บนดาดฟ้าของตึกสูงในกรุงเทพ อาจมีอะไรสะดุดตาคุณหลายต่อหลายอย่าง เช่น ความรกร้าง ไร้ระเบียบ หรือบางดาดฟ้าอาจจะทำมุมนั่งพักผ่อนหย่อนใจ และอีกหลายๆ ที่อาจมีเพียงราวตากผ้า ที่ดูราวกับว่านั่นคือหน้าที่เดียวของดาดฟ้ากลางกรุง แต่ถ้าคุณขึ้นไปบนดาดฟ้าของห้างสรรพสินค้าอย่างห้างเซ็นเตอร์วัน ห้างดังย่านอนุสาวรีย์ สิ่งที่จะปรากฏตรงหน้าก็คือฟาร์มผัก และผักต้นอวบใหญ่ในแปลง ที่ยืนต้นเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ที่นี่คือ Bangkok Rooftop Farming (BRF) หรือสวนผักดาดฟ้า ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจริงที่จะทำธุรกิจยั่งยืนของกลุ่มผู้ก่อตั้ง ที่ผสมผสานกันระหว่างสมาชิกรุ่นใหญ่ที่เข้มข้นด้วยประสบการณ์ กับทีมงานรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์เดียวกัน และทีมดังกล่าวก็ประกอบไปด้วย

พร้อมทรัพย์ ซื่อสัตยวงศ์ (ทรัพย์) ฝ่ายกลยุทธ์ สมทรัพย์ รัตนมนตรีชัย (ป้อ) ฝ่ายบัญชีและการเงิน สุขสันต์ เขียนภาพ (สุขสันต์) ฝ่ายการตลาดและควบคุมคุณภาพ อรรถพล นิพัทธ์โรจน์ (ป๋อง) ฝ่ายขาย ธนกร เจียรกมลชื่น ฝ่ายควบคุมการผลิต กฤษฎา น้อยบุดดี (สมาร์ท) ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ปารีณา ประยุกต์วงศ์ (หนู) ฝ่ายบุคคล ที่ลืมไปไม่ได้เลยก็คือ ฝ่ายผลิตที่ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับฟาร์มแทบตลอดเวลา นั่นก็คือ บัวและใบ แก้ววงศา ที่ตลอดเวลาเราเห็นทั้งคู่เดินรดน้ำ เก็บผัก ด้วยความใส่ใจแทบทุกขั้นตอนเพราะนั่นคือผลผลิตแห่งความทุ่มเทของทุกคน

สมาชิกบางคนอาจจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของชาว Greenery. อยู่บ้าง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามาคุยกับกลุ่มคนปลูกผักบนดาดฟ้า หากแต่คราวนี้ มีการเปลี่ยนแปลงของทีมงานและปรับทิศปรับทางของทีมกันใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์และสร้างไดนามิกให้กับทีมมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่า มาแปลงผัก เพื่อซื้อผักปลอดสารพิษ อาจเป็นจุดประสงค์แรกของลูกค้าทุกรายที่แวะเวียนมาเดินชื่นชมแปลงผัก และได้เห็นการเด็ด ตัด คัด ล้าง ผักสดต้นอวบกันเดี๋ยวนั้น แต่ผักสดปลอดสาร อาหารปลอดภัย ไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่คุณจะได้เรียนรู้จากที่นี่ เพราะสิ่งที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือ พวกเขาคือกิจการเพื่อสังคม ที่เชื่อมั่นในการทำธุรกิจที่ยั่งยืนในระบบนิเวศของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และผักในฟาร์มก็เป็นเพียงหนึ่งในผลลัพธ์ที่จับต้องได้

แต่ลึกลงไปกว่านั้น พวกเขากำลังสื่อสารให้พวกเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับ การจัดการขยะ!

Greenery. พาคุณมาเยี่ยมชมฟาร์มผักปลอดสารพิษกลางเมืองใหญ่รอบนี้ เพื่อตั้งวงคุยเกี่ยวกับมุมมองเรื่อง food waste การจัดการขยะเศษอาหาร การทำปุ๋ย ไปจนถึงการทำธุรกิจที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองและผู้อื่นรวมทั้งระบบนิเวศได้ในระยะยาว

ถ้าคุณอ่านบทสัมภาษณ์นี้ไปจนจบ คุณจะเข้าใจว่า พวกเขาไม่ได้มาปลูกผักกันเล่นๆ แต่ผักต้นเล็กๆ นี่แหละ ที่สามารถช่วยโลกเราได้

Bangkok Rooftop Farming ห้องเรียนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน

วันที่เราเข้าไปเยี่ยมชมฟาร์มผักบนดาดฟ้า ทุกคนดูจะง่วนอยู่กับการทำงานตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นรดน้ำต้นไม้ ตัดผัก จัดผักที่เตรียมไว้ให้ลูกค้าที่สั่งจองผักผ่านเพจ Wastegetable ที่เป็นช่องทางการสื่อสารและการจัดจำหน่ายสินค้าสดจากฟาร์ม ลูกค้าที่แวะเวียนมาหอบผักสดๆ กลับไปคนละถุงสองถุง แน่นอนว่าพวกเขาชื่นใจที่ผลผลิตขายดีมีคนสั่งซื้อทุกครั้งที่เปิดขาย เพียงแต่…ผักไม่ใช่สินค้าเพียงอย่างเดียวที่ทุกคนจะซื้อหาได้จากที่นี่

“คนคิดว่าเราแค่ขายผักอย่างเดียวหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ พอร์ตฟอลิโอของบริษัทเรามีหลายอย่าง แน่นอนว่าการขายปลีกหรือการขายผักก็มีอยู่ในนั้นด้วย แต่นอกเหนือจากนั้นเรียกว่าทุกอย่างในฟาร์มสามารถขายได้หมด เช่น ปุ๋ย ต้นอ่อน หรือการเปิดอบรมคอร์สการจัดการฟาร์ม การให้ความรู้เรื่องการเกษตร บริการให้คำปรึกษาและการจัดการฟาร์มบนอาคาร ไปจนถึงการให้คำปรึกษาเรื่องจัดการขยะ

“สิ่งที่เราทำ มันคือเรื่อง circular economy แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเมื่อพูดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน คนก็คิดว่ามันแค่เรื่องการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องของกระบวนการทำงานทั้งหมด loop cycle ของการทำงานตั้งแต่วัตถุดิบ ไปจนถึงการทิ้งของ มันคือการต้องมองว่าทั้งกระบวนการ มีช่องทางไหนที่จะนำของกลับมาใช้ใหม่ได้

“ที่เราทำเรื่อง food waste หรือการจัดการขยะเศษอาหารให้เห็นอย่างทุกวันนี้ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ circular economy ด้วยซ้ำ เพียงแต่มันไปเน้นย้ำในมิติของเรื่อง upcycling หรือการเพิ่มมูลค่าของ food waste ด้วย เช่น ถ้าเราจัดการขยะในฟาร์มของเราได้วันละ 400 กิโลกรัมต่อวัน เราจะได้ปุ๋ยจำนวนมาก มีสินค้ามากขึ้น มีตลาดให้เล่นเยอะกว่านี้ แต่การจะจัดการขยะให้ได้ปริมาณขนาดนั้นเราก็ต้องมีพื้นที่เพียงพอ และมีรูปแบบของการหมักขยะที่มันเหมาะสม มีสุขอนามัยที่ดี เช่น เราต้องการพื้นที่ราวๆ 100 ตารางเมตร เพื่อจัดการขยะได้มากถึง 10 ตัน ถ้าทำกระจายไปในชุมชน เราก็สามารถมีการจัดการขยะได้เพิ่มขึ้นอีกหลายชุมชน มีการทำฟาร์มผักได้มากขึ้น และเราสามารถสร้างงานหรือ green job ได้เป็นจำนวนมาก”

“ใน value chain หรือวงจรของการทำงานเฉพาะเรื่องการจัดการขยะนี่ มันสามารถสร้างงานได้เยอะมาก”

“ตั้งแต่ขั้นตอนการแปลงเศษอาหาร จนกระทั่งทำฟาร์ม ในอนาคตอาจจะมีอาชีพคนทำปุ๋ยมากขึ้น อาชีพการจัดการแยกเศษอาหาร การจัดการดูแลฟาร์ม อาชีพขายผัก ถ้ามีฟาร์มแบบนี้เกิดขึ้นมากๆ เราสามารถสร้างคนคนหนึ่งให้เป็นผู้ประกอบการได้เลย เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการสร้างแค่ลูกน้องมาทำงานให้เรา แต่เราอยากสร้างให้เขาพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าของกิจการได้เลย เพราะมันเป็นอาชีพที่ยั่งยืน”

การจัดการขยะ เรื่องที่หลายคนไม่เข้าใจ (สักที)

อย่างที่เรารู้กันว่า ทุกวันนี้เรากำลังรับมือกับปัญหาการจัดการขยะ ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของกองขยะที่ฟ้องอยู่ตรงหน้าเราและในพื้นที่อื่นๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของวิธีคิดในการจัดการขยะที่หลายคนมักจะคิดว่า ทิ้งแล้วจบ กลบแล้วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรหายไป แต่กลับส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่รู้จบ

“การจัดการขยะ เป็นเรื่องที่หลายคนมองเป็นแค่เรื่องของการย้ายขยะจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งให้พ้นหูพ้นตา แต่หารู้ไม่ว่าทำแบบนั้น ไม่ใช่การจัดการขยะจริงๆ” นี่คือหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดในการที่ต้องสื่อสารให้คนเข้าใจเรื่องของการจัดการขยะ พวกเขาเกริ่น…ในเรื่องที่ต้องคุยกันยาวๆ

“ถ้าจะให้ดี มันต้องเริ่มตั้งแต่คนทิ้งขยะ คนกลางที่นำขยะไปจัดการ แล้วปลายทางขยะนั้นต้องหายไปในทางที่ถูกที่ควร อย่างน้อยก็รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่า ทั้งกระบวนการมันเป็นแค่การนำขยะจากที่หนึ่ง ย้ายไปอีกที่ แล้วมันก็กองสูงขึ้นมาเรื่อยๆ สุดท้ายมันแค่การยัดขยะไว้ใต้พรม แต่มันไม่เคยหายไปไหนเลย

“เท่าที่เราทำงานมา เราพบว่าคนมักจะไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ เช่น พวกเราจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าทุกวันที่ 30 ของทุกเดือน เราสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาวางหน้าบ้านได้ เพราะกทม. จะมีบริการมาจัดเก็บให้ หรือหลายคนไม่เคยรู้เลยว่าตึกแต่ละตึก เขาต้องมีการจ่ายค่าจัดการขยะด้วยเหรอ ความจริงคือทางตึกต่างๆ เขาต้องจ่ายให้ กทม.ในการมาจัดเก็บขยะด้วย เพราะมีพรบ.ว่าด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บรักษาความสะอาด ดังนั้นตึกต่างๆ ต้องเสียเงินให้กทม.ในการจัดการขนขยะไปทิ้งหากคุณมีขยะมากกว่า 1 ตันต่อวัน แปลว่านี่คือการจ่ายเงินเพื่อให้มีคนนำขยะไปทิ้ง


“แล้ววิธีการที่ใช้ทุกวันนี้มันคือการฝังกลบ ซึ่งเป็นวิธีที่เกิดมลพิษ เท่ากับว่าตึกต้องเสียเงินจัดการขยะแล้วยังไม่พอ ยังได้วิธีการจัดการที่ไม่เหมาะสมอีก กับอีกประเด็นคือ เขามองว่าพอเราไปเอาขยะมา ก็เท่ากับเอาทรัพยากรเขามาใช้ฟรีๆ แต่จริงๆ ต้องมองว่า

“ขยะคือสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นก็ควรจัดการให้หมดไปโดยไม่ทำลายธรรมชาติ”

“วิธีการที่เราทำก็คือการช่วยจัดการขยะ ซึ่งถ้ามองดีๆ มันไปมากกว่าแค่การเอาขยะมาปลูกผัก แล้วได้ผักไปกิน แต่เรากำลังช่วยจัดการขยะจากจุดกำเนิด ไม่ทำให้ไปปนเปื้อนกับพลาสติกอื่นๆ จนรีไซเคิลไม่ได้ เรียกว่าเราช่วยไปจัดการตั้งแต่ต้นตอ

“การที่คนยังไม่เข้าใจงานที่เราทำ ก็เป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ต่อไป ต้องหาวิธีสื่อสารยังไงก็ได้ให้คนเข้าใจว่า สิ่งที่เราทำคือวิธีการจัดการขยะในแบบที่เลี้ยงตัวเองได้ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะการแปลงเศษอาหารเป็นปุ๋ย มันคือการดึงคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปสู่ดิน ที่สำคัญงานจัดการขยะของเราในอนาคต เราอาจจะสร้างดรีมทีม แนวร่วมจากคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นคนที่กำลังตกงานจำนวนมาก ให้มีการพัฒนาเพื่อให้พวกเขาเป็นฟันเฟืองสำคัญให้ระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่ภาระของระบบเศรษฐกิจ”

โจทย์ต่อไป ต้องไปให้สุดดาดฟ้า

เมื่อสวนผักดาดฟ้าที่เซ็นเตอร์วัน คือโมเดลต้นแบบที่ทำให้คนเข้าใจการทำงานของพวกเขามากขึ้น แน่นอนว่าการขยับขยาย มองหาพื้นใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการเข้าถึงอาคารใหญ่ๆ อีกหลายๆ แห่งในกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันเลย และแม้จะเข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงกลุ่มคนที่รับฟังแนวคิดในการบริหารจัดการแล้วก็ตาม แต่โจทย์หลักที่ยังปักหลักขวางอยู่ก็คือเรื่องของการตัดสินใจลงมือทำ เหตุผลเพราะยังไม่คิดว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่ใช่เร่งด่วนธรรมดา แต่เร่งด่วนมาก

ถ้าเรามองกันเข้าไปลึกๆ จะพบว่า ขยะเศษอาหารคือตัวการสำคัญที่ทำให้การแยกขยะตัวอื่นๆ ไม่มีประสิทธิภาพ”

“จริงๆ เรื่องการจัดการขยะ มันจำเป็นต้องมีคนมาให้รายละเอียดว่าควรออกแบบพื้นที่จัดการขยะยังไง เช่น ในญี่ปุ่น เขาจะมีที่แยกขยะไว้ชัดเจน เวลาเราไปกินกาแฟ เขาจะแยกที่หนึ่งไว้ให้เราเทน้ำทิ้ง อีกที่ก็ให้เอาไว้ทิ้งแก้วพลาสติกในถัง recycle bin แต่เมืองไทยเราจะเห็นว่า เราโยนทุกอย่างลงไปในถังขยะหมดเลย

“กลุ่มของเราทำเรื่องแยกขยะมาหลายปี เช่น ทำ อนุสาวรีย์ zero waste เราก็เชิญพนักงานทำความสะอาด หรือพนักงานกวาดถนนมาเรียนรู้ เขาก็รู้สึกสั่นสะเทือนเหมือนกันนะ เขาแชร์มุมมองของเขาว่า คนมักจะมีอคติว่า กทม. ไม่แยกขยะ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อประชาชนไม่แยกขยะไว้ก่อน คนเก็บขยะเขาก็เลยต้องค่อยๆ แยกให้ กว่าจะทำเสร็จ รถขยะก็ออกมาช้า โดนคนบ่นอีกว่า ออกมาจากซอยช้า ทำให้ซอยเหม็นไปหมด มันก็เหมือนปัญหาไก่กับไข่ ไม่รู้ว่าปัญหาไหนเกิดก่อนกัน คนไม่แยกขยะจากบ้าน หรือคนเก็บขยะไม่แยก นี่แค่ภาคส่วนของคนทั่วไปเท่านั้นนะ

“ในภาคของธุรกิจ ก็มีอีกเช่นกัน เพราะเขาจะมองว่า ปัญหาเรื่องการจัดการขยะมันก็เป็นแบบนี้แหละ มันจะไปแก้อะไรได้ คือที่ผ่านมาเรามีความรู้มากพอแล้วกับขยะพลาสติก เราถูกปลูกฝังรณรงค์มามาก เรามีทางไปให้ขยะพลาสติก แต่เมื่อเป็นขยะเศษอาหาร มันกลับยังเป็นเรื่องใหม่ คนมักจะคิดว่า จะไปทำอะไรได้ มันก็แค่ขยะเศษอาหาร เราจึงอยากสื่อสารให้รู้ว่า มันมีวิธีจัดการได้นะ ถ้าคุณแยกมาตั้งแต่ต้นให้ได้ และเมื่อห้างเซ็นเตอร์วัน หรือตึกไหนๆ เริ่มทำ คนทั่วไปก็น่าจะเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ของการจัดการขยะเช่นกัน ว่าในครัวเรือนก็ทำได้ ในชุมชนก็ทำได้

 

“จริงๆ ทุกองค์กรระดับประเทศที่เราเข้าไปคุย เขาไม่ได้ปฏิเสธเราเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ แต่เขายังต้องใช้เวลาตัดสินใจ เพราะมันอาจจะมีเรื่องอื่นที่ต้องทำก่อน โดยเฉพาะในบรรยากาศเศรษฐกิจแบบทุกวันนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ง่ายๆ ดังนั้นเราจึงไม่ได้รู้สึกท้อกับปัญหาที่เจอ เพราะเราเห็นว่ามันมีทิศทางที่ดี แล้วหลายๆ แห่งที่เราเข้าไปคุย เขาก็มองว่ามันเป็นโมเดลที่น่าสนใจ และให้เวลาในการรับฟังเรา ซึ่งมันดีมากแล้ว แปลว่าทุกคนกำลังพิจารณามันอยู่ แค่จังหวะเวลามันยังไม่ได้ แต่ถ้าเวลานั้นมาถึง เรามองว่าทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นเอง เรามั่นใจว่าเราอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องแน่นอน แค่มันยังไม่เจอสิ่งที่ทำให้คนตัดสินใจเท่านั้นเอง มันอีกนิดเดียว ซึ่งมันก็เป็นโจทย์ให้เรากลับมาคิดเรื่องการสื่อสารให้ดีมากขึ้นต่อไป เพราะจะได้ช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจเร็วขึ้น”

ธุรกิจที่ยั่งยืนในความหมายของคนรุ่นใหม่

เหตุผลหนึ่งที่ผู้ร่วมก่อตั้ง มาร่วมจับมือสร้างธุรกิจนี้ด้วยกัน นอกจากแต่ละคนจะมีพื้นฐานเดิมที่สนใจเรื่องของการเกษตรกันมาอยู่ก่อนแล้ว ยังเป็นเพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต

“ตอนนี้คนพูดกันบ่อยมากเรื่อง planet people profit พอพูดแบบนี้ สำหรับพวกเรา มันอาจจะบิดทิศทางไปนิดหนึ่ง เพราะคนอาจจะคิดว่าความยั่งยืนมันต้องใส่ใจโลกมากขึ้นหรือเปล่า เพราะเราใส่ใจเรื่อง ‘คน’ และ ‘กำไร’ อยู่แล้ว แต่จริงๆ ความยั่งยืน แก่นของมันคือหมายความว่า ต้องคิดข้ามช็อตไปเลยว่า ทำยังไงให้ธุรกิจอยู่ไปได้ยาวๆ ดังนั้นมันก็เลยเป็นเหตุผลว่าเราต้องแคร์สามเรื่องนั้นนั่นเอง

“ไม่ได้หมายความว่ายั่งยืนคือใส่ใจโลกให้มากขึ้น แต่คือการทำธุรกิจที่จะอยู่ไปได้ตลอด ถ้ามองเป็น social enterprise มันก็ต้องหล่อเลี้ยงตัวเองได้”

“แต่ถ้ามุมที่พวกเรามองคือ มันต้องทำกำไรอยู่บนคุณค่าที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างจากสิ่งที่เราทำ เช่น กำไรของเราเกิดจากการขายผักที่ปลอดภัย คนไม่ได้มาอุดหนุนเราเพราะสงสารหรืออยากช่วย แต่เขาอุดหนุนเพราะเขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เพราะเขาอยากได้อาหารปลอดภัย แปลว่าธุรกิจนี้กำลังทำกำไรอยู่บนสิ่งที่คนต้องการจริงๆ เพราะอาหารปลอดภัยก็คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานและอนาคต มันจึงเป็นธุรกิจที่เป็นโมเดลที่ยั่งยืนและน่าสนใจ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามาร่วมมือกันทำธุรกิจตรงนี้

“ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มผัก หรือการจัดการขยะ มันเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของพวกเราที่เป็นคนรุ่นใหม่พอดี เพราะสุดท้ายทุกคนก็สนใจเรื่องการเกษตร เพราะมันคือเรื่องพื้นฐานของชีวิต เนื่องจากส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กต่างจังหวัดมาทำงานในกรุงเทพ แล้วการเกษตรก็เป็นอาชีพที่ยั่งยืน นั่นแปลว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในเวลานี้ มันจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ และไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำแค่ในระยะสั้นๆ แต่มันเป็นแนวทางในอนาคตให้เราได้ด้วย สุดท้าย ผลผลิตที่เราเห็นคือผัก เห็นแล้วมันมีความสุข มันคือรูปธรรมที่ได้จากการทำงานจริงๆ

“จะว่าไปแล้ว ผักในฟาร์มเรา ก็สะท้อนให้คนเห็นในหลายๆ เรื่อง คนจะได้เรียนรู้ทั้งเรื่องอาหารปลอดภัย ปลอดสารพิษ เรียนรู้เรื่องการจัดการดูแลฟาร์มผัก การจัดการขยะ เพราะเวลามีคนมาซื้อผัก เราจะบอกเขาเสมอว่า เขาไม่ใช่ได้เพียงแค่อาหารปลอดภัยนะ แต่เขากำลังมีส่วนช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมด้วย

“food waste มันกลายไปเป็นผักได้ ผักคือ by product ที่มันทำให้กระบวนการจัดการขยะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้น”

“และทำให้คนอยากเรียนรู้มากขึ้นด้วย เพราะผักเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย เมื่อคนสนใจผักมากขึ้นเขาก็จะรับรู้ว่ามีโมเดลการทำธุรกิจอย่างนี้ด้วยเหรอ และถ้าจริงจังกับเรื่องนี้ เขาอาจจะมองเห็นโมเดลต่างๆ อีกมากมายที่จะสามารถจัดการขยะเศษอาหารได้เช่นกัน”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร