เมื่อพูดถึงการกินอาหารของเด็กนักเรียนในโรงเรียน หลายคนอาจนึกถึงแค่การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และกินในสัดส่วนที่พอเหมาะเพื่อการเจริญเติบโตที่สมวัย แต่จริงๆ แล้ว อาหารที่พวกเด็กๆ ได้รับในแต่ละมื้อ อาจมีความสำคัญ และส่งผลต่อสิ่งต่างๆ มากกว่าที่เราคิด
สารปนเปื้อนในอาหารของเด็กๆ
จากการนำเสนอของมูลนิธิศึกษาไทยในสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2561 พบว่า ผักและผลไม้ในจานอาหารของเด็กนักเรียนตามโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 63% ไม่ปลอดภัย จากตัวเลขนี้ กลุ่ม THAI-PAN ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลฯ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ว่า ในจานอาหารของเด็กๆ มีสารปนเปื้อนหลักๆ 2 ชนิด ที่อยู่ในอัตราส่วนเกินกว่าที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO กำหนด ได้แก่ พาราควอต และ คลอไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรไทยใช้มามากกว่า 50 ปีแล้ว ตั้งแต่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายใน พ.ศ. 2535
สาเหตุที่เกษตรกรไทยนำเจ้าสารเคมีทั้งสองตัวนี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย ก็เพราะมันออกฤทธิ์ครอบจักรวาล กำจัดศัตรูพืชได้สารพัด เช่น แมลงปากดูด แมลงปากกัด ฯลฯ ทำให้ลดต้นทุนเรื่องค่าคัดกรองผลผลิต และค่าแรงที่ใช้เพื่อการดูแลผลผลิตไปได้มากนั่นเอง
คลอไพริฟอส อาจส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ และความฉลาด !?
จากการประชุมใน พ.ศ. 2542 ระหว่าง FAO และ WHO ได้ข้อสรุปว่า ทั้งพาราควอต และ คลอไพริฟอส โดยเฉลี่ยแล้วจะแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายเพียง 0.25% ของจำนวนที่ใช้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อหารเฉลี่ยความเข้มข้นที่ต้องใช้ต่อหนึ่งไร่ของพืชจำพวก คะน้า บรอคโคลี่ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ ถือว่าอยู่ในปริมาณที่ไม่มาก เมื่อเป็นอย่างนั้น เหล่าเกษตรกรจึงเห็นว่า สารเคมีทั้งสองตัวไม่ได้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กๆ แต่อย่างใด และเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการออก พ.ร.บ. ห้ามใช้สารเคมีทั้งสองนี้ออกไปก่อน จนกว่า WHO จะสามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบร้ายแรงที่สารเคมีดังกล่าวมีต่อร่างกายได้
แต่ล่าสุด Carol Kelly แห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ได้รายงานผลร้ายจากการติดตามสำรวจเด็กที่อยู่ในเขตเมืองกว่า 40 คน ซึ่งแครอลพบว่า เมื่อติดตามเด็กที่ได้รับคลอไพริฟอสปริมาณมากขณะอยู่ในครรภ์ของแม่ในระยะยาว พวกเขาต่างมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ โดยเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่ออายุย่างเข้า 3 ขวบ ซึ่งในรายละเอียด ผลจากการวิจัยบ่งชี้ว่า เด็กกลุ่มนี้ล้วนมีสมาธิจดจ่อน้อยกว่า และยังมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กปกติ หรือเด็กที่ไม่ได้รับสารคลอไพริฟอสขณะอยู่ในครรภ์
และต่อมา เมื่อติดตามผลต่อไปจนพวกเขาอายุครบ 7 ขวบ ผลก็ออกมาตามที่แครอลคาดไว้ คือเด็กกลุ่มที่ได้รับคลอไพริฟอสในปริมาณมากตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ล้วนทำแบบทดสอบ IQ ได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ผลการศึกษาของแครอลสอดคล้องไปกับผลการวิจัยของ กรมวิชาการเกษตรที่เพิ่งได้ข้อสรุปเมื่อ พ.ศ. 2559 ว่าสารเคมีตกค้างที่พบในขี้เทาของทารกมากกว่า 54.7% นั้น อาจส่งผลโดยตรงกับความฉลาด และทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ ในประเทศไทย เพราะโรงเรียนที่มีนักเรียนบริโภคสารเคมีเหล่านี้ในปริมาณมาก ก็จะมีผลการทดสอบ IQ ระดับชั้นประถมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ตามไปด้วย
เกษตรอินทรีย์ ทางเลือกใหม่ของอาหารในโรงเรียน
ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดในเรื่องนี้ จากคำแนะนำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือการให้เด็กๆ ในโรงเรียนบริโภคพืชผักที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์ ตามแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งการเริ่มระบบเกษตรอินทรีย์นั้นทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเกษตรกรในท้องถิ่น อาทิ การปลูกพืชหมุนเวียน หรือการเลือกใช้ปุ๋ยพืชสดแทนสารเคมี หากทำได้ตามที่ระบุในแผนฯ คือสามารถเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในประเทศได้มากขึ้นประมาณ 2.4 เท่า ภายใน พ.ศ. 2564 นอกจากจะช่วยให้นักเรียนกว่า 5.8 ล้านคนใน 900 อำเภอทั่วประเทศ มีพัฒนาการทางสมองที่ดีขึ้นแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังสามารถกลายเป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยลดค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรไปได้ปีละหลายพันล้านบาทอีกด้วย!
และเพราะเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงร่วมกับ สวนเงินมีมา จัด โครงการโรงเรียนเด็กกินผัก เพื่อส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์ และสุขภาวะที่ดีของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ โดยให้เงินสนับสนุนแก่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมด้านอาหารที่ดีแก่เด็กนักเรียน อาทิ ส่งเสริมการปลูกผักผลไม้อินทรีย์เพื่อบริโภคในโรงเรียน หรือจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการกินผักผลไม้อินทรีย์ของเด็กๆ
จากแปลงผักสู่จานข้าว
เพราะเด็กๆ มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน การสร้างปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารสุขภาวะที่เริ่มจากโรงเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เป็นไปได้ยากที่จะทำให้เกิดอาหารปลอดภัยหรือได้รับประทานพืชผักที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์ เพราะงบประมาณที่กำจัด ทำให้บางโรงเรียนยังต้องอาศัยผักผลไม้ที่ปลูกโดยใช้สารเคมีซึ่งมีราคาไม่สูงตามท้องตลาด การปลูกผักเพื่อบริโภคเองในโรงเรียนจึงกลายเป็นคำตอบของโจทย์ครั้งนี้ “โครงการของเรามีจุดประสงค์หลักๆ ก็คือทำยังไงให้เด็กได้กินผักผลไม้ที่ดีและปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งเริ่มจากสอนให้เขาได้รู้จักผักชนิดแต่ละชนิด ให้เขาได้ปลูก แล้วสุดท้ายเชิญชวนให้เขามากินผักที่เขาปลูกเอง” คุณเลย์ นฤมล กลิ่นด้วง ผู้ประสานงานของโครงการเล่าถึงที่มา
ในปี 2561 โครงการโรงเรียนเด็กกินผัก มีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 30 โรงเรียน ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด “ส่วนใหญ่เราก็เจอโรงเรียนที่เขาปลูกผักเองอยู่แล้ว เช่นโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนศาสตร์พระราชา แต่ว่าปลูกเพื่อเป็นกระบวนการการเรียนรู้ของเด็กๆ เราจึงเข้าไปเสริมส่วนที่ปลูกผักให้ปลอดภัย แต่ในบางโรงเรียนไม่มีพื้นที่มากพอในการปลูกผักเพื่อบริโภค เช่นโรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็ต้องคิดว่าเราควรทำกิจกรรมอะไรเสริม สามารถบูรณาการกับแต่ละรายวิชาได้ไหม ซึ่งเรามีโมเดลกิจกรรมหลายรูปแบบมาก”
ทั้ง 30 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับทุนสนับสนุนโรงเรียนละ 20,000 – 25,000 บาท ในการบริหารจัดการโครงการเพื่อก่อให้เกิดการสร้างปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารสุขภาวะ “แต่ละโรงเรียนจะได้รับอิสระในการบริหารจัดการงบก้อนนี้ ซึ่งทุกโรงเรียนจะต้องทำรายงานมาส่งเรา บางโรงเรียนก็จัดทำสื่อ บางโรงเรียนนำไปพัฒนาแปลงผักสู่จานข้าวของน้องๆ บางโรงเรียนนำไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นองค์ความรู้เสริมของเด็กๆ เช่นการพาเด็กๆ ไปดูสวนผักอื่นๆ หรือว่าพาวิทยากรมาสอนทำอาหารให้กับน้องๆ นอกจากนี้ทางโครงการยังต้องลงเยี่ยมพื้นที่โรงเรียนบ่อยๆ เพื่อให้คำแนะนำหรือเสริมองค์ความรู้ต่างๆ และมีการจัดกิจกรรมส่วนกลางเช่นการเชิญคุณครูให้มาร่วมทำกิจกรรมกับเราที่บ้านเจ้าชายผักตรงลาดพร้าว รวมถึงหาวิทยากรลงไปตามโรงเรียนเพื่อจัดกิจกรรมให้น้องๆ โดยทุกกิจกรรมเราจะดีไซน์ตามโรงเรียน เพราะในทุกโรงเรียนก็จะมีความแตกต่างกันไป เราก็ต้องหากิจกรรมที่เหมาะสมกับโรงเรียนนั้นๆ”
30 ต้นแบบโรงเรียนเด็กกินผัก
คุณเลย์บอกว่าในระยะเวลาเพียงไม่นาน ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆโรงเรียนที่เริ่มโครงการ “อย่างเช่นกลุ่มโรงเรียนในฉะเชิงเทราที่นอกจากปลูกผักในโรงเรียนเองแล้วยังนำมาประกอบอาหารด้วยเลย หรือในบางโรงเรียนมีการพูดคุยกับผู้ปกครองว่าผู้ปกครองคนไหนปลูกผักอยู่ก็สามารถนำมาส่งที่โรงเรียนได้ เพราะเขาก็จะไว้ใจว่าผักที่ทำมาให้เด็กๆ นั้นพ่อแม่เด็กๆ ทำเองเขาก็จะไม่ใส่สารเคมีหรือใส่ยามาให้ลูกกินอยู่แล้ว บางโรงเรียนการนำงบไปสนับสนุนต่อยอดให้กับน้องๆ อย่างการให้น้องเก็บผักมาขายที่โรงครัวของโรงเรียน แทนที่จะต้องซื้อวัตถุดิบในตลาด”
การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ 30 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้เท่านั้น ทางโครงการโรงเรียนกินผักยังต้องการต่อยอดขยายโมเดลการสร้างมื้ออาหารปลอดภัยไปสู่โรงเรียนรอบข้าง “เราอยากทำให้มันยั่งยืน ซึ่งเราก็มีแนวคิดกันต่อไปว่าใน 30 โรงเรียนนี้ โรงเรียนไหนที่เข้าร่วมกับเราแล้วทำได้ดี น่าชื่นชมเราก็จะให้เขาเป็นโรงเรียนต้นแบบในปีถัดๆ ไป แล้วเราจะขยายไปรอบๆ ให้เขาเป็นพี่เลี้ยงขยายไปโซนใกล้ๆ กับโรงเรียนเขา เพราะแต่ละโรงเรียนโดดเด่นไม่เหมือนกัน บางโรงเรียนก็เด่นเรื่องการบูรณาการรายวิชา บางโรงเรียนเด่นเรื่องการทำอาหาร เราก็จะให้เขาเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละเรื่อง”
เด็กไทยสุขภาพดี ต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากทั้งโรงเรียนและชุมชน
ไม่เพียงแค่มื้ออาหารกลางวันภายในโรงเรียน แต่อาหารมื้ออื่นๆ ที่บ้านก็เป็นเรื่องสำคัญ “นอกจากเข้าไปเสริมเรื่องการปลูกผักให้ปลอดภัย เรายังต้องการให้เขาตระหนักถึงคุณค่าของอาหาร ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้กินผักเพิ่มมากขึ้น ทั้งมื้อเช้า กลางวัน แล้วก็เย็น เราจะทำงานกับโรงเรียนด้วย แล้วให้โรงเรียนทำงานต่อผู้ปกครองอีกทีหนึ่ง เพราะผู้ปกครองบางคนไม่กินผัก ลูกๆ ก็ไม่ได้กินผักไปด้วย เราก็ต้องให้เขาเปลี่ยนทัศนคติเรื่องอาหารของตัวเองด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้ประกอบอาหารที่มีผักสำหรับลูกด้วยด้วยในแต่ละมื้อ หรือให้ข้อมูลเรื่องสารตกค้างของอาหารทั่วไปที่มีอยู่ในทุกวันนี้ เช่นอาหารทอด อาหารมัน อาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ซึ่งเราจะมีวิทยากรที่ให้ความรู้ไปด้วย นอกจากเราก็พยายามอยากจะทำงานร่วมกับชุมชน เราไปเจอบางโรงเรียน ชุมชนรอบๆ ก็ปลูกผักนะ แต่เป็นผักเคมี เราก็เลยมีโจทย์เหมือนกันว่าทำอย่างไรให้แปลงผักเหล่านี้ปลอดภัย ส่งเข้าโรงเรียนให้น้องได้ไหม แต่ก็ยังเป็นโจทย์สำหรับเรา”
แน่นอนว่าการทำอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในปัจจุบันเราต้องย้อนมองกลับไปว่าอาหารที่เราทานนั้นปรุงด้วยอะไร มีแหล่งที่มาจากไหน เพราะทุกขั้นตอนของการได้มาซึ่งอาหารหนึ่งจานนั้นสร้างผลกระทบมากมาย การปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักคุณค่า รู้จักที่มาของอาหารนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทั้งหมดนั้นต้องทำร่วมกันทั้งโรงเรียน บ้าน และชุมชนนั่นเอง
เรื่อง: พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช และ ชาลิสา เมธานุภาพ
ภาพประกอบ: Paperis
ภาพถ่าย: เครือข่ายโครงการโรงเรียนเด็กกินผัก