เชื่อว่าสำหรับผู้อ่านหลายคน ชื่อ “วิรตี ทะพิงค์แก” คือความคุ้นเคยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณเป็นนักอ่านสายเขียว สนใจแง่มุมชีวิตกับธรรมชาติ การกิน การอยู่ การเรียนรู้ที่สอดคล้องไปกับระบบนิเวศรอบตัว การดำเนินชีวิตแบบปลอดจากสารพิษ การจรรโลงจิตใจในแนวทางแห่งการเกื้อกูล คุณต้องเคยอ่านหรือผ่านหูผ่านตาบทความจากวิรตีมาบ้างไม่มากก็น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณเป็นคนอ่าน greenery.org ตลอดหลายปีตั้งแต่เริ่มมีแพลตฟอร์มนี้ วิรตีเป็นนักเขียนเจ้าประจำคนหนึ่งซึ่งพาคุณลอยละล่องท่องเที่ยวไปในจักรวาลผ่านเรื่องราวจากอาหาร ในจานข้าว บทสัมภาษณ์ การเดินทาง ฯลฯ ลองคลิกดู tag ชื่อวิรตี มีบทความดี ๆ มากมายที่ชวนให้กลับไปอ่านซ้ำได้ไม่รู้เบื่อและไม่เก่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้เขียน ซึ่งพบเจอวิรตีครั้งแรกตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ในวันที่เธอเป็นกองบรรณาธิการของวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ และร่วมแถลงข่าวข้อมูลการสำรวจ 12 ผักตลาดยอดนิยมที่พบสารปนเปื้อนมากที่สุด (ประมาณ ๆ นี้) กระทั่งต่อมา เราได้มาร่วมงานกันในนิตยสารชีวจิต และ Health & Cuisine ในเครืออมรินทร์อยู่อีกหลายปี

..ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง..

วิรตีจึงไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคนที่ส่งพลังงานดีผ่านงานเขียนชิ้นแล้วชิ้นเล่าหล่อเลี้ยงสังคมของเราอยู่เสมอ ในวัยที่ผ่านวันเวลามาเนิ่นนานประมาณหนึ่ง ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าตัวตนและผลงานของเธอคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คิดอย่างไร เขียนอย่างนั้น และดำเนินชีวิตแบบนั้น เมื่อคุณได้อ่านความคิดของวิรตีมาแล้ว เราจึงอยากชวนมานั่งคุยตัวเป็น ๆ ถึงชีวิตที่อยู่เบื้องหลัง การทำงาน ความเป็นแม่ ความกล้าหาญ ความอ่อนแอ และการเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งของวิรตี

ในฐานะที่เราต่างเป็นคนคุ้นเคยกัน เป็นญาติกัน แม้ไม่ทันรู้ตัว

นักเขียนสายกรีน – กรีนเนอรี่
ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานประจำวันแรก จนถึงการทำงานอิสระในปัจจุบัน วิรตีมีแนวทางงานเขียนที่ไม่เคยพ้นไปจากเรื่องกรีน ๆ สะท้อนความสนใจและทัศนคติส่วนตัวที่แน่วแน่ ไม่ว่างานเหล่านั้นจะออกมาเป็นรูปแบบของบทความ หนังสือ สื่อออนไลน์ หรือแม้แต่นิทาน

“แอมโตมาในเชียงใหม่ยุคที่ยังไม่เจริญมาก อยู่ในเมืองก็จริงแต่มีที่โล่งข้างทางให้เด็กขี่จักรยานเล่น มีต้นไม้ให้ปีนเก็บผลมากิน รู้สึกว่าเราได้ใช้ชีวิตในธรรมชาติเยอะ ได้เล่นแบบที่สมัยนี้เรียกว่า ‘ฟรีเพลย์’ เยอะ รู้ได้ไงว่าอะไรกินได้ ไม่รู้หรอก แต่ชีวิตแบบนั้นทำให้ได้ทดลองจนเรารู้ไปเอง ไม่ใช่รู้แบบสมัยนี้ อันนั้นคือเอาเนื้อตัวไปทั้งเล่น ทั้งลอง และค่อย ๆ รู้ มันเหมือนดีเอ็นเอสำคัญคือการได้เล่นในธรรมชาติ ได้อยู่ในธรรมชาติ ได้อยู่ในเมืองที่ธรรมชาติดีมาก จนเราเป็นคนแบบนี้เพราะเราโตมาในเมืองแบบนี้ บ้านแอมอยู่ทิศที่จะเห็นดอยสุเทพยาว ๆ คือเป็นทิศที่กลับบ้าน เราจะเห็นความต่างตอนมาอยู่ กทม. ที่อื่นไม่ได้เป็นแบบนี้ พอไปอยู่ที่อื่นเราถึงรู้ว่าที่แบบไหนที่อยู่แล้วสบาย เป็นตัวเรา เหมือนเติมเต็ม ไม่ใช่แค่เชิงกายภาพ แต่เป็นจิตวิญญาณบางอย่างข้างในด้วย ซึ่งคิดว่ามีผลกับตัวตนของเรามาก

“งานหลักตอนนี้คือ เป็นนักเขียนอิสระ ซึ่งได้ทำเนื้อหาแบบนี้มาตลอดเลย เรื่องที่ว่าด้วยวิถีชีวิตยั่งยืน สิ่งแวดล้อม อาหาร สุขภาพ เรื่องที่เป็นองค์รวม เหมือนเป็นลิขิตชีวิตตั้งแต่เริ่มต้น

“สำหรับกรีนเนอรี่ แอมเขียนตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งแพลตฟอร์ม เขาก็ทดลองว่าแพลตฟอร์มแนวกรีนจะไปทางไหนได้บ้าง แต่ที่มาชัดเจนขึ้นเหมือนเราร่วมทดลองไปกับ บ.ก. คือ คอลัมน์จักรวาลในจานข้าว ใช้อาหารเป็นแกนในการนำเสนอ ในมิติที่คล้ายจะท่องเที่ยว คือไปเรียนรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ แต่เราลงไปเชื่อมโยงมากกว่านั้นว่า ภายใต้อาหารเมนูนั้นนี้ที่อร่อย มีเฉพาะจังหวัดนี้ วิธีคิดหรือภูมิปัญญาอาหารนี้มาจากไหน มาจากภูมิศาสตร์แบบนี้ หรือชาติพันธุ์ของคนที่อยู่ตรงนี้ ก็ชวนคนไปสำรวจอะไรแบบนั้น คอลัมน์นี้คือใช้ทักษะหลาย ๆ อย่างที่เราต้องมีพื้นที่แน่นพอที่เราจะตกตะกอนและเล่าได้ว่าจะเอาอะไรแค่ไหน คิดว่าดีมากเหมือนกัน แต่วิธีการผลิตต้องทุ่มสรรพกำลังเยอะ ต้องเดินทาง เลยทำได้แค่หนึ่งปี

“ตอนนี้เขียนเรื่องสัมภาษณ์เป็นหลัก แล้วก็รีวิวหนังหรือสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องอาหาร ซึ่งตัวเองที่ไม่ได้เป็นคนสายทำอาหารจ๋า แอมก็ไม่ได้เลือกหนังอาหารในแนวนั้น แต่จะเลือกหนังที่มีมิติต่าง ๆ ภายใต้ประเด็นอาหารที่เรายังไม่ค่อยรู้ บางเรื่องออกมาหลายปีแต่ไม่ฮิตในหมู่มวลชนแต่เราคิดว่ายังมีประเด็นสำคัญอยู่ก็หยิบมาเล่า

เป็นเรื่องที่ดีที่มีแพลตฟอร์มในประเด็นว่าด้วยเรื่องกรีน

“เป็นเรื่องที่ดีที่มีแพลตฟอร์มในประเด็นว่าด้วยเรื่องกรีน ทั้งมิติอาหารที่ปลอดภัย หรือการใช้ชีวิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกินอย่างรู้ที่มา หรือการเข้าใจกระบวนการผลิตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา กระแสแบบนี้เป็นกระแสที่ดี แต่การไปแตะแค่เปลือกข้างนอก ฉันซื้ออาหารออร์แกนิกแล้ว ฉันใช้ถุงผ้าแล้ว ซื้อของบางอย่างที่เป็น circular economy หรือ upcycling แล้ว เหมือนติดอยู่แค่คำที่เป็นเทรนด์ คิดว่ายังไม่พอ อยากให้คนอ่านมีโอกาสที่จะก้าวข้ามไปมากกว่านั้น เห็นว่ามันเป็นวิกฤตจริง ๆ นะ ไม่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมหรืออาหาร ทุกอย่างเกิดขึ้นบนโลกใบเดียวนี้แหละ และโลกก็วิกฤตมากเลย อยากให้คนเห็นลงไปอย่างลึกซึ้ง และเห็นว่าทุกอย่างที่เราทำมันเกี่ยวข้องกับโลกในทางใดทางหนึ่งเสมอ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงก็ง่ายชนิดที่ว่าเริ่มต้นจากตัวเรานี่แหละ ในความหมายที่ว่าเราไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่จากตัวเอง แต่อย่างน้อยเราก็เริ่มทำอะไรบางอย่าง คิดว่าเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่พยายามสื่อสารตลอดในฐานะที่เราทำงานสื่อสารมวลชน”

อยากให้คนอ่านมีโอกาสที่จะก้าวข้ามไปมากกว่านั้น เห็นว่ามันเป็นวิกฤตจริง ๆ นะ

ความเป็นแม่ และรถถังนักปลูกต้นไม้
ชีวิตของวิรตีพบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อเธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำ กลับมาเชียงใหม่ แต่งงาน และมีลูก บทเรียนใหม่ในการสร้างครอบครัวและความเป็นแม่ ได้เสริมความเข้มข้นและสร้างจุดแข็งให้ตัวเอง

“ตอนกลับบ้านไปใหม่ ๆ กลับแบบสบาย ยังเป็นคนตัวคนเดียว เงินเก็บก็มี เลือกที่จะกลับบ้านโดยไม่มีแรงผลักดันอะไร ตามแผนคืออาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชวนให้ไปช่วยสอนที่คณะ เพราะเขาเปิดสาขาเอกคือนิตยสาร แต่พอไปถึงเป็นช่วงที่นิตยสารกำลังขาลง และเงื่อนไขการรับอาจารย์ต้องมีวุฒิปริญญาโท แค่ใช้ประสบการณ์อย่างเดียวไม่พอ เราเลยเรียนโทไปด้วย และแต่งงานพอดี พอสอบติดถึงเพิ่งรู้ว่าตัวเองท้อง เรียนคอร์สเวิร์คเสร็จก็ดร็อป จนลูกโตประมาณหนึ่งถึงกลับไปทำวิทยานิพนธ์ แต่พอจบปริญญาโท มหาวิทยาลัยก็ต้องการวุฒิปริญญาเอก เงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราตั้งใจ จึงไม่ได้เป็นอาจารย์

“เราเลยใช้ชีวิตกับการเป็นแม่เต็มเวลา ข้อดีคือได้จดจ่อกับลูก และแอมเป็นสายหนังสือ ชอบอ่าน เลี้ยงลูกแบบโตกับหนังสือ อ่านเยอะ สิ่งที่ไม่ทันรู้ตัวคือ แอมสะสมการเห็นนิทานที่ดี ฝรั่งเขาทำเรื่องแบบนี้เลยเหรอ ประเด็นแบบนี้ก็ทำนิทานได้เหรอ ถ้าเราไม่เป็นแม่เราก็อาจจะไม่เห็น ไม่ซื้อ ไม่หยิบ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือนิทานเรื่องรถถังนักปลูกต้นไม้

ปกติแอมเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนอยู่แล้ว บางทีนิทานจบแต่ยังไม่หลับเราก็คุยกันต่อ

“ปกติแอมเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนอยู่แล้ว บางทีนิทานจบแต่ยังไม่หลับเราก็คุยกันต่อ ในเรื่องเป็นแบบนั้น แล้วถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ล่ะ ได้แลกเปลี่ยน ได้คุยได้ฟังว่าลูกคิดอะไร นิทานเรื่องรถถังนักปลูกต้นไม้ก็เกิดขึ้นโดยบังเอิญจากการคุยไปคุยมา ตอนนั้นเขาชอบเครื่องบิน รถถัง ตามประสาเด็กผู้ชาย และแอมพาไปทำกิจกรรมแนวธรรมชาติเยอะ เช่น ดูนก เดินป่า เขาเลยเล่าว่ามีตัวละครที่เป็นรถถัง ไปเจอนก แล้วช่วยกันเอาเมล็ดไปปลูกป่า เหมือนผลผลิตทั้งหมดที่เราหล่อหลอมลูกมันสะท้อนผ่านนิทานออกมา คิดว่าจุดเริ่มต้นของการทำนิทานจริง ๆ ของตัวเองก็อาจจะเป็นเล่มนั้นแหละ มาจากบทบาทของการเป็นแม่ ไม่ได้สวมหมวกนักเขียนอยู่ มันบังเอิญเกิดขึ้น เราไม่ได้คิดมาก่อนว่าต้องทำ แต่ก็หาตังค์มาพิมพ์เป็นหนังสือ พิมพ์ 300 เล่ม และแถมเมล็ดพันธุ์ให้คนไปปลูกพร้อมกับนิทาน รถถังยังพ่นเมล็ด อยากให้คนปลูกต้นไม้ของตัวเอง

เหมือนผลผลิตทั้งหมดที่เราหล่อหลอมลูกมันสะท้อนผ่านนิทานออกมา

“ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะเป็นแม่ ไม่เคยอยากมีลูก แต่งงานหรือไม่แต่งก็ได้ เราเป็นผู้หญิงที่ดูแลตัวเองได้ แต่พอดีจังหวะชีวิตเป็นไปแบบนั้น เมื่อต้องทำก็ทำเต็มที่ มองตัวเองว่าเป็นแม่ที่เป็น perfectionist ต้องการความสมบูรณ์แบบเยอะไปหน่อย เพราะลึก ๆ เราเป็นคนขี้กลัว ไม่มั่นใจ พอเป็นแม่เราก็อยากให้ลูกปลอดภัยในเงื่อนไขอะไรก็ตาม ให้เขาไม่ต้องเผชิญ แต่บางทีลืมไปว่าพอเราเอาความกังวลความกลัวของเราไปฉายหรือกังวลแทนเขา หรือปกป้องอะไรบางอย่างแทนเขา มันไม่ได้ดีกับใครสักคนทั้งตัวเราหรือลูก

“แอมเป็นคนสนใจการเรียนรู้เรื่องภายใน พอเราเห็นว่านี่เป็นข้ออ่อนของเราซึ่งเมื่อไปสัมพันธ์กับคนอื่นจะเกิดผลกระทบแบบนี้นะ ทำให้เรากลับมาจัดการที่ตัวเอง แทนที่จะจัดการคนอื่น พอเราเห็นตัวเองเท่าทัน เราก็จะเบามือลง ต้องปล่อยให้ลูกเจออะไรบ้าง เป็นการจัดการตัวเองด้วย และเป็นการขยับขยายขอบเขตกับลูกตามวัยของเขา ตอนนี้ลูกแอมอายุ 14 แล้ว ไม่ใช่เด็กน้อยที่ต้องการแม่ขนาดนั้น เราจะจัดตำแหน่งแห่งที่ยังไงที่เราจะไม่ห่างเหินกัน และเขาก็จะไม่รู้สึกว่าถูกควบคุมมากเกินไป เป็นศิลปะที่ต้องปรับอยู่ตลอด และคงต้องปรับตลอดไป ต่อไป 18-21 ก็อีกแบบ จะเหวี่ยงกว่านี้หรือเปล่า ไม่รู้ หน้าที่ของเราคือต้องจัดระยะต่อกันให้ความสัมพันธ์มันดีเท่าที่เป็นไปได้

เราเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง เราก็ไม่ได้เลี้ยงแบบสั่งสอน เธอต้องเชื่อฟังฉัน เราเติบโตมาแบบคุยกันได้ตลอด

“แอมมาจากครอบครัวที่ความสัมพันธ์ไม่ได้ใกล้ชิดเท่าไหร่ พ่อทำงานที่กรุงเทพฯ แม่ทำงานเชียงใหม่ แม่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง เพราะต้องทำงานเต็มเวลา เราถึงไม่มีความเชื่อมโยงกับพ่อแม่มากนัก ยิ่งพ่อนาน ๆ เจอกันที และพ่อเป็นทหาร แค่รังสีก็ไม่อยากอยู่ใกล้แล้ว เลยเป็นความห่าง ๆ กัน เพราะฉะนั้นเราเลยไม่มีแบบอย่างว่าควรสร้างครอบครัวแบบไหน แค่รู้สึกว่าสิ่งที่เราไม่ชอบเราก็ไม่ทำ ไม่อยากให้บรรยากาศครอบครัวเป็นแบบนั้น เราอยากเป็นครอบครัวที่คุยกันได้ พอดีว่าแอมกับสามีเป็นเพื่อนกันมาก่อน พื้นฐานส่วนหนึ่งก็คือความเป็นเพื่อน พอมีลูก แล้วเราเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง เราก็ไม่ได้เลี้ยงแบบสั่งสอน เธอต้องเชื่อฟังฉัน เราเติบโตมาแบบคุยกันได้ตลอด เป็นการแลกเปลี่ยนแบบเท่าเทียม ลูกกล้าที่จะแลกเปลี่ยนกับเรา ซึ่งถ้าเขาไม่วางใจ ไม่ไว้ใจว่าปลอดภัยที่จะยืนยันความเชื่อของตัวเอง เขาก็คงไม่พูด ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะเราสร้างบรรยากาศให้เป็นแบบนี้”

เครื่องมือ “นิทาน” อันทรงพลัง
“แอมทำงานสื่อมายาวนานก็จริง แต่ไม่อาจหาญกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียน แค่เราชอบสื่อสาร ชอบส่งผ่านเรื่องราวในวิธีที่เราถนัด”

ในระหว่างที่ยังไม่พบแนวทางของการเป็นนักเขียนที่เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ นิทานเล่มเล็ก ๆ ของวิรตีและลูกน้อยนำพาเธอไปสู่หมุดหมายที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน นั่นคือการได้เขียนหนังสือนิทานเล่มถัด ๆ มา

“ก้าวแรกที่มาทำนิทานเป็นงานจริง ๆ คือ หนังสือเรื่อง ป่าดอยบ้านของเรา ตอนนั้นพี่ บ.ก. ที่รู้จักกันชวนมาทำ เขาหานักเขียนที่เป็นคนเชียงใหม่มาทำงานในโครงการ ซึ่งมีโจทย์คือเรื่องดอยสุเทพ แอมเลือกมิติเรื่องธรรมชาติวิทยา ชอบเห็นภาพรวม เวลาทำอะไรไม่อยากเล่าแค่ตรงปลายเรื่องเล็ก ๆ อย่างดอยสุเทพก็เล่าว่าธรรมชาติบนดอยเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเชียงใหม่อย่างไร ภูเขา ฝน แม่น้ำ แม้แต่ปลวกในดิน ทุกอย่างเป็นส่วนที่ทำให้น้ำลงมาถึงเชียงใหม่ แล้วน้ำจากตาน้ำเล็ก ๆ บนดอยสุเทพบ้านฉันนี่แหละก็ไหลไปถึงเจ้าพระยาและอ่าวไทย

“ปรากฏว่าได้รับฟีดแบคที่ดี แอมเจอพ่อแม่ที่สื่อสารโดยตรงกับเรา และหนังสือก็ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน คือโดยส่วนตัวไม่ได้แสวงหาการพิสูจน์อะไร แต่พอหนังสือมีศักยภาพด้วยตัวเองที่จะไปต่อ แปลว่าอุปกรณ์นี้เวิร์กสำหรับเราเหมือนกัน ก็ควรใช้ประโยชน์ต่อ

“นิทานเล่มถัดมาที่ทำเองคือ มิสเตอร์เพอร์เฟ็คต์ ซึ่งเนื้อหาจริง ๆ เป็นเรื่องนพลักษณ์ การภาวนา การยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น ประเด็นมันไม่ mass หรอก แอมพิมพ์น้อย เพราะรู้ว่านิทานขายยากในบ้านเรา แล้วทำประเด็นแบบนี้ซึ่งคนไทยไม่ได้คุ้น แต่พอดีคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ซึ่งเป็นไอดอลของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ท่านแนะนำนิทานทั้งสองเล่ม พอคุณหมอเขียนถึง หนังสือก็หมดในหนึ่งเดือน

แอมค้นพบว่านิทานเป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่ง

“กลายเป็นแอมค้นพบว่านิทานเป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่ง เราสามารถเล่าเรื่องที่ยาก ๆ ให้เข้าถึงง่ายในรูปลักษณ์ของนิทาน ประเทศไทยอาจมีตัวอย่างแบบนี้น้อย แต่ในฐานะที่เป็นแม่ เคยหาหนังสือต่าง ๆ มาให้ลูก เราเห็นว่านิทานในเวทีนานาชาติพูดเรื่องที่ยาก แม้แต่เรื่องความตาย ความเหลื่อมล้ำ คืออะไรก็พูดในนิทานได้ อันนี้มีความน่าสนใจ สงสัยตัวเองต้องมาทางนี้ เพียงแต่ความยากของนิทานอยู่ตรงที่ต้องอาศัยอีกคนคือ นักวาด ซึ่งต้องเป็นวิญญาณกลับร่างของเรา เล่าเรื่องของเราออกมาเป็นภาพ แต่ยังต้องเป็นตัวเขาด้วย ก็ท้าทายดีนะ นิทานทุกเล่มเปลี่ยนนักวาดตลอด ทำให้เราได้ลองไปด้วย”

“วันนี้หนูกินอะไรดีนะ”

“วันนี้หนูกินอะไรดีนะ”
นิทานเล่มล่าสุดของวิรตีเพิ่งพิมพ์เสร็จสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง เป็นหนังสือนิทานที่มีภาพวาดประกอบสีสันสดใสเต็มไปด้วยรายละเอียด ตั้งชื่อด้วยประโยคง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันว่า “วันนี้หนูกินอะไรดีนะ” แต่เนื้อหาที่แฝงไว้คือประเด็นใหญ่ ๆ ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน

“ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจประเด็นของนิทานเรื่องนี้ก็จะบอกว่าเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่ถ้าไปเปิดอ่านถ้อยคำในนิทานก็จะไม่เป็นเรื่องที่ยากขนาดนั้น คีย์เวิร์ดยังคงเหมือนที่เราทำคอลัมน์จักรวาลในจานข้าว เพียงแต่เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กเล็ก เราต้องการแค่ให้เขารู้ว่าอาหารมาจากไหน เพราะต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่สัมพันธ์กับธรรมชาติน้อยลง ซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ต แม้แต่น้ำคนก็นึกว่ามาจากก๊อก ไม่รู้ว่ามาจากไหนจริง ๆ อาหารก็มาจากกล่องซึ่งสำเร็จรูป เราก็เลยกลับไปที่จุดเริ่มต้น ชวนให้คิดว่าอาหารมาจากไหน

โลกใบนี้ก็คือธรรมชาติ ดิน น้ำ ภูเขา เนรมิตอาหารให้เราตลอดเวลา

“โลกใบนี้ก็คือธรรมชาติ ดิน น้ำ ภูเขา เนรมิตอาหารให้เราตลอดเวลา แต่เพราะเราไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต้นไม้ใบหญ้าคือวัชพืช ถ้าเพียงเรามีความรู้นิดหน่อยหรือค่อย ๆ สะสมความรู้มากขึ้น บางอย่างที่เคยเป็นวัชพืชก็จะไม่เป็นวัชพืชอีกต่อไป แต่เป็นอาหารที่แผ่นดินเนรมิตขึ้นมา เป็นฤดูกาล ฤดูนี้มีอันนี้ เพราะฉะนั้นในเชิงกลุ่มเป้าหมายของนิทานว่าด้วยเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ก็คือชวนพ่อแม่และเด็ก ๆ กลับไปดูว่าอาหารมาจากไหน อาหารมาจากธรรมชาติ คือสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรานั่นเอง และเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายมาก พอรอบบ้านมีแบบนี้ หนูจะกินอะไรดี ให้คนสามารถมองเห็นว่าเราสามารถเชื่อมโยงกับโลกใบนี้อย่างไรผ่านอาหารการกิน เพราะว่าบางทีกระแสกรีนหรือสถานการณ์โควิดหรือเรื่องการพึ่งตนเอง ทำให้คนไปเพ่งว่าต้องปลูกผักกินเอง แต่จริตคนเมืองที่ต้องปลูกผัก บางทีปลูกผักแล้วเหนื่อย ปลูกไม่ขึ้น หรือปลูกแล้วสามเดือนต้องไปปลูกใหม่ เราอยากบอกว่าเรื่องที่มีอยู่ในชีวิตของคนไทยคือ เราไม่ต้องปลูกผัก แต่เราปลูกต้นไม้ที่เป็นอาหาร ปลูกครั้งเดียวก็อยู่กับเราตลอด เพียงแต่ฤดูนั้นฤดูนี้อันนั้นออกอันนี้ออก นิทานเรื่องนี้ก็จะฉายภาพรวมในลักษณะนั้น

นิยามของความมั่นคงทางอาหาร สหประชาชาติจะให้ความหมายไว้สองประเด็น คือ ปริมาณกับคุณภาพ

“นิยามของความมั่นคงทางอาหาร สหประชาชาติจะให้ความหมายไว้สองประเด็น คือ ปริมาณกับคุณภาพ ปริมาณคือมีมากเพียงพอที่เวลาคุณอยากจะกินก็มีกิน คือพึ่งตนเองได้ คุณภาพคือมีความสะอาด ปลอดภัย ไม่มีสารเคมี ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็อยู่ในนิทานเรื่องนี้ แต่ไม่ได้พูดเลย ไม่มีคำอะไรที่ยาก ๆ เลย แต่เล่าผ่านภาพว่าอาหารง่ายแค่นี้เอง แค่เราดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี หรือต้องลงทุนทำอะไรบางอย่าง เช่นเพาะปลูกพืชพันธุ์ที่เหมาะสม ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม สิ่งแวดล้อมนั้นก็จะดูแลเราอีกทีหนึ่ง

“เล่มนี้เนื้อหาไม่ยาก ภาพประกอบสวยมาก นักวาดคือ พี่จุ๊-จุฑามาศ ประมูลมาก ซึ่งรู้จักกัน พี่จุ๊เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มีงานอดิเรกคือชอบวาดรูป และทำงานเชิงพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะฉะนั้นจึงมีข้อมูลในแง่ความเข้าใจว่าการแต่งกาย พืชพันธุ์สัณฐาน บ้านเรือน จะเป็นประมาณไหน และด้วยเทคนิคที่เขาชอบคือวาดแบบมีรายละเอียดเยอะ เราอายุใกล้เคียงกัน โตมากับยุคหนังสือมานีมานะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคิดว่าใช่มากเลยที่ได้พี่จุ๊มาวาดเล่มนี้ให้ มันเติมเต็มส่วนที่เป็นเนื้อหา นิทานพูดเยอะไม่ได้ ที่เหลือต้องให้ภาพทำ แต่ภาพก็ต้องเข้าใจไปในทิศทางเดียวกับเรา แอมสรุปงานเยอะมากทำเหมือนเป็นสตอรี่บอร์ดเลย เขียนเนื้อหาแค่นี้ แต่อยากให้เห็นมุมมองทั้งบนดิน ใต้ดิน ใต้น้ำ เราจะมีภาพในหัวประมาณหนึ่ง แต่ที่เหลือคือวางใจให้นักวาดทำงาน

“เล่มนี้จะแจกเมล็ดพันธุ์ให้คนได้ไปปลูกด้วย เป็นเมล็ดพันธุ์จากชุมชนเกษตรแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกลุ่มของพี่ปุ้ย-มัทนา อภัยมูล ลูกของพ่อพัฒน์ อภัยมูล ซึ่งทำเรื่องเมล็ดพันธุ์มายาวนานแล้ว เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อได้”

นักสื่อสารที่จัดสมดุลทั้งรับเข้าและส่งออก
นอกจากผลงานหนังสือนิทานที่เจ้าตัวจัดพิมพ์เอง และบทความตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ พื้นที่สื่อสารซึ่งวิรตีใช้รับและส่งข้อมูล ความรู้ ความคิด ทัศนคติอยู่เสมอก็คือบนหน้าเฟสบุ๊คส่วนตัว Wiratee Tapingkae ฟีดข่าวของเธอไม่เคยเหงา มีเนื้อหาเรื่องราวทั้งที่แบ่งปันมาจากแหล่งอื่นและที่วิรตีเขียนขึ้นเอง ให้นึกสงสัยว่าในยุคที่ข้อมูลข่าวสารทะลักล้นบนสื่อสังคม วิรตีมีหลักในการจัดการรับเข้าและส่งออกให้พอดีกับตัวเองอย่างไร

ฉันอยากให้เธอได้ยิน

“แอมเขียนความคิดลงเฟสบุ๊คอยู่เสมอ อาจจะทำไปโดยไม่ได้คิดว่าต้องทำ ไม่ได้คิดว่าต้องเขียน แต่ทำไปตามธรรมชาติของเรา ใช้การเขียนเป็นอุปกรณ์ บังคับให้ตัวเองต้องคิด บวกกับบางครั้งอยากหยอดเรื่องนี้ไว้ให้คนอ่านหน่อย ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือ ทั้งเพื่อรักษาตัวเองให้มีตำแหน่งแห่งที่ในการอยู่บนโลกนี้ผ่านความคิดบางแบบ และในฐานะคนทำงานสื่อสาร เรื่องนี้สำคัญ ฉันอยากให้เธอได้ยิน หรือมาได้ยินไปด้วยกัน หรือสร้างแรงบันดาลใจ หรือเกิดความร่วมมือกับคนอื่นให้อยากทำเรื่องนี้เหมือนกัน มาทำด้วยกันไหม

“แอมใช้ชีวิตแบบพยายามจัดสมดุลตัวเองตามธรรมชาติ พอเราทำไปบ่อย ๆ ก็กลายเป็นกิจวัตรไปเองโดยไม่ตั้งใจ หลังกินข้าวเช้าเสร็จ ช่วงดื่มกาแฟ แอมจะโพสต์เฟสบุ๊ค ไม่ได้คิดไว้ก่อน แต่บางทีก็เป็นประเด็นหรือบางทีไปฟังคนนั้นมา เอามาแบ่งคนอื่น ช่วงบ่าย ๆ ของวันจะอ่านหนังสือ กลางคืนอยู่กับลูกในห้องเดียวกัน ลูกเล่นเกม เราจึงทำอะไรที่ใช้สมาธิไม่ได้ ก็จะดูซีรีส์ แต่ความที่เป็นคนนิสัยแบบนี้ เวลาดูซีรีส์คนอื่นดูเอาบันเทิง นี่ก็วิเคราะห์ ถอดรหัส ถอดบทเรียนอยู่ตลอดเวลา ไปดูหนังในโรงหนัง จดอะไรไม่ได้เลยนะ แต่แอมสามารถจำบทสนทนาในเครื่องหมายคำพูดเอามาเขียนได้ บันเทิงของเราไม่เท่ากัน บันเทิงของฉันเป็นแบบนี้ และด้วยความเป็นสื่อ เหมือนได้ส่งอะไรบางอย่างออกไปให้คนอื่นอยู่เสมอ ซึ่งเราก็ได้รับฟีดแบค คนก็ชอบตาม เขาบอกว่าเหมือนอ่านนิตยสาร เพราะเราไม่ได้สนใจเรื่องใดเรื่องเดียว แต่ไม่ใช่คนที่กลัวว่า ‘ฉันจะตกยุคไหม’ ‘ตอนนี้เขาพูดเรื่องอะไรกัน’ ไม่เอาตัวเองเข้าไปแบบนั้น เปิดรับเท่าที่ตัวเองอยากรู้ สนใจ ถ้าสนใจมากก็อาจจะดิ่งไปอีกนิดหนึ่ง ทุกอย่างมาจากตัวเองเป็นหลัก ไม่ยอมให้ทุกอย่างไหลเข้ามาตามกระแส ไม่ให้ตัวเองท่วมท้น ถ้าเรื่องไหนไม่ไหวก็ปิดการรับรู้

บางอย่างที่เขียนเหมือนให้กำลังใจคนอื่น แต่ที่จริงคือให้กำลังใจตัวเอง

“เนื้อหาที่เขียนก็ค่อนข้างเป็นเชิงบวก ที่จริงไม่ได้ตั้งใจจะบวก ไม่ใช่แบบมามีความสุขกันนะ แต่เป็นคนแบบนี้และเป็นคนจริงจัง แง่หนึ่งจึงเหมือนบำบัดตัวเอง บางอย่างที่เขียนเหมือนให้กำลังใจคนอื่น แต่ที่จริงคือให้กำลังใจตัวเอง เราค้นพบอะไร เรียนรู้อะไรในช่วงเวลานั้น เราก็บันทึกมันไว้ จากคนที่เคยบอกกับตัวเองว่า ‘ห้ามร้องไห้’ แต่พอกลับไปอ่านสิ่งที่เขียนเราจะได้รู้ว่าฉันผ่านเรื่องนั้น ๆ มาได้ด้วยท่าทีแบบไหน บางอย่างเราอ่อนแอได้ เจ็บปวดได้ ซึ่งเมื่อก่อนจะไม่อนุญาตให้ตัวเองมีมุมอ่อนแอ เปราะบาง โง่งมเลย แต่ตอนนี้เราอนุญาตให้คนอื่นเห็นความเปราะบางของเราได้ ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องปกติ หลายคนอาจเผชิญภาวะแบบนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นไหน ก้าวข้ามแล้วหรือยัง มันคล้ายกับทำให้คนได้รู้สึกว่ามีเพื่อนร่วมเจ็บปวดอยู่ ทุกคนเจ็บปวดอยู่ที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่แอมจะไม่ทำเลยคือ ฟูมฟาย เรียกร้อง การเปิดเผยความเปราะบางของแอมคือ เรารู้สึกอย่างไรกับมัน เหมือนเรามีทางที่จะตั้งต้นการคิดเพื่อออกไปจากปัญหามากกว่า”

ในวันที่ตกหลุมดำ จงโอบรับตัวเอง
แน่นอนว่า แม้จะเป็นนักสื่อสารที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตเชิงบวก แต่ย่อมมีบางครั้งที่วิรตีต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ชีวิตที่หนักหน่วงและยากลำบากไม่ต่างจากคนอื่นในสังคม อ่อนแอ เสียศูนย์ หมดความมั่นใจในตัวเอง ดำดิ่งราวกับตกหลุมดำ เมื่อผ่านจุดที่ต่ำที่สุดมาแล้ว วันนี้วิรตีจึงมีวิธีคลี่คลายกับตนเอง

คนทุกคนโตขึ้นจากเมื่อวานเสมอ

“คนทุกคนโตขึ้นจากเมื่อวานเสมอ แต่บางทีอาจมีจุดที่เราไม่รู้จะทำอย่างไรในทุกสถานการณ์ของชีวิต อย่างแอม ทั้งในบทบาทของภรรยา บทบาทของลูกสะใภ้ที่ต้องอยู่ในบ้านของสามี บทบาทของความเป็นแม่ที่เราไม่รู้ว่าควรเป็นแม่แบบไหน ก็มีความกดดันในแบบของมัน

เวลาเราเจอเรื่องยาก ๆ ต้องหาที่ว่างสักนิดหนึ่งสำหรับตัวเอง

“ครั้งแรกที่เกิดภาวะไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต ตอนนั้นลูกอายุ 7 ขวบ เราเป็นแม่มาตลอด 7 ปีอย่างเต็มที่จนกระทั่งความเป็นตัวเองหายไป เกิดคำถามกับตัวเองลึก ๆ ว่าเราเป็นใคร ถ้าลูกไม่ต้องการเราแล้ว เราจะยังมีความหมายในโลกนี้ไหม ตอนนั้นรู้สึกกดดันถึงขั้นที่ต้องทำอะไรบางอย่าง เป็นเหตุผลของการออกเดินทางโดยลำพังครั้งแรก ไม่คิดอะไรเลย รู้แค่ว่าขอออกมาจากตรงนั้น ขอแค่ 10 วัน ไม่เป็นแม่ แต่เป็นอะไรก็ไม่รู้ ขอไปเจอโลกที่ไม่ใช่สิ่งที่เจออยู่ทุกวัน แค่นั้นก็ช่วยแล้ว เวลาเราเจอเรื่องยาก ๆ ต้องหาที่ว่างสักนิดหนึ่งสำหรับตัวเอง ที่ว่างนั้นอาจหมายถึงทางกายภาพ คือบ้าน แต่แอมไม่มี กลับมาบ้านก็เป็นบ้านพ่อแม่ ที่อยู่ทุกวันก็เป็นบ้านสามี ตรงไหนบนโลกใบนี้ที่เป็นเรา การออกเดินทางจึงเหมือนไปสัมผัสอีกด้านหนึ่งที่เรายังสามารถมีพื้นที่ของตัวเองได้อยู่ แม้จะไม่กี่วันก็ตาม แต่มีความหมายมากเลย มีที่ว่างทั้งเชิงกายภาพและจิตใจ มีเวลาเพียงพอที่จะตรึกตรองกับตัวเอง ปัญหาของเราตอนนี้คืออะไร เราต้องการอะไรกับตัวเอง ไม่ได้ไปแสวงหาคำตอบว่าอยู่ที่ไหนหรือใครจะให้คำตอบกับเรา แต่สำคัญคือเราควรมีเวลาที่จะใคร่ครวญค่อย ๆ คิดไปกับมัน อาจจะแก้ไม่ได้ทั้งหมดตั้งแต่แรก แต่อย่างน้อยให้เห็นว่าปัญหาสำหรับเราคืออะไร และเราต้องการอะไรกันแน่ มีอะไรที่เราเริ่มทำได้บ้างไหม เป็นจุดที่ทำให้เริ่มกลับมาทำงานต่าง ๆ อีกครั้ง ได้ฟื้นสิ่งที่เราเคยทำหายไป เรายังทำอะไรบางอย่างได้อยู่ งานของเรายังมีคนต้องการอยู่ การทำงานกับตัวอักษรเป็นอะไรที่มหัศจรรย์อย่างหนึ่ง มันทำงานกับใจคน แอมรู้สึกขอบคุณที่ตัวเองได้ทำงานนี้ ขอบคุณที่คนอ่านอนุญาตให้เราได้ทำหน้าที่นั้น และเราก็มีความสุขที่ได้ทำด้วย

ถ้าเราไม่ให้ความหมายว่าหลุมดำคือสิ่งที่ต้องหลีกหนี เราก็จะสามารถเผชิญหลุมดำอย่างยอมรับมันได้มากขึ้น

“ทุกวันนี้ก็ยังมีตกหลุมดำอยู่ แต่อาจเป็นหลุมดำที่ต่างออกไป หลุมดำเป็นเรื่องที่เราต้องเจอตลอดการเดินทางของชีวิต แต่ถ้าเราไม่ให้ความหมายว่าหลุมดำคือสิ่งที่ต้องหลีกหนี เราก็จะสามารถเผชิญหลุมดำอย่างยอมรับมันได้มากขึ้น ถ้าเราตกหลุมดำบ่อยเพียงพอจนค่อย ๆ สะสมว่าต้องทำแบบนี้ เราก็จะตกได้เก่งขึ้น ตกได้สั้นลง ขึ้นจากหลุมได้เร็ว หรือรู้ว่าวิธีไหนเวิร์คหรือไม่เวิร์ค มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ตั้งสติได้เร็วขึ้น และถ้าไม่ไหวก็ร้องไห้เลย ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นคนที่ไม่อนุญาตให้ตัวเองอ่อนแอ เวลาที่กลัวก็บอกตัวเองว่าต้องไม่กลัว ต้องไม่เศร้า เราเป็นลูกคนโตที่พ่อคาดหวัง ดูน้องด้วยนะ เป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องนะ หลายอย่างเราถูกหล่อหลอมให้บีบคั้นกับตัวเอง เหมือนแบกอะไรบางอย่างไว้ ทำแบบนี้แล้วพ่อจะภูมิใจ หรือทำแล้วคนอื่นจะโอเค สุดท้ายคือทำเพื่อคนอื่นทั้งนั้น เธอต้องเข้มแข็ง เธอต้องไม่ร้องไห้ หรือตอนที่มีปัญหา พออยู่กับลูกตลอด จะร้องไห้ ไม่มีที่จะร้อง ฉันจะไปอยู่ตรงไหน ฉันอยากร้องไห้ แต่ห้ามร้อง ลูกไม่ควรเห็นเราร้องไห้ บีบคั้นกับตัวเองมากเกินไป แต่พอถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าถ้าไม่ไหวก็ร้องไห้ไปก่อน จะร้องสองวันสามวันก็ร้องไป พอแม้แต่ตัวเองยังยอมรับด้านที่ไม่เป็นไรได้ เราจะใช้ชีวิตผ่อนคลายลง ถ้ากลัว กลัวให้พอ หรือเศร้า เศร้าให้พอ แย่ว่ะ แย่ให้พอ การที่เราโอบรับความเปราะบางของตัวเองได้เรื่องนี้สำคัญกับแอมมากเลย เพราะสุดท้ายคนอื่นก็เป็นของเขาอย่างนั้น เขาอาจทำร้ายเรา หรือท่าทีเขาอาจจะทำร้ายเรา แต่หน้าที่ของเราต้องไม่ใช่อีกคนที่ทำร้ายตัวเอง

สิ่งที่ภูมิใจกับตัวเองมากที่สุดคือ การที่เรามีความกล้าหาญที่จะเปิดเผยความเปราะบาง

“กลายเป็นว่าสิ่งที่ภูมิใจกับตัวเองมากที่สุดคือ การที่เรามีความกล้าหาญที่จะเปิดเผยความเปราะบาง ความอ่อนแอ ความกลัว ความไม่รู้ของตัวเอง สำหรับแอมนี่เป็นเรื่องที่ยากที่สุด”

เกื้อกูลและเชื่อมโยง เพราะเราต่างมีความหมายต่อกันและกัน
ในข้อเขียนของวิรตี สิ่งที่จับใจคนอ่านเสมอไม่ใช่ถ้อยคำอันสละสลวย ไม่ใช่รูปแบบวิธีการเขียนที่เปี่ยมด้วยชั้นเชิงคมคายแพรวพราว แต่เป็นใจความที่ถ่ายทอดด้วยภาษาเรียบง่ายละมุนละไมซึ่งชี้ชวนให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ระหว่างเรื่องเล็กน้อยไปถึงเรื่องยิ่งใหญ่อยู่เสมอ ความเชื่อมโยงบนรูปแบบความสัมพันธ์อันเกื้อกูลก็คือภาพจำลองของจักรวาลทั้งมวล อยู่ในทุกส่วนของสรรพสิ่งในธรรมชาติ ซึ่งการมองเห็นความสัมพันธ์นี้สามารถเติมเต็มและเยียวยาความรู้สึกว่างเปล่าเคว้งคว้างในจิตใจของผู้คนได้ นี่คือคุณค่าอันละเอียดอ่อนในงานของวิรตีที่เธอสื่อสารส่งมอบให้สังคม

“ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์กับอย่างอื่นเสมอ ไม่ว่าคุณจะรู้จะเห็นหรือไม่ก็ตาม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่มากกว่านั้นเสมอ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้โดด ๆ ด้วยตัวเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตลอดการทำงานของเราพยายามสื่อสารให้คนเห็นความเชื่อมโยงและสัมพันธ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกับสิ่งที่เรามองไม่เห็น ‘อ๋อ เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับฉันเหรอ’ เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งให้เขารู้ คนเราพอเริ่มจากรู้จะกลายเป็นความรัก ความผูกพัน เป็นขั้นต่อมา ความเกื้อกูลคือสิ่งนี้ การบอกให้รู้ว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเราอย่างไรบ้าง ถ้าเรารู้เราก็จะรักษาสิ่งนั้น และการรักษาสิ่งนั้นก็คือการรักษาตัวเอง แต่เป็นคนละเรื่องกับถ้าเราจะเอาแต่รักษาตัวเอง หมายถึงเห็นแก่ตัว คุณจะไม่ได้รักษาอย่างอื่นที่เป็นเบื้องหลังของการหล่อเลี้ยงคุณ แต่พอคุณรู้ว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับคุณอย่างไรและคุณออกไปรักษาสิ่งนั้น มันจะเป็นการรักษาคุณทางอ้อม หล่อเลี้ยงตัวคุณให้ดำรงอยู่ได้ทางอ้อม เราต้องการทำสิ่งนี้ ต้องการทำให้คนเห็นว่า ตัวคุณไม่ได้อยู่โดด ๆ ลอย ๆ ด้วยตัวคุณเอง มีปัจจัยที่หล่อเลี้ยงคุณอยู่ ได้โปรดช่วยกันรักษามัน ให้มันรักษาคุณ

“แอมสนใจเรื่อง nature connection การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ถูกอธิบายเป็นศาสตร์ เพื่อให้ดูว่าไม่งมงายเกินไป และมิติที่เป็นประสบการณ์เนื้อตัว แอมเริ่มจากประสบการณ์ก่อนแล้วค่อยไปเติมความรู้ คิดว่าตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและเป็นประตูองค์ความรู้ที่มีความหมายมาก ทำให้รู้สึกอยากทำงานแทนสุ้มเสียงของธรรมชาติที่เขาพูดไม่ได้ เพราะเราเชื่อมโยงกับเขา เราติดต่อสื่อสาร ได้รับข้อความบางอย่าง และรู้สึกว่าเรามีหน้าที่พูดมันออกไป พอวันหนึ่งที่พบว่าเรามีจุดเชื่อมโยงกับธรรมชาติเราก็ค้นพบว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่ เช่น หลายครั้งที่รู้สึกแย่ คิดอะไรไม่ออก แค่ออกไปเดินเล่น เห็นท้องฟ้าเปลี่ยน เมฆเปลี่ยน หรือเจอดอกหญ้าที่แทงทะลุคอนกรีตขึ้นมา เรารู้สึกว่าเจอคำตอบอยู่ในทุกสิ่งเลย อยู่ในธรรมชาติ เรารับรู้ว่ามีบางอย่างเกื้อหนุนเราอยู่เสมอ ซึ่งก็คือธรรมชาตินั่นแหละ เมื่อใดเราไม่พบคำตอบ จงกลับไปหาแม่ของเรา ก็คือแม่ธรรมชาติ กลับไปเชื่อมโยง คำตอบจะอยู่ในหลาย ๆ อย่างคือธรรมชาติที่ปรากฏ จะเป็นท้องฟ้า ต้นไม้ ดอกไม้ ป่า หรือผึ้งตัวหนึ่งบินมาเกาะมือเรา ไม่ได้พูดในเชิงมูเตลูนะ แต่บางอย่างมีคำตอบในหลายอย่าง กำลังใจอยู่ในบางอย่างที่ทุกทีเราอาจไม่เคยใส่ใจมองเห็น ไม่เคยให้ค่า แต่เมื่อวันหนึ่งที่เราเคยมีประสบการณ์ได้รับรู้ว่าสิ่งนั้นคอยประคับประคองหรือคลี่คลายบางอย่างให้เรา บอกอะไรกับเราอยู่ เราจะพบว่ามันมีทางออกหรือคำตอบอยู่เสมอในธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะปรากฏตัว นี่คือวิธีที่แอมหล่อเลี้ยงตัวเอง

“ทุกครั้งที่รู้สึกแย่ก็จะพาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติ ไม่ถึงกับต้องเข้าป่า บางครั้งแค่ออกไปเดินในที่โล่ง ๆ กว้าง ๆ เห็นท้องฟ้า ดอกหญ้า สรรพสัตว์ ผีเสื้อ ในเมืองก็มีสิ่งเหล่านี้ เอาตัวเองออกไป เปิดดวงตาให้มองเห็นการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราหล่อเลี้ยงสำหรับตัวเอง ได้สิ่งที่เป็นบวก ความหวัง ไม่ได้คิดได้เอง แต่ธรรมชาติบอกเรา หรือต้นไม้ที่ทะลุคอนกรีตขึ้นมา ถ้าวันไหนที่เรามีสภาวะแบบนั้น ภาพแบบนี้ก็ทำให้เราร้องไห้ได้เลย ‘ขนาดต้นไม้ยังไม่ยอมแพ้เลยนะ’ เขาไม่ได้พูดอะไร แต่พอคุณเห็น ธรรมชาติก็สามารถเยียวยาจิตใจคุณได้ ทุกคนมีสิ่งยึดเหนี่ยวหรือมีความหมายบางอย่างอยู่ ก็อาจใช้สิ่งนั้นเป็นจุดเริ่มต้น อย่างแอมใช้ความหมายกับธรรมชาติก็เลยเป็นแบบนี้ แต่คนอื่นอาจใช้สิ่งอื่นในแบบที่เขาชอบก็ได้

“อีกอย่างที่แอมคิดว่าเป็นคำตอบที่ดีมากและพ้นช่วงเวลาคือ คุณหมอประเสริฐจะพูดกับพ่อแม่ตลอด เช่น สมมติเด็กไปโรงเรียนแล้วถูกบูลลี่ รู้สึกไร้ค่าให้ทำอย่างไร คุณหมอจะบอกว่าให้ไปทำเพื่อคนอื่น ไปทำงานอาสา บางทีคนที่รู้สึกตั้งคำถามกับตัวเองมาก การหาคำตอบกับตัวเองอาจยังไม่พอ แต่ว่าการให้คนอื่นมันง่ายมาก ๆ เช่น บางคนเอาข้าวให้หมา หรืออะไรก็ได้ สิ่งอื่นที่มากกว่าตัวเอง มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อเห็นแก่ตัวเอง ธรรมชาติของมนุษย์เกิดมาเพื่อแผ่ขยายและเติบโต ศาสนาทุกศาสนาพูดเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือใหญ่ออกไปจากตัวเอง เพราะฉะนั้นการกลับมาเยียวยาจิตใจมนุษย์เมื่อรู้สึกแย่ก็คือการแผ่ออกไป คือการให้ ให้ออกไปมากกว่าตัวเอง อาจไม่ใช่แค่ให้กับคนก็ได้ ปลูกต้นไม้ หรือกับสัตว์ หรือทำงาน แบ่งปัน การเห็นความงอกงามของคนอื่นมันต่อเติมหล่อเลี้ยงจิตใจของเรา เป็นมากกว่าปัจจัยสี่

“การที่เรารู้สึกว่าเกิดมามีความหมายบางอย่าง สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญสูงสุดของการเป็นมนุษย์ ทุกอย่างที่แอมทำก็คือเรียนรู้ความเป็นมนุษย์นั่นแหละ โดยเฉพาะเมื่อเราก้าวผ่านมาสู่จุดที่สามารถเปิดเผยความเปราะบางได้ เรารู้สึกว่าความเป็นมนุษย์เป็นแบบนั้น เราไม่ได้เกิดมาเพื่อถูกตัดสินว่าดีหรือเลว มันไม่ใช่สองขั้ว เราเป็นได้ทุกอย่าง มีวันที่ลง มีวันที่ขึ้น เป็นวงกลมของการเรียนรู้เติบโต ถ้าเราอนุญาตให้มีความเป็นไปได้หลายแบบมาก ๆ เราก็จะไม่ตัดสินตัวเอง โตก็โตไปพร้อมกับมัน เราจะพบว่ามีคำตอบอยู่ในธรรมชาติเสมอ มีความหวังในโลกนี้เสมอ ถ้ารู้สึกแย่ก็แบ่งปันคนอื่น ถ้าเราแบ่งปันมากพอ เราอาจไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะให้อะไรกลับ แต่วันหนึ่งเมื่อเราให้มากกว่า สิ่งนั้นจะโอบอุ้มเราในท้ายที่สุดด้วยเหมือนกัน

“ความงดงามของโลกคือแบบนี้แหละ ความเกื้อกูล แอมชอบคำนี้เพราะไม่ใช่เมตตา ไม่อยากให้มีลำดับ มีคนให้ มีคนได้รับ แต่ว่าเวลาพูดว่าเกื้อกูลคือแบ่งกัน ตอนฉันมีฉันให้เธอ ตอนนี้ฉันขาดกำลังใจเธอให้ฉัน เราแลกเปลี่ยนกัน”

นิทาน “วันนี้หนูกินอะไรดีนะ” เขียนโดยวิรตี ทะพิงค์แก ราคาเล่มละ 180 บาท สั่งซื้อพร้อมรับเมล็ดพันธุ์ฟรี ได้ที่ www.facebook.com/wiratee.tapingkae

ภาพ : ธาตรี แสงมีอานุภาพ