ถ้าพูดถึงขนมไทยที่เฟรนด์ลี่เป็นลำดับต้นๆ เรายกให้บัวลอย

บัวลอยทำง่าย ช่วยกันทำก็ได้ ยิ่งมีคนช่วยกันปั้นก็ยิ่งสนุก แถมบัวลอยยังเปิดโอกาสให้เราเลือกสีสันในชามขนมได้ตามใจชอบอีกต่างหาก สีคุ้นตาก็อย่างสีเหลืองจากฟักทอง สีม่วงอ่อนจากเผือก สีเขียวจากใบเตย ตามแต่แม่ค้าขนมหวานร้านนั้นรักสีอะไร และอยากให้ในหม้อขนมมีสีไหนเป็นพิเศษ​

ความเป็นมิตรของบัวลอยทำให้มันกลายเป็นขนมหวานที่เรานึกถึงเสมอ ยิ่งหน้าเทศกาล ช่วงเวลาที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันในครัวที่บ้านและช่วยกันปั้นแป้งบัวลอยนั้นก็นับได้ว่าเป็นเวลาพิเศษ แต่ถึงบัวลอยจะทำง่าย แต่ทำให้อร่อยและสีสันถูกใจก็ต้องอาศัยความใส่ใจไม่น้อย

สีสวยๆ รุ่มรวยรสชาติ

และด้วยความที่รอบๆ บ้านเรามีดอกไม้ทั้งปลูกเองและขึ้นริมทางอยู่หลายชนิด สีบัวลอยสูตรของเราจึงมักได้จากดอกไม้มากกว่าผักหรือผลไม้อย่างใครเขา เป็นบัวลอยสีอ่อนๆ ไม่ฉูดฉาด เมื่อลอยลงในน้ำกะทิแล้วดูละมุนละไมน่ากิน ส่วนชนิดที่ชอบและใช้บ่อยคืออัญชันกับกระเจี๊ยบ โดยเฉพาะอัญชันสีม่วงสวยที่นำมาคั้นเอาน้ำหุงใส่ข้าวก็งาม หรือต้มเป็นน้ำอัญชันบีบมะนาวใส่น้ำแข็งก็แสนชื่นใจ

ไกลกว่านั้น อัญชันยังเป็นยาบำรุงผมชั้นยอด ปู่ย่าตายายมักนำมาขยี้ผสมน้ำอุ่นเขียนคิ้วให้หลานเล็ก หรือใช้หมักผมก็ดกดำไม่แพ้ครีมบำรุงผมราคาแพง ส่วนดอกไม้ฤทธิ์เย็นอย่างกระเจี๊ยบเองก็สรรพคุณเพียบ ทั้งแก้ร้อนใน ดับกระหาย และถึงแม้ว่าเรามักพบดอกกระเจี๊ยบในร่างของเครื่องดื่มสีแดงเข้ม (ที่จะอร่อยเป็นพิเศษเมื่อพบในร้านขายยาจีน) แต่จริงๆ ดอกกระเจี๊ยบสนุกกว่านั้น เพราะเฉดสีแดงของกระเจี๊ยบนั้นสดใสไม่เหมือนใคร แถมยังมีรสเปรี้ยวแปลกใหม่เมื่ออยู่ในอาหาร อย่างชนเผ่าอาข่าทางภาคเหนือเองก็นิยมใส่ดอกกระเจี๊ยบในต้มปลา เพื่อแต่งรสเปรี้ยวแทนมะนาว แถมยังช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้ดีเยี่ยม

ส่วนอีกหนึ่งดอกที่เราขอหยิบมาเติมสีสันให้บัวลอยถ้วยนี้พิเศษขึ้นอีกหน่อย คือ ‘แซฟฟรอน’ หรือหญ้าฝรั่นที่คนไทยเราเรียกกัน โดยหญ้าฝรั่นนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่พืชตระกูลหญ้า แต่เป็นเกสรของดอกไม้สีม่วงอ่อน Crocus Sativus ที่ผลิดอกอยู่ตามประเทศแถบตะวันออกกลาง อย่างอิรัก อิหร่าน หรือตุรกี และมีดีกรีเป็นถึง ‘เครื่องเทศที่แพงที่สุดในโลก’ เพราะโดดเด่นทั้งเฉดสีและกลิ่นรสที่ไม่มีเครื่องเทศชนิดใดทดแทนได้ แถมเจ้าดอกนี้ยังให้ผลผลิตเพียงดอกละ 3 เกสร ปีละหนึ่งครั้ง จึงไม่แปลกหากหญ้าฝรั่นจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 7 หมื่นบาท และอาจสูงกว่านั้นหากมาจากแหล่งปลูกที่ดีที่สุดในโลกอย่างอิหร่าน

​อ่านมาถึงตรงนี้ ใครยังสงสัยว่าดอกไม้กินเป็นอาหารได้จริงไหม? ก็ต้องบอกว่าอาหารดอกไม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเรากินดอกไม้กันมานานแล้ว ด้วยเหตุผลทั้งเรื่องรสชาติ สีสัน และความเป็นสิริมงคลในวาระสำคัญๆ อย่างไทยเองก็มีบันทึกไว้ว่า ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชาววังนิยมปลูก ‘สวนทวาย’ ไว้ใกล้กับตำหนัก ซึ่งก็คือสวนดอกไม้นั่นแหละ แต่เป็นดอกไม้ชนิดที่ผลิดอกตลอดทั้งปี อาทิ มะลิ พุดซ้อน กระดังงา เพื่อนำไปใช้ร้อยเป็นงานดอกไม้ ทั้งมาลัยและเครื่องแขวนหอมๆ ประดับเรือนของเจ้านาย และแน่นอนว่าดอกไม้ในสวนทวายก็มักปรากฎกายอยู่ในสำรับอาหารชาววังเสมอ ที่เรารู้จักกันดีก็เช่นข้าวแช่ในน้ำลอยดอกมะลิ หรือขนมไทยอบร่ำดอกกระดังงา เรียกว่านอกจากสวยแล้วยังรุ่มรวยรสชาติ​

​เมื่อดอกไม้กลายเป็นขนม

กลับมาที่บัวลอยสูตรของเรา ถึงจะเป็นขนมโบราณ แต่ก็เปิดทางให้เราดัดแปลงสีสันและรสชาติได้ตามชอบ เราเลยขอเอาแต่ใจเด็ด 3 ดอกไม้มาเติมสีให้บัวลอยถ้วยนี้สดใสและพิเศษกว่าใครดังต่อไปนี้…​

วัตถุดิบหลักๆ สำหรับขนมบัวลอยมีแค่ 3 อย่าง คือแป้ง กะทิ แล้วก็น้ำตาล แต่ถ้าอยากให้บัวลอยอร่อยก็ต้องลงรายละเอียดกันหน่อย เช่น แป้งที่ใช้ก็ควรผสมขึ้นจากแป้งข้าวเหนียวและแป้งมันสำปะหลัง กะทิก็ควรคั้นเองสดๆ ส่วนน้ำตาลก็ควรใช้น้ำตาลมะพร้าวแท้เพราะหวานไม่บาดคอ และหอมกว่าน้ำตาลทรายเป็นไหนๆ และอย่าลืมม้วนใบเตยหอมใส่ลงไปในหม้อน้ำกะทิเพิ่มกลิ่นอบอวลขึ้นอีกหน่อยด้วยนะ

เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็ล้อมวงเข้ามาเริ่มปั้นแป้งบัวลอยสีดอกไม้กันได้เลย

ส่วนผสมสำหรับบัวลอยสีดอกไม้

(เมนูนี้ไม่มีอัตราส่วนที่แน่นอน อยากได้หวานๆ ให้ใส่น้ำตาลมากหน่อย ถ้าอยากได้เม็ดบัวลอยสีเข้มๆ ก็ใช้ดอกไม้เยอะหน่อย)

1. แป้งข้าวเหนียวและแป้งมันสำปะหลัง ในอัตราส่วน 10 : 1

​2. กะทิคั้นสด

​3. น้ำตาลมะพร้าวแท้

​4. ดอกกระเจี๊ยบ ดอกอัญชัน หญ้าฝรั่น

​5. น้ำร้อนสำหรับสกัดสีดอกไม้

​6. ใบเตยหอม

​7. เกลือเล็กน้อย​

เริ่มปั้นบัวลอยกันเลย

1. ขยี้ดอกอัญชัน และกระเจี๊ยบให้พอแหลก เติมน้ำร้อนทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที (แยกถ้วยกัน) ส่วนหญ้าฝรั่น หยิบใส่ถ้วยไม่ต้องมาก แล้วเติมน้ำร้อนทิ้งไว้ 5 นาทีเช่นกัน

​2. ผสมแป้งข้าวเหนียวกับแป้งมันสำปะหลัง แล้วแบ่งเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน

​3. นำน้ำสีดอกไม้ที่สกัดออกมาได้ ผสมกับแป้งแต่ละส่วน แล้วนวดจนแป้งเป็นเนื้อเดียวกันและไม่ติดมือ (ถ้าแป้งแห้งเกินไป ให้ค่อยๆ เติมน้ำอุ่นทีละน้อย)​

​4. ปั้นแป้งแต่ละสีเป็นลูกกลมเล็กๆ จังหวะนี้ถ้าล้อมวงปั้นด้วยกันจะสนุกมาก

​5. นำน้ำสะอาดตั้งไฟจนเดือด แล้วนำบัวลอยสีดอกไม้ลูกจิ๋วใส่ลงไป ระหว่างนั้นให้ใช้ไม้พายคนไม่ให้บัวลอยนอนก้น รอจนกว่าเม็ดบัวลอยจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แสดงว่าแป้งสุกแล้ว ให้ช้อนบัวลอยออกมาแช่ในน้ำเย็นจัดเพื่อให้แป้งเซ็ตตัว

​6. นำน้ำกะทิตั้งไฟอ่อน ม้วนใบเตยหอมใส่ลงไป จากนั้นเติมเกลือเล็กน้อย พอเริ่มเดือดเติมน้ำตาลมะพร้าว ชิมดูจนได้รสที่พอใจ จากนั้นตักเม็ดบัวลอยจิ๋วใส่ในหม้อน้ำกะทิ รอเดือดอีกครั้งจึงตักเสิร์ฟ

หมายเหตุ: ใครชอบไข่หวานก็ทำเพิ่มได้ โดยใช้ไข่ไก่ตอกใส่หม้อน้ำกะทิที่กำลังเดือด รอจนไข่เริ่มสุก เซ็ตตัวเป็นก้อน แล้วช้อนขึ้นใส่ในชามบัวลอยได้เลยจ้า

Enjoy! 🙂