โครงการรีไซเคิลขยะเป็นของใช้ ช่วยลดขยะหรือไม่? พี่นักวิจัยคนหนึ่งเคยถามเราอย่างนั้น

“การเปลี่ยนกล่องนม ถุงขนมมาเป็นหมวก เป็นกระโปรง เราได้ใช้กี่ครั้งในชีวิตประจำวัน แล้วหลังจากนั้นหมวกใบนั้นไปไหน ก็กลายเป็นขยะอยู่ดีใช่ไหม เพราะฉะนั้นโครงการเหล่านี้สำหรับพี่ไม่นับเป็นการวิจัยเพื่อลดขยะ การลดขยะควรลดที่ต้นเหตุ ลดการใช้ หรือทำวิจัยวัสดุที่ย่อยสลายได้

“พี่เชื่อว่าปัญหานี้ต้องเริ่มแก้ที่คนสร้างขยะ เริ่มที่ตัวเราต้องลดการใช้”  พี่ท่านนั้นปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม คำพูดของเขาในวันนั้นเป็นสิ่งที่เรานึกถึงเสมอ และยังหาคำตอบทุกครั้งเมื่อเจอโครงการจัดการขยะ

เราจะส่งเสริมให้คนเริ่มลดขยะที่ตัวเองได้อย่างไรบ้าง? คำถามนี้มีอยู่ในความคิดเสมอ จนเรามาเจอคำตอบหนึ่ง ในห้องเรียนชั้นป.3 ของครูปู-ศุภากร อ่อนลา และครูเหมียว-รัชดามาศ ไชยทิพย์ ที่โรงเรียนตะเคียนราม ตำบลตะเคียนราม อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งครูเหมียวบอกกับเราว่า เธอเป็นสมาชิกกลุ่ม greenery challenge และได้แรงบันดาลใจเอามาออกแบบแผนการเรียนการสอนให้เด็กๆ ด้วย

ที่โรงเรียนตะเคียนรามใช้การเรียนการสอนแบบ Problem-based Learning (PBL) หรือ หน่วยบูรณาการการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

การเรียนแบบ PBL คือการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านปัญหา เผชิญสถานการณ์จริง และได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง

โดยขั้นการเรียนเริ่มจาก ค้นคว้าข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้มา แล้วคุณครูพาสรุป ต่อมาก็จะเข้าสู่ขั้น ‘ชง’ โดยเด็กๆ วิเคราะห์ปัญหา จากนั้นคุณครูพาเข้าสู่ขั้น ‘เชื่อม’ ความรู้ในสาระวิชาต่างๆ แล้วให้เด็กได้หาวิธีทดลองแก้ปัญหา วิธีนี้อาจคุ้นๆ สำหรับใครหลายคนในการทำวิทยานิพนธ์ แต่ที่นี่สอนใช้กระบวนการนี้สอนเด็กตั้งแต่ชั้นป.1 ซึ่งตารางสอนของโรงเรียนนี้มีเพียง 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิชา PBL โดยไม่มีการสอบ แต่เน้นให้นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต

และเด็กนักเรียนโรงเรียนตะเคียนราม จะถูกเรียกว่า ‘พี่’ ตามโมเดลพัฒนาการเรียนการสอนจากนวัตกรรมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งสอนให้เด็กเคารพทุกสรรพสิ่ง เด็กๆ จะเรียกทุกว่าอย่างว่าพี่ และคุณครูเองก็เรียกเด็กๆ ว่าพี่ด้วยเช่นกัน ด้วยความเชื่อว่าครูเองก็ต้องเคารพในตัวเด็กด้วย

ยุทธการปราบขยะ

ด้วยการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ส่งเสริมให้เด็กเข้าใจปัญหา คุณครูปูจึงนำหัวข้อการจัดการขยะมาให้เด็กๆ เรียนรู้ เกิดเป็น PBL หน่วยการเรียน ‘ยุทธการปราบขยะ’ ที่เด็กๆ จะได้สำรวจเส้นทางขยะและวิธีการลดขยะด้วยตัวเองตลอด 10 สัปดาห์ และเราจะพาทุกคนไปนั่งในห้องเรียนของครูปู พร้อมกับเด็กๆ กัน ว่าแต่ละสัปดาห์ เด็กๆ ได้ทำอะไรกันบ้าง

สัปดาห์ที่ 1 คุณครูสร้างแรงบันดาลใจ และวางแผนการเรียนรู้ร่วมกับเด็กๆ โดยการให้เด็กๆ สำรวจขยะในห้องเรียน โรงเรียน ว่ามีขยะประเภทไหนบ้าง แล้วทำ mind mapping ปัญหาที่พวกเขาได้เจอ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแผนการเรียนของตัวเองด้วย

สัปดาห์ที่ 2 ‘ส่องขยะ’ เด็กๆ ออกไปสำรวจต่อที่บ้าน ในหมู่บ้าน วัด และชุมชนของตัวเอง แล้วทำไดอะแกรมขยะที่เจอ โดยสัปดาห์นี้คุณครูจะเสริมสาระความรู้ในหมวดวิทยาศาสตร์และสุขศึกษาเรื่องเชื้อโรคที่มาจากขยะ เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคไข้เลือดออก (หากทิ้งขยะไม่เป็นที่ เกิดน้ำขัง)

หลังจากเด็กๆ เห็นสถานการณ์ปัญหาและปริมาณขยะแล้ว ในสัปดาห์ที่ 3 เด็กๆ จะได้ออกแบบสถานีแยกขยะ โดยคุณครูจะให้นักเรียนลองทำแผนผังการแยกขยะตามความเข้าใจและความคิดของตัวเองก่อน และเด็กๆ นำมาแลกเปลี่ยนกันในห้อง เด็กๆ จับกลุ่มกัน และออกแบบวิธีการแยกบางกลุ่ม แบ่งแยกตามชนิดของวัสดุ เป็นกลุ่มแก้วพลาสติก กลุ่มขวดพลาสติก กลุ่มหลอดพลาสติก บางกลุ่มแยกตามประเภท เช่น พลาสติก กระดาษ ขยะอันตราย จากนั้นคุณครูปูจะเสริมความรู้ด้านวิชาการเรื่องการแยกขยะ และชวนเด็กๆ วิเคราะห์ขยะที่พบ ซึ่งเด็กๆ วิเคราะห์ได้ตรงกันว่า ขยะที่เกิดขึ้นมากที่สุดในโรงเรียน คือหลอดพลาสติก


“ทำไมหลอดพลาสติกถึงมีมากที่สุด” ครูปูใช้คำถามเพื่อกระตุ้นเด็กๆ

“เพราะว่า คุณครูและนักเรียนหลายคนชอบดื่มน้ำหวานจากแก้ว และมีหลอดมาให้ด้วย” คำตอบจากพี่ๆ ห้องป.3/2

“แล้วทำยังไงแก้วกับหลอดดูดถึงจะไม่มีหรือลดลงไป” ครูปูถามต่อ

“เราต้องใช้แก้วน้ำ หรือขวดน้ำของตัวเอง” เด็กๆ ต่างช่วยกันเสนอวิธีลดขยะ

ส่วนห้องครูเหมียวก็ชวนเด็กๆ มาทำโปสเตอร์ #ไม่หลอดเนอะ  #greenerychallenge ชวนเด็กๆ ลดการใช้หลอดด้วย

จากนั้นครูปูจึงชวนเด็กๆ คิดว่าเราจะนำขยะที่เกิดขึ้นแล้วไปใช้ประโยชน์ต่ออย่างไรดี ซึ่งในสัปดาห์นี้ เด็กๆ และคุณครูตกลงกันว่าจะเปลี่ยนขยะที่พบมากที่สุดในห้องเรียน คือหลอดและเศษจากการเหล่าดินสอ มาเป็นดอกไม้ประดิษฐ์เพื่อนำไปวางประดับในที่ต่างๆ และนำไปถวายวัด เด็กๆ บอกคุณครูว่าจะตั้งใจทำงานให้สวยที่สุด

 

เมื่อถึงเช้าวันจันทร์ของสัปดาห์ที่ 4 ก็เป็นช่วงเวลาของการ ‘ขัดเกลาขยะในใจ’ ในช่วงเช้าของทุกวัน เด็กๆ จะร่วมกันประดิษฐ์ดอกไม้ และนำไปถวายที่วัดในช่วงปลายสัปดาห์ โดยคราวนี้เด็กๆ จะได้ไปเรียนนอกห้องเรียน ซึ่งคือเดินทางไปวัดระเบาะ วัดในชุมชนที่อยู่ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร สัปดาห์นี้คุณครูบูรณาการสาระสังคมศาสตร์ ทั้งพระพุทธศาสนา การกราบพระเเบบเบญจางคประดิษฐ์ สวดมนต์ นั่งสมาธิ และการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมด้วย ครูปูชวนเด็กๆ ออกแบบเส้นทางการเดินไปวัด และร่วมมือกับผู้ปกครองให้ทำอาหารใส่ปิ่นโตเพื่อลดขยะด้วย

เช้าวันเดินทาง ระหว่างทางคุณครูชวนเด็กๆ ทบทวนวิธีการเดินทางที่ปลอดภัย ชวนเด็กๆ ถือถุงขยะเก็บสิ่งที่พวกเขาเจอระหว่างทาง พร้อมชวนคุยด้วยคำถาม เช่น พี่ๆ รู้สึกอย่างไร พี่ๆ คิดว่าขยะมาจากไหน พี่ๆ เคยทิ้งหรือไม่ พี่ๆ รู้สึกอย่างไรเมื่อเก็บขยะ ขยะเกิดผลกระทบต่อนักเรียน ต่อผู้คน ต่อโรงเรียน และชุมชนหรือไม่ อย่างไร แล้วพี่ๆ จะมีวิธีการจัดการขยะที่ปลอดภัยได้อย่างไร

ครูปูเล่าว่าเด็กๆ สนุกสนามกับกิจกรรมและการได้ออกจากโรงเรียนอย่างมาก เด็กๆ ต่างแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น พี่มัดหมี่บอกว่า “ถ้ามีแมลงตอมขยะ และบินมาตอมต่อที่อาหารของเรา เราก็จะท้องเสียค่ะ” ครูปูจึงถามต่อว่า “ทำไมถึงท้องเสียค่ะ” พี่มัดหมี่ตอบว่า “เพราะที่ขยะมีเชื้อโรคค่ะ” เด็กอีกคนชื่อพี่ณัฏบอกว่า “ถ้าเราคัดแยกขยะ ขยะก็จะไม่เยอะขนาดนี้ และไม่มีกลิ่นเหม็นด้วยค่ะ” ส่วนพี่ปิ๊กบอกว่า “ผมดีใจที่ได้เก็บขยะ”

สิ่งเหล่านี้เป็นเสียงที่สะท้อนจากเด็กๆ ชั้นประถม 3 ที่เขาเริ่มเห็นและตระหนักถึงปัญหาขยะรอบตัว ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของทุกคน

อีกทั้งการไปวัดครั้งนี้ คุณครูยังเชื่อมโยงการจัดการขยะภายนอก สู่การขัดเกลาขยะภายในใจ ให้เด็กๆ ได้ฝึกสมาธิ และฝึกคิดถึงผู้อื่นด้วย

สัปดาห์ที่ 5 ‘ขยะมีค่า’ คุณครูปูและครูเหมียว ดึงสาระเศรษฐศาสตร์เข้ามาให้นักเรียนเรียนรู้ว่า สินค้าชิ้นไหนจำเป็น ไม่จำเป็น สินค้าราคาเท่าไหร่ เราจำเป็นต้องซื้อไหมเพื่อลดขยะที่ต้นทาง ไปจนถึงเราจะทำอย่างไรให้ขยะมีค่ามากขึ้น วัสดุแบบใดที่นำไปขายต่อได้ หรือวัสดุแบบใดที่สามารถนำไปประดิษฐ์ของเพื่อใช้งานต่อได้ และฝึกทำบัญชีรายรับรายจ่าย

สัปดาห์ที่ 6 คราวนี้เด็กๆ จะได้จัดทำป้ายนิเทศ ป้ายรณรงค์ แต่งคำขวัญ และเดินรณรงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนด้วย

สัปดาห์ที่  7 เป็นสัปดาห์ของการบูรณาการสาระความรื่นรมย์จากหมวดดนตรีและศิลปะ โดยคุณครูให้โจทย์เด็กๆ นำขยะที่พบในห้องเรียน มาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย ร่วมร้องเพลง เต้นรำ และเล่นละครแสดงบทบาทสมมติกัน

ในช่วงสัปดาห์ที่ 8-9 คุณครูชวนเด็กๆ ชมหนังสั้นเรื่องการจัดการขยะ และแลกเปลี่ยนวิธีการลดขยะในชีวิตประจำวัน ให้พี่ๆ เขียนการ์ตูนช่องชีวิตประจำวันที่ลดการใช้ขยะ และเขียนบันทึกพฤติกรรม ก่อนจะมาถอดบทเรียนที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดกันในสัปดาห์ที่ 10

ห้องเรียนลดขยะ

ห้องเรียนของครูปูและครูเหมียว ที่โรงเรียนตะเคียนราม จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำเรื่องขยะ  และเนื้อหาจากในกลุ่ม #greenerychallenge เข้าไปเป็นเนื้อหาการเรียนการสอนกับเด็กๆ เพื่อกระตุ้นให้อนาคตของชาติเห็นถึงปัญหา มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางแก้ไข และเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ช่วยให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้น และห้องเรียนที่สนุกแถมสาระแน่นแบบนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากความใส่ใจและตั้งใจจริงของคุณครู และผู้บริหารโรงเรียน ที่เห็นความสำคัญของการจัดการปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อม

หลังจบ 10 สัปดาห์ เด็กๆ ได้เรียนรู้แล้วว่าขยะมาจากไหน? และพวกเขาจะช่วยลดที่ต้นทางได้อย่างไร?

ส่วนขยะที่เกิดขึ้นแล้วไปไหน? เราจะมาชวนหาคำตอบนี้ในบทความชิ้นหน้าค่ะ

ภาพถ่าย: ศุภากร อ่อนลา, Parppim Pim