ในตำราเรียนบอกเราว่า โลกนี้เลิกทาสไปเป็นร้อยปีแล้ว ทั้งในต่างประเทศหรือในไทยเองก็ตาม แต่ทำไมในปัจจุบันเรายังได้ยินการพูดถึงทาสยุคใหม่หรือ ‘Modern Slavery’ กันอยู่เรื่อย ๆ

อธิบายให้เข้าใจก่อน แม้ระบบทาสจะหมดไปจากโลกนี้แล้ว แต่ทุกวันนี้ยังมีคนมากกว่า 50 ล้านคน ทั่วโลก ที่ยังคงทำงานเยี่ยงทาส ถูกกอบโกยผลประโยชน์โดยนายจ้างด้วยการใช้แรงงานเกินจำเป็น บีบบังคับ ตัดค่าแรง ใช้อำนาจในทางที่ผิด เป็นเหยื่อของความรุนแรง ถูกทำให้สูญเสียอิสรภาพและสิทธิส่วนบุคคลไป โดยมากกว่า 1 ใน 4 ของแรงงานเหล่านี้ ยังเป็นแรงงานเด็กอีกด้วย

แรงงานทาสในปัจจุบันพบได้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมอาหาร นั่นหมายความว่าผู้บริโภคที่เลือกกินเลือกใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างเรา ๆ อาจกำลังขับเคลื่อนวงจรขมขื่นของแรงงานทาสทางอ้อมอยู่ก็เป็นได้

โกโก้ ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม อาหารทะเล อาจแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานทาส
ในห่วงโซ่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป บรรจุหีบห่อ และจัดจำหน่ายของอุตสาหกรรมอาหาร ในปัจจุบันยังคงมีการใช้แรงงานทาสอยู่เช่นกัน เช่น การผลิตโกโก้ในแถบภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อว่ามีการใช้แรงงานทาสเป็นอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมอาหาร และส่วนใหญ่แรงงานเหล่านี้ยังเป็นเด็กตัวน้อยอายุเพียงสิบกว่าขวบเท่านั้น

เด็ก ๆ เหล่านี้ส่วนหนึ่งเลือกทำงานเพื่อสนับสนุนครอบครัว โดยพวกเขามักโดนหลอกว่างานเก็บโกโก้เป็นงานที่ได้เงินดี และยังมีอีกจำนวนมากที่เป็นแรงงานจากการค้ามนุษย์ เด็ก ๆ เหล่านี้จะต้องอยู่ในไร่โกโก้และทำงานกันหามรุ่งหามค่ำเป็นปี ๆ หลายครั้งยังเป็นงานที่มีความเสี่ยง และอันตรายเกินกว่าเด็กเล็ก ๆ ควรจะทำ เช่น การปีนต้นโกโก้ขึ้นไปเก็บผล หรือใช้มีดขนาดใหญ่ตัดกิ่ง นอกจากนี้ พวกเขายังถูกบังคับให้ทำงานอยู่ในไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปหาครอบครัวยาวนานหลายปี และเด็ก ๆ บางคน ก็ไม่มีทางเลือกจนต้องทำงานนี้จนพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่

ในธุรกิจการเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ขึ้นชื่อเรื่องการใช้แรงงานทาสเช่นกัน โดยเหยื่อจากการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มักจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกบังคับให้ทำงานตั้งแต่เช้ามืดจนเย็นด้วยเวลาพักอันน้อยนิด แลกกับเงินที่ไม่สมกับแรงที่พวกเขาเสียไป ยิ่งไปกว่านั้น หากพวกเขาไม่สามารถทำงานได้ตามเป้า ก็อาจกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงจากนายหน้าของนายจ้างได้อีก

หากใครที่เคยดูสารคดีหรืออ่านข่าวมาบ้าง อาจพอรู้ว่าในประเทศไทยเองก็มีการใช้แรงงานทาสในธุรกิจอาหารทะเลด้วยเช่นกัน เรื่องน่าเศร้าก็คือปัญหาในอุตสาหกรรมประมงของไทยขึ้นชื่อว่าร้ายแรงไม่แพ้ประเทศอื่นในโลก ซึ่งปัญหานี้ หลัก ๆ เริ่มมาจากการที่ประเทศไทยพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2503 เราจึงเริ่มทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ จริงจังมากขึ้น รวมไปถึงการทำธุรกิจส่งออกอาหารทะเลด้วย

ผลกระทบที่ตามมา นอกจากจะทำให้เกิดการจับปลามากเกินจำเป็นแล้ว แรงงานในอุตสาหกรรมประมงยังต้องทำงานหนักมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อแลกมากับอาหารทะเลราคาประหยัด ปริมาณมาก ที่พอให้พวกเราได้กินและส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเพศชายจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มาจากการค้ามนุษย์หรือถูกหลอกมา บางคนถูกยึดหนังสือเดินทาง ได้ค่าแรงต่ำกว่าที่ควรจะได้ และบางส่วนยังเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยเช่นกัน ปัญหาที่ว่านี้รุนแรงมากขนาดในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยเคยโดนใบเหลืองจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานและการทำประมงให้ใส่ใจทั้งคนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องข้อกฎหมายในการทำงานไปแล้วก็จริง แต่ดูเหมือนว่านโยบายการส่งออกใหม่อาจกำลังทำให้ประเทศไทยกลับไปได้รับใบเหลืองอีกครั้ง และอาจเสี่ยงโดนคว่ำบาตรในที่สุด เพราะหลายประเทศเริ่มจริงจังกับปัญหานี้มากขึ้น และอาจแบนการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แม้อัปเดตล่าสุดจะพบว่า ตัวเลขของแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงจะลดลงแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ปัญหาก็คือแรงงานทาสนั้นเป็นภาพที่ใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่มาคู่กับผลประโยชน์มากมาย หลายครั้งบริษัทผลิตอาหารใหญ่ ๆ ไม่ได้สนใจจะเข้ามาตรวจสอบหรือดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อจะได้ผลิตอาหารปริมาณมากในราคาถูกต่อไปได้

เราจะทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนแรงงานทาส
แน่นอนว่าองค์กรระดับโลกหลายแห่งพยายามที่จะขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงาน และหวังให้การจ้างงานเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรมมากที่สุด แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย องค์กรใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น มีความเข้มงวดและตรวจสอบการจ้างแรงงานตัวเล็กตัวน้อยที่เกี่ยวข้องกับสายผลิตในบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกกดขี่

แม้จะฟังดูยากในฐานะปัจเจกบุคคลที่จะแก้ปัญหานี้ แต่ผู้บริโภคตัวเล็ก ๆ อย่างเราก็มีพลังมากพอจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

  • ตรวจสอบแบรนด์ที่อยากอุดหนุน
    หลายครั้งเราอาจได้ยินข่าวของแบรนด์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้แรงงานทาส หากไม่แน่ใจ เวลาจะเลือกซื้ออะไรก็ลองค้นหาชื่อแบรนด์ หาข้อมูลประกอบการตัดสินใจกันอีกสักนิด เพราะทุกการตัดสินใจของเราสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของบริษัทเหล่านี้ได้จริง ๆ และหากค้นแล้วพบว่าแบรนด์อาหารที่เรากำลังจะเลือกซื้อมีข่าวที่ไม่น่าวางใจ ก็ลองเลี่ยงหรือหาแบรนด์อื่นที่เป็นทางเลือกแทนจะดีกว่านะ
  • ส่งเสียงหาผู้ผลิต
    หากสงสัย หรือได้ยินข่าวเสีย ๆ หาย ๆ ของผู้ผลิตรายใด อย่าลังเลที่จะส่งเสียงไปถามผู้ผลิตโดยตรง เพื่อความแน่ใจว่าแบรนด์ที่เราเลือกสนับสนุนเป็นแบรนด์ที่โปร่งใสจริง และช่วยกระตุ้นเตือนให้แบรนด์รู้ว่าเราจับตาและแคร์เรื่องนี้ แค่นี้เราเองก็จะไม่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนแรงงานทาสและสร้างแรงกระเพื่อมเพิ่มเติมได้แล้ว
  • สนับสนุนสินค้าท้องถิ่น รู้ที่มาที่ไป
    มาตรฐานออร์แกนิกในประเทศไทยหลายข้อ สามารถบ่งบอกและการันตีได้ว่า แรงงานในระบบการผลิตอาหารทำงานกันโดยไม่ถูกกดขี่ เพราะประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงาน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่มาตรฐานเหล่านี้พิจารณา หรือให้ง่ายกว่านั้น เลือกสนับสนุนวัตถุดิบท้องถิ่นที่เรารู้ที่มาที่ไปตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการไปเลยก็ได้
  • มองหาฉลากความโปร่งใสบนหีบห่อ
    ลองมองหาโลโก้ Fair Trade ที่ติดมากับหีบห่ออาหาร โลโก้เหล่านี้ช่วยรับประกันได้ว่าอาหารที่เราเลือกซื้อ ถูกผลิตโดยแรงงานที่ได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรมและไม่ถูกกดขี่ นอกจากนี้ยังถือเป็นการสนับสนุนแบรนด์ที่ตั้งใจทำเรื่องนี้อย่างจริงใจให้พวกเขาได้เติบโตต่อไป แถมยังมั่นใจได้ว่าเงินที่เสียไป จะไปถึงคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเท่าเทียมแน่นอน (สินค้าส่วนใหญ่ในตระกูล Fair Trade มักเป็นแบรนด์ออร์แกนิกด้วยนะ)

แม้บทบาทในฐานะผู้บริโภคอาจฟังดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับระบบการผลิตอันแสนใหญ่โต และมักมีเรื่องให้เราเหนื่อยใจเมื่อได้เห็นความโหดร้ายที่แฝงอยู่บ่อยครั้ง แต่เชื่อเถอะว่า ผู้บริโภคอย่างเรามีพลังกว่าที่คิด และการเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่จริงใจของเรา จะสามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบการผลิตได้แน่นอน

ที่มาข้อมูล:
ejfoundation.org
news.trust.org
www.nortonrosefulbright.com
policywatch.thaipbs.or.th
www.siani.se
www.sfu.ca
foodispower.org