วันวาเลนไทน์กับดอกไม้คือของคู่กัน ถ้าไม่นับเหตุผลเชื่อมโยงเกี่ยวกับเทศกาล มนุษย์รู้จักบริโภคและนำดอกไม้มาใช้งานเพื่อบำบัดรักษาร่างกายกันตั้งแต่อดีต ก็เพราะภายใต้กลีบสีสวยบางๆ กลิ่นหอมนั้น มีคุณประโยชน์มากมายอัดแน่นอยู่ ขอแค่รู้วิธีนำไปใช้ เทศกาลแห่งความรักนี้ G101 จึงขอพาคุณไปเสพกลิ่น และรู้จักวิธีเลือกกินดอกไม้ ให้ได้ประโยชน์สูงสุดกัน

อานุภาพแห่งกลิ่นหอม

คุณเอ๋-แสงปทีป แก้วสาคร Global Holistic Aromatherapist หรือ ‘นักสุคนธบำบัด’ ได้เล่าถึงกลไกความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นและสุขภาพมนุษย์ให้ฉันฟังว่า

“กลิ่นหอมของดอกไม้ เกิดจากน้ำมันหอมระเหยตามธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวดอกไม้นั้นๆ (Essential Oil) เมื่อเราสูดดมกลิ่นดอกไม้ เราจะได้รับน้ำมันหอมระเหยเหล่านั้นบางส่วน และถ้านำดอกไม้หอมไปชงกับน้ำร้อน หรือนำไปผ่านการสกัดเข้มข้น แล้วนำมาใช้ ก็จะได้รับน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้มากขึ้น โดยร่างกายมนุษย์จะมีเซลล์ประสาทที่รับกลิ่น และส่งสารสื่อประสานเชื่อมโยงกับกลุ่มของส่วนสมองที่เรียกว่า ระบบลิมบิก (Limbic System) ระบบสมองส่วนนี้ทำงานเชื่อมโยงกับ ความทรงจำ ความรู้สึก การตัดสินใจ กระบวนการทางสติปัญญาการเรียนรู้และความจำระยะยาว เป็นเหตุผลที่กลิ่นบางกลิ่นสามารถกระตุ้นเตือนความรู้สึกนึกคิด หรือปลุกเร้าอารมรณ์ และความทรงจำของเราขึ้นมาได้

“เมื่อน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกาย จะเชื่อมโยงกับสมองและต่อมต่างๆ โดย 22 วินาทีแรกที่ได้กลิ่น โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะเข้าสู่สมอง ถัดมาครบ 2 นาที จะกระจายสู่เม็ดเลือด และเมื่อครบ 20 นาที น้ำมันหอมระเหยจะส่งผลต่อทุกเซลล์ของร่างกาย

“น้ำมันหอมระเหย จึงสามารถส่งผลคล้ายกับการรักษากลุ่มอาการบางอาการ ที่สัมพันธ์กับการสั่งการของสมองได้”

“นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยของดอกไม้ยังช่วยฆ่าเชื้อโรคบางชนิด เพราะดอกไม้ผลิตกลิ่นหอมขึ้นก็เพื่อปกป้องตัวเอง ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง และเชื่อมโยงกับความรู้สึกพิเศษ เรียกได้ว่า น้ำมันหอมระเหยช่วยรักษาสุขภาพ ได้ทั้ง Mental Physical และ Emotional นั่นเองค่ะ”

สมดุลธาตุเจ้าเรือน เดือนเกิด และกลิ่นหอม

นักสุคนธบำบัด จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายปัจจัย เพื่อนำมาใช้เป็นเกณฑ์การเลือกน้ำมันหอมระเหยมาใช้บำบัดรักษา อาทิ การซักอาการของผู้เข้ารับการบำบัด การตรวจธาตุเจ้าเรือน เป็นต้น โดยในขั้นตอนการรักษาเชิงลึกนั้นจำเป็นต้องใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดเข้มข้นจากธรรมชาติ ทั้งดอกไม้และพืชหอม แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากทดลองใช้กลิ่นหอมมาดูแลรักษาสมดุลสุขภาพด้วยตัวเอง คุณแสงปทีปก็มีไกด์ไลน์แนวทางการเลือกใช้กลิ่นหอมจากธาตุเจ้าเรือนมาฝากกัน

ผู้ที่เกิดเดือน ส.ค. ก.ย. ต.ค. ธาตุน้ำ ควรเลือกกลิ่นหอมของดอกไม้ต่างๆ อาทิ ลาเวนเดอร์ มะลิ กระดังงา จำปา ฯลฯ

ผู้ที่เกิดเดือน พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ธาตุดิน เลือกกลิ่นหอมในโทน Earthy เช่น พิมเสนต้น หญ้าแฝกหอม กฤษณา ไม้หอมต่างๆ

ผู้ที่เกิดเดือน ก.พ. มี.ค. เม.ย. ธาตุไฟ กลิ่นหอมที่ควรเลือกใช้ปรับสมดุล คือ กลิ่น โรสแมรี โรสวู้ด แซนเดิลวู้ด

ผู้ที่เกิดเดือน พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ธาตุลม ควรเลือกกลิ่นหอมที่มีความเปรี้ยวสดชื่น เช่น กลิ่นพืชตระกูลส้ม มินต์ เลมอน ฯลฯ

สำคัญว่า กลิ่นต่างๆ ต้องมาจากดอกไม้ที่ดูแลด้วยธรรมชาติ ปราศจากเคมี จึงจะมีผลดีสูงสุดต่อการนำไปใช้

เสพกลิ่น เลือกกินชาดอกไม้ที่เหมาะสม

คุณแสงปทีปแนะนำว่า การจิบชาดอกไม้อุ่นๆ จะช่วยให้เราได้รับประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหยถึงสองทาง คือการดมและการกิน ว่าแต่เราควรเลือกชาดอกไม้ชนิดไหนมาชงชาจิบกันหนอ ไปดูเลย

กุหลาบเยียวยาจิตใจในระดับลึก กุหลาบถูกยกให้เป็นราชินีของดอกไม้ เรื่องความงามของดอกกุหลาบนี้มีนัยสำคัญต่อการนำไปใช้รักษาจิตใจ เพราะสามารถส่งพลังงานบวกให้กับเราได้ตั้งแต่แรกพบเห็น กลิ่นหอมของกุหลาบยังช่วยปรับสมดุลได้ทุกธาตุเจ้าเรือน และสามารถเยียวยาผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจในระดับลึกได้อีกด้วย

มะลิลาพาหลับไหล ในศาสตร์ด้านสุคนธบำบัด มะลิจัดเป็นราชาแห่งกลิ่น ในดอกมะลิมีสารสำคัญที่ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น รวมไปถึงดอกไม้สีขาวกลิ่นหอมอีกหลายชนิด ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน เช่น ดอกพุดซ้อน ดอกเขี้ยวกระแต เป็นต้น ซึ่งคุณอาจใช้วิธีผสมผสานคือ

จิบชาดอกมะลิ ร่วมกับการจัดดอกไม้สีขาวกลิ่นหอมไว้ที่หัวนอน เพื่อส่งเสริมการนอนหลับที่ดีขึ้น

ลาเวนเดอร์ รีแล็กซ์ น้ำมันหอมระเหยของลาเวนเดอร์ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น หากนำไปใช้ภายนอก ก็มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ รักษาแผลพุพอง รักษาพิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้ นอกจากนี้ พอนำมาชงเป็นชาดื่ม กลิ่นหอมที่ได้รับก็ยังส่งผลให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้นอีกด้วย

เก๊กฮวย ทำให้ตาสว่าง สำหรับคำแนะนำของนักสุคนธบำบัด กลิ่นหอมของดอกเก๊กฮวย สามารถช่วยบำรุงหัวใจ สร้างความรู้สึกสดชื่น และในส่วนข้อมูลเชิงสรรพคุณของแพทย์แผนจีน ดอกเก๊กฮวยยังช่วยขับลมร้อน แก้ร้อนใน ขับพิษ ทำให้จิตสงบ ช่วยรักษาอาการจอประสาทตาอักเสบ และทำให้ตาสว่างขึ้นได้

ดอกไม้เป็นยาในอาหารไทย

อาหารไทยที่ใช้ดอกไม้มาปรุง ทั้งอร่อยและเปี่ยมสรรพคุณดี ลองดูสิว่าคุณเคยกินดอกไม้ในเมนูไหนบ้าง

ขนมจีนน้ำเงี้ยวใส่ดอกงิ้ว ดอกงิ้วแห้ง มีสรรพคุณช่วยฟอกเลือดให้สะอาด บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด แก้ปวดหลังปวดเอว และเป็นส่วนผสมหนึ่งของสมุนไพรน้ำจั๊บเลี้ยง ที่ช่วยคลายร้อนได้

แกงส้มดอกแค หรือดอกแคบรรจุไส้ ดอกแคมีสรรพคุณแก้ไข้หัวลม หรือไข้ที่มักเกิดขึ้นขณะเปลี่ยนฤดู ในช่วงฤดูฝนสู่ฤดูหนาว สำคัญว่า ต้องไม่กลัวขม คือต้องคงเกสรกลางดอกเอาไว้

แกงดอกขี้เหล็ก ดอกและใบขี้เหล็กมีสารบาราคอล ที่ช่วยให้นอนหลับดี คลายเครียดคลายกังวล นอกจากนี้ยังมีสารแอนทราควิโนน ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ จึงทำให้ลำไส้บีบรัดตัว และส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย

แกงเลียงหัวปลี ทอดมันหัวปลี เราคงเคยได้ยินคนโบราณแนะนำให้แม่ลูกอ่อนกินเพื่อช่วยบำรุงน้ำนม ภายหลังมีวิจัยพบว่า สารแทนนิน และซัปโปนิน ในปลีกล้วย อาจมีผลต่อการเพิ่มฮอร์โมนโปรแลคตินในเลือด ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมนั่นเอง

ข้าวยำใส่ดอกดาหลา พืชวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) ที่คนภาคใต้นำดอกมาซอยใส่ข้าวยำ กลีบดอกดาหลามีกลิ่นรสหอมปร่า สีแดงสวย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ทว่าผู้ที่แพ้พืชจำพวกขิง ข่า ไพล ไม่ควรบริโภค

ขนมไทยใส่ดอกอัญชัน สีม่วงของดอกอัญชันที่ใช้แต่งสีขนมและของว่างไทย มีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของหลอดเลือดส่วนปลาย จึงส่วนผลดีต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ช่วยส่งเสริมการมองเห็น ชะลอวัยได้ดี

สะเดาฟาดไฟ ปลาเผา น้ำปลาหวาน สะเดามีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย น้ำต้มดอกสะเดาช่วยล้างพิษในกระแสเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด รสขมของสะเดาช่วยบำรุงน้ำดี และกระตุ้นการอยากอาหารได้ดี

เก็บดอก อย่างไรให้มากคุณค่า

เพื่อจะรักษาน้ำมันหอมระเหยของดอกไม้ไว้ให้ได้มากที่สุด ศาสตร์การแพทย์แผนไทยได้ระบุเวลาการเก็บดอกไม้ในสองช่วงเวลา คือ 06.00-09.00 น. และ 18.00-21.00 น. เมื่อพิจารณาดูจะพบว่า

ช่วงเช้าเป็นเวลาที่ดอกไม้เพิ่งขยายกลีบแย้มบาน น้ำมันหอมระเหยยังมีมาก ถ้าเก็บดอกไม้ช่วงนี้จะทำให้น้ำมันหอมระเหยยังคงอยู่

ขณะที่ช่วงเย็นเมื่ออากาศเย็นลง ดอกไม้จะมีกลิ่นหอมอีกครั้ง การเก็บดอกไม้ในสองช่วงนี้ก็จะทำให้ได้ดอกไม้ที่มีกลิ่นดี แต่ถ้าเก็บดึกจนเกินไป ในอากาศจะมีความชื้น ซึ่งมีผลเสียต่อการเก็บดอกไม้ ทั้งยังส่งผลต่อกลิ่นของดอกไม้ นอกจากนี้หากต้องการดอกไม้ที่มีกลิ่นดี คุณควรเลือกเก็บดอกไม้ที่เพิ่งแย้มบาน เพราะน้ำมันหอมระเหยยังคงมีอยู่มาก

ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นในการเก็บดอกไม้บางชนิด เช่น ดอกงิ้วแดงที่ใช้ปรุงอาหาร ต้องเก็บเกสรดอกที่บานเต็มที่และร่วงลงพื้นลงมา แล้วจึงนำไปตากหรือผิงไฟให้แห้งแล้วเก็บไว้ใช้ เป็นต้น

ใครหนอที่ไม่ควรใช้ดอกไม้?

แน่นอนว่าเหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ ดอกไม้อาจมีคุณ แต่ก็อาจมีโทษกับบางคน ดังนั้นบุคคลที่มีประวัติเคยมีอาการภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ก็ควรงดเว้นการบริโภคดอกไม้ หรือการบำบัดด้วยดอกไม้ ไม่ว่าทางใดก็ตาม เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพนั่นเอง

เล่าวิธีนำดอกไม้แต่ละชนิดไปใช้ ตั้งแต่ กุหลาบ ยัน ดอกงิ้ว อย่างละเอียดขนาดนี้ หวังว่าคุณจะนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อเลือกดอกไม้มาดูแลกายใจตัวเองและคนที่รักกันได้อย่างใจหวัง ในเทศกาลแห่งความรักปี 64 นี้แล้วนะ

ขอบคุณ

– คุณแสงปทีป แก้วสาคร Global Holistic Aromatherapist เอื้อเฟื้อข้อมูลเกี่ยวกับศาสตร์ด้านสุคนธบำบัด ท่านผู้ใดสนใจดูแลสุขภาพด้วยสุคนธบำบัด สามารถโทรสอบถามรายละเอียดโดยตรงได้ที่ 062 232 2635

– อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เอื้อเฟื้อข้อมูลเรื่องการเก็บดอกไม้

เอกสารอ้างอิง

– ผลงานวิจัยเรื่อง ‘สมุนไพรที่กระตุ้นการผลิตนมแม่’ โดย ศาสตราจารย์สุสัณหา ยิ้มแย้ม คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตีพิมพ์ลงในพยาบาลสาร ปีที่ 45 ฉ.1 มกราคม-มีนาคม 2561

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง ‘ดาหลา ความงามที่กินได้…’ โดย กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล www.pharmacy.mahidol.ac.th

– เนื้อหาเรื่อง ‘งิ้วดอกแดง ให้พลังดั่งพญาครุฑ’ จากหนังสือ ‘บันทึกของแผ่นดิน 8 สมุนไพรชะลอวัยไกลโรค’ โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

– เนื้อหาเรื่อง “ดอกเก๊กฮวย” จากหนังสือ “รู้เลือกใช้ 100 สมุนไพรจีน” โดยแพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล

ภาพประกอบ: Paperis