เสื้อกาวน์สีขาวจั๊วกับหลอดทดลองสารเคมีสารพัดในห้องแล็บทันสมัย คือภาพที่เรานึกได้ หากพูดถึงนักเคมี

แต่สำหรับ ดร.ชมพูนุท วรากุลวิทย์ ห้องแล็บทดลองชีวิตของเธอกว้างใหญ่กว่านั้น เพราะนอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำวิจัยเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการผลิตปูนซีเมนต์ ด้วยการนำกลับมาสร้างวัสดุพิเศษ เธอยังเป็นวิทยากรให้กลุ่มชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อใช้และจำหน่ายในชีวิตประจำวัน เป็นเจ้าของเพจ นักเคมีหัวใจสีเขียว ที่หมั่นแจกสูตรผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากการทดลองของเธอเอง ทั้งหมดมีเป้าหมายสำคัญด้วยการช่วยให้คนใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้นและลดการใช้สารเคมีซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับลูกศิษย์สาขาวิชาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ในห้องเรียนใต้ต้นไม้ตามศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต่างๆ เธอถูกเรียกว่า อาจารย์นุ่น– อาจารย์ที่นำความรู้เกี่ยวกับเคมีมาปรับใช้กับการสร้างผลิตภัณฑ์ไม่มีศัพท์แสงเทคนิค ห้องแล็บมิดชิด หรือเครื่องมือทันสมัย

ห้องแล็บของเธอ คือครัวเล็กๆ ในอาคารที่พักบุคลากรเท่านั้น

เพราะเธอเชื่อว่า ทางที่เธอเดิน (และชวนคนเดินไป) ควรเป็นชีวิตที่เรียบง่าย พึ่งพาตัวเองได้ และไม่เบียดเบียนโลกมากนัก

สมมติฐานของการพึ่งตนเอง

อาจารย์นุ่นเป็นอาจารย์ภาควิชาเคมีที่จบปริญญาเอกมาจากประเทศฝรั่งเศส รับหน้าที่สอนควบคู่ไปกับการทำงานวิจัยมากว่า 10 ปี ชีวิตของเธอเคยมีแต่การสอนและงานวิจัย เจ็ดโมงเช้าถึงสี่ทุ่มคือเวลาทำการของเธอ วันหยุดยาวช่วงเทศกาลคือวันที่เธอจะถือกุญแจเข้ามาไขห้องแล็บในตึกที่เงียบเหงาและนั่งทำงานของเธอไป โดยไม่เคยคิดว่าชีวิตแบบนี้จะผิดแผกอะไร

“เราก็ทำงานของเราตลอดเวลา จนเริ่มสังเกตตัวเอง เอ๊ะ ทำไมเท้ามันเกร็งๆ นิ้วเท้ามันหงิกไปเฉยๆ ก็เลยไปหาหมอ คิดว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับนิ้วเราหรือเปล่า หมอกระดูกบอกก็ไม่ได้เป็นที่นิ้วหรอก สั่งให้ไปเอกซเรย์กระดูกคอ เราก็ว่าจะไปเกี่ยวอะไร แต่พอไปเห็นในภาพเอกซเรย์จริงๆ มันคือหมอนรองกระดูกคอเสื่อม สึกไปเลยชิ้นนึง ซึ่งมันส่งผลให้เราเป็นไมเกรน เป็นนิ้วล็อก และสารพัดโรคเลย เพราะตรงนั้นเป็นจุดรวมเส้นประสาท มันก็ทำให้เราหันมาคิดว่าวิธีทำงาน วิธีใช้ชีวิตของเรามันถูกต้องหรือเปล่า”

ในเอะใจแรก อาจารย์สาวเริ่มหันมาสนใจสุขภาพ แต่ยังไม่ทันจะได้เห็นผล เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ก็มอบอีกหนึ่งเอะใหญ่ในใจขึ้นมา เธอสงสัยว่า เงินเก็บที่มีมากมายในการทำงาน ถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็วภายใต้วิกฤต การต้องขับรถหนีน้ำไปเรื่อยๆ พร้อมกับแมวหนึ่งตัว หาที่พัก และพยายามดำรงชีวิตในสถานการณ์ยากลำบากที่ไม่อาจพึ่งพาตัวเองได้เลยสักอย่าง จนเมื่อได้ไปอาศัยอยู่ในสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งที่มีแต่น้ำบาดาล แต่ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ เธอต้องลุกขึ้นมาทำอาหารถวายพระตั้งแต่ตีสี่ (ทั้งที่ลืมทักษะการทำอาหารตอนไปเรียนที่ฝรั่งเศสไปหมดแล้ว) ก็บอกอะไรเธอหลายอย่าง

“ที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตแบบที่เรียกว่าฝากเลี้ยง กินข้าวนอกบ้านตลอดเวลา ไม่รู้มันทำมาจากอะไร ใส่อะไรบ้าง แล้วพอเกิดวิกฤตขึ้นมา เราก็พึ่งตัวเองไม่ได้เลย ทำงานมาตั้งเยอะ ได้เงินเดือนตั้งเยอะ แต่เราไม่มีข้าวกิน”

“จนกระทั่งได้ไปอยู่วัดนี่แหละ ก็ไปทำอาหารอีกครั้งหนึ่ง แล้วที่เรากินทุกวัน แล้วที่เราอยู่ทุกวัน มันไม่ได้เป็นวิถีแห่งการพึ่งตนเองได้เลยนี่นา ชีวิตที่ผ่านไปทุกวันนี้ก็เลยผิดทางหรือเปล่า พอได้ยินคำว่า ‘เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง’ จากในทีวี คนที่เอามาพูดให้ฟังก็คือ อาจารย์ยักษ์ ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ฟังแล้วมันกึกขึ้นมา ท่านเล่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่เราไม่เคยเข้าใจ เหมือนคนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่ามันเป็นเรื่องของเกษตรกร”

กระบวนการลองผิด ลองถูก

หลังจุดติดประกายความเข้าใจจากอาจารย์ยักษ์ หญิงสาวตามไปเรียนรู้เรื่องการพึ่งตนเองผ่านการไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งตลอด 5 วัน 4 คืน เธอบอกว่าเธอคือคนที่ถูกพาดพิงทุกวัน คำว่า ‘นักเคมีคือฆาตกร’ คือสิ่งที่จำฝังใจ แต่เธอก็รู้ว่าอาจารย์ตั้งใจที่จะจี้ใจให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

“เราได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ไปดูการจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ได้เห็นชาวนาบางคนใช้สารเคมี 26 ครั้ง ใน 1 รอบการผลิต เพราะเขาถูกทำให้กังวลด้วยสื่อโฆษณา ใบข้าวไม่เขียวก็เครียดแล้ว เห็นแมลงตัวนึงก็ต้องเอายาฆ่าแมลงไปฉีดมัน เราถามว่าเขารู้หรือเปล่าว่าแมลงนี้เป็นแมลงดีหรือไม่ดี เขาไม่รู้ ข้าวใบไม่เขียวต้องใส่ยูเรียแล้ว ข้าวจะได้เขียวปั้ด คือชาวนาไม่รู้จริงๆ นะ ว่าความเขียวของใบข้าวเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แสง ความเข้มของแสงมีผลทำให้ใบเปลี่ยนสีเข้มหรืออ่อน แล้วข้าวจะมีช่วงสลัดใบคลุมดินไม่ให้หญ้าขึ้น แต่พอเห็นเหลืองๆ หน่อยก็จะไปใส่ยูเรียให้เขียว ข้าวก็เลยไม่สลัดใบทิ้ง หญ้าก็เลยขึ้นสูง คราวนี้ก็ต้องมาฆ่าหญ้าอีก วนเวียนไม่รู้จักสิ้นสุด

“เข้าใจเลยว่าทำไมเขาเรียกนักเคมีว่าเป็นฆาตกร เพราะเราผลิตสารเคมีมากมายที่สามารถสร้างผลกระทบได้ไม่สิ้นสุด”

การได้ไปเห็นการเชื่อมโยงของปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นทอดๆ ตั้งแต่ป่าต้นน้ำที่หดหาย เกษตรกรที่มีความเข้าใจผิดๆ ประโคมใช้สารเคมี ชุมชนเมืองที่ร่วมสร้างขยะล้นเมือง โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ไปถึงป่าชายเลนและท้องทะลปลายน้ำที่ถูกทำลาย ทำให้ด็อกเตอร์สาวไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา “ต้องยอมรับว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่ง ก็เราผลิตขยะทุกวันทั้งทางตรงและทางอ้อม แล้วขยะมันไปต่อที่ไหน เราก็ไม่เคยคิดกับมันจริงๆ จังๆ หน่วยงานนี้คงทำ หน่วยงานนู้นคงทำ แต่มันไม่ใช่ ทุกคนต้องพึ่งตนเอง”

เปลี่ยนตัวแปร เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

เพื่อนๆ รอบตัวที่มาอบรมส่วนใหญ่เลือกจะเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเกษตรกร เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารปลอดภัย หรืออะไรทำนองนี้ แต่เมื่ออาจารย์ยักษ์ถามเธอว่า จะเปลี่ยนอาชีพหรือใช้อาชีพของตัวเองทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม ซึ่งอาจารย์บอกว่า “เคมีไม่ได้ทำร้ายคนอื่นเสมอไป และในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เป็นนักเคมีอันดับหนึ่งในประเทศไทย เพราะท่านสามารถทำให้ฝนตกช่วยคนได้ทั้งที่ไม่มีอิทธิฤทธิ์” นั่นจึงทำให้เธอทบทวนตัวแปรของชีวิตอีกครั้ง

“คำถามคือนักเคมีที่มันดีต่อโลกเป็นยังไง ก็ใช้เวลาคิดอีกนะคะ งานวิจัยที่เราทำอยู่ คือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งทั่วโลกเป็นสาเหตุถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ของภาวะโลกร้อน งานคือการเปลี่ยนเอาตัวคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนที่จะปล่อยออกไปสู่สิ่งแวดล้อมกลับเข้ามาโรงงาน เพื่อผลิตสิ่งที่เรียกว่าวัสดุคาร์บอนนาโน ที่แข็งแรงเกือบเท่าเพชร แต่มีน้ำหนักเบาและเล็กมาก ใส่เข้าไปในเนื้อปูน แต่ขยะ ของเสีย มันมีเกิดขึ้นรอบตัวเรา เพิ่มพูนอยู่ทุกวันทั่วโลก งานวิจัยที่เราทำอยู่มันช่วยอะไรตรงนี้ได้ไหม จนไปเจออาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ซึ่งเคยเป็นแบบหนุ่มแบงค์ ผู้จัดการธกส. ลาออกมาทำงานเพื่อสังคม เป็นหัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ภายใต้มูลนิธิชัยพัฒนา ได้เห็นอาจารย์มาสอนเรื่องผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งไม่ตรงสาขาที่อาจารย์เรียนมาเลย ก็เลยไปขอเรียนด้วย อาจารย์ก็บอกว่า จะมาเรียนทำไม จบปริญญาเอกเคมีแล้ว แต่เราเป็นนักเคมีที่ทำสบู่ ทำแชมพูไม่เป็นนะ เรารู้ว่ามันทำด้วยปฏิกิริยาอะไร รู้ทฤษฎีทุกอย่าง แต่ไม่เคยลองกับมือ อาจารย์ท่านไม่เคยเรียนเรื่องนี้มาก่อนเลย ยังมาศึกษาค้นคว้าจนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนมากมาย ทำให้เขาและครอบครัวเขาพึ่งพาตนเองได้ แล้วเราเป็นนักเคมี ทำไมไม่ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาช่วยแก้ปัญหา เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติขึ้นมา”

โอทีของนักเคมีหัวใจสีเขียว

หลังเลิกงานสอนและวิจัย ด็อกเตอร์สาวจึงทำโอทีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เริ่มด้วยการตั้งโจทย์แรกกับตัวเอง “จำได้ว่าเคยใช้แชมพูมะกรูดที่ชาวบ้านทำๆ กัน ใช้แรกๆ มันดีมากเลยนะ แต่เอ๊ะ ทำไมใช้ๆ ไปผมและหนังศีรษะมันแห้งมาก เราก็เลยมานั่งคิด ที่เราเรียนมามันก็ถูกต้องนะ น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด คุณสมบัติดีสารพัดเลย แต่พอไปดูวิธีทำ ก็เริ่มเข้าใจ คนเข้าใจผิดแล้วว่าต้องเอามะกรูดไปต้ม เอาไปเคี่ยว เพื่อให้ได้น้ำมันจากผิวมะกรูด แค่คำว่าน้ำมันหอมระเหย ที่อุณหภูมิห้องคุณยังได้กลิ่น แปลว่ามันระเหยเป็นไอได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง ไม่ต้องไปต้มหรือเคี่ยวจนมันเสียคุณค่าไป หรือบางคนยิ่งไม่แยกน้ำมะกรูดออกด้วย น้ำมะกรูดมีรสเปรี้ยวมีความเป็นกรดสูง ใช้ๆ ไป ผมและหนังศีรษะเลยแห้ง เสียสมดุล เพราะถูกกรดมาก คือต้องมาคิดกับมันใหม่อีกรอบนึง มาปรุงมันใหม่ให้แบบมันใช้ได้ดีขึ้น ที่สำคัญพัฒนาวิธีที่ใครก็ทำได้”

เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงของด็อกเตอร์สาวไม่ใช่การผลิตสินค้าออกจำหน่าย แต่เป็นการทดลองและเรียนรู้จนได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นสามารถเข้าใจและนำไปประกอบอาชีพได้

“ต้องทำออกมาให้ใครก็ได้ ทำตามเราได้ เพราะเราตั้งใจว่าจะทำให้ทุกคนพึ่งตัวเองได้ ฉะนั้น เราก็ต้องไม่ทำในแล็บสิ ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ในแล็บนะ กลับบ้านไป ใช้อุปกรณ์ในห้องครัว หม้อตุ๋น หม้อหุงข้าว อะไรก็ได้ที่มี”

มากไปกว่านั้น ทุกสูตรที่เผยแพร่ในเพจ นักเคมีหัวใจสีเขียว คือสูตรที่เหมาะกับพื้นที่จำกัดแบบฉบับคนเมือง “เราหมักไม่เหมือนชาวบ้าน จะมาใช้ถังหมัก 200 ลิตร หมักสูตร 1:3:10 ที่คนอื่นเขาทำกันทั่วไป หมักสับปะรด 10 กิโล ต้องใช้น้ำ 100 ลิตร ถ้าไปสอนอย่างนี้คนเมืองอยู่ห้องพักเล็กๆ มันทำไม่ได้ นุ่นเป็นคนแรกๆ ที่บอกทุกคนว่าไม่ต้องใส่น้ำค่ะ มันเกิดเหมือนกัน อย่างโหลแก้วนี้ จุแค่ 2 ลิตร แต่พอหมักน้ำมะกรูดไม่ใส่น้ำเพิ่ม สามารถนำไปทำน้ำยาซักผ้าได้ถึง 80 ลิตร เพราะมันเข้มข้น ค่อยๆ เอาความคิดทางวิทยาศาสตร์ไปจับเรื่อยๆ เวลาไปสอน เราก็จะสอนอีกว่าอยากลดเคมีมากกว่านี้อีกใช่มั้ย มีขี้เถ้าหรือเปล่า ไปขอร้านกล้วยปิ้งสิเพราะไม่ปนน้ำมัน เอามาใส่น้ำ พอใส่น้ำเสร็จแล้วก็กรองเอาผ้าขาวบางกรอง แล้วเอาตัวนั้นมาใส่น้ำยา เค้าบอกฟองเยอะมากเลยอาจารย์ นี่คือภูมิปัญญา ค่อยๆ จับมาทีละประเด็นแล้วคลี่มันออกมา”

แชมพูมะกรูดผสมอัญชัน น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร โทนเนอร์มะเฟือง โฟมล้างหน้า และสบู่เหลวฟักข้าว น้ำยาอเนกประสงค์จากน้ำหมักมะกรูดและอีกมากมาย คือผลิตภัณฑ์จากอาจารย์นุ่นที่ดึงเอาคุณประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้อย่างถูกต้องและพยายามลดสารเคมีให้น้อยที่สุด ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบที่ต้องมั่นใจว่าถูกปลูกอย่างปลอดสารพิษ เธอบอกว่ามะกรูดที่ปนเปื้อนสารเคมีจากยาฆ่าแมลง ให้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ที่สำคัญ สินค้าเหล่านี้จัดอยู่ในหมวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เธอทดลองทำเพื่อนำไปสอนคนอื่นต่อได้ อีกทั้งรายได้ส่วนหนึ่งยังนำไปสนับสนุนเครือข่ายขับเคลื่อนพระราชาลุ่มน้ำบางปะกง และวางแผนสะสมไว้ทำโรงเรียน (นอกกระแส) ของชุมชนเล็กๆ เพื่อพัฒนาเด็กๆ ของพระราชา

“จริงๆ ตอนแรก เราก็ว่ามันเหนื่อย มันเสียเวลา แต่กลายเป็นว่ามันดีนะคะ พอเราผลิตของพวกนี้ได้เอง เราไม่ต้องเสียเวลาไปเดินห้างให้มันเหนื่อย นักเคมีก็เหมือนนักมายากลแหละ เดินเข้าไปในห้องปฏิบัติการปุ๊บ ก็จะมีอะไรออกมา แต่ห้องปฏิบัติการก็คือครัวของเรานี่แหละ อยากได้น้ำยาล้างจานเหรอ อยากได้น้ำยาซักผ้าเหรอ ไม่ต้องเดินไปซื้อข้างนอก ไม่ต้องเสียค่าแพคเกจจิ้ง ค่าโฆษณา และเรารู้ว่าสิ่งนี้มันปลอดภัยกับเรา ปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม”

ในฐานะคุณแม่ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกสำหรับเด็กมีราคาสูงมาก แต่เมื่อผลิตเอง เธอรู้ดีว่าทุกอย่างปลอดภัยแม้แต่กับเจ้าตัวน้อย น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นฟักข้าวที่เธอใช้ทาผิวแทนโลชั่น นอกจากผิวจะนุ่มชุ่มชื่น เธอยังสบายใจที่เวลาเล่นกับลูกแล้วลูกเกิดมันเขี้ยวเคี้ยวแขนคุณแม่เล่น กรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นยังเหมือนที่มีในน้ำนมแม่ เวลาลูกผิวแห้ง เกิดผดผื่น น้ำมันมะพร้าวคือคำตอบที่ไม่ต้องกลัวอาการแพ้

“คนชอบคิดว่าของแพงคือของดี แบบนั้นง่ายมากเลยนะ แค่เอาจากที่ไม่มีแพ็กเกจแบบเราไปใส่หัวจุกไม้หน่อย ติดสติกเกอร์ ทำให้มันสวยงามหน่อย เปลี่ยนราคา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะทำ เราอยากขายของถูกให้คนปกติก็ซื้อได้ อยากให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อมแบบจับต้องได้ ใครไม่เอาสติกเกอร์แปะฉลากเราลดราคาให้นะ ใครอยากถือขวดมาเติมเองก็นัดเจอกันได้ ตอนนี้มันกลายเป็นว่าทำเยอะแต่ไม่เหนื่อย เป็นคนบ้าพลังไปเลย เพราะเรารู้ว่าคนที่ได้ใช้หรือคนที่ได้เรียนรู้แล้วเอาไปประกอบอาชีพ มันเปลี่ยนชีวิตเขายังไง นี่แหละสังคมที่เราหาอยู่ เราต้องการการแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อต่อกัน

“มันตอบโจทย์ทุกอย่างเลย ตั้งแต่การใช้ชีวิต สังคมที่เราต้องการ ทุกวันนี้อยู่ได้อย่างดี มันรวยในความรู้สึก”

ความสำเร็จในฐานะนักลงมือทำ

ตำแหน่งทางวิชาการ งานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง หรือรางวัลการันตี อาจคือความสำเร็จในฐานะนักวิจัย แต่สำหรับด็อกเตอร์สาวคนนี้ ความสำเร็จที่เธอได้รับในทุกๆ วันที่ผลิตผลิตภัณฑ์ออกมา คือการได้ทำเพื่อคนอื่น

“ถ้าเรารอให้ประสบความสำเร็จในงานวิจัยที่เราทำก่อน แล้วค่อยไปช่วยคนอื่น เราจะไม่มีวันได้ออกไปช่วยใคร”

“นุ่นคิดว่า เราต้องแบ่งเวลาส่วนนึงมาช่วยคนอื่น ช่วยกันมาผลิตสิ่งดีๆ โลกใบนี้ ช่วยกันลดสารพิษสะสมในสิ่งแวดล้อม แค่เราเริ่มต้นทำ ปีปีนึงเราสามารถลดน้ำเสียได้เป็นร้อยๆ พันๆ ตัน มันอัศจรรย์มากเลย แค่คนหนึ่งคนสามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้เท่าไหร่”

“สารเคมีทุกวันนี้เกิดจากความต้องการที่ไม่พอเพียงของเรานี่แหละ”

“เพราะฉะนั้น เราก็ต้องพยายามลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ลง สารเคมีในผลิตภัณฑ์อาจไม่อันตรายกับผู้ใช้ แต่กระบวนการได้มาซึ่งสารเคมีนั้นๆ ล่ะ เหมือนปุ๋ยเคมีที่เขาบอกว่าไม่เป็นพิษกับคนกิน แต่การผลิตปุ๋ยเคมีที่โรงงานปล่อยของเสียออกมาเท่าไหร่ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาแค่ไหน พิษมันก็กลับมาในอากาศที่เราหายใจนั่นแหละ”

เพราะไม่ว่าจะในฐานะนักเคมี ในฐานะวิทยากรอาสา ในฐานะคุณแม่ หรือในฐานะมนุษย์ ความรับผิดชอบที่เธอสามารถมีต่อโลกใบนี้ได้ คือการเบียดเบียนโลกใบนี้ให้น้อยที่สุด

www.facebook.com/DrChompunuchWarakulwit

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง