ในวันที่โลกรวน มนุษย์เผชิญสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อุณหภูมิร้อนขึ้น ภัยพิบัติเกิดขึ้นถี่บ่อยแบบไม่ส่งสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า คือประจักษ์พยานสำคัญว่าพวกเราต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อโลกเดี๋ยวนี้ และต้องทำทันทีด้วย เทรนด์ความนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั่วโลกจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเป็นเพียงค่านิยมเก๋ ๆ ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น หากเป็นเพราะทุกคนเห็นพ้องแล้วว่า การช่วยเหลือโอบอุ้มโลกคือโอบอุ้มมนุษยชาติทั้งมวลนั่นเอง
จุดเริ่มต้นของเมล็ดพันธุ์สีเขียว
กรรจิต นาถไตรภพ เป็นชาวเชียงใหม่ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยมีโอกาสทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเมืองที่บ่มเพาะสิ่งสำคัญไว้ในใจ จนวันหนึ่งได้มีโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรรมที่ทำจากฟางข้าวให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปะเพื่อตกแต่งบ้าน ทั้งยังเปี่ยมคุณสมบัติอันพึงประสงค์ที่คนรักบ้านต้องถูกใจ และเป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความนิยมระดับนานาชาติ
บรรยากาศรอบบ้านของเธอในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงแวดล้อมด้วยทุ่งนาข้าวทำให้เห็นชีวิตที่เชื่อมโยงผูกพันกับธรรมชาติไม่เปลี่ยนแปลง
“เราเรียนจบวิจิตรศิลป์และอยากทำงานที่บ้าน เราอยู่ในธรรมชาติแบบนี้ ความรักความชอบในธรรมชาติเลยมีมาตลอด ตอนนั้นได้ทำงานในมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมเมือง มีกิจกรรมหนึ่งที่ชอบมากคือ ‘โครงการกระดาษเพื่อต้นไม้’ เขาจะมีกล่องให้คนในสำนักงานแยกขยะกระดาษสีกับขาวดำ แล้วนำเอากระดาษที่ได้ไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำเงินที่ได้ไปช่วยชาวบ้านในชุมชนที่รักษาพื้นที่ป่าเอาไว้ เป็นโอกาสที่เราได้เรียนรู้ สื่อสารเรื่องการแยกขยะ การรีไซเคิลต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่บ่มเพาะตัวเราไปด้วย”
ในช่วงเวลาที่กรรจิตเริ่มต้นงานสิ่งแวดล้อมนั้น ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก การเลือกทำงานสื่อสารเรื่องแยกขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ล้ำสมัยในเวลานั้นมากและกลายเป็นดีเอ็นเอสำคัญที่ทำให้เธอยืนหยัดในเวลาต่อมา
โอกาสใหม่จากวัสดุฟางข้าว
นอกจากการสอนศิลปะสำหรับเด็กแล้ว ในเวลานั้นกรรจิตทำธุรกิจส่วนตัวด้วยรับทำแฟ้มผ้าไหม ปกเมนูต่าง ๆ จึงมีโอกาสรู้จักกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สร้างสรรค์สารเคลือบกันน้ำ ในระหว่างนั้นอาจารย์คิดค้นเรื่องวัสดุกันไฟเพื่อพัฒนาโคมลอยที่ลดการลุกลามไฟอยู่พอดี
“ปัญหาของโคมบ้านเราคือเมื่อจุดไฟไปสักพักแล้วมักมีลูกไฟหล่นลงมา ลูกค้าในต่างประเทศอยากให้แก้ปัญหานี้เพื่อป้องกันอันตราย เพื่อเวลาที่ไฟมอดแล้วจะไม่ลุกลามเป็นเปลวไฟต่อ ซึ่งก็ได้เป็นวัสดุฟางข้าวนั่นแหละ แต่ด้วยน้ำหนักและความเทอะทะ อาจารย์เลยพัฒนาวัสดุอื่นแทน ท่านเสียดายงานวิจัยเลยแนะนำเราให้ลองเอาไปพัฒนาต่อเพราะคุณสมบัติสำคัญคือกันความร้อนได้ แม้มีความหนาแค่เพียง 1 เซนติเมตร ซึ่งถ้าเทียบกับฉนวนกันความร้อนที่มีในท้องตลาด ตัวที่บางที่สุดก็ยังมีความหนาถึง 7 เซนติเมตร
“แต่ตอนนั้นเราคิดว่า ถ้าต้องทำเป็นวัสดุก่อสร้างนี่มีเงินเป็นพันล้านจะพอไหม (หัวเราะ) มันไม่น่ามีความเป็นไปได้ก็เลยเฉย ๆ แต่หลังจากนั้นอาจารย์ยังกระตุ้นความคิดนี้อยู่อีกหลายรอบ อยากให้ลองทำดู เราเลยเริ่มสำรวจตลาด และพบว่ายังไม่มีผลิตภัณฑ์แบบนี้ในตลาดจริง ๆ”
ผลิตภัณฑ์เริ่มต้นที่ว่านั้น คือแผ่นอัดจากฟางข้าวผสมเยื่อกระดาษรีไซเคิลและสารหน่วงไฟตามสิทธิบัตรพิเศษจาก สวทช. ถือเป็น “นวัตกรรมไม่ลามไฟ” คือเมื่อติดไฟแล้วไม่ลุกลามต่อ สามารถลดการเกิดอัคคีภัยได้ ในขณะเดียวกันมีคุณสมบัติ “กันความร้อน” ได้ ไม่ต่างจากฉนวนกันความร้อนที่เป็นวัสดุก่อสร้างเลย แต่สิ่งที่เหนือกว่าคือ มีกระบวนการผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีอันตราย ทำให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“พอตัดสินใจจะเริ่มต้น เราไปสำรวจตลาดตามร้านวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ตั้งแต่เชียงใหม่ไปจนถึงลำพูน ทางเลือกของฉนวนกันความร้อนตอนนั้นมีเพียงฉนวนใยแก้ว พลาสติก หรือโฟม ถ้าคนที่อยากสร้างบ้านแบบใช้ฉนวนกันความร้อนแบบปลอดใยแก้ว ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาเอง เพราะในเมืองไทยยังไม่มีวัสดุทางเลือกเลย เรียกได้ว่ามีโอกาสทางการตลาดสูงมาก”
กรรจิตเริ่มต้นจดทะเบียนบริษัทครั้งแรกเพื่อทดลองผลักดันผลิตภัณฑ์วัสดุฟางข้าวนี้ ในชื่อเรียกตรงตามคุณสมบัติว่า “GANFAI” (กันไฟ) และเริ่มนำเสนอเป็นทางเลือกผ่านบริษัทสถาปนิกต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอันดับแรก
“เราค่อนข้างตื่นเต้นกับคุณสมบัติฉนวนกันความร้อนที่ไม่มีใยแก้ว ใยหิน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยกับคน ตอนนั้นค้นหารายชื่อบริษัทสถาปนิกแล้วนำเสนอวัสดุ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนเพราะฉนวนกันความร้อนแบบเดิม ๆ สะดวกในการใช้งานมากกว่า”
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติเปลี่ยนชีวิต
แม้หนทางของการผลักดันผลิตภัณฑ์ไปในตลาดวัสดุทางเลือกเพื่อสร้างบ้านจะไม่ใช่หนทางที่ง่ายดายนัก เพราะต้องแชร์ตลาดกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างเจ้าใหญ่ในตลาดระดับประเทศ กรรจิตจึงมองหาโอกาสในพื้นที่ผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ให้กับตัวเอง ด้วยการขอรับคำแนะนำจากศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งเป็นก้าวแรก ๆ ที่สำคัญ และเกิดความเป็นไปได้อื่นมากขึ้นในเวลาต่อมา
“ห้องสมุดวัสดุนานาชาติมีสำนักงานหลักที่นิวยอร์ก ส่วนในประเทศไทยดำเนินการผ่าน TCDC เราส่งวัสดุไปตรวจสอบและได้รับใบรับรองวัสดุจากนิวยอร์กว่าเป็นนวัตกรรมใหม่จริง สามารถวางโชว์ได้ในเครือข่ายห้องสมุดวัสดุ 7 ประเทศ เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเสนอวัสดุที่เป็นนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรจุในฐานข้อมูลวัสดุ Material ConneXion® ทั่วโลก
“หลังจากนั้นได้รับการสนับสนุนและบ่มเพาะเรื่องสตาร์ทอัพเพิ่มเติมในฐานะงานนวัตกรรม ซึ่งทำให้เราได้โอกาสที่ดีไปด้วย ในปี 2560 ประเทศไทยต้องการมองหานวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับข้าว อาจารย์ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนให้ไปประกวด เพราะผลิตภัณฑ์เราทำจากฟางข้าว เลยส่งประกวดในคุณสมบัติซับเสียงก้องสะท้อนในห้อง ปรากฏว่าได้ทั้งสองรางวัลเลย ทั้งจากกันความร้อนและซับเสียง เพราะงานประกวดส่วนใหญ่เป็นแนวอาหารหรือเครื่องสำอาง วัสดุจากฟางข้าวเลยเป็นอีกทางเลือกใหม่ของการวิจัยที่สอดคล้องกับผู้จัดงานต้องการพอดี”
ผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียงสำหรับตกแต่งอาคารและที่อยู่อาศัยจากฟางข้าวและเยื่อกระดาษ(GANFAI) ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมข้าวไทยปี 2560 ระดับอุตสาหกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ในประเด็นสำคัญที่ว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ฟางข้าวที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้มากถึง 70 เท่า อีกทั้งในแง่ป้องกันความร้อนยังสามารถลดความร้อนได้มากถึง 20 องศาเซลเซียส เป็นทางเลือกวัสดุธรรมชาติที่ปลอดใยแก้ว ใยหิน และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หลังจากได้รับรางวัลคราวนั้น มีลูกค้ารายย่อยจากหลายแห่งติดต่อซื้อวัสดุไปใช้แก้ปัญหาความร้อนในบ้านภายหลังกระบวนการก่อสร้าง และได้รับการตอบรับในทางที่ดีมากทั้งในแง่ของการลดความร้อนและการลดเสียงสะท้อนภายในห้อง
ในขณะเดียวกันกรรจิตก็เร่งพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการใช้งาน และเกิดรูปลักษณ์ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ยิ่งกว่าเดิมผ่านแบรนด์ใหม่ “WASOO” ที่นำเสนอเป็นวัสดุตกแต่งบ้านเพื่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม และได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทนำร่องของโครงการ Circular Mark ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับโลก
พอเราออกแบบให้เป็นเหมือนงานศิลปะที่ตกแต่งเพื่อความสวยงาม ใช้งานได้ง่ายเพียงแค่ติดกาวตะปู ก็ยิ่งได้รับการตอบรับมากขึ้น
“เราค้นพบว่าความสวยงามของวัสดุเป็นทางเลือกที่สำคัญในการใช้งานเพิ่มขึ้น เพราะตัววัสดุมีคุณสมบัติกันความร้อนและซับเสียงได้ดีอยู่แล้ว พอเราออกแบบให้เป็นเหมือนงานศิลปะที่ตกแต่งเพื่อความสวยงามได้ด้วย ใช้งานได้ง่ายเพียงแค่ติดกาวตะปู ก็ยิ่งได้รับการตอบรับมากขึ้น”
ปัจจุบันมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ใช้วัสดุตกแต่งอาคารจาก WASOO ทั้งร้านกาแฟพันธุ์ไทย อาคารห้องประชุมบางจาก อาคารห้องประชุม AIS สวนป๋วยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และห้องเรียนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
รักษ์โลกอย่างยั่งยืน
การเชื่อมโยงกับองค์กรต่าง ๆ ของรัฐ ทำให้ผลิตภัณฑ์จากวัสดุฟางข้าวของกรรจิตเดินทางมาได้ไกลเกินฝัน ทั้งยังสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจกับผู้คนหลากหลายประเทศ
“คนต่างประเทศเขาให้ความสนใจเรื่องผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมาก ๆ เขาเข้าใจ ให้ค่า และยินดีจ่ายเพื่อทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” กรรจิตบอกเล่าในฐานะมีโอกาสที่เดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าในหลายวาระโอกาส ทั้งจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาทิ งาน Tokyo International Gift Fair และล่าสุดที่งาน Milan Design Week
ยิ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องวัสดุธรรมชาติ การหมุนเวียนมาใช้ใหม่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนในทุก ๆ สิ่ง WASOO เป็นหนึ่งแบรนด์ในกลุ่ม 50 BCG Heroes ที่กระทรวงพาณิชย์คัดสรรผู้ประกอบการไทยต้นแบบเพื่อเชื่อมโยงโอกาสธุรกิจในเวทีโลก เพื่อสร้างเศรษฐกิจองค์รวม 3 มิติ คือ พัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพราะเข้าเกณฑ์ทั้งสามมิติ
“เทรนด์ในระดับโลกเขาสนใจเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะหลังโควิดยิ่งชัดเจนในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องอาหารการกินแนว plant- based เทรนด์การกลับมาใช้วัสดุธรรมชาติ การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ต่อไปจะมีภาษีคาร์บอนด้วยธุรกิจใหญ่ ๆ เริ่มให้ความสนใจวัสดุทางเลือกมากขึ้น ล่าสุดมีลูกค้าที่อเมริกาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพื่อจำหน่ายในอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก แต่อยากผลิตในแบรนด์ของเขาเพื่อให้ทำการตลาดเอง อันนี้อยู่ระหว่างหารือกันในรายละเอียด”
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แผ่นฟางข้าวของ WASOO มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เป็นแผ่นวัสดุและขนาดที่ลูกค้าระบุความต้องการเฉพาะ (customize) และแบบรูปทรงเรขาคณิตหลากหลายขนาดและความหนา ออกแบบคล้ายขนาดแผ่นกระเบื้องเพื่อให้ผู้ใช้งานสร้างสรรค์ในพื้นที่ได้เอง สามารถเลือกได้ทั้งแบบธรรมชาติที่ไม่มีสีสัน (สีจากฟางข้าว) สี(เคมี)ปลอดภัย และสีจากธรรมชาติ โดยสีธรรมชาติมีให้เลือก 5 สี คือ สีดำจากมะเกลือ สีน้ำเงินจากฮ่อมหรือคราม สีแดงจากไม้ฝาง สีม่วงจากฝางผสมคราม และสีเขียวจากเพกาผสมคราม ซึ่งสีธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีความต้องการสูงมากในตลาดต่างประเทศ
“มานึกย้อนถึงตอนจุดเริ่มต้นที่ไม่มีใครสนใจสิ่งนี้ สถาปนิกหลายคนบอกให้เราใส่ส่วนผสมอื่น ๆ ลงไป เช่น โพลิเมอร์ เพื่อให้มันตัด ขัด เปลี่ยนรูปทรงได้ง่าย ๆ แต่โพลิเมอร์ก็คือพลาสติก เราเคยอยู่ในจุดที่เราต้องเลือกเหมือนกันว่าจะเอายังไง ถ้าทำแบบนี้ขายได้แต่มันไม่ใช่เราจะเอาไหม ถามตัวเองว่าต้องการอะไรกันแน่
เราอยากเลือกหนทางที่เป็นธรรมชาติ พูดได้เต็มปากว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแท้ ๆ ปลอดภัยต่อคน ต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งเอามาทำเป็นงานศิลปะได้ด้วยก็เหมาะกับเราที่สุดแล้ว
“พอถึงเวลาที่ต้องเลือกจริง ๆ เราอยากเลือกหนทางที่เป็นธรรมชาติ พูดได้เต็มปากว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแท้ ๆ ปลอดภัยต่อคน ต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งเอามาทำเป็นงานศิลปะได้ด้วยก็เหมาะกับเราที่สุดแล้ว”
การพูดว่า WASOO เป็น “ผลิตภัณฑ์เพื่อธรรมชาติแท้ ๆ ” นั้นไม่ใช่คำกล่าวอ้างเกินจริงเลย เพราะในกระบวนการผลิตนอกจากเยื่อกระดาษรีไซเคิลแล้ว วัตถุดิบสำคัญล้วนนำมาจากธรรมชาติแทบทั้งหมด ได้แก่ ฟางข้าวและกะลากาแฟ (เปลือกหุ้มเมล็ดชั้นใน) ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอยู่แล้ว ต่อให้ไม่นำมาใช้งานก็กลายเป็นขยะอยู่ดี และแม้เลิกใช้งานวัสดุแล้วก็สามารถคืนกลับสู่ธรรมชาติได้ทั้งหมด
ฝันถึงเมืองไทยที่ไร้มลพิษ
“การเอาฟางข้าวมาใช้ถือเป็นการนำวัสดุที่เหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า เพราะถ้าเราไม่เอามาใช้เกษตรกรก็เผาทิ้งอยู่แล้ว ถ้ายิ่งมีการนำวัสดุมาใช้ประโยชน์มากขึ้นเท่าไรก็เท่ากับลดการเผาได้มากขึ้นเท่านั้น ทุกวันนี้เราใช้ฟางข้าวจากแปลงนาแถวบ้านโดยให้รถทำฟางอัดก้อนไว้ให้ ถ้าไม่พอจริง ๆ จะซื้อจากกลุ่มปศุสัตว์ ในย่านดอยสะเก็ดมีโรงสีกาแฟด้วย กะลากาแฟเป็นสิ่งที่เขาทิ้งอยู่แล้ว เราเลยมีวัสดุใช้งานได้ตลอด”
“ปัจจุบันความต้องการและเทรนด์โลกต้องการวัสดุจากธรรมชาติและปลอดมลพิษมากขึ้น ตอนไปออกงานครั้งหนึ่งมีบริษัทก่อสร้างจากต่างประเทศสอบถามว่าถ้าเลิกใช้แล้ววัสดุของเราจะกลายเป็นขยะไหม เราเลยบอกว่าถ้านำมาแช่น้ำไว้สามารถฝังลงดินเป็นเหมือนปุ๋ยได้เลย ในกรณีที่สามารถส่งคืนมาให้ได้ เราจะนำวัสดุกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เพราะฉะนั้นต่อให้เลิกใช้แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือเป็นขยะเลย”
แผ่นวัสดุตกแต่งจากฟางข้าวและกะลากาแฟ WASOO จึงรวมคุณสมบัติโดดเด่นไว้อย่างครบถ้วน ทั้งกันความร้อนได้มากถึง 23 องศาเซลเซียส ไม่ลามไฟ ซึมซับเสียงสะท้อน น้ำหนักเบา ปลวกไม่กิน และนำกลับมาใช่ใหม่ได้ ถือเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์เรื่องบ้านได้ในหลากหลายมิติจริง ๆ
เทรนด์และความต้องการของโลกเปลี่ยนเป็นการคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องวางตัวเองไปในทางนั้น
“พอเทรนด์และความต้องการของโลกเปลี่ยนเป็นการคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องวางตัวเองไปในทางนั้น สำนักงานสถาปนิกในประเทศไทยเริ่มติดต่อเข้ามาเยอะขึ้น ขอตัวอย่างไปให้ลูกค้าดูเป็นวัสดุทางเลือกมากขึ้น บางส่วนก็อยากให้ทำของพรีเมียมแนวกรีน เราคิดว่ามีโอกาสทางการตลาดอื่น ๆ ได้อีกพอสมควร
“ในอนาคต เราอยากลองใช้เศษวัสดุอื่น ๆ เหมือนกัน เช่น ข้าวโพด อ้อย แต่ในเชิงพื้นที่การปลูก เรายังห่างไกลอยู่ ถ้าได้มีโอกาสทดลองแล้วได้ผลดี น่าจะเป็นอีกทางเลือกในการสร้างสรรค์วัสดุได้ หรือเราอาจไปตั้งโรงงานเล็ก ๆ ในจุดที่เป็นเศษวัสดุนั้น ๆ เลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน ถ้าทำได้จริงก็อาจช่วยลดการเผาและช่วยสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ได้
“ส่วนในเชิงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อยากขยับขยายให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ค้นคว้าว่าเรามีเศษวัสดุทางการเกษตรอะไรบ้าง นำมาทำเป็นอะไรได้บ้าง อยากเป็นพื้นที่รวบรวมความรู้และเผยแพร่ให้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้”
ในวันที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่และท้าทาย การเกิดนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างเป็นมิตรต่อสรรพชีวิตทั้งมวล จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีเหลือเกิน แต่ในฐานะผู้ประกอบการเล็ก ๆ คนหนึ่ง กรรจิตตระหนักดีว่าเธอไม่อาจสร้างมวลของการเปลี่ยนแปลงได้เพียงลำพัง
ถ้ามีการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมากเท่าไร ก็ยิ่งลดมลพิษอากาศได้มากเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ๆ ถ้ามันมากเพียงพอ
“อยากให้มีคนมาร่วมคิดร่วมทำไปด้วยกัน ถ้ามีการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมากเท่าไร ก็ยิ่งลดมลพิษอากาศได้มากเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ๆ แหละ…ถ้ามันมากเพียงพอ” กรรจิตยิ้มส่งท้ายด้วยความหวัง
เราเองก็ฝันให้ประเทศไทยมีโอกาสได้เป็นเมืองปลอดฝุ่น เมืองที่ผู้คนได้หายใจในอากาศสะอาดได้อย่างเต็มปอดสักที ในวันที่วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร จะมีความหมายและเป็นได้มากกว่าแค่เปลวไฟในไร่นา
ภาพ: ธาตรี แสงมีอานุภาพ