พอผมได้ทราบข่าววิกฤตภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือฝนตกชุกที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จากที่เคยแปะโป้งกันไว้ว่าจะมาเล่าถึงคุณค่าของวิถีออร์แกนิกหรือวิถีเกษตรอินทรีย์ ในครั้งนี้ ผมจึงขอเล่าถึงการฟื้นฟูดินเพื่อสู้วิกฤตภัยธรรมชาตินะครับ
การปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุให้เกิดการสร้าง ‘ฮิวมัส’ ในดิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรอินทรีย์ที่ช่วยฟื้นฟูดิน น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นฐานของสุขภาพที่ดีและสังคมที่เป็นธรรม รวมไปถึงระบบเกษตรกรรมยั่งยืนอื่นๆ ที่มีหัวใจเดียวกัน อาทิ เกษตรธรรมชาติ และเกษตรชีวพลวัต เป็นต้น
ในปัจจุบัน ได้มีเวทีวิชาการที่จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ศึกษาและเผยแพร่ผลของการทำเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่องในระดับสากล และได้ยืนยันผลการปฏิบัติจากเกษตรกรอินทรีย์ทั่วทุกมุมโลกด้วยผลการศึกษาแล้วว่า “…เกษตรอินทรีย์มีศักยภาพในการสู้ภัยแล้ง และลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมขังจากฝนตกชุก…” เพราะดินในฟาร์มเกษตรอินทรีย์นั้น มีการเพิ่มพูนอินทรียวัตถุอยู่เสมอ และมีส่งเสริมการเกิดฮิวมัสที่มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการปรับปรุงดินในภาพรวม ทั้งคุณสมบัติทางกายภาพ ชีวภาพ และเคมีของดิน
ในแง่ของการกักเก็บน้ำนั้น สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Fedreation of Organic Agriculture Movements: IFOAM) ได้รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลคุณสมบัติของอินทรียวัตถุและฮิวมัสในดินเอาไว้ว่าเป็นคาร์บอนที่มีชีวิต ช่วยยึดจับอนุภาคดินทำให้ดินมีโครงสร้างที่ดี มีความโปร่งร่วนซุย เก็บกักน้ำและระบายน้ำได้ดี ตลอดจนลดการชะล้างพังทลายของดิน ช่วยเพิ่มพูนการเก็บกักและปลดปล่อยแร่ธาตุสารอาหารต่างๆ รวมไปถึงน้ำได้ดี
ฮิวมัสมีความสามารถในการกักเก็บน้ำเอาไว้ได้ถึง 30 เท่าของน้ำหนักตัวของมัน
ในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ตั้งแต่ 3-5% จะสามารถเก็บน้ำในดินสำหรับการเพาะปลูกพืชได้ตั้งแต่ 480,000-800,000 ลิตร/เฮกตาร์ หรือ 76,800-128,000 ลิตร/ไร่
ในแปลงทดลองการเปรียบเทียบการปลูกพืชแบบอินทรีย์กับการปลูกพืชแบบใช้สารเคมีสังเคราะห์ระยะยาวมากกว่า 30 ปี ของสถาบันโรเดล (Rodale Institute) หนึ่งในสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็พบศักยภาพด้านนี้ของเกษตรอินทรีย์เช่นกัน โดยเฉพาะใน ค.ศ. 1995 ที่เกิดภาวะภัยแล้ง ข้าวโพดที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ในขณะนั้น มีการเจริญเติบโตที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่าจากข้าวโพดที่ปลูกแบบใช้สารเคมีฯ ทั้งที่ปลูกพร้อมกันด้วยพันธุ์เดียวกัน และมีผลผลิตสูงกว่าถึง 29%
ในทางกลับกัน ความสามารถในการกักเก็บน้ำที่เหนือกว่าของดินในระบบเกษตรอินทรีย์เช่นนี้ก็เป็นความสามารถในการระบายน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งสถาบันวิจัยฟิบเบิ้ล (FiBl Institute) อีกหนึ่งสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล ที่ตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็พบศักยภาพด้านนี้ของเกษตรชีวพลวัต (Biodynamic Agriculture) ที่เกษตรอินทรีย์ให้การยอมรับว่าเป็นต้นธารกำเนิดเกษตรอินทรีย์ในยุคสมัยใหม่ โดยพบว่าในแปลงปลูกพืชเพื่อทดลองเปรียบเทียบระยะยาวระหว่างเกษตรชีวพลวัต (Dynamic) เกษตรอินทรีย์ (Organic) และเกษตรทั่วไปที่ใช้สารเคมี (Conventional/Konventionell) ตั้งแต่ ค.ศ. 1978 หรือ 41 ปีที่แล้ว ที่เรียกว่า DOK (DOC) Trial ก็พบว่า ในแปลงเกษตรชีวพลวัตนั้น มีโครงสร้างหรือการจับตัวกันของดินที่ดีกว่า ดินมีความโปร่งร่วนซุยมากกว่าเกษตรแบบทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ค.ศ. 2002 ที่มีเหตุน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกชุกมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แปลงเกษตรชีวพลวัตก็ระบายน้ำได้เร็วและดีกว่าแปลงเกษตรทั่วไปที่ใช้สารเคมี
นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่เกิดภัยสึนามิรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่น คุณสุชาญ ศีลอำนวย เลขาธิการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (Mokichi Okada Association/ MOA Thai Foundation) ที่เผยแพร่เกษตรธรรมชาติตามแนวทางท่านโมกิจิ โอกาดะ ในประเทศไทย ได้เล่าให้ผมฟังว่า แปลงเกษตรธรรมชาติของสมาชิกที่ประสบภัยสึนามิในจังหวัดเซนได สามารถปลูกพืชได้ก่อนแปลงเกษตรแบบทั่วไปที่ใช้สารเคมีหลังน้ำทะเลลดลงไปแล้ว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากศักยภาพของดินที่ปรับปรุงในระบบเกษตรธรรมชาติมายาวนานมีอินทรียวัตถุและฮิวมัสสูงนั่นเอง
นี่จึงเป็นศักยภาพของเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมต่อสภาพการณ์ที่ภูมิอากาศแปรปรวนเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรชีวพลวัต และเกษตรธรรมชาติ เป็นคำตอบของการปรับตัว (adaptation) และยืดหยุ่น (resilience) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน
เจอกันคราวหน้า ผมจะมาเล่าเรื่องราวของวิถีเกษตรอินทรีย์กันต่อ ไว้พบกันใหม่ ขอตัวไปทำสวนต่อล่ะคร้าบ ^__^
ภาพประกอบ: npy.j