ไม่ได้มาชวนร้องเพลงเพื่อนสนิท แต่ G101 กลับมาคราวนี้ อยากชวนมาตีสนิทกับคำว่า ‘ไมล์อาหาร’ ที่ถ้าเหล่านักช้อปใส่ใจ คิดก่อนซื้อ ไม่มองข้าม จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้โลกได้อีกแยะ!

เรื่องของเรื่องก็คือ วัตถุดิบอย่างผักผลไม้ที่พวกเราเอื้อมมือหยิบคว้ากันได้ง่าย ๆ ในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต บ้างปลูกในไทย บ้างนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้มีแค่ต้นทุนค่าขนส่งที่สะท้อนออกมาชัด ๆ ในราคาขาย แต่ยังมีต้นทุนที่ผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ได้ นั่นก็คือ ‘ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง’ ของอาหารที่ขนส่งมาไกล ซึ่งวัดได้ง่าย ๆ จากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการขนส่ง

ในวันที่โลกเจอสภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโหมกระหน่ำมากขึ้นทุกปี ประเด็นไมล์อาหาร หรือ Food Miles จึงเป็นเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวที่เราต้องคิดให้มากขึ้น เพราะการหันมาเลือกซื้อวัตถุดิบท้องถิ่น แทนที่จะซื้อวัตถุดิบชนิดเดียวกันที่ส่งตรงมาจากแดนไกล อาจเป็นการกระทำเล็ก ๆ ที่ส่งผลกับโลกกว่าที่คิด

ไปลงทะเบียนเรียนเรื่องนี้ ผ่านอะโวคาโดกัน!

ไมล์อาหาร คืออะไร

นิยามแบบสั้น ๆ ของ Food Miles หรือ ไมล์อาหาร คือระยะทางที่อาหารเดินทางจากแหล่งผลิตถึงผู้บริโภค
ฟังดูอาจเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ถ้าจะซีเรียสจริง ๆ แล้วต้องนับย้อนไปเริ่มต้นตั้งแต่ตอนขนส่งวัสดุที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์นั้น ๆ จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ใช่การวัดแค่เรื่องระยะทาง แต่ยังรวมถึงน้ำหนักหรือปริมาณอาหารที่ขนส่ง วัดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการขนส่ง หรือวัดจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกิดจากการขนส่งอาหาร

โดยตัวเลขของระยะที่อาหารเดินทางนี้ จะถูกนำมาเพื่อใช้วัดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างคาร์บอนฟุตปริ้นต์ของอาหาร ฯลฯ

ถ้าบอกว่า ‘ไมล์อาหาร’ สัมพันธ์กับการขนส่งและการใช้พลังงาน ผู้บริโภคก็ควรจะรับรู้ได้จากราคาของสินค้า ถ้าอันไหนแพงกว่าก็จะแปลได้ว่ามันต้องเดินทางมาไกลกว่าใช่ไหม แต่ในปัจจุบันนี้ การแข่งขันของตลาดสมบูรณ์ทำให้ราคาของเหล่าวัตถุดิบที่มาจากแดนไกล อาจลดลงมาใกล้เคียงกันกับวัตถุดิบท้องถิ่นได้ จนกลายเป็นว่าพวกเราแทบไม่ค่อยรับรู้ถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงของอาหารที่ขนส่งมาไกล จนอาจทำให้เผลอหยิบสินค้าที่ดูน่ากิน ราคาดี โดยไม่ล่วงรู้ที่มาของอาหารนั้น ๆ กันได้แบบง่าย ๆ เลย และนั่นแหละก็คือปัญหา

อาหารเดินทางไกล-ใกล้ เกี่ยวอะไรกับผู้บริโภค

นักวิจัยประเมินว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งอาหาร คิดเป็นประมาณ 6% ของทั้งหมดทั่วโลก หลังจากที่พบว่ามีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 3 พันล้านตัน ในการขนส่งอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์ในแต่ละปี

อ่านตัวเลขแล้วสะเทือนใช่ไหม แต่จะสะเทือนกว่านั้นเพราะในงานวิจัยยังบอกด้วยว่าจากการวิเคราะห์อาหาร 37 ประเภท จาก 74 ประเทศ พบว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งอาหารมากถึง 46% แต่เป็นเพียง 12.5% ของประชากรโลก!

ไม่ได้ชวนดราม่า แต่งานวิจัยนี้สรุปให้ว่าอาจเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในบางประเทศมีความต้องการอาหารที่ไม่ตรงตามฤดูกาลตลอดทั้งปี จึงจำเป็นต้องขนส่งมาจากที่อื่น ดังนั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้นี่แหละคือความหวังสำคัญของสิ่งแวดล้อมโลก ถ้าพวกเขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็ก ๆ แทนที่จะซื้อวัตถุดิบเดินทางไกล แล้วหันมาเลือกวัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาลได้ ก็จะช่วยลดอุปสงค์หรือความต้องการของตลาดลงได้แน่ ๆ เช่นเดียวกันกับผู้บริโภคในไทยอย่างเรา

ยิ่งไกล ยิ่งเจ็บ
เพราะยิ่งไกล โอกาสสร้างคาร์บอนยิ่งเยอะ

ตัดภาพกลับมาที่บริบทไทย เราลองยกตัวอย่างวัตถุดิบยอดฮิตของบ้านเราตอนนี้ได้แก่ อะโวคาโด ซึ่งในท้องตลาดก็มีให้เลือกซื้อหลากหลายพันธุ์ โดยลองเอาที่มาของพันธุ์อะโวคาโดยอดฮิต ปลูกที่เมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ไปพิมพ์ค้นหาระยะทางที่ foodmiles.com ดู

ระยะทางของอะโวคาโด 1 ลูก ที่เดินทางจากเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ สู่กรุงเทพมหานคร = 9,744 กิโลเมตร

นับเฉพาะแค่การขนส่งโดยยานพาหนะหลายแบบ สร้างคาร์บอนไปดังนี้

  • 2,180 Kg. CO2 หรือ 595 กิโลกรัมคาร์บอน โดยเครื่องบิน
  • 1,756 Kg. CO2 หรือ 479 กิโลกรัมคาร์บอน โดยรถยนต์
  • 606 Kg. CO2 หรือ 165 กิโลกรัมคาร์บอน โดยรถไฟ

จะเห็นว่า ด้วยระยะทางที่ไกล จะมีโอกาสให้อะโวคาโดนั้นเดินทางด้วยวิธีการที่หลากหลายเพื่อความรวดเร็วในการขนส่ง ซึ่งยิ่งสร้างคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศของโลกได้มากขึ้นเท่านั้น หรือต่อให้เลือกวิธีขนส่งที่สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุดอย่างรถไฟ ก็ยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบจากการขนส่งอื่น ๆ ที่ตามมา

ไกลแค่ไหนคือใกล้?
แล้วเลือกซื้อวัตถุดิบระยะใกล้แค่ไหน ถึงจะดี

ซื้อวัตถุดิบท้องถิ่นคือกุญแจสำคัญ!
ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนผู้ปลูกในท้องถิ่น เราแนะนำให้มองหาตลาดใกล้บ้านที่มีผู้ปลูกในท้องถิ่นแถวบ้านเรามาขายจริง ๆ แต่ถ้าหาไม่ได้ หรือถนนใกล้บ้านมีแต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้พยายามเลือกซื้อวัตถุดิบที่ปลูกได้ในประเทศเราก่อน เพื่อสร้างแนวร่วมของการบริโภคอาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่น ภายใต้นโยบายที่ทั่วโลกรณรงค์และทำกันคือ ‘Eating locally and thinking globally’

ยกตัวอย่าง อะโวคาโด ประเทศไทยเราเองก็มีการส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาปลูกมากขึ้น แถมยังมีให้เลือกหลากหลายสายพันธุ์ ชวนนักช้อปลองขยันพลิกฉลากหน่อย ดูป้ายที่ติดอยู่บนเชลฟ์กันมากขึ้น จะเห็นเลยว่าแต่ละเจ้าที่วางขายอยู่เขาก็มีระบุไปถึงจังหวัดที่ปลูกเลยล่ะ ทีนี้ถ้าอยากจะเนิร์ด ก็วัดระยะทางจากบ้านเราไปแต่ละจังหวัดที่ปลูกกันได้ง่าย ๆ เราเองก็ลองวัดเหมือนกัน

  • อำเภอพบพระ จังหวัดตาก > กรุงเทพฯ ระยะทาง 426 กิโลเมตร
  • อำเภอปางอุ๋ง จังหวัดเชียงใหม่ > กรุงเทพฯ ระยะทาง 696 กิโลเมตร
  • อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย > กรุงเทพฯ ระยะทาง 520 กิโลเมตร
  • อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ > กรุงเทพฯ ระยะทาง 346 กิโลเมตร
  • อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา > กรุงเทพฯ ระยะทาง 259 กิโลเมตร
  • อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ > กรุงเทพฯ ระยะทาง 342 กิโลเมตร (กระซิบบอกว่า ที่นี่เป็นที่เดียวที่ปลูกแบบอินทรีย์พันธุ์แท้และรักษาป่าด้วยนะ)

ถ้าจะเลือกแบบรักโลกมาก ๆ ก็ต้องเลือกอะโวคาโดปากช่อง เพราะใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด แต่เอาจริง ๆ ไม่ต้องซีเรียสขั้นนั้นก็ได้ ขอแค่คุณเข้าใจคอนเซปต์นี้ แล้วใส่ใจกับการเลือกวัตถุดิบใกล้บ้านเรามากขึ้น แทนที่จะซื้อของแบบเดียวกันที่เดินทางมาไกล แค่นี้ก็ช่วยโลกได้มาก แถมยังได้อุดหนุนเกษตรกรไทยให้มีรายได้สม่ำเสมออีกด้วย

ทราบแล้วเปลี่ยน! เปลี่ยนมาซื้อวัตถุดิบเดินทางใกล้ ในท้องถิ่นกัน

ที่มาข้อมูล:
– www.theguardian.com/environment/2022/jun/21/climate-impact-of-food-miles-three-times-greater-than-previously-believed-study-finds
– https://foodmiles.com/results.php
– www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_48959