“I’m an old shirt with new purpose!” คือข้อความที่สกรีนอยู่บนด้านหลังเสื้อยืดของทีมงาน TEDxBangkok ที่เพิ่งจบอีเวนต์ไปเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2023 เสื้อยืดตัวเก่าที่มีจุดมุ่งหมายใหม่ของพวกเขาเป็นเหมือนการบอกกล่าวเราอยู่กลาย ๆ ว่า เรามีเสื้อยืดกันมากเกินใช้งานจริงอยู่หรือเปล่า แล้วจะเป็นไรไปถ้าเราเอาเสื้อตัวเก่าที่มีอยู่วนมาใช้งานใหม่

ไอเดียความคิดที่ผลิตออกมาอย่างจับต้องได้ ในโลกที่ต้องการการลดใช้ทรัพยากร ในโลกที่ทุกคนเรียกร้องให้ช่วยกันแก้ปัญหาโลกเดือด บางทีก็แค่เพียงมุมเล็ก ๆ แบบนี้เองที่เข้ามาอินสไปร์เราได้อย่างนึกไม่ถึง

“มันมีหลาย ๆ เรื่องที่เราต้องผลิตในงานอีเวนต์อยู่ทุกปี ตู้เสื้อผ้าพิมีเสื้อ TEDxBangkok อยู่เป็นสิบ ๆ ตัวจากอีเวนต์ที่ผ่านมาหลายปี เลยตั้งคำถามว่าเราจำเป็นต้องทำเสื้อสตาฟฟ์ใหม่ไหม เอาเสื้อที่มีอยู่แล้วมาสกรีนได้หรือเปล่า มันทำให้เราไม่ต้องใช้เงินเยอะเลย เสียแค่ค่าสกรีน แล้วเราก็มีพาร์ตเนอร์คือ Loopers ที่เชื่อในเรื่องเดียวกันและทำเรื่อง #wearวนไป มาช่วย” พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน เรียกแทนตัวเองว่า ‘พิ’ เขาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ TEDxBangkok เวทีทอล์กที่มากด้วยเรื่องราวบันดาลใจ ซึ่งทำงานกับ ‘ข้างใน’ ของคนฟังมาไม่รู้กี่ร้อยเรื่อง ตั้งแต่จัดครั้งแรกเมื่อปี 2015

เฉพาะไอเดียเรื่องเสื้อที่อาสาสมัครทั้ง 77 คนหยิบเอาเสื้อที่ตัวเองมีอยู่มาสกรีนใหม่ พิบอกว่ามันช่วยลดค่าใช้จ่ายไป 9,394 บาท และลดการใช้น้ำไปได้ 207,900 ลิตร

“TEDxBangkok ในช่วงที่ผ่านมาเราก็มีความพยายามจะกรีนขึ้น มีปีหนึ่งเราออกแบบแบ็กดรอปกันโดยใช้ฉลากกาแฟของ Roots ซึ่งมีสามสีจากกาแฟสามรส คือ แดง ขาว ดำ เราให้คนที่หยิบกาแฟแล้วเอาฉลากนั้นไปหย่อนเป็นคำว่า TEDxBangkok เป็นสัญลักษณ์ที่เราสื่อสารกันว่าเรามา drink smart กันเถอะ มันเป็นไอเดียง่าย ๆ ที่ถูกพูดถึงในหลาย ๆ เวทีที่มีประชุม TEDx Organizer กับหลายประเทศ”

มากกว่าไอเดียเรื่องวนใช้เสื้อตัวเก่า กิมมิกของความกรีนและความยั่งยืนอีกหลายแง่มุม ถูกใส่ลงไปในรายละเอียดของการจัดงาน TEDxBangkok ได้อย่างน่ารัก ไม่มากไปจนทำให้คนที่ยังไม่ได้เข้าสู่วงการกรีนรู้สึกตัวลีบเล็ก แต่ก็ไม่น้อยไปเพราะทุกคนสามารถสัมผัสกับมันได้ในรายละเอียดที่แทรกอยู่ทุกการมองเห็น

“การจะจัดอีเวนต์ใด ๆ ถ้าจะไม่ให้มีขยะเลย ทำได้คือไม่ต้องจัด แต่ในฐานะที่พิเป็นคนทำอีเวนต์ที่พาให้คนได้มาเจอกันอย่างมีความหมาย คำถามคือเราจะจัดยังไงเพื่อไม่สร้างสิ่งที่เหลือจำเป็นจนเกินไป”

เพื่อรับฟังไอเดียนี้อย่างกระจ่างชัด เรารอพิเคลียร์ตัวเองให้พอมีเวลาหลังจบงาน แล้วชวนเขาคุยถึงเบื้องหลังและผลลัพธ์ของการจัด TEDxBangkok 2023 ภายใต้แนวคิด ‘See Sound Seen’ ซึ่งปีนี้พิเศษตรงที่เวทีกรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 12 เวทีทั่วโลก ที่ได้รับใบอนุญาตการจัดงาน ‘TEDCountdown’ เพื่อผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนลงไปด้วย และเหล่าอาสาสมัครของงานนี้ก็ช่วยกันครีเอทพื้นที่และคอนเทนต์ออกมาได้อย่างไม่มีที่ติ

จะนับถอยหลังสู่ความล่มสลายอย่างยอมจำนน หรือจะลุกขึ้นทำอะไรสักอย่างเพื่อยับยั้งมัน?
“TEDCountdown ไม่ใช่การเคาต์ดาวน์เพื่อไปปีใหม่นะครับ” พิอธิบายคำนี้ด้วยอารมณ์ขัน เพราะงานนี้จัดในช่วงใกล้สิ้นปี “เป็นการเคาต์ดาวน์สู่ความล่มสลายของโลกนี้ในแง่สภาพภูมิอากาศ เรากำลังเคาต์ดาวน์สู่โลกเดือด คำถามคือเราจะรอกันถึงเมื่อไหร่ถึงจะ take action กันสักที” พินิยามความหมายของการเคาต์ดาวน์ที่ TED ต้องการสื่อ ก่อนจะเล่าถึงที่มาของการนำเรื่องนี้มาอยู่ใน TEDxBangkok

“ทาง TED ใหญ่เขาจัดโปรแกรมนี้เมื่อช่วงกลางปีที่ดีทรอยต์ อเมริกา และจะจัดให้มีใน 12 ประเทศทั่วโลก เช่นในแอฟริกา จีน ญี่ปุ่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีไทยเข้าร่วม โดยเขาเลือกจากทีมที่แข็งแรงพอจากการจัดงานมาหลายปี และพร้อมจะเรียนรู้เรื่องนี้ไปกับเขา

“ก่อนจัดก็มีเทรนนิ่งกันว่าจะคิวเรตคนมาพูดยังไงดี ประเด็นไหนควรพูดหรือไม่ควรพูดถึง เพราะมีจุดเซนสิทีฟเยอะมาก อย่าง Green Washing หรือ ESG ซึ่งเป็นเรื่องฮิตติดเทรนด์ ก็จะมีคนไม่เห็นด้วยในหลาย ๆ มุมเสมอ เอาแค่เรื่องคาร์บอนเครดิตเรื่องเดียวก็เถียงกันได้เป็นวันแล้ว”

ทว่าในโจทย์ที่ท้าทายนี้ พิมองเห็นความสนุกอยู่ในนั้น แต่เขาก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในการจัดการจริง ๆ จะไม่ใช่แค่เรื่องคอนเทนต์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความ ‘กรีน’ อยู่ในอีเวนต์ด้วย การมองหาผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครของงานนี้จึงเกิดขึ้น

การจัดอีเวนต์ให้กรีนไม่ใช่แค่ใช้เงิน แต่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ

“พอรู้ว่าปีนี้จะทำเคาต์ดาวน์ เราก็เลือกคนเข้ามาช่วยเพราะเรามีความรู้น้อย เลยเลือกอาสาสมัครที่มีความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต้องบอกว่างาน TED มีความเป็นงานกฐินอยู่ เรามีอาสาสมัครมาช่วยกัน สปีกเกอร์ที่มาพูดก็ไม่ได้เงิน แล้วมีพาร์ตเนอร์ที่เขามีอะไรอยู่ก็เอามาช่วย ในการจัดอีเวนต์ให้กรีนไม่ใช่แค่ใช้เงิน แต่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ อีกอย่างพิคิดว่า TED เป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแรงของมันอยู่ คนอยากมาช่วยเพราะเราไม่ใช่แค่เวทีพูด แต่เป็นเวทีสร้างมูฟเมนต์ที่คนเหล่านี้สนใจ”

นอกจากเรื่องเสื้อสตาฟฟ์ที่เล่าไปตอนต้น อาสาสมัครที่มาช่วยด้วยใจยังมาพร้อมความหลากหลายทางทักษะ เอาเฉพาะเรื่องจัดการขยะก็มีทั้งอาสาสมัครจาก Refill Station และทีม TACT มาช่วยแนะนำเรื่องการจัดการอีเวนต์ยั่งยืน มีนิสิตจุฬามาช่วยเทรนนิ่งเรื่องการคัดแยกขยะ มีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำเรื่องการเลือกวัสดุที่ยั่งยืนขึ้น ฯลฯ

“เราจะแจกแก้วแบบนี้นะ เราจะคัดแยกกล่องข้าวยังไง ใช้ภาชนะแบบไหน มีเรื่องที่เราต้องบาลานซ์เยอะเหมือนกัน เช่นเรื่องอาหาร ใช่ เราอยากกรีน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยหรือเปล่า เรื่องการรักษาคุณภาพอาหารหรือเปล่า บางส่วนเรายังมีพลาสติกอยู่ ซึ่งเห็นแล้วรู้สึกเสียดายเหมือนกัน แต่ด้วยข้อจำกัดที่เรามีเราก็ต้องเลือกเท่าที่เราทำไหว เพราะตัวเลือกที่จะกรีนจริง ๆ มีราคาที่เราต้องจ่ายพอสมควร ค่าใช้จ่ายมันสูง ตอนแรกเรา suffer มากเพราะพยายามจะเก็บทุกเม็ด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พิรู้สึกว่าการได้เริ่มทำก็ดีมาก ๆ แล้ว การที่ทีมได้มีกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้สำคัญยิ่งกว่าปลายทางอีก

“การทำงานของเราคือ ผลิตของใหม่ให้น้อยที่สุด สิ่งไหนที่ไม่จำเป็นต้องผลิตก็ไม่ผลิต ของที่ระลึกไม่ต้องแจกเยอะแยะได้ไหม เรื่องโครงสร้างและอุปกรณ์ต่าง ๆ เราผลิตให้น้อยที่สุด เน้นการเช่าเพื่อลดการใช้แล้วทิ้ง และสามารถนำไปใช้ในอีเวนต์อื่น ๆ ได้”

และการเรียนรู้จากกระบวนการเหล่านี้ ทำให้เขาได้ตกตะกอนว่า “การมีอาสาสมัครที่อยู่ในแวดวงสีเขียวอยู่แล้วสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันกับคนที่ไม่ได้เขียวมาเลยกับคนที่เขียวปี๋มาก ๆ คนที่ไม่เคยเขียวก็จะเริ่มเข้าใจแล้วค่อย ๆ เขยิบเข้าใกล้สีเขียวมากขึ้น เริ่มปรับตัวสื่อสารกัน เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ทำได้”

ส่วนทำไมสถานที่จัดงานปีนี้ถึงไปลงเอยที่หัวลำโพงนั้น “มันมีกลิ่นของความเป็นกรุงเทพฯ เก่าก็เก่า แต่กำลังจะถูกขยับไปเป็นสิ่งใหม่ เป็นพื้นที่ที่พูดถึงการเดินทาง เป็นยานพาหนะเก่าที่รวมคนรุ่นใหม่มาไว้ด้วยในเวลาที่มีการจัดงานในพื้นที่นี้ เราคิดว่ามันมีเสน่ห์จังเลย”

ชวนกันออกเดินเพื่อเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยใจ 
ด่านยาก ๆ ในการจัดกรีนอีเวนต์ค่อย ๆ ถูกปลดล็อกลงด้วยการไอเดียและการลงแรงของอาสาสมัครที่เชื่อในเรื่องเดียวกัน แต่การจะจัดให้มีทอล์กในวันจริงอย่างเดียวดูจะเบาไปหน่อยสำหรับงานนี้ TEDxBangkok เลยจัดให้มีพรีอีเวนต์เป็นกิจกรรมแอดเวนเจอร์ที่จัดขึ้นใน 4 สัปดาห์ก่อนถึงวันจัดงานทอล์กที่หัวลำโพง เพื่อพาผู้เข้าร่วมไปเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยประสบการณ์จริง เช่น การจัดการขยะ ออกสำรวจสิ่งแวดล้อมเมือง การแต่งตัวและช้อปปิ้งเสื้อผ้าที่ดีต่อโลกโดยนำเสื้อผ้ามาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อชวนให้คนหันมาสนใจเรื่องแฟชั่นยั่งยืน

“เราเชื่อว่า TED ไม่ใช่ทอล์กที่ให้นั่งฟังอย่างเดียว แต่เราสามารถทำอะไรบางอย่างด้วยกันได้ เราทำกิจกรรม Clothes Swap ที่ไม่ใช่แค่เอาเสื้อผ้ามาแลกกัน แต่สอนการแมตช์เสื้อผ้าเข้ากับลุคตัวเองแล้วก็เลือกเสื้อผ้าที่เอามาแลกเปลี่ยนกันวันนั้นเลย

“อย่างกิจกรรมที่พาคนไปสำรวจเมือง ก็มีอาสาสมัครที่เคยทำ TEDxCharoenkrung และอาสาสมัครจากมูลนิธิโลกสีเขียวมาช่วยกันพาไปเดินสำรวจเมืองโดยเริ่มจากหัวลำโพง ซึ่งทำให้พบว่าคนกรุงเทพฯ ที่อยู่ในซอยเล็ก ๆ เขาพยายามที่จะกลืนธรรมชาติเข้ามาในชีวิตประจำวันของเขานะ บางคนตกแต่งต้นไม้โดยใช้พื้นที่หน้าบ้านซึ่งเขาก็ต้องเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าถ้าอยากสัมผัสธรรมชาติก็ต้องนึกถึงทะเล ป่า ต้นไม้ แต่ทริปนี้ทำให้เราได้เรามองธรรมชาติใกล้ต้วมากขึ้น

“กิจกรรมเราจัดให้มีหลายเฉด อย่างเรื่องการจัดการขยะ เราก็ได้เรียนรู้เหมือนกันว่าขยะแต่ละชนิดที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองขยะนี่เป็นยังไง การแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะแห้งมันสำคัญแค่ไหน ซึ่งเรามี SOS (Scholars of Sustenance) มาช่วยสื่อสารเรื่องนี้ เราได้ขึ้นหลังรถขยะไปกับพี่ ๆ กทม. เพื่อไปดูว่าทำไมถึงต้องแยกขยะก่อนทิ้ง แล้วเขาแยกกันยังไง แล้วระหว่างทาง เม็ดไหนที่เราเก็บได้เราเก็บหมด เช่น การเดินทางเราใช้รถตุ๊กตุ๊ก MuvMi ซึ่งเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า”

5 ทอล์กที่พาคนฟังเข้าใกล้และเข้าใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีก
18 นาที คือช่วงเวลาการนำเสนอที่สปีกเกอร์แต่ละคนจะถ่ายทอดเรื่องราวที่อยู่ภายในใจ ให้ออกมาทำงานกับความคิดและความรู้สึกของคนฟัง

“กระบวนการของ TED มันไม่ใช่การพูด แต่มันคือการที่สปีกเกอร์ได้ค่อย ๆ ตกตะกอนกับบทเรียน ตกตะกอนชีวิตตัวเองไปด้วย เพื่อกลั่นออกมาเป็น 18 นาทีนั้น ส่วนพวกเราซึ่งเป็นคิวเรเตอร์จะเปรียบเหมือนพี่เลี้ยงนักมวย ที่จะขุดว่าทำไมนักมวยคนนี้ทำงานตรงนี้ มีเรื่องราวตรงไหนน่าสนใจ เพื่อเอามาดูว่ามีวัตถุดิบไหนในการเอาไปขึ้นชก ซึ่งไม่ใช่การชกกับคนดูนะ แต่เป็นการชกกับชุดความเชื่อเดิม ๆ ที่เราอยากเปลี่ยน ชกกับการรับรู้หรือความเข้าใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือประเด็นสังคมบางอย่าง เพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ คิวเรเตอร์จะช่วยในการจัดเรียง วาง key message ของเรื่องว่าประมาณไหนดี”

ระยะเวลาราวสองเดือนคือการทำงานร่วมกันกับสปีกเกอร์อย่างเข้มข้น ‘ของ’ ที่เหล่าสปีกเกอร์มีอยู่ในตัวพร้อมถูกปล่อยบนเวที และประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนก็ถูกสื่อสารผ่าน 5 เจ้าของเรื่อง

คนปลายน้ำที่รับผลการกระทำของพวกเรา เขายังสู้อยู่ แล้วเราที่เป็นคนต้นน้ำจะทำอะไรได้หรือเปล่า

เริ่มจากหมอฟ้า-สพ.ญ.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง หัวหน้าศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ผู้ดูแลสัตว์ทะเลที่เป็นคนปลายน้ำของขยะที่ถูกทิ้งจากมือมนุษย์อย่างเรา ๆ  “เรื่องราวมีทั้งความน่ารักของสัตว์และเรื่องเศร้าของหมอฟ้า ทำให้เรารู้ว่าบุคลากรที่ดูแลสัตว์ทะเลยังขาดแคลน เขาเป็นคนปลายน้ำที่รับผลการกระทำของพวกเรา เขายังสู้อยู่ แล้วเราที่เป็นคนต้นน้ำจะทำอะไรได้หรือเปล่า”

Ingo Puhl เป็นนักขับเคลื่อนจากภาคธุรกิจ เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการบริษัทเซาท์โพล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การได้ทำงานซึ่งต้องมีความสัมพันธ์กับทั้งภาครัฐและธุรกิจทำให้อิงโก้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย “คุณอิงโก้แชร์ว่า คนไทยมีวัฒนธรรมเกรงใจ เขาเข้าใจในวัฒนธรรมนี้ ฉะนั้นการจะเปลี่ยนได้ต้องมีความเข้าใจในมนุษย์ก่อน มนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดให้สิ่งนั้นเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน”

อีกคนที่เป็นเหมือน hidden gem ของสายสิ่งแวดล้อม และมาปรากฏตัวในงานนี้คือ มะเดี่ยว-วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยาและนักสื่อสารธรรมชาติ ที่ตระเวนเก็บเสียงของธรรมชาติจากสถานที่ต่าง ๆ ไว้ในเว็บ ‘ไพรสาร’ “เป็นไอเดียที่เปิดหูเปิดตาเรามาก เพราะเวลาพูดถึงการสูญพันธุ์เราจะนึกถึงสิ่งมีชีวิต แต่เราไม่เคยนึกถึงเสียงเลยว่ามันสูญพันธุ์ได้ พี่มะเดี่ยวมาเล่าให้เราฟังว่าเสียงที่เขาไปเก็บมามันสูญพันธุ์ยังไง เคยได้ยินไหมเสียปลาแม่น้ำโขงที่มันมีเสียงดังเป๊าะ ๆ รถบนถนนในเขาใหญ่มันกระทบสัตว์ป่ายังไง งานของเขามันมีคุณค่ามากเลยนะ”

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ที่เรามักพบอาจารย์ในเวทีที่เกี่ยวข้องกับปัญหา PM2.5 อยู่เสมอ ในฐานะผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด มาหลายปี และยังคงเดินหน้าอยู่อย่างไม่ย่อท้อ “พิฟังแล้วก็นึกถึงประโยคของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ว่า เมื่อจะตายก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่าตายเพราะอากาศเป็นพิษ ซึ่งในยุคหนึ่งที่อากาศยังดีหายใจได้ ประโยคนี้คงตลกมาก แต่อาจารย์ป๋วยมองไกลมากว่าวันหนึ่งคนเราจะตายอย่างโง่ ๆ เราทุกคนเผชิญกับปัญหานี้กันหมด แล้วมันมีอะไรที่เราจะพอขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ อาจารย์คนึงนิจก็มาเสริมในมุมของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เรามีสิทธิในการผลักดันกฎหมาย เรามีพลังอำนาจที่จะผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมในมุมกฎหมาย ในเชิงโครงสร้าง”

อีกคนที่เสียงของเธอเป็นเหมือนการพูดแทนใจคนในแวดวงสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ คน คือเต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ นักแสดงที่มีแพสชันเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการชอบสะสมหินและรักสัตว์ “พี่แอน Refill Station เคยพูดกับพิว่า คนที่อินกับประเด็นสิ่งแวดล้อมมันเหมือนมีคำสาป ธรรมชาติเขายิ่งใหญ่มาก แล้วเราเป็นมนุษย์ เราแก้ได้นิดเดียว มันไม่มีทางที่ปัญหานี้จะสิ้นสุด ฉะนั้นพอเราทำไปได้สักพักจะเริ่มตั้งคำถามว่าเราเปลี่ยนอะไรได้จริงหรือ แล้วจะมีอาการท้อ เต้ยก็เป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกเบิร์นเอาต์ แล้วมันมีเสียงหนึ่งตะโกนบอกตัวเอง คุณก็ทำสิ ทำเท่าที่ตัวเองสบายใจ มันเป็นตัวเราเองมากกว่าที่กดดันและฝืนตัวเองมากเกินไป

“พิว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเกมยาว เราต้องรักษาใจนักสู้ไปด้วย ไม่ใช่ชวนกันไปสู้อย่างเดียว ทอล์กของเต้ยนี่เสียน้ำตากันหลายคน เต้ยเองซ้อมทีไรก็น้ำตาไหลทุกที”

ด้วยโจทย์ TEDCountdown ทำให้ TEDxBangkok ปีนี้ มีเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอยู่บนเวทีทอล์กอยู่ 38 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5 ใน 13 ทอล์ก เป็นการแทรกตัวอยู่อย่างกลมกล่อม โดยที่เราไม่ได้รู้สึกถึงความผิดแปลกจากเดิม

“โจทย์ของ TED ไม่ใช่การเอาคนที่อินอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว มานั่งฟังนั่งคุยกันแค่ในแวดวง ฟังก์ชั่นของ TED เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นตรงกลาง ที่พาคนใหม่ ๆ มาสนุกกับไอเดียเหล่านี้ คนภาคธุรกิจที่ปกติไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้มาเจอมุมที่อิงโก้เล่า แล้วก็เออว่ะ มันทำแบบนี้ได้นี่ หรือคนในภาครัฐที่ไม่ค่อยฟังเสียงประชาชนที่อยู่ไกล ๆ พอได้มาเจออาจารย์คนึงนิจก็รู้สึกว่ามันมีอะไรที่เปลี่ยนได้ มันเป็น surprise moment ที่เราได้มาลองขึ้นเครื่องเล่นใหม่ ๆ ที่สปีกเกอร์พาเราไปอยู่ในอีกแวดวงหนึ่ง ได้เจอไอเดียที่หลากหลายแล้วเอากลับไปใช้ได้

การที่จะผลักดันประเด็นอะไรก็ตาม จะอิงคนกลุ่มเดียวกันไม่ได้ ต้องคนจากหลาย ๆ แวดวงมาช่วยกัน

“ในคอร์ของ TED เราชูคีย์เวิร์ดเรื่องความหลากหลาย แม้จะเป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีความหลากหลาย คิดว่าถ้าคนได้เปิดมุมมองประมาณนี้ เขาจะสามารถไปต่อยอดได้ ส่วนตัวพิเชื่อว่า การที่จะผลักดันประเด็นอะไรก็ตาม จะอิงคนกลุ่มเดียวกันไม่ได้ ต้องคนจากหลาย ๆ แวดวงมาช่วยกันและร่วมมือกัน และสนามเด็กเล่นในชื่อ TED นี่แหละที่พาเขามาเจอกัน”

กรีน (ครั้งนี้) แล้วได้อะไร  
นอกจากเรื่องผลลัพธ์ของการลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตเสื้อสตาฟฟ์ที่พิเล่าไปในตอนต้น การหย่อนดีเทลของความกรีนลงในอีเวนต์ที่เกิดเป็นภาพในวันจริง เราพบว่าความตั้งใจของทีมอาสาสมัคร TEDxBangkok ทัชใจคนที่เข้าร่วมงานอยู่ไม่น้อย แม้ทางผู้จัดงานจะออกตัวว่า ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ ในการเป็นตัวอย่างอีเวนต์ด้านการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนก็ตามที

ในอีเวนต์นี้มีการลดการผลิตสิ่งพิมพ์ใหม่ ผู้ร่วมงานสามารถอ่านสูจิบัตรออนไลน์ได้ด้วยการสแกนผ่าน Line OA บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มภายในงานที่มาจากวัสดุธรรมชาติหรือรีไซเคิลได้จะถูกเลือกมาเป็นตัวเลือกแรก โซนแยกขยะมีอาสาสมัครประจำจุดช่วยสื่อสารและแยกขยะภายในงาน เพื่อนำไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลโดยมี กทม. เข้ามารับไปจัดการต่อ ขยะในงานนี้ถูกนำไปรีไซเคิล 77.6 กิโลกรัม ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างน้อย 180 kg Co2e มีการส่งต่ออาหารให้กับคนในพื้นที่, ศูนย์พัฒนาเด็กดวงแข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และร่วมมือกับ SOS ส่งมอบอาหารให้ The Hub Saidek-Childline Thailand Foundation, และชุมชนพระเจน

และจากการสอบถามผู้เข้าร่วมงาน พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมยินดีพกกระบอกน้ำมาเอง โดยภายในงานมีการจัดเตรียมจุดเติมน้ำดื่มไว้ให้ รวมทั้งสื่อสารขอความร่วมมือกับผู้ร่วมงานให้เดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะ

“ความน่ารักของงานนี้อีกอย่างก็คือ สปอนเซอร์ที่มาจัดบูธในพื้นที่ พอเขารู้ว่าเรามี TEDCountdown ทุกคนก็ขยับเข้ามาทำความเข้าใจร่วมกัน และพยายามเท่าที่เราทำกันได้ อย่างต้องลดเรื่องการแจกของหรือสร้างขยะที่มากเกินไป มันเป็นการต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนเหมือนกันนะ เพราะปกติเวลาจัดอีเวนต์เราจะคุยกันว่าทำยังไงให้บูธน่าสนใจ จะเล่าเรื่องแบรนด์ยังไง แต่พอเรามาเจอกันตรงกลางก็มีมุมที่เขาต้องคิดมากขึ้น

“พิว่าทุกคนมี KPI ที่ต้องถือ แต่พอมาอยู่ในสนามเด็กเล่นที่ชื่อ TEDxBangkok มันทำให้เราหันด้านน่ารักเข้ามาหากัน เรามีเป้าหมายของการทำงาน เรามีสิ่งที่แบรนด์เราเชื่อ เป็นไอเดียที่เราอยากขับเคลื่อนออกมาหากัน มันดูยูโทเปียมากนะ เวลาเรากลับไปใช้ชีวิตจริงมันอาจไม่ได้สวยงามรอบด้านเท่านี้ แต่โลกมันก็เป็นแบบนี้แหละครับ มันคงมีบางพื้นที่ที่ให้เราได้มาเติมจิตเติมใจ ชุบชูใจกันบ้าง มีอุปสรรคบ้าง ขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน มีหลาย ๆ อย่างที่น่ารักดีในปีนี้ และเราต้องขอใช้มุกเก่าอีกรอบใน TEDxBangkok ปีหน้า”

ขอบคุณภาพจาก: TEDxBangkok