วันที่เรานั่งคุยกับ แพร-อมตา จิตตะเสนีย์ ที่สวนลอยฟ้าบนตึกที่พักอาศัยของเธอมีอายุเข้าขวบปีที่สามแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เธอได้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในสวนมากขึ้น พร้อม ๆ กับรู้จักและเข้าใจตัวเองมากพอกัน

จากอาคารคอนกรีตที่มีชั้นดาดฟ้าแห้ง ๆ แดดเปรี้ยง ๆ ที่ใครก็ตามที่ได้ขึ้นมา ต่างบ่นว่าอยู่นานไม่ไหว เพราะทั้งร้อนและแล้งจนแทบเป็นลม แต่ตอนนี้กลายสภาพเป็นสวนรูปตัวโอที่เน้นปลูกพืชใช้งานได้หลากหลาย นอกจากจะกินได้ ยังใช้สีจากดอกใบมาทำงานศิลปะได้ด้วย เราเลยได้เห็นดอกเทียนบ้าน ดอกกรรณิการ์ เมล็ดคำแสด เมล็ดผักปลัง ผลกระเจี๊ยบแดง รากบีตรูต ที่ให้สีธรรมชาติสวยสด มีพืชกินได้อย่างต้นกล้วย เพกา ผักตระกูลกะหล่ำ มะนาว และสารพัดพืชที่หมุนเวียนมาปลูกตามฤดูกาล ที่แปลกตาเราก็คือพื้นที่ใจกลางเมืองแบบนี้ กลับมีนกแวะมาจิบน้ำแล้วบินจากไป มีผึ้งมาสร้างรัง มีชันโรงและแมลงเล็ก ๆ มาอาศัยภายในนิเวศนี้

ขอย้อนความสักหน่อย แพร-อมตา หรือที่คนคุ้นชื่อ แพรี่พาย เคยประกอบอาชีพช่างแต่งหน้า (Makeup Artist) ที่มักถูกพ่วงท้ายขยายคำ ‘ชื่อดัง’ หรือ ‘มีชื่อเสียงระดับโลก’ เข้าไปด้วยเสมอ แต่แพรเลือกที่จะพักความสำเร็จจากการทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นไว้ตรงนั้น และเดินออกมาค้นหาสิ่งที่เธอนิยามว่า ‘หน้าที่’ ของมนุษย์คนหนึ่ง ปัจจุบันแพรทำงานเป็นนักขับเคลื่อนชุมชน นักอนุรักษ์ ผู้นำค่ายเชียงดาว classroom เกษตรกรที่มีวัตถุดิบรอบตัวในสวนลอยฟ้าดึงดูดให้หลายหน่วยงานมาเยี่ยมชม และกำลังเป็นนักเรียนปริญญาเอกด้านความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์

ต้องบอกไว้ก่อนว่า เราคงไม่ได้พาเดินชมสวน หรือทำความรู้จักพืชพรรณที่เธอปลูก เพราะเรื่องราวเหล่านั้น เธอบอกเล่าได้อย่างน่าสนใจอยู่แล้วในเฟซบุ๊กแฟนเพจและอินสตาแกรม Pearypie และกิจกรรม Sky Garden Workshop ที่เปิดให้ใครก็ตามที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน

สิ่งที่เราอยากรู้คือ คนที่ไม่ได้เติบโตในครอบครัวเกษตรกร ไม่มีพื้นเพที่ใกล้ชิดธรรมชาติ มิหนำซ้ำยังเป็นเพียงคนชอบกินที่ไม่ได้รู้จักวัตถุดิบอะไรนัก ทำไมถึงลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่อาหารในจาน ไปจนถึงการงานและอาชีพ เหล่านี้ต่างหากที่เราอยากรู้

นักชิมก่อนปลูก
เมื่อเราถามถึงความสัมพันธ์ของแพรกับอาหาร ในช่วงเวลาก่อนจะมาปลูกผักกินเอง คำตอบก็ไม่ต่างจากคนเมืองส่วนใหญ่ ที่เรื่องราวที่มาของวัตถุดิบไม่ได้อยู่ในการรับรู้ แม้เธอจะเป็นนักชิมตัวยง ไม่พลาดร้านเด็ดร้านดัง ประกอบอาหารกินเองบ้าง แต่เป็นเพียงนักชิมปลายน้ำที่ไม่รู้จักมักคุ้นเรื่องราวจากต้นน้ำ

“เราเป็นคนชอบกิน ชอบเปิดประสบการณ์ทางรสชาติใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่อาหารไทย แต่เรากินอาหารทุกชาติ ทุกอย่างเลย แต่ก่อนนั้นเราเห็นแค่ปลายทางของอาหาร ด้วยความสะดวกสบาย เราเข้าออกซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกอย่างสำเร็จรูป แต่ถ้าถามกลับมาในเรื่องของวัตถุดิบ เราไม่รู้เรื่องต้นน้ำเลยว่าอะไรมาจากไหน แม้กระทั่งที่มาของวัตถุดิบคืออะไร ความรู้ตรงนั้นน้อยมาก”

จากรู้น้อยเรื่องอาหาร ขยับมาเป็นความอยากรู้มากขึ้นอีกนิด แพรเริ่มสนใจภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ และกระบวนการผลิตผ้าท้องถิ่นของประเทศไทย เมื่อเธอได้โอกาสลงพื้นที่พบเจอผู้คนในชุมชนหลากหลายจังหวัด ความสนใจในอาหารพื้นบ้านก็เกิดขึ้นตอนนั้น

“ด้วยความชอบเที่ยว บวกกับเป็นคนกินง่าย เวลาลงพื้นที่เรียนย้อมผ้าตามจังหวัดต่าง ๆ ความประทับใจแรกเริ่มที่ภาคอีสาน รู้สึกโชคดีที่มีแม่ ๆ (ชาวบ้านในชุมชน) เป็นครู ไม่ใช่แค่สอนย้อมผ้า แต่ได้ประสบการณ์กินอาหารพื้นบ้าน นั่งล้อมวงกินแบบชาวบ้าน การกินตามฤดูกาล ตามวัตถุดิบที่เขามี เปิดโลกของเรามาก เพราะตอนที่ยังเป็นช่างแต่งหน้า อาหารหลักคือข้าวกล่องกองถ่าย”

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้น แต่ถัดมาไม่นาน ความสนใจเรื่องอาหารพื้นบ้านพาเธอขยับไปไกลอีกขั้น คราวนี้อาจเรียกว่าถึงขั้นลงหลักปักฐาน เพราะทั้งการลงแปลงปลูกผัก และเลือกที่จะเดินออกจากอาชีพช่างแต่งหน้าที่ทำมาตลอดหลายปี น่าจะพอยืนยันได้ว่า เธอไม่ได้มาเล่น ๆ

การเข้าป่า 4 ครั้งภายใน 1 ปี เราได้เห็นว่าการพึ่งพาซึ่งกันและกันของธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดการของมนุษย์เป็นอย่างไร จุดนั้นทำให้เราอยากเข้าใจเรื่องแม่โลก (Mother Earth) และสิ่งแวดล้อม

“เราได้เข้าป่าครั้งแรกกับ พี่มล (จิราวรรณ คำซาว อดีตนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ ที่เลือกกลับบ้านเพื่อเปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชนเชียงดาว) ในช่วงปลายหนาว อากาศดี ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี แต่ในปีเดียวกันนั้นเรากลับเข้าป่าเดิมอีกครั้ง ตรงกับช่วงที่มี PM2.5 หนัก ๆ ครั้งนั้นเราได้เห็นอะไรมากขึ้น พื้นที่เดิมที่เคยเขียวมาก ๆ กลับแห้งแล้ง พอกลับไปอีกครั้งช่วงฤดูฝนก็เปลี่ยนไปอีก คราวนี้ได้เห็นเห็ดมากมาย มีความชุ่มชื้น การเข้าป่า 4 ครั้งภายใน 1 ปี เราได้เห็นว่าการพึ่งพาซึ่งกันและกันของธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดการของมนุษย์เป็นอย่างไร จุดนั้นทำให้เราอยากเข้าใจเรื่องแม่โลก (Mother Earth) และสิ่งแวดล้อม

“ชีวิตการทำงานแต่ก่อน มีคนโอบอุ้มและห้อมล้อมเราอยู่ตลอด การเป็นช่างแต่งหน้า มีแต่คนส่งของให้ใช้ ชวนไปเป็นพรีเซนเตอร์ เลเยอร์ของความเป็นมนุษย์ที่รู้สึกว่าเพราะฉันทำได้ ฉันเลยมีพาวเวอร์ แต่พอเราเข้าป่า Mother Earth กลับดึงให้เราลงดิน ถ้าพูดเรื่องระบบนิเวศ ตามหลักการแล้วมันง่ายมาก ๆ เลยนะ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบของระบบนิเวศ ดังนั้น สิ่งมีชีวิตนั้นจึงมีหน้าที่ทางนิเวศหลัก ๆ อยู่ 3 อย่าง คือ พืชทำหน้าที่หลักเป็นผู้ผลิตของระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตอย่างอื่น เช่น มนุษย์ สัตว์ แมลง ทำหน้าที่หลักเป็นผู้บริโภคของระบบนิเวศ และจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรีย เห็ดรา ทำหน้าที่หลักเป็นผู้ย่อยสลายของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดอาจมีบทบาทอื่น ๆ ที่เป็นผลพลอยได้ของหน้าที่หลัก เช่น การที่นกมากินผลไม้ และไปทิ้งมูลไว้ตามที่ต่าง ๆ นั่นเป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ การถ่ายเรณูของแมลง ผึ้งหรือน้องชันโรงมาจุบจิบกินน้ำหวานในดอกไม้ เป็นผู้ช่วยการผสมของเกสรพืช ทำให้เราได้กินข้าวโพด มะเขือเทศ พริก กล้วย

ตัวเรากับทุกสิ่งมีความเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งเห็ดราที่ถูกลำดับชั้นว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ แต่กลับมีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่คือการย่อยสลาย คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของดิน จนเราต้องกลับมาถามตัวเองว่าหน้าที่ของเราคืออะไร

“ในการทำงานและการบริการของระบบนิเวศมีการถ่ายพลังงานจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปสู่อีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง และมีการหมุนเวียนธาตุอาหารที่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการถ่ายทอดพลังงาน ทำให้เห็นว่า ตัวเรากับทุกสิ่งมีความเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งเห็ดราที่ถูกลำดับชั้นว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ แต่กลับมีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่คือการย่อยสลาย เป็นการคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของดิน จนเราต้องกลับมาถามตัวเองว่าหน้าที่ของเราคืออะไร นอกจากการเป็นผู้บริโภคซึ่งเป็นหน้าที่หลักในตำราเรียน เหมือนเราได้ถอดบทเรียนจากระบบนิเวศของป่า”

นักเรียนปริญญาเอก วิชาความหลากหลายทางชีวภาพ
แพรตัดสินใจกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง ด้วยการลงเรียนภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระดับปริญญาเอก พอเราเอ่ยปากถามว่าการเรียนการสอนเป็นอย่างไร เธอตอบว่า “โคตรยาก” ก่อนหัวเราะออกมา

ความยากเย็นที่แพรว่า สามารถอธิบายได้ด้วยการนึกถึงคนที่เรียนและทำงานเกี่ยวกับศิลปะมาตลอด ต้องกระโดดข้ามสายมาจำชื่อทางวิทยาศาสตร์ของพืชพรรณ จำแนกวงศ์พืช เรียกดอกเก๊กฮวยว่า Chrysanthemum indicum L. และจำให้ได้ว่าอยู่ในวงศ์ ASTERACEAE

“วิชาอนุกรมวิธานพืช (Plant Taxonomy) เป็นการศึกษาเพื่อการจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ การตรวจสอบเอกลักษณ์และชนิดของสิ่งมีชีวิต พืชแต่ละชนิด มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่าอะไร อยู่วงศ์ (Family) ไหน ลักษณะเด่นคืออะไร หรือแม้กระทั่งพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันเป็นญาติกับต้นอะไรบ้าง ทำให้เราต้องใส่แว่นนักอนุกรมวิธาน นั่งคัดชื่อท่องจำ ต้องมีวินัยสูงมาก

“อีกวิชาชื่อว่าพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotany) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพืช ในแง่ของการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือวิชาความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) การที่มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่แตกต่างกันในแหล่งที่อยู่อาศัยต่าง ๆ บนโลก ตั้งแต่ระดับชนิด พันธุกรรม รวมไปถึงความหลากหลายในระดับระบบนิเวศทั่วโลก เช่น พื้นดิน ทะเล และระบบนิเวศน้ำอื่น ๆ ความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่เป็นเพียงวิทยาศาสตร์ชีวภาพสาขาหนึ่ง แต่เป็นหลักอย่างหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกวิชาเป็นแค่เรื่องพื้นฐานสำหรับนักนิเวศวิทยา แต่สำหรับเราเป็นการสวมแว่นเลนส์ใหม่ ทำให้มองย้อนกลับมาถึงสิ่งที่เราเป็นอยู่

เราสนใจเรื่องการอนุรักษ์ ที่ใช้แค่ความรู้สึกไม่ได้แล้ว ไม่ใช่แค่ในมุมมองของศิลปินหรือคนมีที่อิทธิพลในโซเชียลมีเดีย แต่จำเป็นต้องมีชุดความรู้ในเรื่องที่อยากขับเคลื่อนจริง ๆ

“เหตุผลแรก ๆ ที่ลงเรียนคือทำเพื่อตัวเอง การทำงานที่ผ่านมาเราถนัดเรื่องการเอาความรู้สึกส่งออกมาเป็นผลงานศิลปะ แต่พอโตขึ้น เราสนใจเรื่องการอนุรักษ์ ที่ใช้แค่ความรู้สึกไม่ได้แล้ว ไม่ใช่แค่ในมุมมองของศิลปินหรือคนมีที่อิทธิพลในโซเชียลมีเดีย แต่จำเป็นต้องมีชุดความรู้ในเรื่องที่อยากขับเคลื่อนจริง ๆ ตอนนี้เราทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาส่งเสริมอาชีพของชาวบ้านและชาติพันธุ์ เราต้องมีวุฒิภาวะของความเป็นผู้นำและผู้ตาม ต้องเข้าใจบริบทของชุมชนในแต่ละที่ ไปจนถึงนโยบายของรัฐบาลและนโยบายโลก เราต้องกระโดดให้ทันและสื่อสารกับคนอื่น ๆ ในโลกให้ได้ อีกอย่าง ตัวเราเองอยากเป็นแรงขับเคลื่อนในจุดเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ หรือการถอดบทเรียนยาก ๆ มาเล่าต่อให้กับผู้ติดตามของเราในสื่อสังคมออนไลน์ กระทั่งการเป็นรอยต่อให้กับชุมชน วิสาหกิจ มีหลายมิติที่เราสามารถทำได้ เรามองว่านี่คือหน้าที่ที่เราเห็นในตัวเราเอง และสุดท้ายคือความชอบของเราในการเรียนรู้ พอได้ลงลึกกับอะไร มันเป็นความสนุกที่ต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ ”

อาหารในจานที่เปลี่ยนไป
“เดี๋ยวนี้ได้เงินมา เอาไปซื้อมูลวัว มูลไส้เดือน ก่อนเลย ถ้าเป็นแต่ก่อนก็คงรีบไปซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม” จากนักชิมที่ไม่รู้เรื่องฤดูกาล มาสู่การเป็นนักปลูกที่มีสวนลอยฟ้าเป็นของตัวเอง นอกจากมูลสัตว์ เธอยังหมดเงินที่หามาได้ไปกับอุปกรณ์การเกษตรอื่น ๆ รวมถึงกรรไกรตัดกิ่งที่ได้มาจากการกดส่วนลดช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

การทำสวนลอยฟ้าของเราตอบโจทย์ตัวเราเอง ไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวด้วย

“การทำสวนลอยฟ้าของเราตอบโจทย์ตัวเราเอง ไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวด้วย เพราะเราอยู่ในอาคารที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติเลย แต่พอมีพื้นที่ตรงนี้ เราได้เห็นพ่อขึ้นมาถอนหญ้า แม่ขึ้นมาดูต้นมะนาวของเขา น้องชายเอาสัตว์เลี้ยงขึ้นมาเล่น เป็นภาพที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น เพราะก่อนหน้านี้ ทุกคนต่างแยกย้ายกันไปทำงาน เราเองก็ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น มีพื้นที่ปลดปล่อยงานศิลปะ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่สีเขียวให้เมือง เป็นต้นแบบให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาดูงาน”

เราเห็นตั้งแต่วันที่เขาเป็นเมล็ดที่เราโปรยลงดิน ไปจนถึงวันที่เขากลายเป็นวัตถุดิบให้เรากิน เส้นทางการเติบโตของเขาทำให้เรามองอาหารที่กินเปลี่ยนไป สิ่งที่ได้มาคือการรู้คุณค่า

“เรารู้แล้วว่ากว่าจะได้ผลผลิตแต่ละอย่าง ต้องใช้เวลาและทรัพยากรเยอะมาก อย่างกะหล่ำดอก มะเขือเทศ หรืออะไรที่เป็นลูก ๆ ใช้เวลาปลูก 4 เดือนขึ้นไป เพื่อได้ผลผลิตลูกเล็ก ๆ พอเรามาเป็นเกษตรกรดาดฟ้า เราเห็นตั้งแต่วันที่เขาเป็นเมล็ดที่เราโปรยลงดิน ไปจนถึงวันที่เขากลายเป็นวัตถุดิบให้เรากิน เส้นทางการเติบโตของเขาทำให้เรามองอาหารที่กินเปลี่ยนไป สิ่งที่ได้มาคือการรู้คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ทำเอง เชฟทำให้ หรือคนนู้นคนนี้เอามาให้กิน มันเป็นความรู้สึกว้าวสำหรับเราตลอด”

ว่าแล้วแพรก็หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาโชว์ให้เราดูว่า ทุกวันนี้เธอกินอะไร ภาพที่เห็นคือการรวมเอาอาหารเหลือจากมื้อนั้นมื้อนี้มารวมกัน อาหารหลากหลายจากงานคริสต์มาส พริกน้ำปลาจากวันปีใหม่ ไก่ที่พ่อกินไม่หมด ข้าวที่เหลือจากหลายวันก่อน อะไรก็ตามที่ยังกินได้ เธอจะกิน

เราว่าทุกคนเป็นนักอนุรักษ์ในแบบของตัวเองได้ และการกินหลากหลายก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ได้ Diversify Your Diet ง่าย ๆ แค่นี้เลย

“เราชอบกินผักก็จริง แต่เมื่อก่อนจะกินผักเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อยู่ไม่กี่อย่าง แต่พอเราได้มีโอกาสคลุกคลีกับชุมชนตามจังหวัดต่าง ๆ และยิ่งมาเรียน ทำให้เรารู้ว่าภาคเหนือมีพืชผักที่กินได้ถึง 900 ชนิด เช่น มะเขือเหลือง มะเขือส้ม ผักขี้หูด บ่าบอย (ถั่วราชมาด) รากชู ห่อวอ ผักเฮือด ดอกต้าง ที่มีให้กินตามฤดูกาล แบบกินยังไงก็กินไม่หมด แต่คนรู้จักแค่ไม่กี่ชนิด และยิ่งถ้าเรากินอะไรซ้ำ ๆ วนอยู่แค่ผักกาด ผักบุ้ง ความหลากหลายก็ไม่เกิด เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านก็จะสูญพันธุ์ไป ยิ่งถ้าเลือกกินเฉพาะผักนอกฤดูกาลที่มีขายอยู่ในห้าง ตลาดในเมือง หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดทั้งปี เกษตรกรก็จะเลือกปลูกอยู่แค่นั้น ทีนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเราแล้ว ดินที่โดนอัดปุ๋ยเคมีซ้ำ ๆ ส่งผลต่อทรัพยากรโลก สิ่งมีชีวิตในดินลดน้อยลงเรื่อย ๆ พอธรรมชาติไม่เหมือนเดิมก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่คนรับรู้ แต่ไม่ได้หาวิธีจัดการในแบบของตัวเอง เราว่าทุกคนเป็นนักอนุรักษ์ในแบบของตัวเองได้ และการกินหลากหลายก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ได้ Diversify Your Diet ง่าย ๆ แค่นี้เลย”

เครื่องสำอาง สีธรรมชาติจากพืชในสวน
“เราสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ความสวยงามที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่อยากทำคือ Ethno Beauty ตามหาพืชที่ใช้เพื่อความสวยงามในเมืองไทย ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนมังงะที่เล่าถึงช่วงศตวรรษที่ 15 ในจีน เกาหลี มีหมอยาในวังใช้พืชสมุนไพรมาสร้างเทรนด์ความงามให้นางสนม เอาดอกเทียนบ้านมาบดและพอกทิ้งไว้เป็นการย้อมเล็บให้ผู้หญิงดูสวย นางสนมทุกคนก็จะมีเล็บสีส้ม น่ารักมากเลย มันก็คือการทาเล็บในปัจจุบัน แต่สมัยก่อนเป็นการใช้สีจากธรรมชาติ ไปค้นงานวิจัยดูก็เจอว่าเป็นเรื่องจริง แต่อ่าน ๆ ไปรู้สึกคุ้นลักษณะพฤกษศาสตร์ของดอกไม้ดอกนั้นมาก ๆ เลยเดินไปดูในสวน ปรากฏว่าเป็นต้นเทียนบ้านที่เราปลูกอยู่

เราตั้งใจให้สวนนี้มีความหลากหลายของพืช เน้นพืชกินได้และใช้สีของเขาได้ ด้วยความที่เราเรียนศิลปะมา เราอยากมีพื้นที่นอกเหนือไปจากเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็นพื้นที่ปลดปล่อยอารมณ์ในฐานะของศิลปิน เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรา

“นี่ก็เข้าปีที่ 7 แล้ว ที่เราเดินออกมาจากงานแต่งหน้า แต่เรายังมีหัวใจที่อยู่กับเรื่องความสวยความงามอยู่นะ ความสวยงามกับทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นของคู่กัน สีสันของธรรมชาติเป็นอะไรที่ยังเกาะกุมหัวใจเราอยู่” แพรยิ้ม

ถิ่นนิยม ตอน เชียงดาว classroom
“กลุ่มถิ่นนิยมคือคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมาเพื่อพัฒนาในสิ่งที่ตัวเองมี พูดง่าย ๆ เลยก็คือกลุ่มคนที่มีความรักในถิ่นของตน ผู้ก่อตั้งคือ พี่มล (จิราวรรณ คำซาว) เป็นเกษตรกรที่กลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านตัวเอง เราเองก็เข้าไปช่วยทำตรงนั้น เหมือนเป็นสะพานเชื่อมคนปลายน้ำกับต้นน้ำ เอาชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาย่อยให้ง่ายโดยใช้การเล่าผ่านศิลปะ จัดค่ายที่ชื่อว่า เชียงดาว classroom ชวนใครก็ตามที่สนใจเข้ามาอยู่ด้วยกัน 3 วัน 2 คืน เข้าป่า เรียนรู้เรื่องฤดูกาล ระบบนิเวศ ชุมชน” แพรขยายความถึงสิ่งที่ทำอยู่

“บางทีเราอยู่กับเทคโนโลยี ความสะดวกสบายทุกอย่างในเมือง จนขาดการสำนึกรับรู้ (Sense) หลาย ๆ อย่างไป ไม่มี Sense of Human หรือ Sense of Balance การชวนคนมาค่ายนี้ก็เพื่อรีเช็กประสาทสัมผัสของตัวเองกับ Mother Earth ให้แม่โลกเป็นครู เป็นค่ายที่ได้พื้นที่ปลอดภัย ได้เพื่อน ได้ใจของกันและกัน เลยกลายเป็นแก๊งที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ”

ก่อนจบบทสนทนาที่ผ่านมาหนึ่งชั่วโมง เราถามถึงเหตุผลในการลงแรงทำทั้งหมดนี้ แพรตอบว่า “เราไม่ได้ทำเพื่อกอบกู้โลก แต่ทำเพื่อความสุขของตัวเอง แฮปปี้กับสิ่งที่ทำ เลยส่งต่อสิ่งนั้นออกไป เราอยากจุดประกายอะไรสักอย่างให้คนได้กลับมาเห็นตัวเอง ทั้งหมดทั้งมวลต้องการส่งต่อสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของแรงกระเพื่อม แรงบันดาลใจ หรือจะแค่เห็นเรากินผักแล้วยิ้มตาม ดูแล้วแฮปปี้จังเลยก็ได้นะ

มนุษย์มีหน้าที่อย่างเดียวคือบริโภคก็จริง แต่เราสามารถเลือกเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพได้ เราอยากจะเป็นผึ้งที่มีหน้าที่บริโภค แต่ระหว่างนั้นก็ช่วยผสมเกสรดอกไม้ไปด้วย

“ย้อนกลับมาในเรื่องหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ตามหลักวิทยาศาสตร์ มนุษย์มีหน้าที่อย่างเดียวคือบริโภคก็จริง แต่เราสามารถเลือกเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพได้ หากเรามองหาหน้าที่อื่นเสริมไปด้วย เราเชื่อว่าทุกคนมีทางเลือกที่จะเป็นปลายน้ำที่ดีได้ เราอยากจะเป็นผึ้งที่มีหน้าที่บริโภค แต่ระหว่างนั้นก็ช่วยผสมเกสรดอกไม้ไปด้วย

“สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราตั้งคำถามกับตัวเองคือ เราจะพาตัวเองไปสู่ตรงไหน เราเชื่อว่ามันมีวิธีหาเลี้ยงชีพตัวเราไปพร้อม ๆ กับการมีประโยชน์บนโลกนี้ไปด้วย”