ตอนที่เราศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Wageningen University ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีโอกาสศึกษาดูงานในวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมกับทางมหาวิทยาลัย โดยไปเยี่ยมชมโครงการบ้านอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ชื่อว่า Agrodome (อาโกรโดม) เป็นบ้านเดี่ยว ภายในพื้นที่ 140 m2 ตรว. โครงการนี้เริ่มเมื่อปี 2000 เกิดจากความร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย Wageningen เทศบาลเมือง Wageningen และบริษัทเอกชน

วัตถุประสงค์ของโครงการคือต้องการสร้างบ้านตัวอย่างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นพื้นที่ทดลองให้กับนักวิชาการ สถาปนิก นักออกแบบ และนักศึกษา ได้ระดมความรู้ และสรรหานวัตกรรมที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น อิฐมวลเบา โฟมคอนกรีต ฉนวนกันความร้อน เป็นต้น

บ้านที่เป็นมิตรต่อสิงแวดล้อมหลังนี้ มีแนวคิดใช้สถาปัตยกรรมการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ตั้งแต่การก่อสร้างที่ยั่งยืน การอยู่อาศัยที่ยังยืนและสุดท้ายหากต้องมาการซ่อมแซม ก็ต้องเป็นการซ่อมแซมที่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน จึงจะทำให้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ยั่งยืนแบบครบวงจร โดยมีหลักการของการสร้างบ้านหลังนี้มี 3 หลักการ

  1. วัสดุท้องถิ่น วัสดุที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เพื่อช่วยลดพลังงานจากการขนส่ง เช่น ไม้สน เพื่อนำมาเป็นโครงสร้างของบ้าน และขอบประตูหน้าต่าง
  2. เศษเหลือใช้ นำเศษที่เหลือจากการก่อสร้าง เศษวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่แต่ยังคงความคงทนแข็งแรงเพื่อเป็นการลดขยะของเสียจากการก่อสร้าง เช่น นำเศษของเหลือจากพืช เศษไม้ มาอัดเป็นก้อนและใช้เป็นส่วนประกอบการก่อสร้าง
  3. ประหยัดพลังงาน บ้านต้องเป็นบ้านประหยัดพลังงานพลังงาน

ช่วงที่ได้ไปเยี่ยมชมบ้านนั้น เป็นช่วงเดือนสิงหาคม อากาศค่อนข้างร้อน แต่เมื่อได้เดินเข้าไปในบ้านแล้วรู้สึกเย็นสบายเหมือนบ้านที่เปิดแอร์ ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เปิด อากาศภายในบ้านแตกต่างจากอากาศด้านนอกบ้านโดยสิ้นเชิง ลักษณะบ้านสองชั้น ดูเป็นบ้านที่ทันสมัยแต่ผสมผสานความเป็นธรรมชาติ และดูสบายตา เพราะมีส่วนประกอบที่เป็นไม้โดยส่วนใหญ่ และกระจกบานใหญ่ที่มองออกไปก็จะเห็นสวนหลังบ้าน ประกอบกับสีของตัวบ้านเป็นแนวสี earth tone ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยระบายความร้อนได้ดี

บ้านหลังนี้ใช้วัสดุก่อสร้างบ้านที่ทำการวิจัยร่วมกับบริษัทเอกชนมาแล้วว่า เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติที่ช่วยทำให้บ้านประหยัดพลังงาน และมีฉนวนกันความร้อน ที่ช่วยทำให้บ้านหลังนี้ไม่กักเก็บความร้อนในหน้าร้อน ประกอบกับการออกแบบตัวบ้าน หลังคาและช่องลมต่าง ๆ รอบตัวบ้าน ที่ช่วยระบายอากาศภายในบ้านได้เป็นอย่างดี บ้านหลังนี้ติดตั้งระบบให้ความร้อนของพื้นบ้านทั้งหลังสำหรับให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว

บ้านได้รับแสงสว่างโดยตรงจากแสงอาทิตย์ผ่านกระจกบานใหญ่ ช่องรับแสงจากหลังคา และช่องรับแสงกลางบ้าน ส่องมาถึงสวนครัวเล็ก ๆ น่ารัก กลางบ้านหรือเรียกว่า Patio ซึ่งถือว่าเป็นช่องแสงสว่างหลักให้แก่บ้าน และ เป็นส่วนหนึ่งช่วยเรื่องระบบระบายอากาศด้วย

เมื่อเดินขึ้นไปชั้นสอง ลักษณะโดยรวมคล้ายกับบ้านสองชั้นทั่วไป แต่จุดเด่นที่สะดุดตาคือ เพดานของบ้านหลังนี้ถูกยกสูงและลาดเอียง มีกระจกบานใหญ่รับแสงอาทิตย์ และมองไปเห็นหลังคาอีกฝั่งของบ้าน ซึ่งเป็นหลังคาเขียว หรือ green roof ปลูกหญ้าและต้นไม้ต้นเล็ก ๆ อยู่บนหลังคา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนให้บ้าน หลังคานี้ออกแบบมาให้แค่รับน้ำหนักสำหรับปลูกหญ้าเพื่อช่วยเรื่องระบายความร้อนของบ้านเท่านั้น แต่หากต้องการปลูกผักก็ต้องมีการออกแบบโครงสร้างใหม่เพื่อรองรับน้ำหนัก ดินและน้ำจากการปลูกผักด้วย ซึ่งตอนเยี่ยมชม เราได้มีโอกาส ปีนขึ้นไปเดินบนหลังคาของบ้านได้ แต่ต้องทยอย ๆ กันขึ้น ตอนขึ้นไปสนุกสนานดี แต่ตอนจะลงมานั้นทำเอาขาสั่นไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว สุดท้ายของการชมบ้านหลังนี้คือ การเดินชมสวนหลังบ้านที่เชื่อมต่อกับสวนของเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างเป็นสวนของชุมชน หรือ community garden มีการปลูกผัก ผลไม้ สมุนไพร และเลี้ยงไก่

จากการสอบถามไกด์นำชมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านหลังนี้ ไกด์เลี่ยงตอบเป็นตัวเลขตรง ๆ แต่บอกว่า ค่อนข้างสูง เพราะถือว่า เป็นบ้านตัวอย่างที่ทดลอง ทั้งเรื่องโครงสร้าง และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้บ้านหลังนี้ยังต้องการการพัฒนา และทดลองต่อไป เพื่อสามารถตอบโจทย์เรื่องที่อยู่แห่งความยั่งยืนและที่สำคัญประชาชนต้องสามารถเข้าถึงได้ในอนาคตอีกด้วย