สงกรานต์ปีนี้ไม่ได้รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เหมือนก่อน จึงระลึกถึงความทรงจำสงกรานต์ในช่วงเยาว์วัย โรงเรียนปิดเทอม อากาศร้อน เสียงจั๊กจั่น มะม่วง ไข่มดแดง ผักหวานป่า นอนที่บ้านตายาย บ้านสบป๋อน อำเภองาว ลำปาง

เป็นละอ่อนบ้านนอกบ้านนาเกิดแบเบาะที่บ้าน มีน้าพยาบาล เป็นหมอ ตำแย จึงมีความผูกพันอยู่มากกับบ้านใต้ถุนสูง มีเรือนชานกว้างขวาง เป็นครัวไฟ และเอาไว้ตั้งวงรับประทานอาหาร 

ตื่นเช้าวันพญาวัน ตาจะเป็นคนนึ่งข้าวเหนียว ใส่ในไหไม้กลึงบนไหนึ่งในเตาไฟอั่งโล้ก่อ ปูนเป็นสองหัวเตาใช้ถ่านไม้เผาเอง ข้าวเหนียวที่หม่า (แช่) ไว้เมื่อวานเย็น หลังจากซาวข้าวเพื่อที่จะเอาไปนึ่ง จะเหลือข้าวกับน้ำไว้เล็กน้อยเพื่อเป็นเชื้อในการหม่าข้าวในตอนเย็นต่อไป พอข้าวสุกแล้วยกลง เตรียมกั๊วะข้าว (ถาดไม้เอาไว้คนข้าว) เอาน้ำเปล่าลูบเพื่อกันข้าวติดกั๊วะ เทข้าวสุกใหม่ลง แล้วคนให้ไอร้อนกับความชื้นระเหยออกไปบ้างข้าวจะได้ไม่แฉะ แล้วเอาใส่ในแอ๊บข้าว (กระติ๊บข้าว) สานด้วยใบลานใบจาก ความระอุร้อนของข้าวที่อยู่ในแอ๊บข้าวมีความหอมกลิ่นเฉพาะตัวจากใบไม้ที่เอามาสาน

ยาย แม่ ป้า น้า ลุง จะช่วยกันทำกับข้าวกับปลา เนื้อจิ๊นที่ซื้อมาจากตลาดกาดมั่วเมื่อเช้า พร้อมเลือดสด ตับ ไส้ ม้าม ผ้าขี้ริ้ว ไส้เพี้ย เอามีดหั่นเนื้อเป็นชิ้นๆ บรรจงมีดลงสับลาบกับเกลือเม็ดให้ละเอียด ใส่เลือดก้อนสด สับรวมกันจนเข้ากันดี ตักใส่ชามอ่าง พริกลาบ พริกแห้งเม็ดเล็ก หอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ ซอยคั่วตำในครกกับเม็ดหอมป้อม ผักชี ดีปลี มะแหลบ มะแขว่นแหลกละเอียดแล้วผสมกับเนื้อสับในชามอ่างนั้น เครื่องใน ต้มหั่นชิ้นพอช้อนตักผสมปรุงน้ำปลา ไส้เพี้ยต้มสุกคัดเอาแต่น้ำสีเขียวนวล เทรวม หอมด่วนผักชีฝรั่งผักไผ่ ต้นหอมผักชีหอมป้อม คนเข้ากัน ได้ลาบดิบหอมผักสมุนไพร เค็มขม อ่อม ล่อม เด็กละอ่อนกิ๋นไม่ได้กลัวเป็นแป๊วเป็นพยาธิ  คั่วต้มกับน้ำให้สุก กิ๋นกับข้าวเหนียวนึ่ง บ่าแตง ถั่ว ผักพืชสวนครัวปลูกไว้รับรอง

ตำบ่าหนุน ขนุนอ่อนหั่นขวางพร้อมเปลือกต้มไว้จนเปื่อยหน่ายตะวา (เมื่อวาน) หั่นสับตำรวมให้เข้ากันกับพริกแกง พริกแห้ง ข่า ตะไคร้ หอมแดงหอมขาว กระเทียม ปลาร้า กะปิ เกลือเม็ด ตำหอมแดง กระเทียม ลงเจียวกับน้ำมันหมูใส่หมูสามชั้นหั่นหยาบ ขนุนอ่อนตำลงคั่ว มะเขือส้ม น้ำปลา เค็มออกเปรี้ยวอ่อนๆ โรยใบมะนาวซอยต้นหอมผักชี ยายสอนให้กินแนมกับหอมบั่ว (หอมแดง) ฉุนในจมูกรวมรสในลิ้นในปาก

แก๋งฮังเล หมูสามชั้นหั่นลูกบาศก์หมักผงฮินเลย์ มาซาลาพม่า ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์สัมพันธ์ยาวนานก่อนแบ่งประเทศแดนดิน ผสมคลุกพริกแกง พริกแห้ง ข่า ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม รากผักชี กะปิ เกลือ ตำละเอียดไม่แล่นใบเปลือกพริก ตั้งกระทะนำหมูที่คลุกผสมลงคั่วบนไฟอ่อนกลางจนพริกแกงสุก แตกน้ำมันลอยหน้าน้ำเนื้อละลายออกมา ขลุกขลิกหอมหวาน ใส่กระเทียมดอง น้ำกระเทียมดอง กระเทียมสด ปรุงน้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมะขาม โรยขิงซอยให้หอมพอดี เคี่ยวจนหมูอ่อนนุ่ม แต่พอได้เคี้ยว เค็มหวานเปรี้ยว ขิงหอมระเรื่อย แกงทิ้งไว้ข้ามคืนจะเข้าเนื้อเข้าหนัง

น้ำพริกอ่อง หมูสับติดมันตำรวมกับพริกแกง พริกแห้ง กระเทียม หอมแดงตะไคร้ รากผักชี เม็ดผักชี ถั่วเน่าแข่บย่าง คั่วกระเทียมตำในหม้อขาง กระทะ เอาหมูลงเติมมะเขือส้ม คนจนสุก ปรุงโปรยน้ำปลาต้นหอมผักชี กินกับผักนึ่ง ชะอม ฟักทอง ดอกกะหล่ำ เห็ด ผักกาดจ้อน ผักขี้หูด ผักอีกหลายผัก

อีกหลายอย่างกับข้าวกำกิ๋น แกงโฮะ แกงอ่อมเครื่องใน ยำจิ๊นไก่ จัดทำเตรียมใว้ใส่ขัน ตั้งขันเข้าปิ่นโต ยกไปวัด ถวายพระ ทำบุญ บูชาไปให้กับผู้ล่วงลับบรรพบุรุษ         

ทำอาหารอย่างตั้งอกตั้งใจให้กับคนที่เราเคารพ เลือกของดีของใหม่ ปลูกเอง กินเอง แบ่งปันสิ่งที่เหลือเผื่อแผ่ให้กับใครที่ขาด 

กลับจากวัดนั่งล้อมวงกินข้าวกินน้ำ เตรียมตัวรดน้ำดำหัว ตายายป้าน้าอาลูกหลาน ทุกคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่เอี่ยมประชันกัน ชาวบ้านบ้านใกล้เรือนเคียงเดินขึ้นมาบนบ้าน พูดคุยทักทายตามประสา นั่งรอกินน้ำ กินท่า ของว่าง เมี่ยงอม ถั่วทอด ข้าวเกรียบ รอเวลาตายายผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน ปั๋นปอนให้ศีลให้พรอวยชัยวันปีใหม่ หลังจากนั้นก็ยกสำรับกับข้าวที่ทำเตรียมไว้มาสู่กิ๋นกัน

เป็นสิ่งที่มองคุ้นจำจากเวลานั้นจนเวลานี้ บางอย่างเลือนหายไปกับความใหม่เอี่ยม ไวไฟ ภาพอดีตผุกร่อนปะติดปะต่อกับภาพใหม่ เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย ทำให้เรายิ่งต้องเคารพตัวเอง เคารพผู้คน เคารพการเปลี่ยนแปลง

ภาพถ่าย: สำรับสำหรับไทย, ภาพจากอินสตาแกรม jiranarong2 และ theskinnybib