เดี๋ยวนี้เรามีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสถิติมากมาย ที่บ่งบอกถึงปัญหาของโลกร้อนไปจนถึงความเสื่อมลงของทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อจะพูดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับใครสักคน แล้วเขาไม่อินเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงกับชีวิตประจำวันของตัวเอง ก็อาจจะเห็นภาพตามได้ลำบาก และถ้าไม่ใช่นักวิจัยหรือคนที่อินกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว การอ่านข้อมูลเยอะๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อเกินไป การพูดผ่าน ‘ศิลปะ’ ก็เป็นวิธีที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจกับประเด็นการเปลี่ยนไปของโลกได้ง่ายขึ้น ตื่นเต้นขึ้น และน่ามามีส่วนร่วมมากขึ้น


ศิลปะเป็นสื่อกลางสร้างสรรค์ที่ไม่ต้องนำข้อมูลที่ดูเข้าใจยากมานั่งอธิบาย เมื่อเหล่าศิลปินได้สื่อสารออกมาในรูปของผลงาน ก็ทำให้ประเด็นต่างๆ มีพลังมากพอ สามารถจับต้องได้ เพราะคนดูได้เห็นภาพกับตา เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้เกิดอิมแพคในการช่วยขับเคลื่อนสังคม เพราะประเด็นปัญหาของโลกและสิ่งแวดล้อม เมื่อถูกนำมาบอกเล่าผ่านงานอาร์ต ก็เหมือนถูกปอกเปลือกออกจากชุดข้อมูลให้เราได้เข้ามาสัมผัสผ่านประสบการณ์ของศิลปินคนนั้น และกลายเป็นเราเองที่ได้มีประสบการณ์ในประเด็นนั้นร่วมไปด้วย อย่างงานประติมากรรมจากขยะที่ศิลปินและอาสาสมัครได้ช่วยกันเก็บจากชายฝั่งทะเลที่เกาะยาวน้อย มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่ชายหาด ทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงปัญหาขยะรั่วไหลลงทะเลที่ซ่อนอยู่ เป็นการเตือนใจขณะเดินเล่นริมทะเล หรืองานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale 2020 (BAB 2020) ในปีนี้ ซึ่งมีศิลปินรวม 82 คนจากหลายประเทศ หลากหลายแขนงศิลป์ ได้มารวมตัวกันเพื่อส่งต่อประเด็นของโลกร้อน สิ่งแวดล้อม และสังคม ในมุมที่พวกเขาให้ความสำคัญแก่คนดู

‘ศิลป์สร้าง ทางสุข’ หรือ ‘Escape Routes’ เป็นแนวคิดหลักของการจัดงานครั้งนี้ ที่คณะกรรมการบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เล็งเห็นว่าช่วงเวลาของปี 2020 คือการขึ้นทศวรรษใหม่ที่ท้าทาย อย่างที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศว่า เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ ซึ่งได้ผ่านมา 5 ปีแล้วหลังจากการประกาศ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวทั่วโลกในเรื่องการพัฒนาอย่างสมดุล แต่โลกของเราก็ยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำมาซึ่งความกังวลใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็ได้ช่วยเตือนใจให้พวกเราได้ใส่ใจสุขภาวะของตนเองและสุขภาวะของโลก

เรามาดูชิ้นงานพร้อมแนวคิดบางส่วนจากศิลปินที่มาร่วมแสดงผลงานครั้งนี้ ที่ได้สร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะขึ้นเพื่อถ่ายทอดและกระตุ้นความคิดใหม่ๆ ให้ผู้ชม อีกทั้งสะท้อนถึงมุมมองจากประสบการณ์-เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อชวนเรามองไปถึงอนาคตที่สามารถช่วยกันทำให้น่าอยู่ขึ้นได้

ศิลปินกับ Climate Change

มารีนา อบราโมวิช ศิลปินด้านการแสดงสดจากประเทศเซอร์เบียกับผลงาน ‘Rising’ เครื่องเล่น virtual reality ที่ออกแบบมาต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีถังแก้วที่มารีนาติดอยู่ภายในและกำลังจะจมน้ำจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นกลางมหาสมุทรอาร์คติก ที่น้ำแข็งได้ละลายลงสู่ทะเลอันปั่นป่วน เธอแสดงเทคโนโลยีของเครื่องเล่นนี้เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ความกลัวและความไม่สมดุลของสิ่งที่มีอยู่ ให้ผู้คนเกิดความตระหนัก เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน และมีความหวังที่จะช่วยรักษาโลก มารีนาอธิบายว่า งานศิลปะที่ดีจะต้องสามารถทำนายอนาคต หมายถึงทำให้คนดูคิดต่อไปได้ถึงผลลัพธ์ของสิ่งที่ศิลปินกำลังแสดง ซึ่งเมสเสจของเธอคือ ทุกสิ่งล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่ว่าจะเป็นพืช หิน ภูเขา สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้และตัวเรา ตอนนี้โลกไม่สมดุล แต่คนเรากลับไม่เห็นความจริงข้อนี้กันมากเพียงพอ

ศิลปินกับระบบนิเวศ

ผลงานตู้เก็บน้ำผึ้งดิบออร์แกนิกของแอนา ปรวาชกิ ศิลปินชาวโรมาเนีย เป็นการผสมผสานการแสดง การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สุนทรียศาสตร์ของผู้บริโภคและปัญหาสังคมที่เป็นกระแส ออกมาเป็นโปรเจ็กต์ทดลองให้เห็นปัญหาของระบบนิเวศ ตลอดจนธรรมชาติที่ไม่จีรัง เป็นกลยุทธ์สำหรับการสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครเพื่อสื่อให้ผู้คนยอมรับแนวปฏิบัติทางศิลปะที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยผลงาน ‘Post Apis’ 2563 มาจากความสนใจของแอนาเรื่องการสูญพันธุ์ของผึ้งและผลเสียต่อระบบนิเวศ ผึ้งเป็นแมลงที่สำคัญที่สุดในโลกในฐานะแมลงผสมเกสรมานานหลายล้านปีแล้ว แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ผึ้งกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งจะทำให้มนุษย์เสี่ยงที่จะสูญเสียพืชทั้งหมดที่อาศัยผึ้งผสมเกสร รวมทั้งสัตว์ทั้งหมดที่กินพืชเหล่านี้เป็นอาหาร และเราก็จะไม่มีน้ำผึ้งให้บริโภคอีกต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบจากยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่ใช้ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอยู่ในดอกไม้ที่ผึ้งใช้ผสมเกสร

ศิลปินกับปัญหาการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำ

ศิลปินและช่างภาพชาวจีนจากเมืองเฉิงตู จาง เค่อฉุน กับโปรเจ็กต์ ‘Yellow River’ โดยเดิมทีเขามีแนวคิดที่จะค้นหารากเหง้าจิตวิญญาณของตัวเอง แต่ต่อมาชิ้นงานนี้ได้กลายเป็นการบันทึกผลกระทบจากความทันสมัยที่เกิดขึ้นริมแม่น้ำฮวงโหที่เขาได้ไปเห็น และเป็นแรงบันดาลใจในโปรเจ็กต์ถัดมาคือ ‘Between the Mountains and Water’ ที่เขาเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและผืนดินที่พวกเขาอาศัยอยู่และทำมาหากิน ภาพถ่ายที่แสดงคนตัวเล็กๆ ท่าทางมึนงงท่ามกลางภูมิทัศน์ธรรมชาติอันกว้างใหญ่ข้างหลังอย่างมีนัยยะ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ในบริบทและเงื่อนไขดังกล่าว คนเหล่านี้กำลังคิดอะไรอยู่  พวกเขากำลังมองหาการหลีกหนีทางร่างกายหรือจิตใจจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ใช่หรือไม่?

ศิลปินกับขยะในทะเลและภูมิปัญญา

อีร์วัน อะห์เมตต์ และติตา ซาลิ สองศิลปินจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กับผลงาน ‘1001st Island: The most sustainable island in archipelago’ หรือ ‘เกาะที่หนึ่งพันหนึ่ง’ เกาะที่ยั่งยืนที่สุดในหมู่เกาะทั้งหมดเพราะเป็นเกาะที่ทำจากขยะ โดยศิลปินและชาวประมงในท้องถิ่นได้สร้างเกาะลอยน้ำเทียมจากเศษขยะในทะเล มีรูปปั้นคนยืนเดี่ยวๆ บนแพเกาะ แสดงออกถึงการต่อต้านการถมทะเลที่ก่อให้เกิดขยะและมลพิษในมหาสมุทร บวกกับทั้งคู่ได้ติดตามเส้นทางการเดินเรืออพยพของชาวเลและผู้ลี้ภัยในทะเลอันดามัน ซึ่งบรรพบุรุษได้ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางเดินเรือมานานหลายศตวรรษ จนเมื่อสุดท้ายระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและได้เข้าท่วมเมืองต่างๆ ชาวเลเหล่านี้ซึ่งมีภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษคอยชี้นำจะสามารถเป็นผู้ที่อยู่รอดได้

ศิลปินกับสิ่งแวดล้อมใต้น้ำ

มาร์ธา เอเทียนซา ศิลปินจากเกาะบันตายัน ฟิลิปปินส์ เป็นที่รู้จักจากผลงานการใช้วิดีโอเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมโดยการสนทนาแลกเปลี่ยน ซึ่งเธอได้บันทึกเทศกาลอาติ-อาติหาน (Ati-Atihan) หนึ่งในเทศกาลประจำปีที่เก่าแก่ที่สุดของฟิลิปปินส์ ในเทศกาลจะมีขบวนแห่ประกอบด้วยผู้ชายสวมเครื่องแต่งกายประณีตแต่แฝงด้วยอารมณ์ขัน เต้นรำประกอบดนตรี โดยทุกๆ ปีพวกเขาจะทำเครื่องแต่งกายแตกต่างกันไปตามเหตุการณ์ในขณะนั้น เทศกาลนี้จึงได้กลายเป็นการแสดงความฝัน การเฉลิมฉลองขอบคุณ การอยู่รอดจากภัยพิบัติประจำปี เปิดมุมมองเชิงวิพากษ์และเต็มไปด้วยความรื่นเริง มาร์ธาฉายวิดีโอตัวนี้ภายใต้ชื่อ ‘Our Islands 11°16’58.4″N 123°45’07.0″E’ ซึ่งเธอได้ตีความเทศกาลนี้ใหม่ในปี 2560 และสร้างออกมาในรูปแบบขบวนพาเหรดใต้น้ำ ฉายภาพจริงเท่าขนาดตัวคนบนกระจกให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำไปกับประสบการณ์ที่น่าหลงใหลใต้น้ำ แต่ในขณะเดียวกันความรู้สึกก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปในใจขณะที่ดูขบวนพาเหรดเคลื่อนที่ผ่านไปอย่างเงียบๆ และจมหายไปในทะเล ผู้ชายในขบวนพาเหรดต่างก็ดิ้นรนไม่ให้จมน้ำด้วยวิธีแตกต่างกันไป บางคนลอยน้ำไปมาอย่างสง่า ในขณะที่บางคนดำน้ำฝ่าไปข้างหน้าและได้เหยียบย่ำปะการังที่กำลังจะตาย อาจบ่งบอกได้ถึงการต้องดิ้นรนปรับตัว การต้องอพยพ ดึงดูดความสนใจ ความนึกคิดของผู้ชมต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

ศิลปินรีไซเคิล

ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ศิลปินชาวไทยที่เป็นที่รู้จักจากผลงานจิตรกรรมแนวนามธรรม โดดเด่นด้วยสีสันบนวัสดุรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นผืนผ้าใบ แผ่นไม้ ชิ้นส่วนโลหะ ผ้ากระสอบ กระดาษลัง ท่อเหล็กเหลือใช้ ตะแกรงลวด เหล็กดัด เศษไม้ ปูนซีเมนต์ เศษชิ้นส่วนของอุปกรณ์ เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์เก่าต่างๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยในงาน​ BAB​ 2020​ นี้ เขานำเสนอการหนีเอาชีวิตรอดจากอันตรายที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยการใช้สำนวน ‘หนีเสือปะจระเข้’ อธิบายถึงหายนะของโลกและสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากการพัฒนาก้าวกระโดดของมนุษย์ กับเทคโนโลยีที่ควบคุมโลกอย่างเบ็ดเสร็จ​ ภาพวาดบนผ้าใบได้บอกเล่าถึงสภาวะโลกร้อน​ ขยะมหาศาล​ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ​​ ส่วนประติมากรรมอีกชิ้นสร้างจากโครงเหล็กขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายเครื่องมือจับปลาของประมงชนบท​ เพียงแต่เปลี่ยนจากการดักปลามาเป็นการดักขยะพลาสติกแทน ​

และนี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่ช่วยทำให้เราเห็นภาพของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแบบชัดๆ เรียกได้ว่างานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale 2020 ปีนี้ เปลี่ยนปัญหาที่ดูซีเรียส ดูไกลตัว ให้กลายเป็นความสร้างสรรค์ มีแรงดึงดูดเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสเรียนรู้ได้ทุกวัย ช่วยสะกิดบางคนที่อาจจะยังไม่ค่อยสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้มาลองเห็นปัญหาในอีกแง่มุมหนึ่ง และไม่เราว่าจะอยู่ในแวดวงไหน เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันดูแลโลกใบนี้ได้

งาน BAB 2020 มีตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มกราคม 2564 ดูรายละเอียดได้ที่ www.bkkartbiennale.com

ที่มาข้อมูล
www.bkkartbiennale.com
www.fineacts.co 

เครดิตภาพ: BAB2020