“ทุกคนคือ Changemaker และการเป็น Changemaker ไม่ต้องเริ่มที่ไหนไกล เริ่มง่าย ๆ ที่ตัวเอง”

ดร. สุจิตรา วาสนาดำรงดี หรือ ‘อาจารย์กุ๊ก’ คือนักวิจัยชำนาญการแห่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เชิงนโยบาย การจัดการขยะและของเสียอันตราย และการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่อีกบทบาทสำคัญคือการเป็น ‘คุณแม่สายกรีน’ ผู้อยากให้สามีและลูกร่วมกันรักษ์โลกอย่างเข้าใจผ่านการลงมือทำ

อาจารย์กุ๊กบอกกับเราตั้งแต่ต้นว่า วิธีการดูแลสิ่งแวดล้อมของเธอมีทั้งแบบที่คนทั่วไปทำตามได้และแบบที่ต้องใช้ใจรักมากเป็นพิเศษ ถึงอย่างนั้นบ้านชั้นเดียวที่มีโซนแยกขยะ และสวนหลังบ้านที่เลี้ยงไส้เดือนเอาไว้ย่อยสลายเศษอาหารก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินทำตาม ในทางตรงกันข้าม ชีวิตประจำวันของคุณแม่สายกรีนคนนี้กลับน่าสนใจและน่าสนุกกว่าที่คิด

ย้อนอดีตก่อนกรีนของเด็กสิงห์ดำ
แทบไม่มีใครเชื่อว่าอาจารย์กุ๊กคืออดีตเด็กรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งรั้วจามจุรี เพราะตำแหน่งทางวิชาการและตัวตนที่คนรู้จักในปัจจุบันมุ่งไปทางสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน แต่จุดเชื่อมของทั้งสองศาสตร์อยู่ที่ความสนใจเรื่อง ‘สังคม’ โดยเฉพาะการทำให้สังคมดีขึ้น

หลังเรียนจบ อาจารย์กุ๊กได้ทุนไปศึกษาด้านการพัฒนาที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น จนได้พบกับอาจารย์ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเคยทำโครงการร่วมกับคนไทยมาก่อน เข็มทิศชีวิตของเธอจึงได้เวลาหมุนอีกครั้ง

เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมทำให้อาจารย์กุ๊กรู้จักการแก้ปัญหาโดยการใช้เครื่องมือและการกำหนดนโยบาย แต่ในช่วงนั้นตัวเธอเองยังไม่อินกับปัญหามากนัก การพกถุงผ้าไปช้อปปิ้งก็เพื่อสะสมแต้มโดยยังไม่ได้มองเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่เธอชอบคือการเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายที่ทำให้เกิดการแยกขยะอย่างจริงจัง จนกลายเป็นบรรทัดฐานและความเคยชินของสังคม

หลังกลับมา อาจารย์กุ๊กเริ่มทำงานที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยก่อนย้ายไปสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยด้านการจัดการขยะอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงการร่างกฎหมายเพื่อจัดการขยะประเภทดังกล่าว

“10 กว่าปีที่แล้วเราทำเรื่องเหล่านี้ แต่ในชีวิตประจำวันก็ยังไม่ปรับพฤติกรรม จุดเปลี่ยนจริง ๆ น่าจะมาจากตอนที่เข้ามาช่วยโครงการ Chula Zero Waste จากที่จะเสนอแผนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในมหาวิทยาลัย คิดไปคิดมา ไหน ๆ จะจัดการขยะในมหาวิทยาลัยก็ควรจะทำทั้งหมด เลยเป็นที่มาของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) Chula Zero Waste จัดการขยะทุกประเภท ยกเว้นพวกใบไม้กิ่งไม้และของเสียในห้องปฏิบัติการ”

โครงการ Chula Zero Waste ดำเนินมาได้ 7 ปีแล้วและมีผู้สานต่ออุดมการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิสิตหรือบุคลากรในมหาวิทยาลัย นอกจากประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ความตระหนักรู้ก็เพิ่มตาม อาจารย์กุ๊กเริ่มศึกษาประเด็นขยะรอบตัว อย่างเรื่องไมโครพลาสติกซึ่งมีการพูดถึงในต่างประเทศมาตั้งแต่เกือบสิบปีก่อน

เราจะทำ Chula Zero Waste เราต้องปรับวิธีการบริโภคของตัวเองด้วย จัดการขยะให้ดีขึ้น มหาวิทยาลัยถึงจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคมได้

“ตอนนั้นเราดูคลิปผลกระทบเรื่องขยะเยอะมาก เกาะเต็มไปด้วยพลาสติก นกคาบขยะพลาสติกในทะเลมาป้อนให้ลูกนกกินจนในที่สุดก็ขาดสารอาหารตาย รู้สึกจริง ๆ นะว่ามันซีเรียสแล้ว แล้วเราจะทำ Chula Zero Waste เราต้องปรับวิธีการบริโภคของตัวเองด้วย จัดการขยะให้ดีขึ้น มหาวิทยาลัยถึงจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคมได้” และนั่นคือการควบรวมบทบาท Mother and Changemaker ของเธอ

คุณแม่สายกรีน-นักแยกขยะผู้เลี้ยงไส้เดือน
“สมัยเด็กไม่ได้มีเรื่องอะไรพวกนี้อยู่ในครอบครัวเลย คุณพ่อปลูกฝังแค่กินข้าวให้หมด คุณแม่แยกขยะไปขายเพราะแรงจูงใจเรื่องเงิน พอทำ Chula Zero Waste และถึงเวลาที่เรามีครอบครัวเอง เราก็เริ่มทำอย่างจริงจังเลย”

ความจริงจังที่เธอเล่าให้ฟังคือการไม่สั่งอาหารเดลิเวอรี่ ช่วงโควิด-19 อาจารย์กุ๊กทำอาหารทานเอง หรือใช้ทัปเปอร์แวร์ไปใส่อาหารตามร้าน ส่วนข้าวของเครื่องใช้ยังต้องสั่งออนไลน์อยู่บ้าง แต่มีการแยกขยะอย่างถูกต้องทุกครั้ง เราถามเธอกลับว่า มีบ้างไหมที่ทานอาหารแล้วเหลือ เธอตอบกลับแทบจะทันทีว่า “ไม่มีค่ะ ถ้าเหลือก็แช่ตู้เย็น แช่แข็ง กินต่อได้ หากอาหารเหลือในสภาพแย่จริง ๆ ค่อยเอาไปทำปุ๋ยหมัก”

แต่ในช่วงโควิด-19 ไม่ได้มีอุปสรรคแค่เรื่องอาหาร เรื่องเครื่องดื่มที่งดรับแก้วส่วนตัวก็เช่นกัน อาจารย์กุ๊กไม่ได้ต้องการส่วนลดในการพกแก้วมาเอง แต่กังวลเรื่องสร้างขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมากกว่า

“เราก้าวไปอีกขั้นด้วยการชงกาแฟสดดื่มเอง ถอยเครื่องชง เครื่องบดมา ดริปแบบเวียดนาม ไม่ต้องใช้กระดาษกรอง ค้นพบว่าประหยัดกว่าด้วย เอาเงินไปลงทุนกับเมล็ดกาแฟดี ๆ หอม ๆ ตอนนี้มีเยอะเลยที่ปลูกแซมไปกับป่า เรียกว่า แนวกาแฟรักษ์โลก ทีนี้เราเองก็ดื่มแบบอุ่นใจ เพราะอนุรักษ์ป่าไม้ไปด้วย เราไม่สร้างขยะเลย ยกเว้นซองที่ใส่เม็ดกาแฟที่ส่งเผาเป็นขยะเชื้อเพลิง หรือ Refuse Derived Fuel (RDF) ได้ กากกาแฟก็เอามาทำปุ๋ย”

หากเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน อาจารย์กุ๊กเลือกประหยัดพลังงานโดยการใช้บันไดแทนลิฟต์ในที่ทำงาน (เดิน 3 ชั้น) ส่งต่อของเหลือใช้ เช่น เสื้อผ้าให้กับคนที่ต้องการ ใช้ของมือสองจากเพื่อน ลดการช้อปปิ้งเครื่องแต่งกาย หลีกเลี่ยง fast fashion เน้นสวมผ้าธรรมชาติ ฝ้าย ลินิน เท่าที่ทำได้ เธอยังบอกอีกว่า ชาวสายกรีนต้องยอมเป็นคนกระเป๋าใหญ่ เธอพกภาชนะใช้ซ้ำตั้งแต่ ถุงผ้า กระบอกน้ำ แก้วเก็บเย็น จนถึงทัปเปอร์แวร์ และถุงพลาสติก เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างขยะเพิ่ม

“ถ้าคนอื่นทำได้ก็ดีนะ เวลาพาครอบครัวไปทานอาหารนอกบ้าน เราพกทัปเปอร์แวร์ไปที่ร้าน เวลาทานอะไรไม่หมดก็โกยกลับ แรก ๆ อาจจะอายหน่อย แต่หลัง ๆ เดี๋ยวชิน (หัวเราะ) เราจริงจังทั้งเรื่องขยะอาหารและขยะจากบรรจุภัณฑ์ การพกไปเองตอบโจทย์กว่า แต่อาจจะต้องวางแผนนิดนึงเรื่องขนาดทัปเปอร์แวร์ เช่น ไปห้างซื้อเบเกอรี่ต้องขนาดใหญ่หน่อย เราถือคติว่าเหลือไม่ได้ใช้ ดีกว่าขาด”

ถึงจะส่งขยะไปเผาสร้างพลังงานได้ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งแวดล้อม

“แล้วเคยมีบ้างไหมที่จำใจต้องรับพลาสติกมาในช่วงโควิด” เราถามต่อ เธอบอกว่าถ้าเลี่ยงได้ก็จะได้เลี่ยง แต่หากอยากกินก็ซื้อเช่นกัน เพราะการเป็นสายกรีนไม่ได้แปลว่าต้องอดทุกอย่าง หลังจากนั้นยังต้องแยกขยะและกำจัดให้ถูกวิธี และควรเข้าใจว่าถึงจะส่งขยะไปเผาสร้างพลังงานได้ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งแวดล้อม

การแยกขยะคือพื้นฐานของสายกรีน ส่วนอาจารย์กุ๊กแยกขยะถึงขั้นขยะ RDF ซึ่งเป็นขยะที่เผาเป็นพลังงานได้ โดยขยะเหล่านี้บางทีก็มาแบบไม่ตั้งใจ เช่น เธอตั้งใจไม่รับหลอดและฝึกดื่มน้ำจากแก้ว แต่ทางร้านกลับปักหลอดมาให้ เธอเลือกใช้หลอดนั้นและนำกลับบ้านแยกเป็นขยะ RDF จากนั้นจึงนำส่งไปที่จุฬาฯ เพื่อส่งต่อไปยังปลายทางในโรงปูนซีเมนต์

“ทุกอย่างจัดการได้ที่บ้าน เราแยกขยะขายได้กับขายไม่ได้ อันไหนบริจาคได้ก็แยกไว้ นอกจากนี้แยกเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก บ้านของเราคือ Zero Waste Home มีแค่ทิชชู่และเศษผมเดือนละ 1 ถุงส่งให้ กทม. รวมไปถึงขยะอันตรายที่นาน ๆ จะมีที เช่น หลอดไฟ ถ่ายไฟฉาย อันนี้ก็ไปส่งที่จุฬาฯ เช่นกัน”

โซนแยกขยะในบ้านของเธอเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความบ้าน ๆ ไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่มีชั้นสวยงาม ใช้เพียงถุงขาวขุ่นที่มองเห็นด้านในตั้งไว้บริเวณห้องครัว

“เราตากของที่ล้างไว้ตรงอ่างล้างจาน อยากทำให้มันง่ายที่สุด เพราะเราก็งานเยอะ พอถุงเต็มค่อยเขียนหน้าถุงว่ามันคืออะไรแล้วส่งเลย ตอนนี้ชอบมากคือ จุดรับขยะรีไซเคิลของ Trash Lucky ที่ปั๊มน้ำมันแถวบ้าน รับทุกอย่างรวมถึงกล่องยูเอชทีและพลาสติกยืด” นอกนั้นคือเหตุผลเรื่องจุดให้บริการที่สะดวกต่อผู้ใช้บริการ อย่างตอนนี้ก็เป็นทางผ่านของเธอพอดี

อาจารย์กุ๊กเล่าต่อว่า เวลาไปเที่ยวจะมีคติประจำใจคือ ต้องรับผิดชอบขยะทุกชิ้นที่สร้างขึ้น เธอพกฟองน้ำและน้ำยาล้างจานขนาดเล็กติดตัวไปด้วยในกระเป๋าเดินทาง เวลาแวะพักและซื้ออาหาร เธอจะล้างภาชนะและบรรจุภัณฑ์ทุกอย่างเพื่อนำกลับมาแยกที่บ้าน “เรื่องขยะมันวิกฤติแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นว่าเป็นปัญหา ส่วนเราทนไม่ได้” เธอยืนยัน

“เราเห็นแล้วรู้ว่า ขยะที่ขายไม่ได้ ถ้าทิ้งในโรงแรมหรือในร้าน เขาต้องเอาไปทิ้งรวมกันแน่ ๆ หากเราเก็บกลับมา เรารู้ว่าจะจัดการอย่างไร ไม่รู้เรียกว่าสุดโต่งหรือเปล่านะ (หัวเราะ) แต่เราทำกันในครอบครัว ตอนแรกสามีก็ว่า แต่หลัง ๆ เขาก็ไม่ว่าแล้ว เราไม่เคยทะเลาะกัน มีบ่นบ้าง แต่เขาก็ทำร่วมกับเรามาหลายปี อย่างถ้ามีอาหารใส่มาในถุงพลาสติก เขาก็จะล้างถุงตากไว้ให้”

อย่างที่ทราบว่าเธอคือคุณแม่ผู้จริงจังกับการแยกขยะ ลูกสาวและลูกชายของเธอก็เช่นกัน พวกเขาเรียนรู้เรื่องการรับผิดชอบขยะที่ตนเองสร้างมาตั้งแต่จำความได้ เริ่มจากการดูดนมให้หมดกล่อง ตัดปาก และล้างกล่องนมคว่ำไว้ รอให้แม่นำไปแยก

เราแค่ทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง และสร้างวินัยให้เขาโดยให้เขาจัดการสิ่งที่บริโภคไป

“ลูกของเราโตมากับ Chula Zero Waste เขารู้ว่าแม่ทำเรื่องนี้ทั้งที่เราไม่ได้ปลูกฝังอย่างจริงจังทางวาจา เราแค่ทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง และสร้างวินัยให้เขาโดยให้เขาจัดการสิ่งที่บริโภคไป”

ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด เธอพาลูกทั้งสองออกไปเก็บขยะนอกบ้าน ซึ่งสิ่งนี้เริ่มเข้มข้นขึ้นหลังจากเห็นคลิปวาฬตายจากขยะในท้อง เมื่อเห็นขยะทุกชิ้นนอกบ้าน เธอจึงนึกถึงสัตว์โลกผู้น่าสงสารเหล่านั้น

“ถ้ามันไม่สกปรกก็แค่หยิบไปทิ้งขยะ ไม่แน่ว่าวันหนึ่งมันอาจจะลงทะเลไปอยู่ในท้องวาฬหรือเต่าก็ได้ ในกระเป๋ามีพกคีมขนาดเล็กเอาไว้คีบขยะใส่ถุงเอาไปทิ้งด้วย แต่พอช่วงโควิดก็พักไปไม่ได้ทำ นี่เพิ่งคุยกับลูกเองว่าเราไปเก็บขยะในหมู่บ้านกันอีกไหม” ลูกทั้งสองของเธอซึมซับคำสอนและภูมิใจที่แม่ของพวกเขาขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้

“มีมาฟ้องด้วยนะคะว่า ครูบอกให้แยกขยะแต่ครูซื้อข้าวกล่องมากิน” อีกฝ่ายหัวเราะ เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์กุ๊กส่งลูกไปเข้าค่าย แต่ลูกของเธอกลับมาพร้อมถุงปริศนา ซึ่งถุงนั้นเต็มไปด้วยขยะจากกิจกรรมในโรงเรียนที่ลูกบอกว่า อยากให้คุณแม่ช่วยแยกต่อ

“เด็ก ๆ จะกินขนมกินนม มีคนบอกว่าพวกสายกรีนเปลืองน้ำ แต่ถ้าเราเป็นสายกรีนจริงจัง เราไม่ได้คอนเซิร์นแค่เรื่องขยะค่ะ เราสนใจเรื่องทรัพยากรทุกอย่าง บ้านเราเก็บน้ำล้างจานน้ำสุดท้ายเอาไว้หากไม่สกปรกมาก แล้วให้ลูกเอาน้ำนั้นมาล้างกล่องนม ไม่ต้องเปิดก๊อกน้ำใหม่” เธออธิบาย เราจึงถามต่อว่า แล้วผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ต้องเป็นออร์แกนิกทั้งหมดไหม อีกฝ่ายตอบว่าใช้เพียงบางอย่าง เพราะบางผลิตภัณฑ์มีราคาสูง

จากที่เห็นเธอจัดการขยะได้อย่างยอดเยี่ยม เราถามต่อว่าได้เลี้ยงสัตว์อะไรบ้างไหม เพราะสงสัยว่าเธอจะมีวิธีการเลี้ยงสัตว์อย่างรักษ์โลกอย่างไรบ้าง

“เลี้ยงไส้เดือนนับไหมคะ” อีกฝ่ายหัวเราะ อาจารย์กุ๊กว่าบอกนี่อาจเป็นบางอย่างที่คนทั่วไปทำตามไม่ได้ แต่ไส้เดือนของเธอช่วยกำจัดเศษอาหารได้เป็นอย่างดี

“แต่เดิมยังไม่ไปถึงขั้นนี้หรอก ไม่ได้ตั้งใจ แต่เราได้ไปทำงานในชุมชนที่พระประแดง พอดีแกนนำเขาเลี้ยงไส้เดือน แต่ต้องไปแสวงบุญอยู่หลายเดือน ถ้าเขาปล่อยไส้เดือนทิ้งไป เราก็เสียดาย พอเขาถามว่าอยากเลี้ยงไหม เราเลยรับช่วงต่อมา เขาก็ให้วัสดุอุปกรณ์มาหมด ไม่ยากนะ แถมยังช่วยจัดการเปลือกผลไม้ เศษผักผลไม้ได้ แต่ก่อนจะโยนลงถังหมักปุ๋ย ส่วนตอนนี้อะไรที่น้อง (ไส้เดือน) ทานได้ก็จะเอาให้เขาทานก่อน”

บริเวณหลังบ้านของอาจารย์กุ๊กทำเป็นครัวเปิด สวนหลังบ้านเลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 4 กะละมัง ตั้งไว้ในพื้นที่ที่ไม่โดนแดด มี Bedding เป็นมูลวัวแห้งที่คลายความร้อนแล้ว เติมเศษผัก เปลือกผลไม้ มะละกอที่หล่นจากต้น ให้ไส้เดือนกิน ผลผลิตที่ได้ก็คือปุ๋ยมูลไส้เดือนสำหรับใส่ต้นไม้และปลูกผักต่อ โดยผสมกับปุ๋ยหมักจากเศษอาหารและใบไม้แห้ง ซึ่งหนึ่งเดือนจะมีการย้ายบ้านให้สักที เจ้าของบ้านยังเสริมอีกว่า ปุ๋ยมูลไส้เดือนขายต่อได้ แต่ตอนนี้เธอเลี้ยงไส้เดือนเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น

Changemakers make Future
จากการเป็นที่ปรึกษาโครงการ Chula Zero Waste มากว่า 5 ปี อาจารย์กุ๊กขยายงานของตัวเองไปยังชุมชน และทำร่วมกับผู้ว่ากรุงเทพมหานครในเชิงนโยบาย ผลักดันกฎหมายการแยกขยะให้ผู้ผลิตมีส่วนรับผิดชอบ
“มันไม่ใช่แค่สร้างความตระหนักในตัวผู้บริโภค ถ้าเราสร้างแค่จิตสำนึกด้านเดียว เราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ และเรารอเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้เช่นกัน

เราใช้ความตระหนักไปเปลี่ยนประชากรกลุ่มใหญ่ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการใช้กฎหมายเปลี่ยน

“การปฏิบัติและนโยบายควรไปพร้อมกันเพื่อเป็นตัวสร้างสังคมพื้นฐานในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม รัฐต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจังควบคู่ไปกับการรณรงค์สร้างความตระหนัก แต่ตอนนี้เราเน้นแค่เรื่องการตระหนัก ซึ่งอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากนักเนื่องจากสายกรีนอาจเป็นเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งหมด เราใช้ความตระหนักไปเปลี่ยนประชากรกลุ่มใหญ่ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการใช้กฎหมายเปลี่ยน”

อาจารย์กุ๊กบอกว่า ความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลงตาม

“คนเปลี่ยนเพราะเขาเริ่มเห็นวิกฤติแล้ว สมัยก่อนเราไม่รู้สึกว่าสำคัญ ส่วนตอนนี้เราเห็นแล้วว่าทุกคนรับผิดชอบได้ มันง่ายที่จะเริ่มจากตัวเอง อย่างเรื่อง PM2.5 เราเข้าใจว่าคนทั่วไปทำงานเชิงรุกไม่ได้ เราแก้เองไม่ได้ ทำได้แต่เชิงป้องกัน ขณะที่เรื่องขยะ เราทำเชิงรุกได้โดยลดที่ต้นทางคือตัวเอง และเราช่วยกันเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ระดับกฎหมายได้”

คุณแม่สายกรีนปิดท้ายด้วยการย้ำว่าทุกคนคือ Changemaker ผู้สร้างความสุขให้ตัวเองในปัจจุบัน และขั้นกว่าที่จะทำให้ความสุขเพิ่มพูนคือการสร้างความสุขให้กับสังคม

“การทำให้สังคมดีขึ้นไม่ได้จำกัดแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งช่วยคนที่เดือดร้อนก็คือการทำให้สังคมดีขึ้น การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ต้องทำเรื่องใหญ่ แยกขยะก็ได้ ลดขยะก็ดี ความเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย”

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร