“ถ้าผึ้งตัวสุดท้ายบนโลกนี้ตายลง เราทุกคนจะมีเวลาเหลืออยู่บนโลกนี้อีกแค่สี่ปี” ฟังดูเป็นคำพูดเหมือนหนัง Sci-Fi แต่ไม่ใช่เลยมันเป็นคำพูดของ อับเบิร์ต ไอสไตล์ อัจฉริยะที่สรุปถึงความสำคัญของสัตว์ตัวน้อยนี้ที่ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่ในระบบนิเวศบนโลก ผึ้งเป็นสัตว์ที่ทำหน้าที่สำคัญที่สุดในระบบห่วงโซ่อาหาร คือการผสมเกสร ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ผูกขาดหน้าที่นี้เพราะยังมี ผีเสื้อ กะรอก นก ลม ฝน ที่ช่วยกันผสมเกสร แต่ผึ้งก็เป็นเสาหลักในเรื่องนี้ เพราะ 80% ของการผสมเกสรบนโลกล้วนผ่านมือเล็ก ๆ ของพวกเขา หนึ่งในปัญหาของโลกคือการลดจำนวนลงของสัตว์ผสมเกสรซึ่งส่งผลกรทบต่อเกษตรกรรมธรรมชาติ โดยเฉพาะผึ้ง เพราะเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อเคมี ยิ่งมีการใช้เคมีเกษตรและยาฆ่าแมลงยิ่งทำให้ผึ้งลดจำนวนลง การขยายตัวของเมืองเองก็มีส่วนที่คุกคามชีวิตของผึ้ง

หินลาดใน หนึ่งในชุมชนที่มีชื่อเสียงในเรื่องของน้ำผึ้งป่า เป็นชุมชนเล็ก ๆ ในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านปกาเกอะญอแห่งนี้มีน้ำผึ้งป่าที่รสชาติพิเศษเพราะมาจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ พี่ทศ ชัยธวัช จอมติ เล่าให้ฟังว่ารสชาติของน้ำผึ้งมาจากความหลากหลายของผืนป่าและรสชาติน้ำผึ้งแตกต่างกันไปในแต่ละปี

เรียกได้ว่าน้ำผึ้งบ่งบอกถึงเรื่องราวป่าที่ผึ้งหากิน

ชุมชน 20 หลังคาเรือนดูแลป่าขนาดพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ พี่ทศจะพาเดินเข้าไปในป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ ไปนั่งคุยกันใต้ต้นลำพูใหญ่กลางป่าและที่น่าตกใจคือป่าที่เราเดินผ่านมาทั้งหมดเคยเป็นภูเขาหัวโล้นมาก่อน เพราะพื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ และต้นลำพูต้นใหญ่นี้เป็นต้นไม้ต้นเดียวที่เหลืออยู่จากยุคสัมปทาน ส่วนป่าที่เราเห็นในปัจจุบันทั้งหมดนั้นชาวบ้านช่วยกันปลูก น้ำผึ้งของชุมชนแบ่งออกเป็นสามชนิด คือ ผึ้งโพรง ผึ้งหลวง ผึ้งชันโรง น้ำผึ้งที่หินลาดในมาจากผึ้งหลายสายพันธุ์ มีพฤติกรรมและรูปแบบการเก็บเกสรที่แตกต่างกัน ผึ้งหลวงตัวใหญ่บินสูง ทำรังบนต้นไม้ใหญ่ อาจได้เกสรคนละแบบกับพวกบินต่ำอย่างผึ้งโพรง ซึ่งทำรังตามโพรงต้นไม้และด้วยความตัวเล็กและบินต่ำจึงมักทำรังไม่ห่างจากลำธาร ผึ้งชันโรงจะตัวเล็กสุดและไม่มีเหล็กใน เพราะมันเล็กมากจนศัตรูไม่สามารถเข้ามาในรังของพวกมันได้ และเกสรที่เก็บก็มาจากผืนป่าหลากหลายแบบ จนเรียกได้ว่าน้ำผึ้งบ่งบอกถึงเรื่องราวป่าที่ผึ้งหากิน

น้ำผึ้งจากป่าเบญจพรรณจะต่างจากป่าดงดิบ ด้วยความที่คนปกาเกอะญอเป็นชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตกลมกลืนและเข้าใจวัฏจักรของธรรมชาติ น้ำผึ้งที่ได้มาอย่างพยายามเกื้อกูลธรรมชาติ การเลี้ยงผึ้งของที่นี่ตั้งใจเก็บน้ำผึ้งแค่ปีละ 1 รอบเพื่อให้ผึ้งได้มีวงจรชีวิตตามธรรมชาติ ขณะเดียวกัน เวลาเก็บก็จะไม่ตัดรวงผึ้งเอาไปทั้งหมด คนที่นี่จะตัดไปแค่สองในสามและเหลือหนึ่งส่วนไว้เป็นอาหารของตัวอ่อนไว้ในรังใหม่ เป็นการช่วยรักษาจำนวนผึ้ง

ช่วงเวลาในการเก็บน้ำผึ้งคือปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พูดง่ายง่ายคือก่อนฤดูฝน เพราะเมื่อเข้าฤดูฝนผึ้งจะดุมากและน้ำผึ้งที่เก็บได้ก็จะมีความชื้นสูง มีผลต่อรสชาติด้วย น้ำผึ้งมาจากป่าของชุมชน การเก็บผึ้งโพรงก็เดินไปที่โพรงที่ชาวบ้านสร้างไว้ คนปกาเกอะญอจะมีวิธีพูดกับผึ้งประมาณว่าขอแบ่งน้ำผึ้งหน่อยนะ แล้วเป่าลมเข้าไปในรูที่ผึ้งใช้เป็นทางเข้าออก จากนั้นก็เปิดฝาออกรวงผึ้งก็จะติดออกมาเลย ผึ้งโพรงไม่ดุร้ายมาก เราจึงสามารถดูอยู่ใกล้ใกล้ได้ เราก็ได้ลองชิมกันตรงนั้นเลย รสชาติหวานอร่อยมาก น้ำผึ้งโพรงรสชาติจะเบาเข้าถึงง่ายเพราะผึ้งโพรงผสมเกสรดอกไม้เป็นหลัก

ส่วนการเก็บน้ำผึ้งหลวงมีความตื่นเต้นพอสมควร ชาวบ้านเวลาเห็นรังผึ้งหลวงที่น่าเก็บจะทำสัญลักษณ์ไว้ที่ลำต้นแล้วรอวันที่จะขึ้นไปเก็บ คนตีผึ้งจะเตรียมทอย โดยเหลาไม้ไผ่เป็นเหมือนลิ่มแล้วเอาไปลนไฟให้แข็ง จะตอกทอยเข้าไปที่ลำต้นเพื่อเป็นเสมือนบันได จำนวนขึ้นอยู่กับความสูง มะเป้งเคยไปเก็บต้นที่สูงเกือบ 40 เมตร เลยสูงมากจนต้องใช้สามคนผลัดกันตอกทอย พอขึ้นไปใกล้รัง คนตีผึ้งจะลงมาใส่ชุดและหมวกกันผึ้ง จุดรางจืดผูกเอวขึ้นไป (เพื่อทำให้ผึ้งที่ได้ควันมึน) พอขึ้นไปถึงกิ่งจะโรยเชือกลงมาเพื่อผูกปี๊บและชักขึ้นไป เวลาคนตีผึ้งปาดรวงผึ้งลงที่ปี๊บจนเต็มแล้วโรยปี๊บลงมาก่อนส่งใบใหม่สลับขึ้นไป ทุกครั้งที่ตอกทอยเข้าไปที่ต้นไม้จะมีแรงสั่นสะเทือนไปถึงกิ่งที่มีรังผึ้งอยู่ ผึ้งหลวงจะลงมาต่อยใครก็ตามที่อยู่ด้านล่างโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง อันนี้ถ้ารังไหนดุมากพี่ทศบอกว่าวิ่งครับ ก็วิ่งแบบไม่คิดชีวิต เป็นประสบการณ์ที่สนุกมากทุกคนที่เคยร่วมจะเข้าใจเลยว่ากว่าจะได้น้ำผึ้งมาสัก 1 ช้อนชา มันยากจริงจริง และสมกับเป็นของขวัญจากธรรมชาติ น้ำผึ้งที่ได้จากการเก็บครั้งนี้มีน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ลองคำนวณเล่นเล่นว่า กว่าจะได้น้ำผึ้ง 1 หยด ผึ้งต้องบินเป็นระยะทางเฉลี่ย 5 ไมล์ (เทียบ 1 หยด = 1กรัม) น้ำผึ้งที่เราเก็บได้วันนี้ผึ้งต้องบินเป็นระยะทางรวมกันเท่ากับระยะทางจากโลกไปดวงจันทน์และกลับมายังโลก (ระยะจากโลกไปดวงจันทร์คือ 221,567 ไมล์) ชวนคิดไปถึงคำว่า Honeymoon เลยเชียว

มีอยู่ครั้งนึงที่หินลาดในเคยจัดงานประชุม UNDP World Pollinator ที่หมู่บ้านโดยมีตัวแทนจากทุกประเทศที่มีการทำงานเรื่องน้ำผึ้งมาร่วม มะเป้งเลยได้มีโอกาสได้ชิมน้ำผึ้งที่มาจากหลากหลายประเทศ เล่าด้วยความภูมิใจเลยว่าน้ำผึ้งของบ้านเราถือว่าดีมากเมื่อเที่ยบกับแหล่งอื่น อาจเป็นรองน้ำผึ้งจากนิวซีแลนด์เพราะเขามีความหวานจากต้นมานูก้าและมันมีรสชาติดีมากจริง ๆ มีผู้เข้าร่วมพยายามถามมะเป้งว่ารสชาติน้ำผึ้งหินลาดในนี้มาจากเกสรต้นอะไร เราก็ไม่สามามารถตอบได้เลยเพราะต้นไม้ในป่าเรามันมากมายแต่พอชิมน้ำผึ้งของสวีเดน เราเลยอ๋อ รสชาติเหมือนยาหม่อง เพราะเค้าบอกว่าเป็นน้ำผึ้งจากต้นยูคาลิปตัส และป่าเค้าทั้งป่ามีแต่ตันยูคาลิปตัส สรุปว่าในปีนั้นน้ำผึ้งหินลาดในขาดตลาดเพราะผู้เข้าร่วมเหมากลับประเทศตัวเองหมด

น้ำผึ้งจึงเป็นความหวานอันแสนพิเศษจากธรรมชาติ ชุมชนพยายามจัดทริปเก็บน้ำผึ้งป่าทุกปี “Honey Journey” ผึ้งพาอาศัย โดยหวังว่าผู้เข้าร่วมจะมีความเข้าใจการใช้ชีวิตของชาวปกาเกอะญอ การทำไร่หมุนเวียน ป่าวรรณเกษตร และการเก็บน้ำผึ้งป่า ในช่วงปลายเมษายนถึงต้นเมษายน ลองเข้าไปเยี่ยม Page ของหินลาดใน เผื่อครั้งหนึ่งในชีวิตได้ไปเก็บน้ำผึ้งป่ากัน

ติดตามเรื่องราวของชุมชนหินลาดในได้ที่ www.facebook.com/hinladnaicommunity

ภาพ: มะเป้ง