สำหรับครัวไทย ผักชนิดหนึ่งที่ไม่เคยห่างหายจากโต๊ะอาหาร โดยเฉพาะจานอร่อยตลอดฤดูฝนนั้นหนีไม่พ้น ‘ดอกแค’ ทั้งแคขาว แคแดง ล้วนเป็นผักประจำบ้านที่เราคุ้นรสชาติและถือเป็นยาเย็นช่วยไล่ไข้ โดยเฉพาะเมื่อนำมาปรุงใส่ในแกงส้มรสจัดจ้าน ก็ยิ่งช่วยขับเหงื่อทำให้หายใจสะดวกขึ้น

แต่ในวงศ์ ‘ดอกแค’ นั้นไม่ได้มีแค่แคขาวหรือแคแดง…

ด้วยยังมีอีกหนึ่งต้นแคที่น้อยคนจะรู้จัก แคนั้นคือ ‘แคนา’ ไม้ยืนต้นหน้าตาคล้ายต้นปีบที่เติบโตอยู่ใกล้ตัวเรามานานแล้ว เนื่องจากต้นแคนั้นเป็นไม้โครงสวย หลายคนจึงนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับ เราจึงมักได้พบต้นแคนายืนต้นให้ร่มเงาอยู่กลางเมืองใหญ่โดยไม่มีใครสนใจใช้ประโยชน์จากมันมากกว่านั้น แต่สำหรับชาวอีสานหรือชาวเหนือ แค่มองปราดเดียวก็คงรู้ว่าดอกแคนาสีขาวที่ร่วงกราวอยู่บนพื้นนั้นมีคุณค่า ด้วยมันเป็นทั้งอาหารและยาชั้นดี!

ดอกแคนา สมุนไพรอีสานช่วยไล่ไข้

เรารู้จักต้นแคนาครั้งแรกในสำรับอาหารอีสาน… ก่อนจะค้นพบว่าหน้าตาของมันนั้นต่างจากรสขมปร่าที่เราเคยลิ้มรสลิบลับ เพราะสำหรับชาวอีสานแล้วส่วนที่มีประโยชน์ที่สุดของต้นแคนาหาใช่ร่มเงา แต่คือดอกสีขาวบริสุทธิ์ที่จะค่อยๆ เริ่มบานตั้งแต่ตะวันตกดินเรื่อยไปจนถึงฟ้าสาง และจะร่วงพราวอยู่เต็มพื้นดินตอนเช้ามืดนั่นเอง และถ้าเทียบกันให้ครบถ้วน ก็ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ของต้นแคนาเท่านั้นที่คล้ายกับต้นปีบ ทว่าดอกแคนาก็หน้าตาคล้ายกับดอกปีบขยายขนาดด้วยเหมือนกัน แตกต่างกันตรงดอกแคนานั้นมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผิดกับดอกปีบที่หอมอบอวล

ทว่ารสชาติของดอกแคนากลับผิดกับหน้าตาสีขาวสะอ้านของมันสิ้นเชิง ด้วยมีรสขมปร่าเจือกลิ่นหอม เป็นรสขมที่ช่วยให้เจริญอาหารและเข้ากันกับบรรดาอาหารอีสานรสจัดจ้านทั้งแจ่วหรืออาหารจานลาบทั้งหลายได้อย่างดี

แต่ถ้าถามถึงเมนูที่ครองใจเรา ต้องขอยกให้ ‘อั่วดอกแค’ ที่นำดอกแคนามายัดไส้หมูสับผสมเครื่องเทศจนแน่นก่อนนำไปนึ่งจนสุก เสิร์ฟเคียงกับน้ำจิ้มรสเปรี้ยวอมหวานหรือแจ่วมะเขือเทศ เป็นอาหารว่างแบบอีสานที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ทางยาเพียบ โดยเฉพาะผู้หญิงคนไหนที่เลือดลมไม่ดี เมนูจากดอกแคนานับเป็นอาหารที่คนรุ่นปู่รุ่นย่าแนะนำให้กินเป็นประจำ ด้วยดอกไม้สีขาวชนิดนี้นั้นนอกจากสีสรรพคุณช่วยไล่ไข้ และเป็นยาระบายอ่อนๆ ยังช่วยให้เลือดลมเดินดีอีกด้วย

กว่านั้น ยังมีอาหารพื้นบ้านอีกหลายชนิดที่นิยมหยิบดอกแคนามาชูรส ทั้งคั่วดอกแคนาใส่หมูสามชั้นของชาวเหนือ น้ำพริกดอกแคนา ที่นำดอกแคนามาลวกและสับละเอียด ตำกับพริกและมะเขือยาวเผาจนเข้ากันดี กลายเป็นน้ำพริกสุดนัวที่มีรสขมอ่อนๆ เพิ่มความอร่อย หรือจะดอกแคนายัดไส้เนื้อสัตว์ทอดจนเหลืองกรอบก็อร่อยไม่แพ้เทมปุระในสำรับอาหารญี่ปุ่นทีเดียว

เกสรรสขมปร่า ต้องระวัง

ถึงแคนาจะปรุงเป็นเมนูได้หลากหลาย แต่สำหรับใครที่อยากลองใช้วัตถุดิบชนิดนี้ก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน เพราะแคนานั้นมีรสขมปร่าจางๆ ก็จริง แต่ถ้าเผลอกิน ‘เกสร’ ของแค่นาเข้าไปด้วยก็จะทำให้รสขมปร่ากลายเป็นรสขมปี๋ และทำให้อาหารจานนั้นเสียรสชาติไปอย่างน่าเสียดาย

ทุกครั้งเมื่อนำแคนามาปรุงอาหาร เราจึงต้องปลิดเกสรของมันออกให้เกลี้ยง หรือถ้าอยากลดความขมปร่าให้เหลือแค่กลิ่นหอมอ่อนๆ แม่ครัวรุ่นใหญ่ก็แนะนำไว้ว่าให้ลองนำดอกแคนาลวกในน้ำร้อนแค่พอสะดุ้งก่อนนำมาปรุงอาหาร ก็จะช่วยขจัดความขมได้เป็นปลิดทิ้ง

อั่วดอกแคนา เมนูจากดอกไม้สีขาว

และสำหรับเรา การนำดอกแคนามาปรุงอาหารนั้นควรง่ายและไม่ซับซ้อน เพราะรสชาติดอกแคนานั้นมีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้ว ส่วนผสมที่นำมาเข้าคู่กันจึงควรมีรสอ่อนๆ เพื่อให้ดอกแคนาเป็นตัวชูโรงในจานอาหาร และ ‘อั่วดอกแคนา’ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการเปลี่ยนดอกไม้สีขาวให้เป็นของอร่อยที่ทั้งดีต่อสุขภาพและดีต่อความรื่นรมย์ทางใจไปพร้อมกัน

แต่อั่วดอกแคนาของเรานั้น ขอเปลี่ยนเนื้อสัตว์หนักเครื่องเทศเป็นเต้าหู้เนื้อนิ่มและเห็ดสับละเอียดรสเบาบาง ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวหมักเองและพริกไทยเล็กน้อย เท่านี้ก็อร่อยแบบสบายใจ

ส่วนผสมหลัก
1. ดอกแคนา
2. เต้าหู้ขาว
3. เห็ดฟาง
4. วุ้นเส้นแช่น้ำ
5. ซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย น้ำตาลเล็กน้อย
6. รากผักชี กระเทียม พริกไทย ตำละเอียด
7. ไข่ขาวของไข่ไก่

วิธีทำ

1. นำเต้าหู้นึ่งหรือทอดจนสุก แล้วใช้ส้อมยีเป็นเนื้อละเอียด ก่อนนำเห็ดสับละเอียดใส่ตามลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นปรุงรสด้วยรากผักชี กระเทียม พริกไทยตำละเอียด ซีอิ๊วขาว น้ำตาลเล็กน้อย

2. ยัดเครื่องเต้าหู้ใส่ในดอกแคนาให้แน่น พักไว้สักครู่

3. นำดอกแคนาที่ยัดไส้แล้วนึ่งจนสุก (5-10นาที)​

4. จัดเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มหวานหรือแจ่ว   

 

ENJOY!

ภาพถ่าย: ม็อบ อรุณวตรี