เวลาอ่านนิทานสมัยยังเล็ก เรามักอิจฉาเด็กๆ ในเรื่องเสมอเมื่อมีฉากเก็บผลเบอร์รี่หอมหวานใส่เต็มตะกร้า บลูเบอร์รี่บ้าง แครนเบอร์รี่บ้าง ราสเบอร์รี่บ้าง แค่ได้ยินชื่อก็น่าอร่อย ชวนให้อดเซ้าซี้ผู้ใหญ่ไม่ได้ว่าทำไม๊ทำไมบ้านเราถึงไม่มีเบอร์รี่เก๋ๆ ไว้ให้เก็บกินบ้าง…

โตขึ้นมาหน่อย เพื่อนนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวฮาวายจึงเปิดโลกให้เรารู้ว่า ผลไม้บ้านๆ ของไทยหลายชนิดที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา ก็ดูเหมือนว่าจะพบได้ที่บ้านเขาเหมือนกัน ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ‘มะยม’ อาจเพราะเราคุ้นเคยกับมันในระดับกอดก่ายปีนป่ายเก็บผลมันมาจิ้มกะปิกินตั้งแต่อายุหลักหน่วย โดยไม่ทันคิดว่าตรงอีกซีกโลก เด็กอีกคนก็กำลังทำเช่นเดียวกันราวกับเนื้อหาในนิทาน​

สำหรับเรา มะยมจึงมีเรื่องราวมากกว่าแค่รสเปรี้ยวเข็ดฟัน ยิ่งช่วงปลายหน้าหนาวเข้าหน้าร้อนที่มะยมจะติดผลสีเหลืองสว่างทั่วทั้งต้น นับเป็นช่วงเวลาแห่งความชื่นมื่นของคนในครอบครัว เพราะในเขตรั้วบ้านของเรานั้นมีมะยมต้นใหญ่ยืนระยะให้ร่มเงามานานหลายสิบปี และทุกๆ ปี เราก็มักได้ชื่นใจกับอาหารใดๆ ที่มีมะยมเป็นส่วนผสมอยู่เสมอ ยิ่งมีคู่ขวัญอย่าง ‘กะปิ’ ปรุงเข้าด้วยกันในจานเดียว ยิ่งทำให้เมนูมะยมจานนั้นชวนเปรี้ยวปากขึ้นอีกหลายเท่า

มะยมคือนักเดินทาง

นอกจากผลสุกสีเหลืองอุดมวิตามินซี อีกเหตุผลที่ทำให้ต้นมะยมกระจายกลายเป็นต้นไม้ที่พบเห็นได้ทั่วประเทศ อาจเพราะสถานะไม้มงคลตามตำราโบราณที่ว่า ‘หากปลูกมะยมไว้ในรั้วบ้าน จะได้รับความนิยมชมชอบไม่ต่างจากชื่อ’ ไม่ว่าจะภาคเหนือ อีสาน หรือใต้ ต้นมะยมจึงได้รับความนิยมไม่ต่างกัน และถ้ามองไปไกลกว่านั้น ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา หรือพม่า ต้นมะยมก็ยืนต้นให้ความสดชื่นอยู่มากมายไม่ต่างกัน เพราะแท้จริงแล้ว ต้นมะยมเป็นนักเดินทางไกล ที่แม้จะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชีย ทว่าก็ติดสอยห้อยตามพ่อค้าวาณิชข้ามมหาสมุทรไปออกดอกออกผลไกลถึงฝั่งทะเลแคริบเบียน เรื่อยไปถึงทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้ กระทั่งบ้านเพื่อนเราอย่างรัฐฮาวายก็มีให้เห็น

ถ้าว่ากันถึงรสชาติก็ต้องยอมรับว่ามะยมเป็นผลไม้กินยาก กินมากๆ แล้วเสียดท้อง เสียวฟัน เพราะรสเปรี้ยวของมันนั้นเหลือร้าย เปรี้ยวกว่ามะม่วง มะขาม และเปรี้ยวจี๊ดในระดับขึ้นสมอง การกินมะยมเพียวๆ จึงเป็นเรื่องยากเย็นพอสมควร (แถมผู้ใหญ่สมัยก่อนยังใช้ก้านมะยมเป็นไม้เรียวไว้หวดสั่งสอนลูกหลานกันซะอีก แค่ฟังก็เสียวสันหลัง) เวลาฤดูกาลมะยมมาถึง ครอบครัวเราจึงต้องคิดหาเมนูมาปรุงมะยมให้รสชาติละมุนละไม จะได้กินมะยมได้มากๆ ซึ่ง ‘แยมมะยม’ ก็คือหนึ่งในเมนูที่เราเลือกทำ

แยมมะยมรสกลมกล่อม

ข้อดีของการเอามะยมมาทำแยมคือ กินง่าย ทาขนมปังกินเป็นมื้อเช้าก็ได้ มื้อสายก็ดี หรือจะกลายเป็นของว่างก็เข้าท่า ที่สำคัญเก็บไว้กินได้นาน ถึงมะยมจะออกดกแค่ปีละครั้ง แต่ถ้ากวนเป็นเเยมเก็บไว้ ก็ใช้เติมความชื่นใจกันได้อีกหลายเดือน แถมสูตรแยมมะยมของบ้านเราก็ไม่ธรรมดา เพราะเสริมเติมรสด้วยผลไม้หลายชนิด (แต่ ณ ที่นี้เราเลือกสับปะรด เพราะมีรสหวานเข้ากันดีกับมะยม และทำให้สีแยมเข้ากันดีด้วย) เพิ่มความลึกซึ้งในรสชาติด้วยน้ำผึ้ง เคี่ยวกับน้ำตาลน้อยๆ ด้วยไฟอ่อน จนได้แยมมะยมรสกลมกล่อม ชนิดว่าผสมน้ำร้อนแล้วเติมน้ำแข็งก็ชุ่มคอชื่นใจแบบสุดๆ

ส่วนผสมแยมมะยม

1. มะยมสดล้างให้สะอาด 700 กรัม

​2. น้ำตาลทรายแดง 350 กรัม

​3. สับปะรดหอมสุวรรณ (รสหวานหอมกว่าพันธุ์อื่น) นำไปปั่นให้ละเอียด 400 กรัม

​4. น้ำผึ้งป่า ตามชอบ (แนะนำน้ำผึ้งแบรนด์ Hostbeehive)

ขั้นตอนการกวนแยม

1.ลวกภาชนะสำหรับใส่แยมด้วยน้ำร้อน แล้วผึ่งลมให้แห้งสนิท

​2.ล้างมะยมสดให้สะอาด แล้วนำมาเคี่ยวในน้ำสะอาด 2 ถ้วยตวง (เติมน้ำได้เรื่อยๆ) จนกว่าเนื้อมะยมจะนุ่มเละ จากนั้นนำมาใส่ตะแกรงตาห่างๆ แล้วยีเอาแต่เนื้อมะยม ทิ้งเม็ดมะยมไป

​3.นำเนื้อมะยมมาเคี่ยวกับน้ำตาลทรายแดงด้วยไฟอ่อน รอจนน้ำตาลละลายหมดแล้วเติมเนื้อสับปะรดปั่นลงไป จากนั้นเคี่ยวทั้งหมดด้วยไฟอ่อนจนกระทั่งข้นเหนียว เทสต์ด้วยการตักเนื้อแยมใส่ในน้ำสะอาด ถ้าเนื้อจับเป็นก้อน ไม่เหลวละลาย แสดงว่าใช้ได้

​4.เติมน้ำผึ้งป่าเพื่อให้รสของแยมลึกซึ้งขึ้น แนะนำว่าเป็นน้ำผึ้งป่าที่มีรสเปรี้ยวอ่อนๆ จะเหมาะที่สุด

​5.เมื่อเคี่ยวแยมได้ที่ รอจนเย็น (เนื้อแยมจะข้นขึ้นอีกเมื่อเย็น) แล้วเทใส่ภาชนะที่เตรียมไว้

​6.Enjoy! 🙂

ภาพ: ม๊อบ อรุณวตรี