภาวะความเป็นไปของการเผยแพร่ลัทธิบริโภคนิยม จากการผลิตไก่สู่คน และจากคนสู่ความเป็นไปของไก่

คีย์เวิร์ดที่ว่า ไก่ในอุตสาหกรรมจะมีชีวิตอยู่เพียง 40 วัน นำมาสู่เสียงดนตรี 40 ชิ้นที่เป็นโครงสร้างของงานชิ้นนี้ อาทิ เสียงไก่วัยลูกเจี๊ยบ ไก่โตเต็มวัย เสียงดนตรี และเสียงกริ่งของร้านสะดวกซื้อที่เป็นตัวแทนของบริโภคนิยม ถูกนับมาใช้ประกอบจังหวะการแสดง เราเห็นภาพของไก่ที่เล่นกับผู้ชมโดยการถอนขนตัวเองให้กับคนดู ร่างกายบิดเบี้ยวด้วยความทรมาน ไก่เริ่มฉีกทึ้งขนตัวเอง จิกตีกันเอง เป็นการกรีดเสียงร้องผ่านท่วงท่า ที่จบเสียงสุดท้ายของการแสดงด้วยกริ่งสัญญาณประตูที่เราคุ้นหูของร้าน 24 ชั่วโมงหน้าปากซอย

“เราต้องการให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ตอนแรกเราตั้งคำถามว่าสวัสดิภาพไก่คืออะไร แล้วมันทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อว่าแล้วสวัสดิภาพคนกินไก่อยู่ตรงไหน สวัสดิภาพไก่กับสวัสดิภาพมนุษย์มันสัมพันธ์กันอย่างเลี่ยงไม่ได้” นนธวัชให้คำอธิบายถึงงานของเขา

เอ้ก-อี-เอ้ก-อ๊ากกก ปิดท้ายเทศกาลราวสองทุ่มกว่าด้วยลิเกแนวแฟนตาซี-โรแมนติก ของครูตั้ว-ประดิษฐ์ ประสาททอง ศิลปินศิลปาธรแห่งคณะละครอนัตตา ที่ใช้การแสดงเป็นสื่อเพื่อขยับการเคลื่อนไหวให้กับสังคม คราวนี้เขาชวนนักแสดงจากหลากหลายที่มาทำงานร่วมกัน ทั้งนักแสดงลิเกจากคณะจริง พระเอกจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนักแสดงสายละครเวที

ลิเก “เจ้าชายลอกับไก่วิปลาส” ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรม มีเนื้อเรื่องชวนติดตามอยู่ว่า ปู่เจ้าสมิงพราย ผู้เป็นใหญ่เหนือภูตผี ได้รับคำสั่งลับให้หาวิธีกำจัดเจ้าชายลอ ที่ออกเดินทางตามหาคนรักคือพระเพื่อนกับพระแพง ปู่เจ้าตั้งพิธีปลุกเสกไก่ผีอัศจรรย์พันลึก สิงร่างไก่เลี้ยงให้เป็นไก่แก้วหน้าตาสะสวย ไปหลอกล่อให้เจ้าชายลอติดตามเข้าในป่ามนต์ แล้วความลับของไก่วิปลาสก็ถูกเปิดเผย

ครูตั้วเล่าว่า “พลอตเรื่องมาจากพระลอตามไก่ แล้วเรามาปรับเป็นลิเกให้ดูสนุก เพื่อเปิดความคิดว่าไก่สวย ๆ ที่พระลอตามอยู่ เป็นไก่วิปลาสที่ถูกเลี้ยงในโรงเรือน มีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ผิดธรรมชาติเพราะปู่วิปริตคือปู่เจ้าสมิงพราย”

ลิเกของคณะละครอนัตตา สะท้อนให้เราฉุกคิดถึงไก่ที่สวยสมบูรณ์ แต่เบื้องหลังอาจไม่ได้สวยงามอย่างภาพที่เห็น ขณะเดียวกัน งานแสดงภาพวาดของผู้ชนะการประกวดในกิจกรรม “Die(in)Sight Art Content” ในหัวข้อ “เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม” โดยเครือข่ายเยาวชนเพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน (ชมรม Social Enterprise) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็ช่วยฉายให้คนที่มาในงานได้เห็นอันตรายที่เราอาจมองไม่เห็น และช่วยทำให้เราเข้าใจยิ่งขึ้นว่า การปรับเปลี่ยนวิถีการกินของเรา จะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจการเลี้ยงสัตว์อย่างมีหัวใจ และให้สวัสดิภาพกับสัตว์ได้อย่างไร

เหมือนอย่างที่มารีญาทิ้งท้ายเอาไว้หน้าโต๊ะอาหาร “The Last Suffer” ว่า งานนี้ไม่ได้สื่อสารกับคนเพื่อให้เลิกกินไก่หรือเนื้อสัตว์ แต่อยากให้ทุกคนได้รู้ว่า อาหารที่เรากินสร้างผลกระทบอย่างไร สัตว์เหล่านี้ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน หรือใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง สิ่งที่สำคัญคือข้อมูลที่แท้จริง ในการที่เราจะตัดสินใจเลือกกินสิ่งที่ดีต่อเราและดีต่อโลกของเรา

ภาพ : องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก