“เวลานี้โลกของเราต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน”
เราเริ่มต้นประโยคนี้ไม่ใช่ด้วยคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย หรือพูดเอาแต่ใจเพราะเชียร์บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนมากกว่าพลาสติกแบบ single use แต่เรามีข้อมูลยืนยันจากผลการสำรวจจากหลายสถาบัน และได้ข้อสรุปตรงกันว่า บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน หรือ Sustainable Packaging เป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมต่อเนื่องในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเจน Y และเจน Z ที่พร้อมจะสนับสนุนสินค้าที่มีความมุ่งมั่นในแนวทางที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม ตามผลสำรวจของ Nielsen บริษัทวิจัยตลาดที่มีชื่อเสียงระดับโลก
หรือยกตัวอย่างงานวิจัยของ Trivium Packaging ที่สำรวจความเห็นของชาวอเมริกา ชี้ให้เห็นว่ามีผู้บริโภคจำนวนถึง 74% ที่มองหาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน และยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อสินค้าที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ เช่นเดียวกับผลสำรวจของ Business of Sustainability Index ที่มีความเห็นเป็นทิศทางเดียวกัน และความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนแบรนด์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนนี้ ก็ส่งผลให้ตลาดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนทั่วโลกปี 2565 มีมูลค่าสูงกว่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าระหว่างปี 2566-2573 จะมีการขยายตัวขึ้นไปที่ 5.8 เปอร์เซ็นต์
ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนแบรนด์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนนี้ ก็ส่งผลให้ตลาดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนทั่วโลกปี 2565 มีมูลค่าสูง
แม้ผลสำรวจเหล่านี้จะเกิดขึ้นที่อเมริกา แต่เทรนด์บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนนี้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในอเมริกาหรือประเทศฝั่งตะวันตก เพราะหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็หันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ และฟื้นฟูปกป้องโลกผ่านธุรกิจของตัวเองไปด้วย โดยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ ทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบาเพื่อลดปริมาณทรัพยากรและพลังงานในการผลิต ลดขนาดบรรจุภัณฑ์เพื่อไม่ให้เกิดการสิ้นเปลืองเกินจำเป็น ใช้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไปจนถึงใช้ฉลากที่สามารถล้างออกได้ หรือใช้หมึกพิมพ์จากถั่วเหลืองหรือพืชที่ไม่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม
ใน “Material Showcase#1: Pack to the Future บรรจุภัณฑ์สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ (TCDC Bangkok) ในตอนนี้ เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ยืนยันถึงการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยผ่านบรรจุภัณฑ์ ที่ผู้ผลิตและผู้ออกแบบต้องคิดหลายชั้นเพื่อเลือกใช้วัสดุที่เหมาะกับสินค้าและบริการ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นวัสดุจากธรรมชาติ วัสดุที่มีความสามารถในการย่อยสลาย หรือวัสดุที่นำมาหมุนเวียนกลับมาใช้
เราได้มีโอกาสไปชมนวัตกรรมเหล่านั้น ในวันที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จัดเสวนา “Pack to the Future: บรรจุภัณฑ์สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ที่มีตัวแทนผู้ประกอบการวัสดุสร้างสรรค์ ทั้งผู้ผลิตและผู้ทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก” ที่เพิ่มมูลค่าให้วัสดุในเชิงเศรษฐกิจ และช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
วัสดุธรรมชาติที่แปลงรูปเป็นบรรจุภัณฑ์รักโลก
ก่อนเข้าช่วงเสวนา เราขอพาทัวร์ส่วนจัดแสดงที่นำบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจากวัสดุต่าง ๆ โดยเฉพาะวัสดุจากธรรมชาติที่หลายวัสดุคือเรื่องใหม่ และกำลังจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาร่วมต่อยอดและพัฒนาไปสู่บรรจุภัณฑ์เพื่อใช้งานได้
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือที่เรียกอย่างสั้น ๆ ว่า “สถาบันผลิตผลการเกษตรฯ” นำตัวอย่างบรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติจากภาคเกษตรกรรม ที่ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยที่ไม่เคลือบพลาสติก ย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบได้ภายใน 45 วัน และกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงเยื่อจากวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเยื่อใบสับปะรด เยื่อเปลือกทุเรียน ที่กลับคืนสู่ธรรมชาติได้ทั้งหมดเช่นกัน
ในขณะที่ศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน (Silo@ssru) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ได้พัฒนาวัสดุสร้างสรรค์ขึ้นจากงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา ก็ได้นำกระดาษทำมือจากเส้นใยธรรมชาติ ที่ได้จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร มาแปรรูปด้วยกระบวนการทางหัตถกรรม ได้เป็นกระดาษทำมือที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ มีลวดลายและผิวสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ ย้อมสีได้หลากหลาย และนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ กระเป๋า ไปจนถึงของตกแต่งและงานดีไซน์ แต่ในงานนี้นำมาจัดแสดงเฉพาะกระเป๋าที่ดีไซน์ออกมาได้เท่เอาการ
ความน่าสนใจของศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนแห่งนี้ คือการเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างวัสดุสร้างสรรค์เอาไว้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายจากนากุ้ง เศษกล้วยไม้ที่ต้องรื้อสวนเมื่อไม่ออกดอกแล้ว ฟางข้าว กัญชง ผักตบชวา ซึ่งทั้งหมดเป็นวัสดุไร้มูลค่าที่นำมาสร้างมูลค่าใหม่ และความรู้ที่เกิดจากงานวิชาการเหล่านี้ จะถูกนำไปถ่ายทอดต่อในชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้เห็นประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร และเปิดประตูให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมกันพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
นอกจากสองสถาบันการศึกษาที่นำนวัตกรรมมาโชว์ให้เราได้เห็น ก็ยังมีผู้ประกอบการรักษ์โลกอีกกว่าสิบรายนำวัสดุและบรรจุภัณฑ์มาจัดแสดง เช่น กระสอบทรายแมวจากเยื่อฟางข้าว ที่ปกติเรามักเห็นว่าเป็นกระสอบทรายจากพลาสติกรีไซเคิลไม่ได้ ก็พัฒนามาเป็นวัสดุจากธรรมชาติแทน ถุงกระดาษ กล่องกระดาษ แถบจับแก้วเครื่องดื่มที่ใช้วัสดุการเกษตรอย่างเปลือกข้าวโพด บรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อไผ่ธรรมชาติที่ขึ้นรูปได้แข็งแรงและทนความร้อน บรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อฟางข้าวบริสุทธิ์ที่คงสีธรรมชาติและให้ความแข็งแรง แก้วกระดาษ PBS ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และใช้หมึกพิมพ์จากถั่วเหลือง ซึ่งทั้งหมดสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เกิดเป็นสารชีวมวลที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงหลอดเครื่องดื่มกินได้ ที่ทำจากแป้งข้าวและแป้งข้าวโพด ไม่มีกลูเตน สารก่อภูมิแพ้ และปลอด GMOs และคงคุณสมบัติของหลอดที่ไม่เปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี
แต่ใช่ว่างานนี้จะมีแต่บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติไปทั้งหมด เพราะในจำนวนผลงานที่นำมาจัดแสดง ยังมีวัสดุยั่งยืนประเภทอื่นอย่างกระป๋องและขวดอะลูมิเนียมที่รีไซเคิลได้ทุกส่วนอย่างไม่รู้จบ เทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันการซึมผ่านของอากาศในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแผ่นฟิล์ม EVOH พลาสติกจากพืช และฟิล์มละลายน้ำ ไบโอคอมโพสิตฟิล์ม PLA ผสมกากกาแฟ ที่เมื่อมีการย่อยสลายแล้วจะไม่เกิดสารเคมีตกค้างและไมโครพลาสติก ซึ่งวัสดุนี้จะนำไปใช้กับถุงหรือซองบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงปลูก ซองเมล็ดพันธุ์ผัก ซองชาสมุนไพร และสามารถผลิตเป็นหลอดเครื่องดื่มได้เช่นกัน
แนวโน้มบรรจุภัณฑ์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนกว่า
การตื่นตัวของผู้บริโภคที่เห็นผลกระทบของสิ่งแวดล้อมจากบรรจุภัณฑ์ นำมาสู่การผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากวงเสวนาในวันนั้น เราได้เห็นความตื่นตัวของผู้ผลิตที่ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ซึ่งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงโควิดที่ผู้คนต้องอาศัยการสั่งอาหารและสินค้าแบบเดลิเวอรี่ และต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ไลฟ์สไตล์การสั่งสินค้าแบบเดลิเวอรี่ก็ยังคงอยู่ในความนิยม
เปรมยุดา หิรัญกุลเมธา แห่ง ดี.ดี. เพเพอร์คัพ จำกัด โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารกระดาษและเครื่องดื่มใช้แล้วทิ้งจากกระดาษ และให้บริการสกรีนโลโก้ด้วยหมึกจากถั่วเหลือง ให้มุมมองว่า บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมีราคาที่สูงกว่า ทำให้มีเพียงลูกค้าบางกลุ่ม และแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่เข้าถึงบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้มากกว่า แต่เพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มไม่ว่ารายย่อยหรือรายใหญ่สามารถเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนได้อย่างไม่ตกหล่น จึงทำการผลิตให้เหมาะสมกับลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการทั้งที่ซื้อได้ในปริมาณน้อย ตั้งแต่ 50 ชิ้น 100 ชิ้น หรือมากกว่านั้น และเปิดขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ซื้อได้อย่างสะดวก หรือหากต้องการทำแบรนด์ก็สามารถสกรีนโลโก้ให้ได้
ในขณะที่ ณิชยา อนันตวงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ LocoPack แพลตฟอร์มออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ออนไลน์ ก็เห็นด้วยว่า การผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องตอบโจทย์ลูกค้าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ในฐานะผู้ออกแบบ จึงเน้นหาทางออกร่วมกับลูกค้าในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับสินค้าในงบประมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ต้นทุนสูงเกินไป และไม่ใช้ทรัพยากรเกินจำเป็น นอกจากช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับวัสดุแล้ว เมื่อใช้งานเสร็จวัสดุเหล่านี้ต้องสามารถนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เหลือเศษทิ้ง ทั้งนี้ในการออกแบบก็ต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญในการสร้างแบรนด์ให้มีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำด้วย
ส่วนพิไลภรณ์ นำศิริวัฒน์ แห่ง Nameco แบรนด์สินค้าพลาสติกที่ปรับตัวไปกับโลกเพื่อความยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนมาใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อหาทางออกให้พลาสติกไม่ต้องถูกแปะป้ายเป็น “ผู้ร้าย” อย่างที่หลายคนเข้าใจ เธอจึงเลือกใช้พลาสติก Bio-based ที่ผสมพืชหรือวัตถุดิบธรรมชาติเข้าไปในเนื้อพลาสติก เช่น ไม้ ฟาง หรือกากกาแฟ เพื่อลดการใช้พลาสติก ใส่สารเติมแต่งเพื่อให้สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6 เดือน และใช้พลาสติก Fossil-based ที่ทำจากปิโตรเลียมพลาสติกทั่วไป แต่มีการใส่สารเติมแต่งให้ย่อยสลายภายในเวลา 5-10 ปี โดยทั้งหมดต้องถูกฝังกลบในภาวะที่มีจุลินทรีย์ ไม่มีออกซิเจน และอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม หรือหากไม่ฝังกลบก็สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และยังเปิดมุมมองให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกเองก็พยายามหาทางออกด้วยการลดการใช้พลาสติกเกิดใหม่ ใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพยายามคัดแยกพลาสติกที่ใช้แล้วมาหลอมใหม่ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากพลาสติก
ทางฝั่งด้านนักวิชาการอย่าง ผศ.นภดล สังวาลเพ็ชร จาก Silo@ssru และ ดร.ปรียานุช สีโชละ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ในฐานะนักวิชาการซึ่งทำงานวิจัยและพัฒนาวัสดุ สิ่งที่ต้องทำคือปลูกฝังให้ชุมชนเห็นคุณค่าของวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และเมื่อชุมชนเปิดใจเห็นประโยชน์จากสิ่งที่เขามีอยู่ จะเกิดกระบวนการทำงานร่วมกัน โดยนักวิชาการต้องคอยสนับสนุนให้ชุมชนต่อยอดได้ และมีเอกชนเข้ามารับซื้อในราคาที่ชุมชนอยู่ได้และบริษัทอยู่ได้ หากมีการทำงานร่วมกันแบบครบวงจร นวัตกรรมที่จะไม่อยู่แค่บนหิ้ง แต่จะเป็นนวัตกรรมขึ้นห้างได้
“Pack to the Future บรรจุภัณฑ์สู่อนาคตที่ยั่งยืน” จัดแสดงไปถึง 20 สิงหาคม 2566 ใครที่สนใจเรื่องราวของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือผู้ประกอบการที่มองหาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองเซฟโลกไปด้วยได้ สามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ ห้อง Material & Design Innovation Center (MDIC) ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC ไปรษณีย์กลาง บางรัก
ขอบคุณภาพถ่าย: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม:
– www.misc.co.th
– www.environmentalleader.com
– https://packagingoftheworld.com