ในปี 2566 ค่าฝุ่น ที่จังหวัดเชียงรายพุ่งทะยานเกินกว่าเครื่องวัดจะอ่านค่าได้ คงเหลือตัวเลขสุดท้ายไว้ที่ 999 เด็ก ๆ มีเลือดออกจากจมูก ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ปิดที่มีเครื่องฟอกอากาศ ทารกแรกเกิดเผชิญฝุ่นรุนแรง แม้อยู่ในห้องใช้เครื่องฟอกอากาศแล้ว ค่าคุณภาพอากาศยังเลวร้ายระดับ “อันตรายอย่างยิ่ง”

นี่คือสถานการณ์ที่คนในเขตภาคเหนือทุกจังหวัดเผชิญมาตลอดเกือบ 20 ปี โดยที่ช่วงสิบปีหลัง วิกฤติการณ์ฝุ่นควันพิษภาคเหนือทวีความรุนแรงระดับภัยพิบัติเลยจริง ๆ แม้ว่ารัฐไม่เคยยอมรับข้อเท็จจริงนี้เลยก็ตาม

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักสื่อสารมวลชน ผู้แต่งนิทานและเป็นคนเชียงใหม่ จึงใช้โอกาสนี้ส่งเสียงแทนคนภาคเหนือผ่านนิทานเรื่อง “ในวันที่เรามีอากาศดี ๆ ไว้หายใจ” (Another Breath to Live) นิทานฝุ่นควันสองภาษาที่ต้องการบอกกับรัฐในฐานะผู้กำกับดูแลสุขภาวะ (Well being) ของประชาชนว่า ปัญหามลพิษอากาศนั้นรุนแรงเกินกว่าจะเพิกเฉยได้อีกต่อไปแล้วเพราะงานวิจัยมากมายยืนยันชัดเจนว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดของคนภาคเหนือเกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 โดยตรง

เงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันภาคเหนือคือภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ที่มีภูเขาโอบล้อมเป็นเหมือนตัวกักฝุ่นทำให้ลมพัดผ่านเข้าออกไม่ได้ นอกจากปัจจัยการลักลอบเผาภายในประเทศแล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่นควันยิ่งทวีความรุนแรงคือ “ฝุ่นควันพิษข้ามแดน” จากประเทศเพื่อนบ้าน องค์ประกอบเหล่านี้ยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนและเกินกว่าจะแก้ได้เพียงลำพัง หากต้องผลักดัน “กฎหมายอากาศสะอาด” และประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง มิใช่เพียงการลงนามร่วมแต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติใด ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

นิทานเรื่อง “ในวันที่เรามีอากาศดี ๆ ไว้หายใจ” จึงเป็นสื่อรณรงค์แจกฟรีที่ให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่เด็ก ๆ ผู้ปกครอง ครู และผู้ที่ต้องดูแลกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ให้เข้าใจสถานการณ์ฝุ่นควัน ช่วยดูแลป้องกันตัวเองและผู้อื่นได้เมื่อค่าฝุ่นเพิ่มขึ้น นิทานเล่มนี้แต่งเนื้อหาภาษาไทยโดย วิรตี ทะพิงค์แก แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย นิพาดา ปันแจ้ วาดภาพประกอบโดย วีรวุฒิ กังวานนวกุล (แห่งเดอะมนต์รักแม่กลอง) จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ Mountain Mind โดยได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 500 เล่ม โดยอาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินที่ทำงานเรื่องอากาศสะอาดในนาม Art For Air บริษัท กาแฟชาวไทยภูเขา จำกัด (ฮิลล์คอฟฟ์) และโรตารีไต้หวัน District 3501

นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คุณหมอหัวใจและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ได้เขียนคำห่วงใยไว้ในนิทานเล่มนี้ว่า “มลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนภาคเหนือมาอย่างยาวนาน ผลกระทบระยะยาวที่น่ากลัว คือ โรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลง 2-3 ปี เหมือนเป็นการสูบบุหรี่แบบจำยอมของคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กทารกแรกเกิดไปจนถึงคนชรา พวกเราจงร่วมกันเรียกร้องทวงคืนสิทธินั้น เพราะ ‘การหายใจในอากาศบริสุทธิ์’ เป็นสิทธิพื้นฐานของชีวิตคนทุกคน”

ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ Air Quality Index (AQI) ตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา
ค่าคุณภาพอากาศดีคือ 50 หากเกินกว่า 150 ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของผู้คนทำให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” ตามมาด้วย เพราะในวิกฤติฝุ่นควันเช่นนี้ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมักประสบปัญหาในการดูแลป้องกันตนเอง นี่เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่กฎหมายอากาศสะอาดเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นเพื่อให้ความรับผิดชอบการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมเป็นหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติจริงด้วย

อ่านนิทาน “ในวันที่เรามีอากาศดี ๆ ไว้หายใจ” โดยดาวน์โหลดฟรี ที่นี่ และหากองค์กรใดประสงค์บริจาคสมทบทุนการจัดพิมพ์นิทานเป็นครั้งที่สองเพื่อแจกฟรีแก่โรงเรียน สถานดูแลเด็ก ห้องสมุดต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือ โปรดติดต่อผู้เขียนที่อีเมล s.wiratee@gmail.com

ขอบคุณภาพประกอบ: วิรตี  ทะพิงค์แก