ช่วงวิกฤตโควิด นอกจากความกังวลกับโรคระบาดที่ยังทำตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่หยุดยั้ง อีกสิ่งที่สายกรีนกังวลไม่น้อยไปกว่ากัน คือเหล่าขยะพลาสติกที่กลับมาล้นทะลักอีกครั้งจากไลฟ์สไตล์แบบ New Normal และชวนให้หวั่นใจว่าจะมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่กำลังจะกรีนขึ้นของผู้คนในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาให้กลับไปอยู่จุดเดิม หรือหนักหนากว่าเดิมอีกหรือไม่

แม้ตัวเลขขยะยังพุ่งสูง และมาตรการป้องกันโรคที่ยังต้องเข้มข้นทำให้หลายๆ กิจกรรมกรีนกลายเป็นความยากลำบาก แต่สิ่งน่าชื่นใจที่ยืนยันว่ายังมีผู้คนที่ใส่ใจโลกอยู่ไม่น้อย คือการได้เห็นพวกเขาพยายามปรับ เปลี่ยน แปลง กิจวัตรประจำวันให้พร้อมสู้โรคและยังรักโลกไปพร้อมๆ กัน และเครื่องยืนยันที่ว่านั้น รวมกันเป็นปึกแผ่นน่ากดไลก์กดแชร์อยู่ในกรุ๊ป Greenery Challenge นี่เอง

ท่ามกลางความคึกคักของเหล่าสมาชิก เราขอมัดรวมไอเดียน่าสนใจมาแชร์ต่อเพื่อจุดประกายให้ทุกคน ที่อาจจะทดๆ ท้อๆ กับการดูแลโลกในเวลานี้ หรือคิดไม่ออกว่าเราจะยังกรีนในยุคที่กลัวโรคระบาดได้อย่างไร ตามไปดูความสร้างสรรค์ของพวกเขากัน

กดเลิฟให้การกดลิฟต์

ปุ่มลิฟต์เป็นจุดอันตรายจุดแรกๆ ที่เรากังวลกันเพราะต้องสัมผัสกันมากหน้าหลายตา และเป็นโอกาสที่มือจะพาเชื้อโรคมาสู่หู ตา จมูก ปาก ของเรา ไอเดียที่มาเต็มตั้งแต่เริ่มตระหนักเรื่องนี้ของเหล่าสมาชิก จึงมีทั้งเอาปลอกยาดมที่ไม่ใช้แล้วกดลิฟต์แทนของคุณ ‎Muay Muay Chalida‎ งานนี้นอกจากจะแชร์ไอเดียที่หยิบไปใช้ได้ง่ายๆ เพราะเป็นขยะชิ้นจิ๋วที่เราทุกคนต่างมี อีกความน่ารักคือคำแนะนำว่าควรทำสัญลักษณ์เพื่อไม่ใครเผลอหยิบไปดม เรียกว่ามีใจกรีนแล้วยังห่วงความปลอดภัยไม่ย่อหย่อนอีกด้วย 

อีกไอเดียสุดเวิร์กคือปากกาไฮไลต์อันจิ๋วที่หมึกหมดแล้ว หยิบมาแขวนกับบัตรพนักงานคล้องคอกันลืม กันหาย ใช้กดได้ดี ไม่ทำลายปุ่มลิฟต์เพราะความนุ่มของหัวปากกา เป็นไอเดียของคุณ Nok Kanokwan‎

และอีกไอเดียช่างคิด หยิบเอาขยะบรรจุภัณฑ์ของเยลลี่ยอดฮิตมาล้างไว้เป็นปลอกนิ้วจำเป็น แล้วเอามาล้างรียูสใช้ซ้ำอีกก็ยังได้ เรื่องราวน่ารักนี้ถ่ายทอดโดยคุณ Bass Soto

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายไอเดียการกด ที่เห็นแล้วต้องกดเลิฟให้ในความสร้างสรรค์ของสมาชิกกรุ๊ปนี้จริงๆ 

ใส่หน้ากากเข้าหาไอเดีย

แน่นอนว่าในกรุ๊ปนี้มีนักเย็บผ้าทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น หยิบผ้าเหลือใช้ในบ้านมาเย็บหน้ากากสู้โควิดกันเป็นทิวแถว แต่หนึ่งไอเดียที่ชื่นชอบ คือหน้ากากจากเศษผ้าที่เหลือจากผ้าถุงของคุณ ‎Pim Pim ที่ได้ความไทยๆ น่ารักดีไปอีกแบบ หรือหน้ากากเข้าชุดมาพร้อมกันหน้ามาส์กทั้งหมวกของคุณ ‎Nok Kanokwan‎ ที่สวยจนอยากชวนให้เปิดพรีออเดอร์ เลยรวมไปถึงไอเดียอีกหลายๆ คนที่น่ารักไม่แพ้กัน

ไม่ใช่ถนนเพชรบุรีที่ต้องตัดใหม่ ยังมีหลายไอเดียที่หยิบของใกล้ตัวมาทำเป็นมาส์กง่ายๆ อย่างมาส์กจากเสื้อยืดตัวเก่าของคุณ ‎Anocha Padmadilok‎ หรือมาส์กจากผ้าเช็ดหน้าของคุณ Numjai Nanunaก็เป็นอีกไอเดียที่ทำให้เรามองของรอบตัวแล้วเลือกมาปรับใช้ได้หลากหลายขึ้น

ไม่หมดเพียงเท่านั้น คุณ ‎Taennikorn Nattakarn ยังแชร์วิธีการทำ face shield จากแผ่นใสทำปกรายงานและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในบ้าน ส่วนอีกไอเดียคือมาส์กสุดคิวท์พร้อม eye shield ของคุณ ‎Tuktoon Smiley‎ ที่นำเศษผ้าเหลือจากการทำมาส์กและเศษแผ่นใสจากปกรายงานเก่า ความเจ๋งคือถอดแยกส่วนได้ เป็นมาส์กก็ได้ เป็น eye shield ก็ดี ใส่สบายแบบไร้ขยะ 

และอีกไอเดียเล็กๆ แต่น่ารัก ก็ยังมีทั้งการหยิบเศษผ้าชิ้นจิ๋วๆ มาเย็บเป็นสายคล้องหน้ากากกันเจ็บหูของคุณ Tuktoon Smiley คนเดิม และไอเดียง่ายแต่ช่วยชีวิตหลายๆ คนของคุณ ‎Pui Tipa‎ ด้วยการนำมาส์กผ้าที่ซื้อมาแล้วยางยืดรัดเกิน นำไปพันกับไอแพดหรือปฏิทินตั้งโต๊ะให้เรื่องรัดๆ กลายเป็นเรื่องเบาๆ 

เจลแอลกอฮอล์ต้องมี ขวดรียูสต้องมา

เริ่มต้นกันตั้งแต่แชร์สูตรแอลกอฮอล์ล้างมือจากคุณหมอที่รับประกันความปลอดภัยจากคุณ ‎Anan Chartsatthar‎ ตามด้วยไอเดียเวียนสารพัดขวดสเปรย์ ขวดเจลอาบน้ำ ทั้งชนิดพกพาสำหรับเดินทางมาใช้ซ้ำ หรือจะเป็นของคุณ Pooky Sermpongpan‎ ที่นำหลอดโฟมล้างหน้ามาใช้ หรือจะเป็นขวดน้ำหอมแบรนด์ดังกระทั่งขวดมายองเนสญี่ปุ่น ก็ยืนยันชัดเจนว่าอะไรๆ ก็รียูสได้!

หรือไอเดียต่อยอดของคุณ Thidarat Aaeนำขวดแก้วชาไทยที่ชอบดื่ม มาใช้ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อผสมน้ำพกมาเช็ดอุปกรณ์พื้นผิวต่างๆในออฟฟิศและในรถ ก็คือวิธีคิดเดียวกัน นั่นคือการลดซื้อขวดใหม่ ภาชนะใหม่ ในเมื่อเราหยิบของในบ้านมาใช้แทนได้นั่นเอง

หรืออีกวิธีแครกบรรจุภัณฑ์สเปรย์แอลกอฮอล์อันจิ๋วให้ใช้ซ้ำได้ของคุณ Taennikorn Nattakarn ที่ก็ช่วยให้เราเติมแอลกอฮอล์ให้แพ็กเกจเดิมๆ ได้อีกครั้ง ใช้ให้คุ้มกับที่มันถูกผลิตมา

ล้างอย่างสร้างสรรค์

ไม่ใช่แค่เจลแอลกอฮอล์กุ๊กกิ๊กพกติดตัว กรุ๊ปนี้เขาเล่นใหญ่ระดับทำอ่างล้างมือสำหรับคนผ่านไปผ่านมาให้ได้ล้างมือด้วยสบู่กันจริงๆ จังๆ เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยสุดๆ ซึ่งไอเดียที่ต้องซูฮกให้ทั้งในเชิงรียูสของที่ไม่ใช้แล้วอย่างถังน้ำมัน และการออกแบบกลไกที่ช่วยให้ล้างมือได้โดยใช้เท้าเหยียบให้น้ำไหลแทนการใช้มือบิดก๊อกแบบเก่าของคุณ ‎Lingling Limwanuspong ทั้งเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจได้ดีสุดๆ 

หรืออีกไอเดียที่เด็ดไม่แพ้กัน คือเครื่องซักผ้าเสียแล้วของคุณลุงประจำหอพักของคุณ ‎Pimchanok Kuakoon‎ ที่เอาเครื่องซักผ้าเก่ามาติดก๊อกน้ำพร้อมเจลล้างมือ ได้ทั้งความเก๋ ฟังก์ชั่น และช่วยคนในตกได้มากทีเดียว 

เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ต้องระวัง

เริ่มต้นด้วย Numjai Nanuna กับไอเดียพกกล่องไปซื้อข้าว แล้วยังพกล่องใส่เงินสำหรับแม่ค้าหยิบจับ ลดการสัมผัสไปด้วยอีกแรง เลยรวมไปถึงไอเดียเพิ่มความปลอดภัยให้เราด้วย ให้คนอื่นด้วย ยกให้คุณ ‎Numjai Nanuna‎ เจ้าของไอเดียเอากล่องรียูสมารับบัตรจอดรถแล้วปิดฝาให้สนิท พอตอนคืนก็ให้พนักงานหยิบจากกล่อง งานนี้เซฟทั้งตัวเอง เซฟพนักงานที่เผื่อเราจะมีเชื้ออยู่แบบไม่รู้ตัว และเซฟแอลกอฮอล์​ล้างมือไม่ต้องเดี๋ยวจับ เดี๋ยวล้าง อีกต่อไป!

ยืดอก พกอุปกรณ์

อีกทางในการใช้ภาชนะจาก food delivery ที่มีมากจากการสั่งอาหารให้เป็นประโยชน์ ขอปรบมือให้คุณ ‎Danuda Jauhari‎ ที่แก้ปัญหาขี้ลืมของสมาชิกในบ้าน ด้วยการจัดเซ็ตอุปกรณ์พื้นฐานต้านโควิดพร้อมหยิบใช้ใส่กล่องและแก้วที่ล้างสะอาดแล้วนั่นเลย หรือคุณ ‎Sutida Iss‎ ที่รียูสกล่องของชุดแปรงสีฟันมาใส่ช้อนส้อมส่วนตัว พกติดตัวหากต้องออกไปทานข้าวนอกบ้าน เซฟตัวเองเพิ่มขึ้นได้อีกนิด แต่ลดการซื้อของใหม่ได้ด้วย 

ชงเอง แบกเอง นักเลงพอ

สมาชิกหลายคนโอดครวญกันพอสมควรเมื่อร้านกาแฟต่างๆ มีนโยบายงดรับแก้วส่วนตัวชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย หลายๆ คนจึงแก้เกมด้วยการชงกาแฟดื่มเองบ้าง เทใส่ขวดพกไปที่ทำงานบ้าง อย่างคุณ ‎Pam Panisa‎ นอกจากจะชงชาดื่มเองไม่พึ่งร้าน ยังเก็บกากชาที่ได้ไปใช้ดูดกลิ่นในตู้เย็น​ก่อนเอาไปทำปุ๋ยต่อ เรียกว่าครบวงจรความกรีน หรือคุณ ‎Jirasuta Boonjue‎ ที่นำขวดน้ำไปออกกำลังกาย ก็ลดการซื้อน้ำดื่มจากขวดพลาสติกไปได้อีกทาง 

นักจ่ายตลาดยุคโควิด

วิธีจัดการเสบียงอย่างเป็นระบบก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการรับมือวิกฤตระดับครัวเรือน และคุณ ‎Nuu BlueFern‎ ก็มีทริกเด็ดๆ มาฝากสมาชิกเสมอ ทั้งคำแนะนำในการไปเลือกซื้อผักผลไม้แล้วใช้กล่องรียูสและถุงพลาสติกใช้ซ้ำมาแบ่งบรรจุเข้าตู้เย็นให้คุ้มค่า ไปจนถึงหยิบราวแขวนผ้ามาแขวนกระเทียมแทนเพื่อให้เก็บได้นานขึ้น แถมยังชี้เป้าให้เราเลือก​ตุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งพืชผักและผลไม้​ ไข่เป็ด​ ไข่ไก่​ ฯลฯ ไว้เกินครึ่งของอาหารแห้ง เพราะผักผลไม้อินทรีย์เก็บได้นานกว่า สนับสนุนเพื่อนเกษตรกรด้วยกันในยามวิกฤต แล้วก็ยังดีกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าด้วย และถ้าต้องออกจากบ้านไปซื้อของจริงๆ การพกตะกร้าส่วนตัวก็ช่วยลดการจับต้องจุดเสี่ยงได้ด้วยล่ะ

อีกครอบครัวที่เข้มแข็งเรื่องการจัดการเสบียงในตู้เย็น ยกให้คุณ Mommam Mam จัดการใช้กล่องใช้ซ้ำมาแพ็กเสบียงอยู่เสมอ และสำหรับทริกเพิ่มการเตรียมตัวในการแช่แข็งเนื้อสัตว์ ทั้งของคุณ ‎Taennikorn Nattakarn‎ คือให้แบ่งเป็น portion ที่จะทานในแต่ละครั้ง หยิบมาใช้จากช่องแช่แข็งฉพาะส่วน ก็จะยืดอายุวัตถุดิบได้นานขึ้น และถ้าเป็นไปได้ ก็แบ่งใส่ถุงซิปล็อกแล้วรีดให้แบน เพื่อให้ละลายเร็ว ไม่กินเนื้อที่ แถมยังกลับมาใช้ซ้ำได้ด้วย! 

คิดเผื่อ เพื่อทุกคน

คิดเผื่อคนอื่นก็เป็นอีกรายละเอียดเล็กๆ ที่ชวนยิ้ม เรายกให้ไอเดียน่ารักของคุณ Nuu Bluefern ที่หยิบกระปุกครีมบำรุงเก่ามาล้างให้สะอาด ลวกฆ่าเชื้อเรียบร้อย แล้วแบ่งเจลแอลกอฮอล์ไปแจกเหล่าแม่ค้าที่บ่นว่าหาซื้อเจลยากในช่วงแรก แต่ก็เสี่ยงในการสัมผัสผู้คนมากมายที่สุด เป็นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่ชวนยิ้มมากในช่วงนี้

อีกไอเดียของคุณ ‎สุพัฒตรา อินทร์พันธุ์‎ ที่มีหน้าที่เตรียมแจกนมโรงเรียน คนอื่นๆ คงนับใส่ถุงพลาสติกกัน​ แต่เธอลองชวนผู้ปกครองเตรียมถุงผ้ามาใส่ และจัดการนับให้เรียบร้อยใส่กล่องเตรียมไว้เพื่อให้ง่ายและเร็ว ลดความแออัดในแถวได้ดีทีเดียว 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายพันไอเดียที่มีอยู่ในกรุ๊ป Greenery Challenge ใครยังไม่ได้เป็นสมาชิก แวะไปรับพลังบวกจากการลงมือทำได้ที่นี่เลย

www.facebook.com/group/GreeneryChallenge

ภาพถ่าย: กรุ๊ป Greenery Challenge