ใครๆ ก็หันมาใส่ใจสุขภาพ ทั้งผักออร์แกนิก ข้าวปลอดสารพิษ จะอาบน้ำ สระผมก็หลีกเลี่ยงสารเคมีกันทั้งนั้น แต่อาหารทะเลกลับเป็นเรื่องหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป เพราะไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบมากและมีอันตรายอย่างคาดไม่ถึง

ก็จับมาจากทะเล จะอันตรายได้ยังไง?

แม้ว่าอาหารทะเลจะจับมาจากทะเล ไม่ได้เลี้ยงในกระชังที่ใส่ทั้งสารเคมีเร่งไข่ เร่งโต และยาปฏิชีวนะ แต่ว่าอาหารทะเลกลับถูกทำให้ปนเปื้อนด้วยสารเคมีระหว่างขนส่งจากทะเลสู่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสารฟอร์มาลีนหรือสารเคมีอื่นๆ เพื่อรักษาความสดใหม่ ฉะนั้นผู้บริโภคควรเลือกดูร้านที่มีการแช่น้ำแข็งเพื่อรักษาสภาพปลา เพราะอาหารทะเลที่ไม่ใช้น้ำแข็งมีความเป็นไปได้สูงที่จะใส่สารฟอร์มาลีนเพื่อรักษาความสดใหม่ สำหรับหมึกก็ควรยังมีหนังหุ้มสีม่วงเข้มถึงดำ ไม่ควรเลือกซื้อหมึกที่ลอกหนังออกจนเป็นสีขาวแล้ว แม้ว่าจะดูขาวและน่ารับประทานกว่ามาก

บุฟเฟ่ต์ทะเลไทย

​ในแต่ละปีปลาเกือบ 2 ล้านตันน่านน้ำทะเลไทยถูกจับด้วยจำนวนเรือประมงจดทะเบียนทั้งสิ้น 58,119 ลำ เราไม่เพียงใช้ทรัพยากรทางทะเลเป็นอาหารภายในประเทศเท่านั้น แต่เรายังนำมาเป็นอาหารสัตว์ แปรรูป และส่งออกอีกด้วย ท้องทะเลไม่ใช่อาหารบุฟเฟ่ต์ที่เราจะบริโภคเท่าไหร่ก็ได้ แต่ปริมาณปลาที่ลดฮวบเป็นสัญญาณที่บอกว่าทะเลไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤต ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจับปลาในน่านน้ำไทยลดลงจากชั่วโมงละ 300 กิโลกรัมเหลือเพียงชั่วโมงละ 25 กิโลกรัม หรือปริมาณลดลงไปถึง 12 เท่า ภายในระยะเวลาแค่ 50 ปี (พ.ศ.​ 2504-2554) นั่นแปลว่าชาวประมงต้องทำงานหนักขึ้นด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น และในทางกลับกันผู้บริโภคก็ต้องจ่ายแพงขึ้นด้วยเช่นกัน

เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ กิน

การทำประมงเกินขนาดทำให้กุ้ง หอย ปู ปลา ในท้องทะเลออกลูกออกหลานไม่ทันกับการบริโภคของเรา ในฐานะผู้บริโภคเราควรเลือกที่จะซื้อสัตว์น้ำที่ขนาดตัวเต็มวัย ไม่บริโภคสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กเกินไปเพื่อที่จะให้เขาได้เติบโตและขยายพันธุ์เสียก่อน ยิ่งปูไข่และปลาท้องนี่ยิ่งห้ามเด็ดขาด เพราะหากเราปล่อยให้มันมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่วันก็จะออกไข่ได้อีกจำนวนมาก หรืออย่างปลาตัวจิ๋วๆ ทอดกรอบที่ชื่อว่าปลาข้าวสาร ที่จริงๆ แล้วมันคือปลากะตักขนาดเล็กที่สามารถเจริญเติบโตและตัวใหญ่ได้ถึง 5-15 เซนติเมตร หากเราไม่จับปลาขนาดเล็กมากินต่อไป เขาก็จะเพิ่มปริมาณและน้ำหนักได้อีกมหาศาล และนี่คือไซส์ของปลาทะเลที่ใหญ่พอจะกินได้แล้ว

• ปลากะพงขาว 30-50 เซนติเมตร

• กุ้งก้ามกราม 13-31 เซนติเมตร

• หมึกหอม 15-20 เซนติเมตร

• หมึกกล้วย 9-10 เซนติเมตร

• ปูม้า กระดอง 14 เซนติเมตรขึ้นไป

• ปูทะเล กระดอง 9 เซนติเมตรขึ้นไป

• ปลาทู 16 เซนติเมตร

• กุ้งแช่บ๊วย 14-15 เซนติเมตร

• ปลากระบอกดำ 15 เซนติเมตร

เลือกซื้อแหล่งที่ดี เลือกกินแค่พอเหมาะ

ผู้บริโภคหลายคนอาจจะคิดว่าเราไม่สามารถไปกำหนดกะเกณฑ์อะไรได้ แต่อย่าลืมว่าการเลือกซื้อของเราทุกคนเป็นส่วนกำหนดสินค้าที่อยู่ในตลาด หากเราไม่ซื้อ เขาก็จะไม่นำมาขาย นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกอุดหนุนสินค้าจากแหล่งที่ไว้วางใจได้ เช่น ประมงอินทรีย์จากเครือข่ายประมงพื้นบ้าน นอกจากได้อาหารทะเลที่สะอาดปลอดภัยแล้วยังได้ช่วยเหลือชาวประมงดั่งเดิมให้มีรายได้อีกด้วย

หากใครสะดวกซื้ออาหารทะเลแช่แข็งก็ควรจะสังเกตตรา MSC (Marine Stewardship Council) ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองว่าประมงพาณิชย์บริษัทนั้นมีการทำประมงอย่างยั่งยืนตามหลักการที่กำหนดไว้

การเลือกประมงอินทรีย์ไม่เพียงแต่ดีต่อสุขภาพของเรา แต่ยังดีต่อสุขภาพของทะเลด้วย​

ภาพประกอบ: npy.j