ขึ้นปีใหม่เห็นใคร ๆ เขาแจกปฏิทินกัน พวกเรา Greenery. ก็อยากทำแจกบ้าง ต่างตรงที่ว่า นี่ไม่ใช่ปฏิทินธรรมดา แต่เป็นปฏิทินชวนกินผลไม้ตามฤดูกาล ปีใหม่ คนใหม่ มาเริ่มต้นกินผลไม้ให้ตรงตามฤดูกันเถอะ

กินผลไม้ตามฤดูกาล ดียังไง?
คำกล่าวที่ว่า “ดอกไม้จะเบ่งบานเมื่อถึงเวลา” ไม่ใช่คำคมที่แต่งขึ้นมาลอย ๆ แต่อ้างอิงมาจากวัฏจักรของธรรมชาติ ‘ไม้ผล’ ก็เช่นกัน แต่ละผลล้วนมีฤดูกาลของตัวเอง หรือมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการให้ผลผลิตเสมอ

เมื่อพืชมีการเจริญเติบโตถึงจุดสูงสุดหรือเจริญเติบโตเต็มที่ ชาวไร่ชาวสวนก็จะลงมือเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปแล้วพืชที่เก็บเกี่ยวเพื่อใช้เป็นอาหารจะดีที่สุดในเวลานี้เพราะให้ทั้งรสชาติและสารอาหารสูงสุด

แต่เทรนด์การกินตามฤดูกาล (Seasonal Eating) ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันเป็นมากกว่าแค่รสชาติและโภชนาการ พูดง่าย ๆ ก็คือเราไม่ได้เลือกกินเพราะคิดถึงตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมของคนกินยังเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเราด้วย เพราะมันเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรรมตามวิถีนิเวศ

และการผลิตที่คำนึงถึงวัฏจักรของพืชพรรณแต่ละชนิดนี้เองก็จะไปช่วยชีวิตชาวสวนให้ยั่งยืนขึ้นได้ ทั้งในเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาไม่ต้องพึ่งพาสารเร่ง ไม่ใช้ปัจจัยการผลิตเกินจำเป็น แต่ยังได้ปริมาณการผลิตที่เหมาะสมและคุณภาพดี

แล้วเราจะตามหาผลไม้ตามฤดูกาลเจอได้ยังไง?
วิธีที่ง่ายที่สุด คือไปเดินตลาดใกล้บ้านเรา (หรือไปตลาดท้องถิ่นที่เกษตรกรนำผลไม้จากสวนมาขายเองได้ยิ่งดี) แล้วทำตัวเป็นนักสำรวจให้มากกว่าเดิม ลองสังเกตว่าแต่ละเดือนมีผลไม้อะไรที่เปลี่ยนไป ลองพูดคุยกับแม่ค้าหรือคนปลูกให้มากขึ้นว่าช่วงนี้มีผลไม้อะไรน่ากิน และอะไรที่กำลังจะมาอีกในเร็ว ๆ นี้บ้าง แล้วกลับบ้านมาจดบันทึกไว้

หรือแม้กระทั่งไปซูเปอร์มาร์เก็ต ลองคิดกลับกันจากคำถามว่าเราอยากกินผลไม้อะไร แล้วให้มองหาว่าช่วงนี้ผลไม้อะไรมีวางขายเยอะที่สุด ดูอวบอิ่มน่ากินที่สุด แล้วเลือกหยิบผลไม้นั้น ๆ ก่อน ควบคู่ไปกับการพลิกป้ายหาที่มาของผลไม้ว่ามาจากที่ไหน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากเชียร์ให้เลือกทานผลไม้ของไทย ที่ปลูกในบ้านเรา ยืดอกภูมิใจในฐานะประเทศเมืองร้อนที่อุดมไปด้วยผลไม้กันดีกว่า

อีกทางเลือกหนึ่งที่พ่อบ้านแม่บ้านหลายคนทำ ก็คือติดต่อสั่งผลไม้ออนไลน์โดยตรงจากเกษตรกรไทยที่ไว้ใจได้ อาจจะเพื่อน คนรู้จัก หรือสวนประจำ ผูกปิ่นโตกันเอาไว้ เมื่อไหร่มีผลไม้ของดีที่ตรงตามฤดูกาล ก็จัดการออร์เดอร์ตรงกับชาวสวนได้เช่นกัน

ส่วนใครอยากได้ทางลัด ก็เซฟปฏิทินผลไม้ 3 ฤดูต่อจากนี้เอาไว้ในมือถือ หยิบขึ้นมาเป็นคัมภีร์เวลาจะไปซื้อวัตถุดิบเข้าบ้านได้เลย

ผลไม้ฤดูร้อน เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
มะม่วง สับปะรด ทุเรียน แตงโม เรียงแถวกันมาแค่นี้ก็น่าจะพอรู้แล้วว่าคือฤดูไหน ลักษณะของผลไม้ฤดูร้อนส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้รสจัดจ้านจำง่าย เมื่อไหร่ที่พูดขึ้นมาก็จะมีสัญลักษณ์แห่งหน้าร้อนตามติดมาด้วย

โดยในเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มเห็น มะปราง มะยงชิด ที่เริ่มทยอยออกให้เราได้จับจองหาซื้อกัน เดือนมีนาคมตามมาด้วยขนุน มะม่วง แตงโม เดือนเมษายนถึงเวลาของ ลิ้นจี่ (ภาคกลาง) สับปะรด ปิดท้ายด้วย เงาะ ทุเรียน และมังคุด (ภาคตะวันออก) ระกำ ในเดือนพฤษภาคม

ผลไม้ฤดูฝน เดือนมิถุนายน-ตุลาคม
ข้อดีของหน้าฝนคือความชุ่มฉ่ำที่มากับน้ำ หน้าดินในช่วงนี้อุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ ทำให้ผลไม้ก็หลากหลายตาม สังเกตได้ว่าในตลาดจะเต็มไปด้วยผลไม้เลยล่ะ

เดือนมิถุนายน ทุเรียน มังคุด ระกำ และลิ้นจี่ ที่ลากยาวมาจากฤดูร้อนยังไม่ทันหายคึกคัก ก็เริ่มมีกระท้อนออกมาให้กิน เดือนกรกฎาคมตามมาด้วยลองกอง ลางสาด น้อยหน่า และฝรั่ง สิงหาคมและกันยายน เริ่มมีมะเฟือง ลำไย และส้มโอ ปิดท้ายด้วยส้มซ่าในเดือนตุลาคม ที่หากินได้แค่บางท้องถิ่นเท่านั้น

ผลไม้ฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายน-มกราคม
ยิ่งอากาศเย็น ผลไม้บางชนิดก็ยิ่งหวาน ผลไม้ที่เบ่งบานและสมบูรณ์ในช่วงฤดูหนาวจึงเป็นผลไม้ที่ต้องพึ่งพาลมหนาวจึงจะติดผล และซ่อนความหวานอร่อยไว้ในตัว อาทิ ผลไม้ตระกูลส้ม

เดือนพฤศจิกายน เดือนแห่งส้มเขียวหวาน มะละกอ มะขามป้อม และถ้าใครโชคดีก็จะได้เจอละมุด ธันวาคมตามมาด้วยมะขามหวาน พุทรา ชมพู่ และเริ่มต้นปีใหม่เดือนมกราคมด้วยส้มเกลี้ยงและส้มเช้งแสนสดชื่น (รับตรุษจีนด้วย!)

ที่มาข้อมูล:
– www.biothai.net/ecological-agriculture/5840
– www.wwf.or.th/en/?356531/Seasonal-fruits-and-vegetables
– www.wwf.org.uk/betterbasket
– Eatseasonably.co.uk