Where nothing is wasted and everything is possible.
นิวยอร์กขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีพลังแห่งความฝันสูง เป็นจุดหมายของผู้คนที่หอบเอาความฝันมาทำให้เป็นจริง และเมืองแห่งนี้ก็กำลังมีฝันของตัวเองเช่นกัน
นิวยอร์กมีเป้าหมายจะเป็น Zero waste city ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ค่ะ ทำให้ช่วงปีที่ผ่านนี้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว เสนอแนวทางแก้ปัญหาและร่วมมือกันอย่างคึกคัก เพราะที่ผ่านมาด้วยความเร่งรีบของเมือง ทำให้ทุกอย่างถูกออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้งได้ ส่งผลให้นิวยอร์กกลายเป็นเมืองที่ผลิตขยะมากที่สุดในโลก เฉลี่ยผลิต 33 ล้านตันต่อปี
เราได้มีโอกาสไปดูนิทรรศการ ‘Gardening the trash’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NYC X Design ที่ Fuorisalone นิวยอร์ก จัดโดย The GCU Fair Fashion Center เลยอยากมาเล่าให้ฟังค่ะ ว่าเมืองแห่งนี้เขามีวิสัยทัศน์ต่อเรื่องขยะกันไปถึงไหนแล้ว
Trash is the New Natural
Gardening the trash เป็นผลผลิตจากการจับมือกันครั้งแรกของวงการรีไซเคิลและแฟชั่นชั้นสูง โดย Miniwiz บริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการรีไซเคิลสัญชาติไต้หวัน และ Bonnotto บริษัทสิ่งทอสัญชาติอิตาลีที่โลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่นระดับสูงมากว่า 100 ปี นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า เราต่างกำลังสร้างขยะเพิ่มขึ้นทุกวัน ขยะจึงเปรียบเสมือนทรัพยากรที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในสวนหลังบ้าน นี่จึงเป็นเวลาที่เราจะได้เก็บเกี่ยวทรัพยากรที่เราเคยใช้แล้วเหล่านั้น ให้กลับมาเป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อีกครั้ง โดยใช้การออกแบบให้เป็นเหมือนการทำสวนนั่นเอง
ทุกอย่างในนิทรรศการนี้ ทำมาจากพลาสติก PET (Polyethylene terephthalate) หรือพวกขวดน้ำและพลาสติกแปะฉลากเบอร์ 1 นั่นเอง Miniwiz ต้องการนำเสนอความเป็นไปได้ในการแปลงร่างขวดเหล่านั้นให้กลายมาเป็นวัสดุหลากหลายคุณภาพและสัมผัส เป็นวัสดุทางเลือกให้นักออกแบบนำไปใช้สร้างสรรค์ผลงาน และนี่คือการเปิดประตูของวัสดุรีไซเคิลสู่วงการแฟชั่นชั้นสูง ไม่เพียงเพื่อช่วยโลก แต่เพื่อธุรกิจและการเติบโตของวงการแฟชั่นแบบยั่งยืน (Sustainable Fashion) ด้วย
The Tapestries
ส่วนเเรกเมื่อเดินเข้ามาในงาน เราพบกับผ้าลายจุดในรูปทรงสะดุดตาที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสวนในนิทานญี่ปุ่น เดินต่อมาจะเจอกับผืนผ้าขนาดใหญ่สีสันสะดุดตา ซึ่งเป็นไฮไลต์ของงานนี้ ผืนผ้าสีสดนี้เปรียบเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ของสวนในจินตนาการที่เต็มไปด้วยดอกไม้และสัตว์ต่างๆ โดยทอมาจากเส้นใยที่ได้จากการรีไซเคิลพลาสติก 100% เป็นการผสมผสานระหว่าง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และงานฝีมือดั้งเดิมเข้าไว้ด้วยกัน กลายมาเป็นผืนผ้าที่มีความนุ่มน่าสัมผัส จนลืมไปเลยว่าเคยเป็นขวดน้ำพลาสติกมาก่อน นอกจากนั้น ยังมีลูกเล่นให้ผู้มาชมได้ลองตัดแต่งสวนผืนนี้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหยิบกรรไกรมาตัด หรือใช้เครื่องหนีบความร้อนมาดัดเส้นใยให้เป็นลอน หรือรีดให้แข็งเพื่อขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้อีกด้วย
ปัจจุบัน พลาสติกไฟเบอร์ถูกนำมาใช้ในวงการแฟชั่นอยู่บ้าง แต่มักโฟกัสที่ประสิทธิภาพ ความทนทานของตัววัสดุมากกว่า เช่น Nike นี่จึงเป็นครั้งแรกที่พลาสติกไฟเบอร์ถูกนำมาใช้ในวงการแฟชั่นโอกูตูร์ นับเป็นการก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นที่เน้นความงามและหรูหราอย่างเต็มตัวครั้งแรก
นอกจากนั้นในงานยังมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอีกหลายอย่างค่ะ อาทิ
PlyFix™
ที่นั่งของเก้าอี้ตัวนี้ทำมาจาก PET 100% เช่นเคย ข้อดีของพลาสติกไฟเบอร์คือ สามารถทอเป็นผ้าที่มีความยืดหยุ่น และสามารถทำให้แข็งมากขึ้นได้ด้วยการอบความร้อน เบาะนั่งนี้จึงมีทั้งส่วนที่นิ่มและแข็งเพื่อรองรับการใช้งานโดยไม่ต้องใช้วัสดุอื่นเข้ามาผสมเลย แถมตัวเบาะยังสามารถพับได้ง่าย ประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่ายในการขนส่งอีกด้วย
POLLI-BRICKS™.
เช่นเคย เจ้าขวดนี้เป็นอีกร่างอวตารของขวดน้ำพลาสติก PET ขวดรูปทรงหกเหลี่ยมหน้าตาคล้ายรังผึ้งนี้สามารถต่อกันได้โดยไม่ต้องใช้กาวเชื่อม ขวดเหล่านี้สามารถนำไปสร้างเป็นผนังอาคารได้จริง มีรูตรงกลางเพื่อให้ใส่ไฟ LED หรือใส่ต้นไม้เพื่อความเก๋ หรือจะใส่น้ำข้างในให้กลายเป็นผนังฉนวน ซึ่งผนังที่สร้างจาก POLLI-BRICKS™. จะมีราคาถูกกว่าผนังทั่วไป 5 เท่า แถมประหยัดพลังงานและลดปริมาณการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย แนวคิดหลักคือการออกแบบเป็นโมดูล่าร์ ทำให้สามารถต่อกันได้โดยไม่ต้องใช้วัสดุอื่น เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลต่อได้อีกนั่นเอง เจ้า POLLI-BRICKS™. กว่า 1.5 ล้านขวด เคยถูกนำไปใช้สร้าง EcoARK ซึ่งเป็นอาคารขนาด 9 ชั้น ผนังยาวกว่า 130 เมตร สำหรับงาน Taipei International Flora Exposition ในปี 2010 และงาน World Design Expo ที่ไทเป เมื่อปี 2011 มาแล้ว ส่วนต่อมาคือวิดีโอที่เล่าเรื่องกระบวนการรีไซเคิลค่ะ เราต่างรู้ว่าการรีไซเคิลคือการแยกขยะลงถังสีน้ำเงิน แต่ชีวิตหลังถังขยะสีน้ำเงินนั้นกลับเป็นเรื่องลึกลับ วิดีโอนี้จึงรวมภาพบรรยากาศในโรงงานและ ขั้นตอนการกลายร่างมาให้ได้ลองสัมผัสกันค่ะ นอกจากนี้ Miniwiz ยังเริ่มทดลองสร้างวัสดุจากการรีไซเคิลพลาสติกประเภทอื่นๆ เช่น ก้นกรองบุหรี่ (Cellulose Acetate fibre) และ ฝาขวด Polypropylene (PP)
หัวใจของการรีไซเคิลคือ single-material หรือการแยกให้วัสดุชนิดเดียวกันอยู่ด้วยกัน เราถึงมีเบอร์ที่พลาสติกค่ะ ตราบใดที่แยกขยะให้ประกอบด้วยวัสดุเพียงชนิดเดียวก็จะสามารถรีไซเคิลไปเป็นวัสดุใหม่ที่เกรดต่ำลงได้เรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้ว การรีไซเคิลคือการแก้ปัญหาขยะที่ปลายเหตุ ไม่ว่าเทคโนโลยีด้านรีไซเคิลจะพัฒนาขึ้นแค่ไหน กระบวนการรีไซเคิลนั้นยังคงใช้ทรัพยากรอื่นๆ จำนวนมาก และจากการศึกษาพบอีกว่าแค่ 25% ของพลาสติกเท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิล
ทางที่ดีที่สุดคือการช่วยกันลดการใช้ พยายามใช้ซ้ำให้มากที่สุด ใช้เท่าที่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้พลาสติกจริงๆ ก็อย่าลืมแยกขยะกันด้วย เพราะอย่างน้อย การแยกขยะรีไซเคิลก็ลดปริมาณขยะที่จะไปสู่ landfills ได้ค่ะ
ดูรายละเอียดนิทรรศการเพิ่มเติมได้ที่