สิ่งที่ทำให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาในงาน Greenery Talk เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาต้องน้ำตาคลอเบ้าไปตามๆ กัน ไม่ได้เกิดจากแค่แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของนักธุรกิจ เกษตรกร เชฟ หรืออดีตมนุษย์เงินเดือนที่หันมาสร้างความเคลื่อนไหวเล็กๆ ให้วงการอาหาร แต่สิ่งที่พวกเขาทั้ง 10 เล่า เต็มเปี่ยมไปด้วยประเด็นเกี่ยวกับการ ‘กิน’ ที่ทั้งกระแทกและกระทบจิตใจชีวิตคนธรรมดาอย่างเราๆ ทุกวันนี้เหลือเกิน

“เรารู้จักหมอ หมอฟัน ช่างทำผม พ่อค้า แม่ค้า แต่มีสักกี่คนที่รู้จักเกษตรกร คนผลิตอาหารให้เรา ผมว่ามันแปลก ทั้งที่จริงๆ เราทุกคนสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้บริโภคที่ตื่นรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

 

โอ-อรุษ นวราช

นี่คือความคิดที่เปลี่ยนชีวิต กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) ผู้บุกเบิกโครงการ ‘สามพรานโมเดล’ หลังจากที่อดีตมนุษย์เงินเดือนลาออกมาสานต่อกิจการโรงแรมของครอบครัวในฐานะทายาท โอริเริ่มนำผักอินทรีย์มาขายในโรงแรมและได้พบปัญหาจริงๆ ของระบบอาหาร เขาตระหนักว่าทางออกเดียวของการเอาสารเคมีออกจากระบบ คือการที่ทุกคนต้องเข้าใจปัญหาด้วยการพาตัวเองเข้าไปรู้จักกับเกษตรกรผู้ผลิตอาหารให้เรากิน แล้วเราก็จะลุกขึ้นมาเป็นผู้บริโภคที่ตื่นรู้ มองเห็นชีวิตอย่างเป็นวงจร และกลายเป็นหนึ่งในคนตัวเล็กๆ ที่แก้ปัญหาใหญ่ในสังคมผ่านการกินได้

“เกษตรกรไม่มีความภูมิใจในการผลิต เพราะถูกกดขี่ ถูกดูถูก เหยียบย่ำ เราต้องกลับมาผลิตแบบเคมีเพราะคนบริโภคแต่แบบนี้ อ้อมอยากให้ทุกคนหันมาช่วยจับมือเกษตรกร ช่วยให้เขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้มีชีวิตในแบบที่เขาเลือก”

 

อ้อม-ปาณิศา อุปฮาด

หญิงแกร่งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ‘ตลาดสีเขียว ขอนแก่น’ เล่าถึงชีวิตของเธอที่ต้องหนีความกดดันในสังคมกรุงเทพฯ กลับไปเป็นชาวนา แล้วกลับพบปัญหาของชาวนาตัวจริงที่หนักหนากว่าเดิม สิ่งที่ทำให้เหล่าคนฟังต้องน้ำตาคลอคือเรื่องราวของเกษตรกรรายย่อยที่มาขายผักอินทรีย์ตามตลาดแล้วถูกกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม ป้าขายกะเพรากระสอบใหญ่ที่ต้องขายในราคาแค่ 90 บาท จนสุดท้ายก็ขาดทั้งเงินและความภาคภูมิใจที่จะปลูกผักที่ดี เลยต้องกลับไปฉีดยาผักเหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งเรื่องจริงที่น่าเศร้าของผักคะน้าในระบบที่ถูกฉีดยามากถึง 14 ครั้งก่อนถึงมือผู้บริโภค เพียงเพราะผู้บริโภคอย่างเราเองนี่แหละที่ไม่เลือกกิน ทั้งที่จริงๆ การเลือกกินของเราทุกคนนั้นส่งผลต่อชีวิตเกษตรกร และเปลี่ยนให้โลกของเราเป็นโลกที่เราฝันถึงได้

“ใครจะคิดว่ากาแฟ 1 แก้ว ช่วยรักษาป่าได้ อาหารทุกอย่างก็มีเรื่องราวแบบนี้เช่นกัน ผมคิดว่านี่คือหน้าที่ของผู้บริโภค ว่าเราจะเลือกอะไร”

 

หมีพูห์-ธนภณ เศรษฐบุตร

อดีตหนุ่มออฟฟิศที่หลงรักการทำงานเพื่อสังคมเล่าว่า การที่เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจการเพื่อสังคมอย่างนกฮูกกรุ๊ป และร่วมผลักดันให้เกิดโปรเจกต์ ‘กาแฟมูเซอ’ ทำให้เขาได้เห็นว่าวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติของชาวมูเซอนั้นแก้ปัญหาสังคมได้ เห็นวงจรของการเกษตรแบบอินทรีย์ที่ไม่ได้ดีแค่กับผู้บริโภค แต่ยังทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ สุขภาพแข็งแรง และทำให้พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่จะตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งก่อนกินอาหาร ว่าเรากำลังเลือกกินอะไร และสิ่งที่เรากินนั้นเปลี่ยนแปลงสังคมหรือธรรมชาติได้อย่างไร

“คนส่วนใหญ่สอนลูกว่า กินปลาแล้วฉลาด แต่ไม่รู้ว่า ที่จริงแล้วสิ่งที่เรายื่นให้ลูกคือยาพิษรึเปล่า และมันทำลายชีวิตชาวประมงไปขนาดไหน”

 

ตุ๊ก-เสาวลักษณ์ ประทุมทอง

หญิงสาวเจ้าของ ‘คนจับปลา’ หรือ ‘Fisherfolk’ กิจการเพื่อสังคมที่จำหน่ายอาหารทะเลส่งตรงจากชาวประมงพื้นบ้านถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล และทำให้คนฟังได้รู้ว่าอาหารทะเลในท้องตลาดไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด แต่กลับเต็มไปด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายไม่แพ้ยาพิษ อาทิ ฟอร์มาลีน สารปนเปื้อนต่างๆ ที่สำคัญ ทำให้เราได้ตระหนักว่าการ ‘เลือก’ กินกุ้งหอยปูปลาของเรา ส่งผลต่อโลกและตัวเรามากขนาดไหน ถ้าสังคมคิดว่าการกินสารเคมีไม่เป็นอะไรจะส่งผลกระทบต่อตัวเราและสังคมมากมายไปกว่าแค่เรื่องรสชาติแน่นอน

“เวลาเราเลือกแฟน เราเลือกเขาเพราะเราชอบและเห็นคุณค่าของตัวเขา ตัวเขาก็ได้รับคุณค่าและความภูมิใจในตัวเองกลับไปด้วย เกษตรกรก็เช่นกัน”

 

แอคชั่น-อนุกูล ทรายเพชร

หนุ่มสุรินทร์ผู้ริเริ่มแอพพลิเคชั่นแพลตฟอร์ม ‘FolkRice’ เล่าเรื่องราวการฝ่าฟันอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิต เข้ามากรุงเทพฯ จนได้ทุนศึกษาด้าน folklore หรือเรื่องเล่า วิถีชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าการรู้จักสาแหรกของข้าวสำคัญยังไง และการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้บริโภคอย่างเราไม่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาเกษตรกร ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ชาวนายังจนอยู่ เพราะแม้ว่าทุกคนจะบอกว่าข้าวมีคุณค่า แต่น้อยคนมากที่จะเห็นคุณค่าและเลือกที่จะกินข้าวที่ดีจริงๆ

“เราเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่านการกิน เราพาตัวเองไปถึงจุดที่หายป่วย สดชื่น แจ่มใส สมองลื่น หน้าใส มีออร่า เราก็คิดได้ว่าแล้วเราโง่ใช้ชีวิตแบบเดิมไปได้ยังไง”

 

จัง-ศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์

นักออกแบบสาวเจ้าของกิจการน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ ‘ปลูกปั่น’ เล่าชีวิตของเธอที่เคยเป็นฟรีแลนซ์ที่ปั่นงานจนป่วยหนัก ทำงานจนลืมกินลืมนอนเป็นสิบปี ทำให้หลายโรครุมเร้าทั้งภูมิแพ้ ลมพิษเรื้อรัง กระดูข้อสะโพกเสื่อม จนเธอไม่มีทางเลือกในชีวิต ต้องหักดิบชีวิตตัวเองมาพักผ่อนและเปลี่ยนแปลงการกินแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือเพียงเธอเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเคร่งครัดมาได้แค่ 6 สัปดาห์ ร่างกายของเธอก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจนคนรอบตัวถึงกับทักว่าไปทำอะไรมา เธอจึงได้ข้อคิดที่มาแบ่งปันกับคนฟังว่า เราไม่ควรทำอะไรแบบไม่รู้อนาคต แต่เราควรทำ 1 วันของเราให้ดีและสมบูรณ์ที่สุด แล้วเราจะมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีได้โดยไม่ต้องรอวันพรุ่งนี้

“การหยอดเมล็ดพันธุ์ลงผืนดิน ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนกับเงินในธนาคาร เรามาหยอดเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตกันเถอะครับ”

 

ปรินซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร

เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ผู้ได้รับฉายา ‘เจ้าชายผัก’ มากว่าสิบปี เล่าให้ฟังเรื่องสังคมสีเขียวที่เขาค้นพบหลังจากเริ่มลงมือปลูกผัก จากเมื่อก่อนที่คนสนใจการปลูกผักเป็นเหล่าแม่บ้านหรือผู้สูงอายุ ทุกวันนี้พันธมิตรของเขาล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจสุขภาพและความสุขของชีวิต อาทิ หญิงสาวที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนสวนเก๋ในบ้านให้เป็นแปลงผักสวนครัว ชายหนุ่มที่เปลี่ยนบ้านตึกแถวให้กลายเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คุณแม่ยังสาวที่หันมาปลูกผักดีให้ลูกกิน ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่เหล่านี้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดกลุ่ม Heart Core Organic เป็นสังคมแบ่งปัน ที่นำไปสู่เศรษฐกิจแบ่งปัน และแนวคิดเหล่านี้เองที่จะพาเราไปสู่โลกที่ดีขึ้นได้

“หมื่นกว่าปีที่ผ่านมาเราใช้ธรรมชาติอย่างสมดุล แต่ปัจจุบันเราเปลี่ยนการบริโภคไปเยอะจนเสียสมดุล อยากให้ทุกคนกลับไปคิดดูว่าเราจะเอาความสนใจ ความชอบของเราต่อเรื่องราวหมื่นปีที่ผ่านมา แล้วนำไปพัฒนาโลกในอีกหมื่นปีข้างหน้าได้ยังไง”

 

กาย ไล มิตรวิจารณ์

หนุ่มนักมนุษยวิทยาทางอาหาร ผู้ก่อตั้ง ‘FACT Collective’ ชวนทุกคนตั้งคำถามเรื่องอาหารใกล้ตัวที่เราไม่เคยคิด ไม่ว่าจะเป็น แกงเขียวหวานมาจากไหน พริกมาจากไหน เมื่อก่อนคนไทยกินอะไรแทนพริก ขันโตกในอดีตไม่ได้มากับงานรื่นเริงอย่างทุกวันนี้ และเรื่องราวเล็กๆ อีกมากมายที่สะท้อนว่ามนุษย์เราเกี่ยวพันกับธรรมชาติมาตลอด และมนุษย์เรานี่เองที่เป็นคนนำธรรมชาติมาเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้และบริโภคตั้งแต่อดีต แต่เมื่อก่อนเราใช้ธรรมชาติอย่างสมดุลมากกว่านี้ หน้าที่ของเราทุกวันนี้คือการกลับไปดูว่าองค์ความรู้ที่ผ่านมาในอดีต มีอะไรที่ควรเก็บไว้เพื่อนำมาพัฒนาเราให้เดินต่อไปข้างหน้าได้บ้าง

“slow food คือการพิจารณาอาหารที่เรากินว่ามาจากไหน เราอยากให้คนตระหนักเรื่องนี้ ไม่อยากให้คนป่วยแล้วค่อยมาสนใจ”

 

เอ-กฤตยา สัณฑมาศ

สาวเอเจนซี่โฆษณา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘Thank God It’s Organic’ เล่าเรื่องชีวิตของเธอที่ใช้แบบผิดๆ จนป่วยทำให้ต้องหันมาลงลึกเรื่องอาหารการกินและได้ค้นพบความจริงที่น่ากลัวของอาหารที่คนทั่วไปกินอยู่ เธอจึงหันมาร่วมมือกับเพื่อนทำธุรกิจส่งปิ่นโตอาหารออร์แกนิกถึงบ้าน เธอบอกว่าทุกวันนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านมักเป็นคนป่วยหรือไม่ก็เป็นแพทย์ที่ใส่ใจสุขภาพ แต่ความจริงแล้วเราควรตระหนักเรื่องอาหารตั้งแต่ตอนที่เรายังแข็งแรง ไม่ใช่รอให้ป่วยเสียก่อนค่อยมาดูแลสุขภาพ อย่างที่เธอเคยเป็นมาก่อน

 

“They are what you eat. ถึงเวลาที่เราต้องกินเพื่อคนอื่น กินเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่เขาอยากทำออร์แกนิกทำงานและมีชีวิตต่อไปได้ มันคือการกินเพื่อสร้างคุณค่า”

 

โบ-ดวงพร ทรงวิศวะ

เชฟหญิงที่ดีที่สุดในเอเชีย เจ้าของร้านอาหารไทย ‘โบ.ลาน’ เริ่มต้นจากการชวนคนฟังคุยเรื่องง่ายๆ อย่างเช่น เราควรกินกะหล่ำปลีฤดูไหน ก่อนจะบอกว่าอาหารทุกคำที่เรากินเข้าไป มีผลกระทบไม่เพียงต่อตัวเราเท่านั้น แต่การกินกะหล่ำปลีผิดฤดูยังเป็นการบังคับให้เกษตรกรปลูกกะหล่ำปลีแบบอัดสารเคมีให้เรากิน มันคือผลกระทบที่วัดค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภคที่เป็นคนตักอาหารเข้าปากตัวเอง เรามีสิทธิ์เลือกที่จะกินอะไรและไม่กินอะไร ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรเลือกกินเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ลุกขึ้นมากินเพื่อสร้างคุณค่าไม่ใช่แค่ต่อตัวเอง แต่คือการกินเพื่อคนอื่น