ภาพร่างแห่งอนาคตที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนักจะเป็นเช่นไร สิ่งที่พวกเราพยายามทำกันมา รณรงค์ ให้ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ขอความร่วมมือ และให้ความร่วมมือ สิ่งเหล่านั้นจะไม่เป็นเพียงความว่างเปล่าในอนาคต ภาครัฐเห็นด้วยกับการใช้พลังงานสะอาดที่เรายึดถือเป็นพลังงานแห่งอนาคตหรือไม่ วันนี้เรามาผ่าแผนพลังงานไฟฟ้าของภาครัฐดูกัน

‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1’ หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า แผน PDP คือ แผนการพัฒนาไฟฟ้าอย่างมั่นคงยั่งยืนของประเทศไทย มีทั้งการคาดการณ์ว่าอนาคตประเทศไทยจะต้องการพลังงานเท่าไร แล้วจะจัดหาพลังงานจำนวนนั้นมาได้อย่างไร และควรจัดสัดส่วนโรงไฟฟ้าประเภทใดอย่างละเท่าไร รวมทั้งต้องเผื่อระยะเวลาและงบประมาณเท่าไรในการสร้าง-ปรับปรุง-พัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ๆ จะเห็นได้ว่าภาครัฐมีการวางแผนที่เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจนในระยะยาว ซึ่งนั่นส่งผลให้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นมีอย่างเพียงพอเสมอมา

แต่ทว่าพลังงานสะอาดล่ะ ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนการแห่งอนาคตหรือไม่?

ในปัจจุบัน พลังงานที่หล่อเลี้ยงประเทศไทยส่วนใหญ่นั้น มาจากก๊าซธรรมชาติถึง 57% ลิกไนต์/ถ่านหิน 17% และนำเข้าถึง 12% การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อาทิ โซล่าร์เซลล์ พลังงานลม นั้นมีสัดส่วนเพียงแค่ 10% เท่านั้นเอง แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ กฟผ. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะลดการใช้งาน ลิกไนต์/ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านลง แต่เพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ดันสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนไปที่ 18% แต่หากนับรวมพลังงานสะอาดอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะชุมชน ตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นไปถึง 35% เลยทีเดียว โดยที่สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์/ถ่านหิน และการซื้อพลังงาน จะเหลือสัดส่วน 53%, 12% และ 9% ตามลำดับ

นั่นพิสูจน์ให้เห็นว่า ทาง กฟผ. ก็เอาด้วยกับพลังงานสะอาด ที่กำลังจะกลายมาเป็นกระแสหลักของโลกยุคใหม่ในอนาคต หลักฐานคือการผลักดันพลังงานสะอาดขึ้นจาก 10% ไปสู่ 35% นั่นเอง

อีกหนึ่งหลักฐานก็คือ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 100 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 10 ปี รวมเป็น 1,000 เมกะวัตต์  เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองในภาคประชาชนให้สามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินกับการไฟฟ้า สนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ที่หลังคาบ้านเพิ่มมากขึ้น ประชาชนสามารถสร้างรายได้ กฟผ. ได้ไฟฟ้า ถือเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ใครที่สนใจสามารถหาข้อมูลได้ตามลิงค์ท้ายบทความ

หากประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอันมากแล้ว เชื่อว่าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าครั้งต่อไป โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชนอาจจะได้รับการเพิ่มโควต้าให้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ก็เป็นไปได้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เน้นนำส่วนเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นหลัก นั่นจะช่วนลดทั้งขยะ และเพิ่มรายได้แก่ชุมชนห่างไกลอีกต่อหนึ่ง รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรมเพื่อให้สอดคล้องนโยบาย Energy for All คาดว่าจะสามารถประหยัดพลังงานลงได้ 54,371 พันตันน้ำมันดิบ (หน่วยคือ ktoe) คิดเป็นเงินประมาณ 815,571 ล้านบาท เท่ากับลดการจัดหาโรงไฟฟ้าได้ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ และส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 170 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt-CO2)

เนื่องจากสัดส่วนที่ลดลงของการใช้ ลิกไนต์/ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติอย่างมากนั้น จะส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น ซึ่งแผน PDP2018 ยังแสดงเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 25-30% ภายในปี พ.ศ. 2573 เลยทีเดียว

นี่คือภาพรวมของพลังงานไทยในอนาคต ที่วางแผนยาวไปถึงทศวรรษที่ 80 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยมลพิษ และเป็นมิตรกับธรรมชาติและชุมชนมากยิ่งขึ้น นั่นจะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น แม้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุบปับ แต่มันจะเกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้

ที่มาข้อมูล:
www.egat.co.th
www.spv.mea.or.th
www.thailand-energy-academy.org

ภาพประกอบ: missingkk