ถึงยุคนี้ คำว่า “เกษตรอินทรีย์” หรือ Organic ออร์แกนิก ไม่ใช่ศัพท์ใหม่แปลกหูของคนส่วนใหญ่อีกต่อไปแล้ว เมื่อเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต คุณจะพบเห็นคำเหล่านี้ติดบนชั้นวางหรือฉลากผลิตภัณฑ์ได้เสมอ ดูเผิน ๆ อาจให้ความรู้สึกดี๊ดีที่ชีวิตทุกวันนี้รายล้อมไปด้วยผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก แต่พอฉุกคิดถึงความที่ประเทศเราไม่มีกฎเกณฑ์กติกากำกับควบคุมเท่าที่ควร มันก็ชวนกระอักกระอ่วน ออร์แกนิกที่เอามาใช้ดาษดื่นนั้นเราเข้าใจตรงกันไหม ? เป็นแค่คำอวดอ้างทางการตลาดหรือเปล่า ? ออร์แกนิกจริงหรือไม่ ? เชื่อถือได้ไหม ? ตรวจสอบอย่างไร ? ผู้บริโภคที่จริงจังกับการบริโภคอย่างรับผิดชอบกลับต้องมาคอยวิตก ทรงอย่างกรีน วีนอย่างบ่อย แบบนี้ก็แย่นะคะ
จึงอยากชวนคนอ่าน ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่สายกรีน หรือออร์แกนิกสายเก๋า มาคุยเรื่องเกษตรอินทรีย์ในมุมมองของผู้หญิงคนนี้ หทัยชนก อินทรกำแหง เธอเกี่ยวข้องในแวดวงเกษตรอินทรีย์มามากกว่าสิบปี นอกจากชีวิตส่วนตัวที่ทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของตัวเองอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานีแล้ว งานหลักอีกอย่างหนึ่งของเธอคือการเป็นผู้ตรวจมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) แม้หน้าที่นี้จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ในกลไกวิถีเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่ชิ้นส่วนใหญ่ ๆ อย่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค และมักไม่ค่อยมีใครนึกถึง แต่บทบาทอันน้อยนิดและซ่อนเร้นนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้เกษตรอินทรีย์มีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือสมคุณค่าสำหรับมนุษยชาติ ขณะเดียวกัน การทำงานนี้มาเป็นเวลานานก็ได้ให้ประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และคุณค่าความหมายหลายอย่างกับตัวเธอด้วยเช่นกัน
การได้คุยกับเธอทำให้ตระหนักว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ได้สำคัญแค่สิ่งที่เรากินและใช้เพื่อตัวเอง แต่เป็นทั้งอนาคตและความหวังของโลกในวันรุ่งขึ้นซึ่งกำลังรอเราอยู่
เกษตรอินทรีย์ คืออะไรก่อน
เพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังพูดเรื่องเดียวกัน งั้นขอเท้าความไปถึงนิยามชัด ๆ ของเกษตรอินทรีย์ ตามคำจำกัดความของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM)
“เกษตรอินทรีย์ คือ ระบบการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสุขภาพดิน ระบบนิเวศ และผู้คน เกษตรอินทรีย์พึ่งพาอาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และวงจรธรรมชาติที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ แทนที่จะใช้ปัจจัยการผลิตที่มีผลกระทบทางลบ เกษตรอินทรีย์ผสมผสานองค์ความรู้พื้นบ้าน นวัตกรรม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เป็นธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
หลักสำคัญของเกษตรอินทรีย์มี 4 ประการคือ ด้านสุขภาพ-ทั้งสุขภาพของผู้คนและสุขภาพของโลก ระบบนิเวศ-ฟื้นฟูระบบนิเวศและวงจรธรรมชาติ ความเป็นธรรม-ทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกันและต่อสิ่งมีชีวิตอื่น การเอาใจใส่-ปกป้องความอยู่ดีมีสุขทั้งของคนรุ่นปัจจุบันไปจนถึงคนรุ่นหลัง
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล
สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท. เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2538 โดยการสนับสนุนของเครือข่ายเกษตรทางเลือก องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค สื่อมวลชน และเครือข่ายร้านค้าสีเขียว ที่ทำงานสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อริเริ่มพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยดำเนินการทั้งในรูปแบบมูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทำงานเชิงให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และส่วนงานตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ซึ่งจัดตั้งเป็นบริษัท เอซีทีออร์แกนิค จำกัด
เมื่อแต่ก่อนคนไทยยังไม่เข้าใจความเป็นเกษตรอินทรีย์ พอเราจะส่งออกไปขาย เวลาพูดว่าอินทรีย์ เป็นแค่ปากเปล่า
“องค์กรเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้กลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะผู้ปลูกข้าวสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ เมื่อแต่ก่อนคนไทยยังไม่เข้าใจความเป็นเกษตรอินทรีย์ พอเราจะส่งออกไปขาย เวลาพูดว่าอินทรีย์ เป็นแค่ปากเปล่า มันไม่ได้ ในยุโรปและอเมริกาเขาต้องสร้างมาตรฐานที่ตรวจสอบรับรองยืนยันได้ว่าอินทรีย์จริง ๆ เพราะฉะนั้นการจะทำให้ผลผลิตเกษตรสร้างมูลค่าได้ก็ต้องมีมาตรฐานมาเกี่ยวข้อง เป็นการพยายามสร้างรูปแบบการทำนาขายข้าวในระบบอินทรีย์ที่หลุดพ้นจากวงจรเถ้าแก่หรือพ่อค้าคนกลาง องค์กรนี้จึงก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดสิ่งนี้ เพราะแถบบ้านเราไม่มีองค์กรไหนตรวจสอบรับรองได้ การจะนำเข้าผู้ตรวจสอบจากต่างประเทศก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เราจึงต้องสร้างองค์กรตรวจสอบรับรองขึ้นมา และไม่ใช่ว่าเราสร้างขึ้นมาเฉย ๆ ได้ ตัวองค์กรนี้ก็ต้องถูกตรวจรับรองโดยหน่วยงานจากยุโรปด้วยว่าทำงานได้ตามมาตรฐานของเขาไหม ถึงจะสามารถออกใบรับรองของเขาได้”
หทัยชนกย้อนเล่าถึงจุดกำเนิดขององค์กร มกท. ซึ่งเป็นหน่วยตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เอกชนรายแรกของภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์สากล ขณะที่ตัวเธอเองได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ มกท. ในเวลาต่อมา
“ก่อนหน้านี้เราทำงานเป็นนักพัฒนาเอกชนในองค์กรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ตอนนั้น มกท. ถึงช่วงเวลาที่ต้องมีการประเมินการทำงานของตัวเอง เราก็ไปรับงานช่วยถอดบทเรียนให้องค์กร ได้ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบที่ขอรับรองมาตรฐานจาก มกท. และสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ขององค์กร เพื่อเอาข้อมูลมาเชื่อมโยงให้เห็นว่าการทำงานของเขาเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ได้เห็นเนื้องานของ มกท. ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ พอดีเขามีเปิดอบรมผู้ตรวจมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ก็เลยไปเข้าอบรมกับเขา แล้วก็ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจฯ แต่ก็ยังคงเป็นฟรีแลนซ์เช่นเดิม รับงานตรวจเป็นชิ้น ๆ
“คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นผู้ตรวจฯ คือ เรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือสิ่งแวดล้อม มีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ การได้ทำงานผู้ตรวจฯ ทำให้ได้ไปเห็นฟาร์ม ได้เรียนรู้วิธีคิดของเกษตรกรที่ทำฟาร์ม เรารู้สึกถูกจริตเพราะถนัดทำงานข้อมูลที่เป็นเชิงวิชาการ ได้ใช้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และสิ่งแวดล้อมในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในฟาร์ม ทำให้สามารถประเมินสิ่งที่เห็นได้ลึกกว่าการตรวจตามเอกสาร
“มาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีการตรวจประเภทต่าง ๆ ครอบคลุมกิจการ 10 ประเภทคือ การผลิตพืช การแปรรูป ปัจจัยการผลิตเพื่อการค้า ผลผลิตจากป่าและพื้นที่ธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงสัตว์ รายการอาหารอินทรีย์ การรับรองแบบกลุ่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การตรวจแต่ละอย่างก็จะมีขอบเขตเนื้อหาแตกต่างกันไป
IFOAM ซึ่งออกโดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ เป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานที่ยอมรับร่วมกันในหลายประเทศทั่วโลก
“คนส่วนใหญ่คิดว่ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีแบบเดียว ที่จริงแล้วมีหลายอย่าง มาตรฐานที่เราทำงานหลัก ๆ คือ IFOAM ซึ่งออกโดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ เป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานที่ยอมรับร่วมกันในหลายประเทศทั่วโลก แต่ยังมีมาตรฐานเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีรายละเอียดเข้มงวดเพิ่มเติมเพื่อคัดกรองวัตถุดิบหรือผลผลิตแปรรูปที่เข้าประเทศของเขา องค์กรที่ทำงานตรวจรับรองก็ต้องสามารถตรวจได้ตามมาตรฐานและได้รับการรับรองตามมาตรฐานนั้น ๆ ถึงจะสามารถออกใบรับรองให้นำเข้าประเทศเขาในฐานะผลผลิตอินทรีย์ได้ เช่น ถ้าจะส่งออกไปยุโรปต้องได้มาตรฐาน EU แคนาดาต้องได้ COR อเมริกาก็ต้อง USDA ญี่ปุ่นคือ JAS ตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังร่วมกับเวียดนามและลาวในการกำหนดมาตรฐานระดับภูมิภาคขึ้นมา”
การตรวจสอบได้ คือหัวใจของมาตรฐานมืออาชีพ
การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จะเริ่มต้นขั้นตอนเมื่อผู้ประกอบการยื่นใบสมัครขอรับรองกับ มกท. ชำระค่าธรรมเนียมการตรวจรับรอง จากนั้นก็จะมีการนัดหมายให้ผู้ตรวจฯ เข้าไปตรวจสถานที่จริง หลังจากนั้นผู้ตรวจฯ จะทำรายงานการตรวจส่งให้ฝ่ายรับรองเพื่อประเมินผล แล้วจึงแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการ ผู้ที่ผ่านการประเมินจะได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และสามารถใช้ตรารับรองได้ตามสัญญา ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ใบรับรองมีอายุ 1 ปี เมื่อครบกำหนดต้องทำการต่ออายุตามขั้นตอนนี้ต่อไป
“หลายคนถามว่า ทำไมไม่เก็บตัวอย่างดินตัวอย่างน้ำไปตรวจสารเคมีก็จบแล้ว แต่จริง ๆ การตรวจมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีแค่นั้น เราตรวจรับรองทั้งระบบตั้งแต่เป็นเมล็ดพันธุ์ การปนเปื้อนทั้งระบบ การปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ไปจนถึงมือผู้บริโภค สิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ความสะอาดของกระบวนการ การขนส่ง ผลผลิตที่นำเข้ามาและส่งออกไป สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องต้องเป็นอินทรีย์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการตรวจจึงต้องมีการตรวจฟาร์ม ตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ รวมทั้งการตรวจความเป็นธรรมทางสังคม การปฏิบัติต่อคนงาน ความเป็นธรรมต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตในฟาร์ม
“ต้องเตรียมตัวหนักเหมือนกัน เตรียมเอกสาร อ่านข้อมูลทั้งหมดของผู้ประกอบการในแต่ละปี เราต้องตรวจทุกปีแต่ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดิม ต้องดูข้อมูลของปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้าง เตรียมตัวตรวจ ติดต่อผู้ประกอบการ ประสานงาน จัดการเอกสารด้วยตัวเอง ทำทุกอย่างก่อนลงไปหน้างานเพื่อให้เข้าใจบริบททั้งหมด ถ้าเตรียมตัวไม่ดีก็จะลำบากในหน้างาน
“ตอนที่จะเริ่มทำงานนี้ใหม่ ๆ ก็คิดแบบสายลมแสงแดด คิดว่าเรื่องเกษตรอินทรีย์ไม่มีอะไรหนักหนา ทุกคนอยากทำเกษตรอินทรีย์ก็น่าจะมีแต่เรื่องดี ๆ แต่งานผู้ตรวจฯ เป็นอีกอย่าง เพราะเป็นการไปประเมินผู้ประกอบการ มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความเครียดทั้งเราและผู้ประกอบการ เราต้องดูสิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานและทุกเรื่องในเวลาจำกัด มีการตั้งคำถามที่สร้างความเครียดให้ทั้งสองฝ่าย เพราะนี่คือการตรวจสอบ ถ้าเราทำงานไม่ละเอียดพอ รายงานของเราก็ไม่สมบูรณ์ พอไม่สมบูรณ์จะถูกตั้งคำถามจากฝ่ายรับรอง เพราะเขาต้องอ่านจากรายงานของเราแล้วประเมินว่าผู้ประกอบการรายนี้เป็นไปตามมาตรฐานไหม รายงานจึงต้องสมบูรณ์ จึงมีความเครียดทั้งกับเราและผู้ถูกประเมิน
งานของเราเป็นแค่การตรวจ แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าเขาผ่านหรือไม่ผ่าน
“งานของเราเป็นแค่การตรวจ แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าเขาผ่านหรือไม่ผ่าน การทำงานจะมี 3 ขั้นตอนคือ หนึ่งการตรวจ สองการประเมินเพื่อรับรอง และสามคือมีหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งมาตรวจเราอีกทีว่าทำงานโอเคไหม ระบบที่ดีจะไม่เปิดโอกาสให้ใช้ความเห็นหรือความรู้สึกส่วนตัวมากไปกว่าการเป็นมืออาชีพ
“บางคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีการตรวจสอบรับรอง เราใช้ความเชื่อใจไม่ได้หรือ หรือว่าเราทำการรับรองแค่นี้ก็พอได้ไหม ที่จริงคือทุกระบบก็ได้หมดถ้ามนุษย์ใช้มันอย่างมีความเป็นมืออาชีพจริง ๆ แต่จากที่เราทำงานมานานพบว่า ความเป็นมืออาชีพไม่ใช่สิ่งที่สร้างได้ด้วยตัวเองฝ่ายเดียว ต้องสามารถตรวจสอบได้ด้วยคนอื่น และตรวจสอบตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องผ่านกระบวนการบางอย่างถึงจะเป็นสิ่งที่เชื่อมั่นได้ ไม่เช่นนั้นก็กลายเป็นแค่ความเชื่อหรือตราอะไรที่ประดับไว้เฉย ๆ ถ้าเราต้องการอะไรสักอย่างที่มีความเป็นมาตรฐาน เราก็ควรช่วยกันสร้างให้เกิดมาตรฐานที่สามารถยอมรับได้จริง และถ้าเราสร้างมาตรฐานของสิ่งนั้นได้ก็จะสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการได้
“คนเป็นเกษตรกรก็มีความเป็นมืออาชีพในการผลิตที่เป็นอินทรีย์จริง ๆ รู้ว่าอินทรีย์คืออะไร รู้ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำมันใช่ไหม ไม่ได้มีผลกระทบจริงไหม ความเป็นมืออาชีพของผู้บริโภคคือ เวลามีคนมาบอกว่านี่คือออร์แกนิก คุณมีความเข้าใจเพียงพอไหมที่จะรู้ว่ามันใช่หรือเปล่า หรือว่าคุณเพียงเชื่อเขา หรือใช้ความชอบความชังส่วนตัวของคุณในการตัดสินสิ่งนั้น หรือแม้แต่คนที่ทำงานเกี่ยวข้อง ผู้ตรวจฯ หน่วยงาน คุณมีความเป็นมืออาชีพเพียงพอไหมที่จะตอบคนอื่นได้ว่า สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ คนอื่นเชื่อถือได้ว่าคุณกำลังตรวจรับรองสิ่งที่ดีกับเขาจริง ๆ คุณไม่ได้ปล่อยไป หรือไม่ได้สร้างมาตรฐานขึ้นมาลอย ๆ ถ้าทุกคนเป็นมืออาชีพที่เท่าเทียมกัน มันจะทำให้วงการเกษตรอินทรีย์ไปได้จริง ๆ
โดยปกติสำหรับคนไทยหรือคนเอเชียมักใช้ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน เราก็เป็นคนแบบนั้น แต่พอทำงานผู้ตรวจฯ เราเห็นว่าการทำงานและตัดสินอย่างมืออาชีพทำให้ไม่มีความกังขา
“โดยปกติสำหรับคนไทยหรือคนเอเชียมักใช้ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน เราก็เป็นคนแบบนั้น แต่พอทำงานผู้ตรวจฯ เราเห็นว่าการทำงานและตัดสินอย่างมืออาชีพทำให้ไม่มีความกังขา ไม่มีคำถามกับสิ่งนั้น คนไทยอาจยังขาดหรือรับไม่ได้กับรูปแบบนี้ เราไม่มีระบบการตรวจสอบเพียงพอ ใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจหรือความจงรักภักดีเป็นหลัก เลยติดกับว่าถ้าเป็นคนนั้นคือเชื่อใจได้หรือคนนี้แตะไม่ได้ จนกระทั่งอาจเกิดความผิดพลาดจากน้ำมือมนุษย์ขึ้น ความไว้เนื้อเชื่อใจโดยปราศจากการสามารถตั้งคำถามได้เป็นอันตรายทั้งสิ้น
“อย่างเรื่องระบบการรับรองกันเองในกลุ่ม ช่องโหว่คือไม่มีการตรวจสอบจากบุคคลที่สาม อาจจะบอกว่าผู้บริโภคเป็นคนตรวจสอบ แต่ถ้าคุณซื้อกันเอง เชื่อมั่นกันเอง การตรวจสอบจริง ๆ จะไม่เกิดขึ้น เวลาเราลงไปฟาร์มก็เห็นทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีอยู่แล้ว ผู้ประกอบการบางรายเราก็ชื่นชมกับสิ่งที่เขาทำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเขียนรายงานไปก็อาจไม่ 100% ถ้าไม่มีคนมาตั้งคำถามตรวจสอบการทำงานอีกที มีความเป็นไปได้ที่จะใส่อคติลงไป ปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นระบบที่มีความเป็นมืออาชีพจึงเป็นเรื่องจำเป็นจริง ๆ “
มาตรฐาน = ใบเบิกทางในโลกกว้างแห่งความเท่าเทียม
“มีผู้ประกอบหลายรายที่ขอรับรองมาตรฐานมาเป็นสิบปีจนถึงตอนนี้ก็ยังขออยู่ แม้ว่าจะไม่ได้เอาตรารับรองไปใช้ก็ตาม เพราะเขาเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีมาตรฐาน และเขาขอรับรองก็เพื่อช่วยให้ระบบไปต่อได้ ในระยะ 5-6 ปีย้อนหลังมานี้มีผู้ประกอบการมาขอรับรองเยอะขึ้นมาก สวนทางกับการชะงักงันของเศรษฐกิจด้วยซ้ำ เพราะยิ่งเศรษฐกิจในประเทศแย่ ผู้ประกอบการยิ่งต้องพยายามหาตลาดส่งออกมากขึ้น การใช้ตรารับรองหรือมาตรฐานส่งไปต่างประเทศจึงมีความต้องการมาก การตรวจสอบรับรองก็พัฒนามากขึ้น มีมาตรฐานที่เราไปทำข้อตกลงและสามารถตรวจได้มากขึ้น ขยายเนื้องานได้มากขึ้น
“การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีค่าใช้จ่ายพอสมควร สำหรับผู้ประกอบการที่มีตลาดเป้าหมายอยู่แล้วและต้องการทำเป็นอินทรีย์เพื่ออยู่ในตลาดนั้น ค่าใช้จ่ายนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเพราะเปอร์เซ็นต์ของค่าตรวจรับรองน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าที่เขาจะได้รับตอบแทน แต่หากเป็นเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายเล็กค่าใช้จ่ายนี้ก็ถือว่าสูง มกท. จึงสร้างรูปแบบที่เรียกว่า การรับรองแบบกลุ่ม โดยใช้ระบบควบคุมภายใน (ICS-Internal Control System) เพื่อให้เครือข่ายเกษตรกรที่มีรูปแบบการทำเกษตรเหมือนกัน สามารถขอรับรองร่วมกันในนามกลุ่ม ค่าตรวจรับรองจะถูกมากเมื่อเทียบต่อหัว ยกตัวอย่างเครือข่ายชาวนาที่มีเกษตรกรร้อยกว่าราย เขาจะสร้างระบบตรวจรับรองขององค์กรขึ้นมา มีผู้ตรวจระบบควบคุมภายในที่ไปตรวจเกษตรกรทุกราย 100% แล้วเขาจะทำรายงานให้กับ มกท. เพื่อไปตรวจอีกที เวลาไปตรวจเราก็จะตรวจระบบของเขาว่าโอเคไหม และสุ่มตรวจเกษตรกรประมาณ 10 กว่ารายใน 100 ราย เพื่อดูว่าการทำงานของระบบใช้ได้จริงไหม ถ้ามีปัญหาเราก็จัดการที่ระบบเป็นหลัก ให้เขาสามารถควบคุมให้เกษตรกรอยู่ในระบบอินทรีย์ได้จริง จะประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปเยอะ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตในราคาสูงขึ้น ได้ส่วนต่างที่มากกว่าการขายผลผลิตทั่วไป
“ในเมืองไทยมีการรับรองแบบกลุ่มเยอะ ยุคแรก ๆ ก็อย่างเช่น โรงสีข้าวรักษ์ธรรมชาติ เป็นกลุ่มเกษตรกรทำนาอินทรีย์ที่เริ่มงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นชาวนากลุ่มแรกที่มีโรงสีของตัวเอง คือพยายามปลดแอกตัวเองจากระบบนายทุนและสร้างโรงสีขึ้นมาเพื่อสีข้าวเอง รับซื้อข้าวจากเกษตรกรในเครือข่ายด้วยราคาที่เป็นธรรม มีระบบ fair trade ด้วย ส่วนต่างของเงินที่เป็นกำไรก็จะกลับไปที่ชุมชน นำไปพัฒนาสาธารณูปโภค ในลาวมีกลุ่มผู้ปลูกกาแฟเป็นคอมมูน 600 กว่ารายบนที่ราบสูงโบลาเวน หรือที่เวียดนามมีคอมมูนอยู่ในหุบเขาซึ่งทั้งหมดปลูกชา รายได้จากระบบการค้าที่เป็นธรรมก็กลายเป็นไฟฟ้า ประปา โซล่าร์เซลล์ พัฒนาโรงเรียนให้กับชุมชน
เวลาลงพื้นที่ตรวจ เราพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากทำผิดมาตรฐานหรอก แต่อาจทำไปเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจมากกว่า
“เวลาลงพื้นที่ตรวจ เราพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากทำผิดมาตรฐานหรอก แต่อาจทำไปเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจมากกว่า ฉะนั้นนอกจากทำงานตรวจแล้ว เราก็จะพยายามให้เขาเกิดความเข้าใจมากขึ้นในการสร้างระบบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ช่วยตบให้เข้าที่ ยิ่งประสบการณ์เยอะขึ้นเรายิ่งพบว่าการตรวจตามมาตรฐานก็ใช่ แต่มากกว่าไปจับผิดหรือเห็นข้อผิดพลาดคือ การเห็นนั้นนำมาสู่ความเข้าใจว่าข้อผิดพลาดของเขาเกิดจากอะไรและแก้ไขได้อย่างไร ทำให้เรายืดหยุ่นมากขึ้น ใช้เวลากับการอธิบายมากขึ้นว่าทำไมมาตรฐานนี้ถึงต้องมี และมันส่งผลกับเกษตรกรหรือผู้บริโภคอย่างไร ต้องใช้พลังงานไปกับการสร้างความเข้าใจเยอะ แต่ก็ดี เพราะทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบเห็นคุณค่ามากขึ้นว่าการตรวจจะสามารถรับรองเขาได้จริง
“แต่ก็มีคนที่ทำเกษตรอินทรีย์มากมายที่ไม่ได้ขอมาตรฐานหรือไม่ได้ใช้คำว่าอินทรีย์ ไม่ได้ขายผลผลิตในฐานะความเป็นอินทรีย์ด้วยซ้ำ บางทีทำอินทรีย์แต่ดันใช้คำว่าปลอดสาร เพราะคำนี้กำกวมมากทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เรารู้สึกเคารพคนที่ทำอินทรีย์จริง ๆ และคิดว่าเขามีสิทธิ์ใช้คำว่าอินทรีย์โดยไม่จำเป็นต้องขอมาตรฐาน สิ่งที่สำคัญกว่ามาตรฐานคือการตั้งคำถามจากคนใช้หรือผู้บริโภค เป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเครื่องมือ เครื่องมือเดียวกันถ้าเป้าหมายที่เอาไปใช้ต่างกันก็แย่ได้ เช่นสร้างมาตรฐานขึ้นมาเพื่อส่งเสริมตัวเองหรือพวกพ้องมันก็ไม่ใช่มาตรฐานที่ดีงาม แต่ถ้าเป็นมาตรฐานที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม สามารถตรวจสอบได้อย่างเท่าเทียม นี่ต่างหากคือคุณค่าที่แท้จริงของการสร้างมาตรฐาน”
เกษตรอินทรีย์จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อคนมีความตระหนักเท่านั้น
“เวลาทำผลิตภัณฑ์อินทรีย์ออกมาขาย ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการมักตั้งความหวังว่าผู้บริโภคจะต้องเข้าใจและรู้สึกว่ามันดีงามคุ้มค่ากับสิ่งที่เขาจะซื้อ แต่บางทีก็ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น ผู้บริโภคบางส่วนไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าเป็นอินทรีย์ไหม แค่ราคาได้ก็โอเค หรือบางส่วนสามารถจ่ายเงินแพง ๆ กับอะไรที่ไม่ได้มีเหตุมีผล แต่เพียงเพราะว่ามันถูกใจ เพราะฉะนั้นการที่จะคาดหวังว่าผู้บริโภคจะเห็นคุณค่าหรือซื้อสินค้าเพราะความเป็นอินทรีย์ ณ วันนี้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น
เกษตรอินทรีย์จะอยู่ได้จริงก็ต่อเมื่อคนตระหนักจริง ๆ ว่าผลกระทบของสารเคมีเกิดกับเขามากแค่ไหน
“เกษตรอินทรีย์จะอยู่ได้จริงก็ต่อเมื่อคนตระหนักจริง ๆ ว่าผลกระทบของสารเคมีเกิดกับเขามากแค่ไหน ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าเราจะเจ็บป่วยกันมากมายและรู้ด้วยว่ามาจากสารเคมีทั้งนั้น แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ถูกสรุปว่าเป็นเพราะสิ่งนี้ มันถูกตีความไปเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน แต่ไม่ได้พูดถึงว่าเบื้องหลังของโรคร้ายเหล่านี้คืออะไร ต่อเมื่อคนตระหนักจริง ๆ ว่าเราไม่ควรให้มีการใช้สารเคมีในสิ่งที่เรากินและใช้ นั่นแหละถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
“เรารู้ทุกเรื่อง แต่เราไม่ตระหนัก ตระหนักหมายถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดและการกระทำ ถ้าใครสักคนตระหนักว่าสารเคมีไม่ดีกับชีวิตเขาและเขาจะไม่สนับสนุนมัน เขาจะพยายามเลือกและนำไปสู่การที่เขาตั้งคำถามว่า มันใช่อินทรีย์จริง ๆ ไหม ปลอดภัยจริงไหม แล้วการที่เขาตั้งคำถามก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิต หนึ่งคน สองคน สามคน จะค่อย ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เหมือนกับแค่พูดกันไป อินทรีย์ สุขภาพ แต่ที่สุดแล้วสิ่งที่คนเลือกก็คือเพื่อความพอใจเท่านั้น
“ในฐานะผู้ตรวจฯ รู้สึกเห็นใจทุกส่วนในสังคม คนที่เป็นผู้ผลิตสามารถผลิตได้แต่ไม่มีตลาด ผลิตแล้วไม่แน่ใจว่าจะขายได้ไหม ในขณะที่ผู้ประกอบการมีตลาดแต่หาคนผลิตยาก หรือบางอย่างจะผลิตเองก็ไม่มีทักษะเพียงพอ ปัญหาคือเขายังขาดความเข้าใจในความเป็นชุมชนมากพอ ถ้าเขามีความเข้าใจก็จะยิ่งเป็นโอกาสในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น ทำให้ชุมชนสามารถสร้างความเท่าเทียมหรือการค้าที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะยิ่งทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้จริง สามารถสร้างผลผลิตตอบสนองผู้ประกอบการได้จริง แทนที่จะแยกกันและต่างคนต่างเจอปัญหาของตัวเอง ขณะที่ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องตั้งคำถามเยอะ ๆ ว่าสิ่งที่เรากำลังบริโภคคืออะไร ยิ่งถามเยอะ คนผลิตก็ยิ่งต้องมีความชอบธรรมที่จะสร้างคำตอบ แต่ถ้าคุณไม่ถาม เขาบอกอะไรเชื่อหมด คุณก็จะเหมือนอยู่ในวงการพระเครื่อง โดยไม่รู้ว่านั่นพระแท้หรือไม่แท้”
เกษตรอินทรีย์ คุณค่าที่เหนือกว่าตรารับรอง
ในระบบเกษตรอินทรีย์ที่มีเรื่อง fair trade ทำให้พวกเขามีเงินสำหรับทำโซล่าร์เซลล์ ทำโรงเรียนให้กับชุมชน สิ่งที่เขาต้องการเป็นพื้นฐานก็เกิดขึ้นตามมา
“โดยความรู้สึกส่วนตัว ชอบตรวจโครงการรับรองแบบกลุ่ม เพราะชอบทำงานกับเกษตรกร และได้ลงพื้นที่ซึ่งดีมาก ๆ ได้ไปเห็นชีวิตจริงของผู้คน หลายที่ที่ไปการท่องเที่ยวก็เข้าไม่ถึง อย่างเช่น ชุมชนปลูกชาที่เวียดนาม เขาเป็นชนเผ่า อยู่ไกลมาก คนที่นี่จนยิ่งกว่าคำว่าจน แต่ชีวิตเขาไม่ได้ทุกข์ เขามีประปาภูเขาต่อท่อน้ำมา อยู่บนภูเขาอากาศก็ดี บางบ้านไม่มีไฟฟ้า บางอย่างไม่ต้องสมบูรณ์ เขาอาจรู้สึกว่าขาด แต่บางทีนั่นแหละคืออุดมคติของคนที่โหยหาอยากมีแบบนี้ ถ้าเขามีชีวิตที่ดี ถนนตัดไปถึง ไปโรงพยาบาลสะดวก รถเข้าถึงง่าย ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเป็นอย่างไร เราตอบไม่ได้ แต่ในระบบเกษตรอินทรีย์ที่มีเรื่อง fair trade ทำให้พวกเขามีเงินสำหรับทำโซล่าร์เซลล์ ทำโรงเรียนให้กับชุมชน สิ่งที่เขาต้องการเป็นพื้นฐานก็เกิดขึ้นตามมา หรืออย่างกลุ่มปลูกกาแฟที่ลาวซึ่งเป็นสหกรณ์ ตอนนี้รวยถึงขนาดที่สามารถไปเทคโอเว่อร์โรงปุ๋ยที่ขายปุ๋ยให้เขาได้เลย เพราะส่วนต่างจากระบบการค้าที่เป็นธรรมกลับมาสร้างประโยชน์ให้ชุมชน
“ปัญหาความยากจนในชนบทมีปัจจัยเยอะ เกษตรอินทรีย์อย่างเดียวอาจไม่สามารถเป็นทางออกให้กับทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยก็เป็นช่องทางที่สามารถสร้างความหวังบางอย่างได้ นอกจากแค่ทำนา เอาข้าวใส่รถ ขับไปขายส่งให้โรงสี
“หลายประสบการณ์ในการทำงานตรวจทำให้ได้เห็นว่า เงินหรือสิ่งที่ซื้อได้ด้วยเงินไม่ได้สามารถตอบคำถามบางอย่างของชีวิตได้ เราได้เห็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาก มีเงินทุ่มทำระบบเกษตร ที่มีที่ดินสวยที่สุด อยู่บนภูเขา มองลงมาเป็นหุบ มีทะเลหมอกทุกวัน หรืออยู่บนเกาะมีวิวทะเลเต็มอิ่ม แต่เจ้าของกลับไม่ได้อยู่เพราะต้องไปทำงานหาเงิน ขณะเดียวกันก็ได้เห็นบางคนที่ไม่มีอะไรเลย แต่มีความสุขกับการทำงานเกษตรที่เป็นชีวิตของเขาจริง ๆ
“ตอนนี้สังคมของเราเข้าสู่สังคมคนแก่ มีหลายที่พยายามสร้างคอมมูนิตีเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นการสร้างเชิงธุรกิจ เอาหมอมา เอาพยาบาลมา มีชุมชน ขายฝันว่าทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างดี แต่เราได้เห็นว่าชุมชนเกษตรจริง ๆ ที่เขาอยู่กันในวิถีนี้และถ้ารักษาระบบเกษตรอินทรีย์เอาไว้ได้ ชุมชนแบบนี้ที่เป็นจริงมันงดงามกว่าเยอะ เห็นคนแก่อายุ 70 กว่ายังขี่จักรยานหรือขับรถกระบะไปที่นาของตัวเอง แบกจอบเดินตัวปลิวบนคันนาเล็ก ๆ ในอายุที่เท่ากันถ้าเป็นคนรวยอาจนั่งหน้าทีวีหรืออยู่บนวีลแชร์ แต่ในวิถีเกษตร โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์มันทำให้คนอยากจะตื่นเช้า ลุกขึ้นยืน และก้าวไปด้วยขาของตัวเอง เดินไปดูนาอย่างมีความสุขมาก มันเป็นคำตอบให้กับตัวเองด้วยว่าตอนแก่เราจะอยู่แบบไหน ขณะที่บางทีลูกหลานของเขาเองไปทำงานในเมืองแล้ว พอกลับมาเห็นว่าการที่พ่อแม่หรือตายายไปทำนาทุกวันเป็นปัญหา เราก็บอกเขาว่าควรดีใจที่แกยังเดินไปนาได้ ลงไปเก็บผักบุ้ง ไปถอนหญ้าได้ มันเป็นคุณภาพชีวิตที่หาไม่ได้แล้ว
“เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มีคุณค่า และเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงานต่อไป ยิ่งเราตรวจแล้วสามารถสร้างให้โครงการของเขาขยายต่อไป ได้มีอาชีพในชุมชน ลูกหลานได้กลับมาแปรรูป สร้างมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่ คนแก่ไม่ต้องขายที่นาหรือที่ดิน เขาสามารถอยู่บนผืนดินนั้นได้ ระบบชุมชนยังมีอยู่จริง รู้สึกว่ามันเป็นงานที่มีคุณค่าและยังน่าทำอยู่ ก็อยากจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังเดินไปตรวจไหว”
ภาพ: มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, วีรวุฒิ กังวานนวกุล