เราเดินทางราวหนึ่งร้อยกิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดราชบุรี มานั่งอยู่ในสวนลุงชะเอม กิจการสวนมะพร้าวของครอบครัวที่ กุ้ง–ชนัญญา เชวงโชติ ตัดสินใจร่ำลาอาชีพเชฟในต่างถิ่นที่ทำมาเกินทศวรรษกลับมาสานต่อ

สวนมะพร้าวแห่งนี้เขียวขจีกว่าสวนที่เราเคยเห็นผ่านตา ในท้องร่องแทนที่จะปล่อยให้โล่งโล้นเป็นสีน้ำตาลดิน กลับปลูกพืชคลุมไว้แน่นหนา ในร่องน้ำกองทัพเป็ดเกินสิบชีวิตส่งเสียงทักทายแบบไม่มีทีท่าว่าจะเหนื่อย ก่อนจะทยอยตบเท้าเดินขึ้นมาโชว์ตัว

ไม่นาน ไอศกรีมมะพร้าวน้ำหอมถูกวางลงบนโต๊ะ เราใช้ช้อนไม้ตักไอศกรีมจากภาชนะกะลาขึ้นชิม เนื้อแน่นแต่ไม่ถึงกับหนัก รสหวานพอดี กลิ่นหอมพอใจ พื้นที่หน้าสวนเป็นที่ตั้งของร้านไอศกรีมเล็ก ๆ ที่ผลิตจากมะพร้าวหน้าตาไม่ดีที่ถูกคัดทิ้ง ไม่ได้ติดรถออกไปขายกับเพื่อนร่วมทะลาย แต่แทนที่จะโยนลงน้ำให้กลายเป็นปุ๋ย ชนัญญาเลือกเพิ่มมูลค่าด้วยสกิลเชฟหยิบมาแปรเป็นไอศกรีม

“เมื่อก่อนที่นี่ทำสวนเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์” เธอย้อนเล่าถึงจุดเริ่ม ก่อนจะมาเป็นสวนมะพร้าว ลุงชะเอม ผู้เป็นพ่อเคยมีชื่อเสียงจากการปลูกพืชแปลกตา (ในยุคนั้น) ส่งออกประเทศญี่ปุ่น ทั้งถั่วแระ กระเจี๊ยบเขียว โมโรเฮยะ 9 ปีให้หลัง เมื่อญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ลุงชะเอมเลยเปลี่ยนแปลงมาปลูกมะพร้าว พืชผลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดราชบุรี แต่อยู่มาวันหนึ่ง สวนแห่งนี้ถึงคราวต้องเจอสารพัดปัญหา ทั้งแมลงศัตรูพืช ดินเป็นกรดจัด ขาดแคลนแรงงาน และค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ต่อปีที่หมดไปกับการแก้ไขปัญหารายวัน โดยที่ต้นตอปัญหายังอยู่ครบ

ชนัญญาอยากลองเปลี่ยนสวนเคมีให้มาเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน โดยที่ตัวเองก็ยังไม่มั่นใจในผลลัพธ์ แน่นอนว่าลุงชะเอมคัดค้านสุดแรง เพราะมองว่าเกษตรอินทรีย์เป็นภาพฝันลวงตา ไม่สามารถอยู่รอดได้ในเชิงพาณิชย์

“ถ้าไม่ได้จริง ๆ เราจะกลับไปทำเคมีอย่างเดิม” ชนัญญายืนยันแบบนั้น ลุงชะเอมจำยอมด้วยเหตุผล เพราะขณะที่ลูกสาวทยอยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียไปจากเคมีให้กลับมาสมดุล ความเข้าใจเดิม ๆ ของพ่อที่มีต่อเกษตรอินทรีย์ก็ได้ถูกรื้อถอนออกไปด้วย เมื่อพวกเขาได้ ‘เห็นกับตา’ ว่าธรรมชาติสามารถจัดการตัวเองได้จริง ๆ และผลผลิตที่มีก็ดีกว่าเดิม

อะไรทำให้เชฟที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ อยากกลับบ้านมาทำสวนมะพร้าว
เราเป็นเชฟในเครือโรงแรมต่างประเทศมาประมาณ 15 ปี ทำงานมาหลายเมือง สิงคโปร์ มัลดีฟส์ ฮ่องกง มาเก๊า จีน ฟีจี ประเทศสุดท้ายก่อนกลับบ้านคืออินโดนีเซีย ตอนเป็นเชฟ เราให้ความสำคัญกับการเลือกวัตถุดิบถึงขนาดที่ว่าไม่ยอมซื้อของจากตลาด แต่ขอพื้นที่ทำสวนครัวบนดาดฟ้าโรงแรม ทดลองปลูกผักในห้องอาหาร ส่งเสริมชาวบ้านละแวกนั้นให้ปลูกผักปลอดภัยมาส่งที่เรา ตั้งใจจะทำร้านอาหารที่ไม่เป็นภาระต่อใครเลย

ช่วงที่หมดสัญญากับบริษัทที่อินโดนีเซีย บวกกับโอไมครอนเพิ่งระบาด บริษัทเห็นว่าสถานการณ์โควิดทำให้เราไม่ได้กลับบ้านหลายปีแล้ว เลยถือโอกาสนี้ให้กลับมาพักผ่อนระหว่างรอย้ายไปประเทศอื่น ตอนนั้นอินโดนีเซียยังไม่มีแนวโน้มเปิดประเทศ เราเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะไปต่อในทิศทางไหน แต่ด้วยความที่ไม่ได้อยู่บ้านมานานมาก พอกลับมาอยู่จริง ๆ ก็เริ่มรู้สึกไม่อยากไปไหนแล้ว (หัวเราะ) อยากใช้ชีวิตกับครอบครัว เลยตัดสินใจว่าจะกลับมาอยู่บ้าน

จะว่าไปเรามีต้นทุนที่ดีกว่าคนอื่นนะ ครอบครัวทำภาคเกษตรมา ทุกครั้งที่บอกเพื่อนต่างชาติว่าที่บ้านทำสวนมะพร้าว ทุกคนตื่นเต้นมาก เพราะในต่างประเทศ ใครเป็นเกษตรกร คนนั้นเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เป็นคนมีความรู้และมีเงิน แตกต่างกับภาพจำที่คนไทยมีต่อเกษตรกรอย่างสิ้นเชิง

และการเกษตรมันต่อยอดไปสู่อะไรอื่นได้อีกเยอะ เกษตรกรรุ่นใหม่ก็พัฒนาไปมาก องค์ความรู้ต่าง ๆ ก็เข้าถึงได้ง่ายกว่าแต่ก่อน เราเลยอยากลองเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกันกับทุกคนเพื่อเปลี่ยนแปลงภาพจำที่มีต่อเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาพ่อก็ยังทำเกษตรแบบคนรุ่นเก่า เดิมทีสวนนี้เป็นเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังไม่ได้เป็นอินทรีย์แบบทุกวันนี้

มีจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าใช้เคมีแบบเดิมต่อไปไม่ได้แล้ว
ต้องย้อนเล่าก่อนว่าเมื่อก่อนพ่อเราปลูกพืชล้มลุกส่งออกญี่ปุ่นทั้งหมด พวกกระเจี๊ยบเขียว ถั่วแระญี่ปุ่น โมโรเฮยะ แต่หลังจากญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตไปอยู่เวียดนาม พ่อเลยเปลี่ยนมาปลูกมะพร้าวได้ประมาณ 8-9 ปีนี้เอง แต่จุดเปลี่ยนคือเมื่อ 3 ปีที่แล้วสวนแห่งนี้โดนหนอนหัวดำ แมลงศัตรูมะพร้าวต่างถิ่นที่เข้ามาระบาดในประเทศไทย ใบที่เห็นเขียว ๆ ตอนนี้ ช่วงนั้นกลายเป็นสีดำจากการโดนแมลงกินทั้งหมด พ่อทำสวนมะพร้าวมาหลายปีก็ไม่เคยเจอแบบนี้ พ่อก็ไปปรึกษาร้านขายเคมีเกษตร ได้ยากลับมาชุดนึง แต่ผลคือยิ่งฉีดยิ่งหนักกว่าเดิม เราเลยตัดสินใจไปปรึกษาเกษตรตำบล เขาแนะนำให้ลองใช้แตนเบียน ฟังครั้งแรกก็งง เพราะไม่รู้จักมาก่อน มันเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติ ตัวเล็ก ๆ คล้ายแมลงหวี่ เจ้าหน้าที่จะให้มาเป็นกระปุก ตกเย็นก็แค่เปิดฝาปล่อยออกไปเฉย ๆ มันจะเข้าไปวางไข่ในลำตัวของหนอนหัวดำและเติบโตในนั้น ทำให้หนอนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ชื่อแตนเบียนหมายความว่าเขาจะไปเบียดเบียนแมลงศัตรูอื่น ๆ

ตอนนั้นเรารู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ลองดูก็ได้ แต่พอปล่อยแตนเบียนแค่ครั้งแรก กลายเป็นว่าใบมะพร้าวจากที่เคยดำทั้งหมด เริ่มกลับมาเป็นสีเขียวประมาณ 50% เราสันนิษฐานเองว่าด้วยความสูงของต้นมะพร้าว เวลาฉีดยาฆ่าแมลงบางทีมันก็ไปไม่ถึงตามซอกลำต้น แต่พอเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติ มันมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอยู่ ไม่ว่าหนอนจะลงไปซอกหลืบไหน แตนก็ตามไปเบียนจนได้ จากตรงนั้นเป็นจุดที่เริ่มคิดว่าที่ผ่านมาทั้งหมดเราน่าจะมาผิดทางแล้วล่ะ การใช้เคมีอาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน

อีกอย่าง สวนเราประสบปัญหาเรื่องดินเสีย ผลจากที่พ่อใช้เคมีมาตลอด ดินที่โดนสารเคมีมาก ๆ แทนที่จะมีรูระบายอากาศ กลับแน่นขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นดินแห้ง ๆ แข็ง ๆ ไม่มีสารอาหารให้พืชดูดซึม ทำให้พวกใบไม้ยืนต้นพากันเหลืองคาต้น ตอนนั้นเราขุดดินไปขอตรวจที่สถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี ผลออกมาว่าดินมีค่าความเป็นกรดจัด สภาพประมาณว่าถ้าขุดดินออกมาเป็นก้อนแล้วทุ่มไปบนพื้นกระเบื้อง พื้นแตกนะ แต่ดินไม่เป็นอะไร (หัวเราะ) สถานีพัฒนาที่ดินแนะนำว่าต้องเพิ่มอินทรียวัตถุเข้าไปในดิน เราเลยลองปรับเปลี่ยนมาใช้พวกปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ก็เริ่มเห็นภาพจากไม้ยืนต้นใบเหลือง ค่อย ๆ มีสีเขียวแซมให้ชื่นใจ

การกลับมาเจอปัญหาใหญ่ ๆ ทำให้ตัดสินใจว่าต้องทำอินทรีย์แล้ว เพราะเรานึกถึงอนาคตที่ถ้าวันหนึ่งต้องบริหารจัดการสวนพื้นที่ 35 ไร่ คนเดียว เราคงทำไม่ไหว เลยลองหาวิธีให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง ซึ่งการทำอินทรีย์ตอบโจทย์

ใช้เวลานานขนาดไหน กว่าจะเปลี่ยนมาเป็นสวนที่ปลอดเคมีได้สำเร็จ
เดือนนี้ก็จะครบปีพอดี (ชี้ไปที่ท้องร่อง) เห็นใบสีเขียว ๆ ในท้องร่องไหม มันชื่อใบต่างเหรียญ สวนเราเริ่มปลูกเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว รู้ตัวอีกทีมันขึ้นเขียวเต็มไปหมดอย่างที่เห็น แต่ก่อน พ่อเราจะเซนซิทีฟกับหญ้ามาก คือเห็นเมื่อไหร่ต้องอยากถอนออกให้โล่ง ปีปีนึงสวนเราต้องจ่ายค่าคนงานกับค่ายาฆ่าหญ้าเป็นเงินหลายแสน นั่นเป็นอีกจุดที่ทำให้เรากลับมาคิดทบทวนว่าทำไมเราเอาเงินไปทิ้ง มันน่าจะมีวิธีอื่นที่ช่วยลดต้นทุนตรงนี้สิ จนไปเจอใบต่างเหรียญที่สวนหนึ่ง แต่ที่นั่นไม่ได้ปลูกเยอะแบบนี้นะ เขาบอกว่าใบนี้ดีมาก เดินย่ำหน้าฝนเท้าก็ไม่ติดโคลน เราเห็นแล้วก็จินตนาการว่าถ้าเอามาปลูกที่สวนมะพร้าวทัศนียภาพคงสวย ข้างบนเขียวจากใบมะพร้าว ข้างล่างเขียวจากใบต่างเหรียญ ปลูกไว้เพื่อคลุมดินคลุมหญ้า ช่วยไม่ให้วัชพืชหรือหญ้าอื่นขึ้น ที่มากไปกว่านั้น ใบต่างเหรียญช่วยปรับปรุงดินด้วยการเก็บรักษาความชุ่มชื้นในดิน แต่เราไม่ต้องไปทำอะไร ปล่อยให้มันเลื้อยเอง ก็น่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะ

แต่ตอนแรก ๆ ที่เอาใบต่างเหรียญมาปลูก พ่อก็ไปฉีดยาให้มันตายนะ (หัวเราะ) เขาค้านหัวชนฝาว่ามันจะไปแย่งปุ๋ยมะพร้าว เราก็คิดว่าถ้าพ่อฉีดยาตาย เราก็จะปลูกใหม่ ดูสิ ใครจะอึดกว่ากัน (หัวเราะ) ขณะเดียวกันเราก็เข้าใจว่าเขาทำเคมีมาทั้งชีวิต เรากลับมาไม่ถึงปี บอกว่าจะมาทำเกษตรอินทรีย์ เขาก็คงมีความกังวลร้อยแปดพันเก้า เราก็อยากตอบข้อสงสัยของเขาให้ได้ด้วย เลยไปขอความช่วยเหลือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.เกียรติสุดา เหลืองวิลัย ด้วยความอยากรู้ว่าใบต่างเหรียญแย่งปุ๋ยมะพร้าวจริงหรือเปล่า อาจารย์ก็ยกทีมมาวิจัยให้ว่าการดูดธาตุอาหารก่อนและหลังใส่ปุ๋ย ปรากฏว่าตัวเลขที่ได้คือ 0.0001% คราวนี้เราเลยเอาผลงานทางวิชาการมาคุยกับพ่อ เขาก็ค่อย ๆ เปิดรับมากขึ้น การที่จะทำให้พ่อยอมรับ เราก็ต้องเอาเหตุผลมาคุยกัน

สิ่งที่สวนลุงชะเอมทำอยู่ไม่ใช่การทำสวนอินทรีย์อย่างเดียว แต่คือการฟื้นฟูดินไปด้วย ขั้นตอนของสวนที่เป็นมิตรกับดินแบบนี้ คุณเข้าใจมาก่อนไหม
ไม่เลย แต่เป็นจุดที่เราสนใจจะทำสวนแบบอินทรีย์แล้วล่ะ เพียงแต่ยังไม่มีต้นแบบของคนที่ทำสำเร็จ จนเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลมาชวนเข้าร่วมโครงการ ReCAP (Regenerative Coconuts Agriculture Project โครงการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน) ที่รวบรวมเกษตรกรมะพร้าวในพื้นที่ภาคกลาง สอนตั้งแต่การจัดการฟาร์ม สุขภาพดิน จัดการศัตรูพืช การฟื้นฟูสวนด้วยเกษตรอินทรีย์ ไปจนถึงการเพิ่มรายได้ในเชิงพาณิชย์ เราก็พาพ่อตระเวนดูสวนมะพร้าวอินทรีย์ของโครงการแทบทุกสวนเลย ไปเจอแต่ละสวนที่ทำอินทรีย์คล้าย ๆ ที่เราทำทุกวันนี้ ไม่ใช่อินทรีย์แบบสุดโต่งที่หญ้าขึ้นสูงกว่าต้นมะพร้าว ด้วยความข้องใจว่ามันจะทำได้จริง ๆ ไหม ขายได้จริงไหม แต่พอพ่อได้ไปเจอกับเกษตรกรสวนอื่น ๆ เขาก็เริ่มมีกำลังใจขึ้นมาว่ามันทำแบบนี้ได้จริง สวนอื่นก็มีผลผลิตเยอะ

การเปลี่ยนผ่านจากสวนเคมีมาเป็นสวนอินทรีย์ ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นยังไงบ้าง
จากสวนเคมีล้วนหันมาเป็นอินทรีย์ได้แค่ปีเดียว ผลผลิตของสวนเรากระโดดขึ้นไป 30-40% ขณะที่สวนอื่นเจอกับปัญหามะพร้าวขาดคอจากสภาพอากาศแล้งจัด ปกติมะพร้าวทะลายหนึ่งควรจะมี 10 ผล กลายเป็นออกแค่ 2 ผล ดอกมะพร้าวก็ร่วงหมด ซึ่งช่วงเวลานี้ควรจะมีผลดก เกษตรกรควรจะได้สตางค์ กลับกลายเป็นว่าผลผลิตของทุกสวนลดลงเกินครึ่ง แต่ที่น่าแปลกใจคือสวนมะพร้าวของเราไม่มีขาดคอเลยสักต้น อาจารย์จาก ม. เกษตร มาดูงานแล้วตั้งสมมติฐานว่าการปลูกใบต่างเหรียญน่าจะช่วยรักษาความชื้นใต้โคนต้นได้จริง ๆ เราก็มาสังเกตว่าปกติมะพร้าวต้องรดน้ำสัปดาห์ละสองถึงสามครั้ง แต่พอปลูกใบต่างเหรียญ เราไม่ได้รดน้ำบ่อยขนาดนั้น เคยลองไม่รดน้ำสัปดาห์หนึ่ง ไปขุดดูใต้ต้นก็ยังมีความชื้นอยู่

ทั้งที่เรามีตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ให้เห็นมากมาย แต่ทำไมหลายคนยังเลือกทำเกษตรแบบเดิม
เราว่าส่วนหนึ่งเป็นความเคยชินและไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ อย่างพ่อเรา เขาก็มองว่าสวนอินทรีย์เป็นภาพลวงตา เขาเห็นสวนที่ไม่สำเร็จมาเยอะ หรืออย่างหลายคนแถวนี้ก็มาถามเราว่า คนรับซื้อ เขาจ่ายค่ามะพร้าวเพิ่มขึ้นเหรอ ก็จะบอกเขาว่าเราได้ราคาผลผลิตเท่าคนอื่นนี่แหละ แต่เราลดต้นทุนได้ ไม่ต้องเสียเงินกำจัดหญ้า ไม่ต้องจ่ายค่าปุ๋ยเคมี และพอไม่ต้องรดน้ำบ่อย ๆ ก็ช่วยประหยัดค่าน้ำมันในการรดน้ำได้อีก ถ้าอดทนรอได้มันจะเกิดความสมดุลทางธรรมชาติ ทีนี้ผลผลิตจะมาเองทุกปี ในช่วงราคาดี ๆ บางสวนได้ผลผลิตน้อยจนไม่มีไปขาย แต่สวนเรามี แบบนี้ดีกว่าไหม

เกษตรอินทรีย์เป็นงานประณีต ต้องใช้ทั้งเวลาและความใส่ใจ ตอนแรกยากหน่อย แต่ระยะยาวให้ผลดีกว่า
การปลูกแบบอินทรีย์ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ขณะที่ผลผลิตของเคมีสวิงขึ้นลง ความยากอยู่ที่ใจเรามันร้อน อยากให้โตเร็ว ๆ เห็นโรคแมลงก็อยากจะฉีดยาให้จบ ๆ

เราทดลองทำอินทรีย์ในแบบที่ตัวเองเข้าใจ พ่อเป็นปราชญ์ชาวบ้าน มีประสบการณ์เยอะ บางเรื่องใหม่สำหรับเขาก็จริง แต่อย่าลืมว่าเราเองก็ไม่มีประสบการณ์เพียงพอ แทนที่จะมัวคิดว่าทำไมพ่อไม่เข้าใจ เราต่างหากต้องเปิดรับ ทำยังไงให้คนสองวัยมาเจอกันตรงกลางและเรียนรู้ไปด้วยกัน

อย่างสวนเราช่วงแรกใช้วิธีแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามแปลง แปลงนึงปลูกแบบอินทรีย์ แปลงนึงเคมี อีกแปลงทำแบบครึ่ง ๆ เป็นการทดลองที่เห็นผลได้ชัดเจน ตอนนี้พ่อก็ไม่ได้คัดค้านแล้ว มีแต่ความชื่นใจเวลาเห็นคนมาเยี่ยมชมสวนของเรา

เกษตรอินทรีย์ในแบบที่คุณเข้าใจคืออะไร
จากการลองผิดลองถูก เราเจอว่าหัวใจสำคัญของเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ความสมดุลทางธรรมชาติ เมื่อก่อนพ่อทำสวนมะพร้าวก็ปลูกมะพร้าวอย่างเดียว เรารู้สึกว่าการปลูกพืชชนิดเดียว ถ้าโรคแมลงมานี่มันกินหมดเลยนะ เราควรจะมีพืชตัวอื่นมาช่วย ในท้องร่องเราเลยเลือกปลูกพืชหลากหลาย อย่างชะพลูมีรสขม ทำให้ไม่มีโรคแมลงไปกวน พอปลูกอยู่กับมะพร้าว ชะพลูก็ช่วยลดโรคแมลงในมะพร้าวไปด้วย การปลูกตะไคร้ตรงคันดินให้กลิ่นของเขาช่วยไล่แมลง

ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ตาม ควรสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชมีสัตว์ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามะพร้าวในท้องร่องจะมีผึ้งแทบทุกต้น เราก็เอาชันโรงมาเลี้ยงเพื่อช่วยผสมเกสรด้วย

อย่างเป็ดก็ใช่ ตอนแรกเลี้ยงเพื่อความน่ารัก แต่สุดท้ายเราก็ได้ประโยชน์จากเขา เป็ดจะคอยกินศัตรูทางน้ำ ตะไคร่ สาหร่าย และช่วยกินแมลงบนดินด้วย มูลเป็ดก็เอามาใส่ต้นมะพร้าวได้อีก ทำให้เรามีอินทรียวัตถุในดิน แล้วยังมีใบต่างเหรียญช่วยปกคลุม จากดินโล่ง ๆ ก็เริ่มมีไส้เดือนในดิน ระบบนิเวศมันมาเองตามธรรมชาติ ทุกสิ่งมันมีกลไกการเอาตัวรอด เราแค่ต้องแข็งใจที่จะไม่ไปวุ่นวายกับมันมากเกินไป

สิ่งที่คนกินอย่างเรานึกไปไม่ค่อยถึงคือคุณภาพดินสัมพันธ์กับรสชาติของผลผลิต พอดินดีแล้ว ส่งผลต่อรสชาติมะพร้าวอย่างไร
ต้องเล่าก่อนว่าสวนลุงชะเอมมีไอศกรีมมะพร้าวขายด้วย เกิดจากที่คนรับซื้อเขาจะคัดเอาแค่มะพร้าวลูกใหญ่ ๆ ขึ้นรถไป พวกมะพร้าวลูกเล็ก ๆ หน้าตาไม่สวย ผิวขุระขระ ก็เหลือทิ้ง ปกติพ่อจะเก็บโยนลงในน้ำท้องร่องเพื่อรออีก 3 ปีให้ย่อยเป็นปุ๋ย เราเห็นแล้วเลยคันไม้คันมืออยากเอามาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ประเทศเราเป็นเมืองร้อน งั้นทำไอศกรีมดีกว่า

กลับมาที่เรื่องรสชาติ คงพูดไม่ได้ว่ามะพร้าวเราอร่อยกว่าสวนอื่น แต่ที่กล้าพูดได้อย่างภาคภูมิใจคือมะพร้าวของสวนลุงชะเอมทำไอศกรีมได้โดยไม่ต้องเติมแป้งหรือน้ำตาลเลย ความหวานหอมมันที่ได้มาจากรสชาติมะพร้าวจริง ๆ อันนี้คือความแตกต่าง พอเราปลูกแบบอินทรีย์ เลยคงความหวาน สด กรอบ อย่างที่มะพร้าวควรจะเป็น ลักษณะโครงสร้างของมันไม่ถูกสารเคมีทำลาย บางคนถึงกับงงว่าไม่ใส่น้ำตาล ทำไมถึงหวาน แสดงว่าเขายังไม่เคยกินรสชาติจากวัตถุดิบที่ดี มันอร่อยได้แบบที่ไม่ต้องปรุงเลย และไม่ใช่แค่พืชอย่างเดียว อย่างพ่อเราเป็นแฟนพันธุ์แท้หมูหลุมอินทรีย์ของพี่สุพจน์ (หมูหลุมอินทรีย์วิธีชุมชนตำบลดอนแร่ โดยสุพจน์ สิงห์โตศรี อดีตสัตวบาลที่หันมาทำฟาร์มหมูหลุมอินทรีย์) เป็นหมูที่ชั้นไขมันบาง ๆ เนื้อนุ่มอร่อยกว่าหมูทั่วไป เราเคยทดลองซื้อหมูในตลาดกับหมูหลุมอินทรีย์มาทำแกงอย่างเดียวกัน ปรากฏว่ารสชาติต่างกันจริง ๆ แต่ฟังแล้วไม่ต้องเชื่อทั้งหมดก็ได้นะ อยากให้ไปลองกินดูเอง

ในฐานะเกษตรกร ‘คนต้นทาง’ มองเห็นปัญหาอะไรในวงจรนี้และอยากจะบอกอะไรกับคนกิน
บ้านเราของดี ๆ ยังมีอีกเยอะ แต่เกษตรกรไม่รู้วิธีแปรรูป ไม่รู้จักการเพิ่มมูลค่า ซึ่งปัญหาคือรุ่นลูกไปทำงานในกรุงเทพฯ ภาคเกษตรเลยขาดคนรุ่นใหม่ ๆ มาพัฒนา เราเองรับรู้ปัญหานี้จากการเข้าไปช่วยเกษตรกรหลายกลุ่มในจังหวัดราชบุรี อย่างตอนไปคุยกับเกษตรกรที่เลี้ยงโคนม เขาขายน้ำนมดิบส่งสหกรณ์ได้กิโลละ 20 บาท เราก็งงว่าทำไมไม่เอาไปทำชีส เขาก็ฟังแล้วงงว่าจะทำชีสไปขายใครได้ ซึ่งเราเคยทำงานอยู่ในกลุ่มโรงแรม ชีสราคาสูงมากและต้องนำเข้า แต่ทำไมไม่ค่อยมีใครในบ้านเราเอานมไปทำชีส ทั้งที่มันทำได้ ไม่ใช่เพราะวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพ แต่เกษตรกรไทยยังขาดองค์ความรู้ ไม่มีคนส่งเสริม และจำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่ไปช่วยกัน สังคมก็จะได้ประโยชน์ส่งต่อกันไปเป็นวงกว้าง

พฤติกรรมของคนกินเองก็สามารถสร้างมูลค่าวัตถุดิบขึ้นมาได้ ถ้าทุกคนสนับสนุนสินค้าปลอดภัย ซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชน กระทั่งเลือกกินให้หลากหลายมากขึ้น วงจรตรงนี้จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การทำเกษตรอินทรีย์ต้องผ่านกระบวนการคิดและกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว มันประณีตและมีความรับผิดชอบต่อคนกิน ไม่ใช่ปลูกไป ขายไป เมื่อวานฉีดยาเร่งโต วันนี้เก็บไปขาย บางครั้งผลิตภัณฑ์ที่ปลูกแบบอินทรีย์มีราคาสูงกว่า แต่เราอยากบอกว่าถ้าคิดย้อนกลับมาถึงต้นทาง มันไม่แพงเลย คนที่ตั้งใจทำสิ่งนี้ให้ผู้บริโภค ต้องมีความกล้าหาญและเข้มแข็งมาก ๆ ทำด้วยใจจริง ๆ

สวนลุงชะเอมอยากเป็นพื้นที่ให้คนที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จกับการทำอินทรีย์ได้มานั่งคุยกัน มาดู มาถาม เอาไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเองได้ เรากับพ่อแค่อยากเป็นแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ เป็นพื้นที่ที่เปิดให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน