เวลาที่เราได้ฟังอะไรบางอย่างที่ว่าด้วยเรื่องราวของการ ‘อนุรักษ์’ นั่นย่อมเป็นอันรู้กันว่า เมื่อสิ่งใดหรืออะไรก็ตามต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องอนุรักษ์ขึ้นมา แสดงว่าสิ่งนั้นกำลังจะสูญหาย หรือใกล้จะกลายเป็นอดีตแล้วเต็มที และยิ่งได้คุยกับ สุรศักดิ์ เสือฟัก แห่งชมรมอนุรักษ์ทุเรียนบางกรวย ในคราวนี้ ก็ทำให้ได้รู้ว่า ทั้งที่มีทุเรียนอยู่มากมายนับร้อยสายพันธุ์ให้เราได้กินกันอยู่ทั้งในฤดูนอกฤดู แต่ใครจะรู้ว่าความเป็น ‘ดั้งเดิม’ ของสายพันธุ์ทุเรียน โดยเฉพาะทุเรียนเมืองนนท์ ที่คนรักทุเรียนยกให้เป็นเบอร์หนึ่งนั้น กำลังอยู่ในสภาวะเปราะบางเต็มที และยิ่งไปกว่านั้น คำว่า ‘เปราะบาง’ นี้ ยังแทรกซึมอยู่ภายใต้เปลือกหนามที่ดูแข็งแรงอย่างนึกไม่ออกว่าผลไม้ที่ดูมีเกราะป้องกันตัวเองอย่างนี้ มีช่วงชีวิตที่เปราะบางเสียยิ่งกว่าที่เห็น

เราตามเส้นทางสายพันธุ์ทุเรียนดั้งเดิม ไปที่สวนคุณแผ่นดิน สวนทุเรียนที่ยังเหลืออยู่แห่งเดียวในตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ที่นี่เป็นสวนทุเรียนของ ชคดี นนทสวัสดิ์ศรี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบางกรวย ที่มีทุเรียนสายพันธุ์อนุรักษ์ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของนนทบุรีกว่าสามสิบสายพันธุ์ และมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จากการนำสายพันธุ์ที่ค้นพบกลับมาดูแลและขยายพันธุ์ ด้วยวิธีการปลูกแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสวนนนท์ ในแปลงแบบสวนยกร่องที่อาศัยธรรมชาติช่วยกันเลี้ยงทุเรียนให้โต

สุรศักดิ์รอเราอยู่ที่สวนแห่งนี้ เพราะเป็นหนึ่งในสวนที่เขาคุ้นเคย ด้วยทำงานอนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนด้วยกันมากับเจ้าของสวน วันที่เราไปเยือนถึงสวนนั้น ทุเรียนเมืองนนท์ยังเพิ่งมีผลเท่าฟองไข่ไก่ ติดลูกห้อยเป็นพวง ที่กว่าจะโตพอเก็บขายได้ก็เดือนพฤษภาคม แต่ใช่ว่าพวงที่เห็นนั้นจะให้ผลผลิตได้ทั้งหมด เพราะชาวสวนทุเรียนที่นี่จะเลือกให้เหลือเพียงลูกเดียวที่สมบูรณ์ที่สุดในการได้ไปต่อ ทำให้ทุเรียนหนึ่งต้นให้ผลผลิตแค่เพียง 4-5 ลูก นี่แค่เป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุผล ที่ว่าทำไมทุเรียนเมืองนนท์ ถึงราคาสูงและถึงกับต้องมีการประมูลซื้อขายกันเป็นข่าวโด่งดังทุกปี และในเมื่อราคาสูงขนาดนี้ เหตุใดจึงยังเป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอให้ทุเรียนเหล่านี้ได้รับการดูแลต่อในมือของคนรุ่นใหม่ จนทำให้ต้องมีการอนุรักษ์เกิดขึ้น

เมื่อเมืองล้อมสวน

หากยกให้ทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้ ทุเรียนเมืองนนท์ก็คงเป็นขั้นกว่าของคำว่าราชา ด้วยเลื่องลือกันในรสชาติและเนื้อสัมผัส รวมไปถึงผลไม้อื่นๆ ที่ต่างก็ให้ผลผลิตดีงามไม่แพ้กัน นั่นเป็นเพราะว่าผืนดินบริเวณนี้เกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยา จึงอุดมด้วยอาหารชั้นดีของต้นไม้ในสวนเมืองนนท์

ทว่านั่นคือความโชคดีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าโลกร้อน ซึ่งมีผลกับความแห้งแล้งและปริมาณน้ำจืดที่กักเก็บไว้ในระบบ สิ่งแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนไป เมื่อถนนหลายสายถูกตัดผ่าน เกิดโครงการหมู่บ้านจัดสรร ที่เมื่อมีผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ความเป็นเมืองก็เข้ามาแทนที่เรือกสวนที่เคยมี

พื้นที่สวนทุเรียนค่อยๆ ถูกกลบให้เรียบเพื่อรองรับเมืองที่มีแต่ขยาย ในขณะเดียวกัน ดินที่เคยดี ก็ประสบปัญหากับภาวะน้ำใต้ดินที่เค็มจากน้ำทะเลหนุน

“ช่วงต้นเดือนมกราถึงเมษาก่อนฝนจะเข้า จะมีปัญหานี้ทุกปี สมัยก่อนไม่มีปัญหาเพราะเขื่อนปล่อยน้ำมาดันน้ำเค็มให้เกษตรกร แต่เดี๋ยวนี้น้ำน้อย เขาไม่เปิดเขื่อนปล่อยน้ำลงมา น้ำเค็มก็จะรุกขึ้นมา” สุรศักดิ์เล่าถึงที่มาของปัญหา ระหว่างเดินข้ามท้องร่องเข้าไปในสวน เขาชี้ให้ดูคราบสีขาวซึ่งเกาะอยู่ในท้องร่องส่วนที่ไม่สัมผัสน้ำ ความเค็มทิ้งคราบไว้บนดินให้เห็น และมีผลกับต้นไม้ในสวนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

นอกจากเรื่องสภาพแวดล้อมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สวนทุเรียนลดขนาดพื้นที่ลงไปเรื่อยๆ ก็คือชาวสวนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยกันทั้งนั้น เมื่อถึงวันที่ทำต่อไม่ไหวก็ไม่มีคนสานต่อ เขายกตัวอย่างให้เห็นจากรายงานของกลุ่มแปลงใหญ่ฯ ที่ในปี 2562 มีชาวสวนทุเรียนอยู่ 77 ราย ล่าสุดตอนนี้รวมรวมได้ 48 ราย เทียบดูแล้วก็หายไปเกือบครึ่ง

ในฐานะลูกหลานชาวสวนทุเรียนพันธุ์แท้ เขาจึงเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรรอ หากอยากจะให้ทุเรียนเมืองนนท์ได้อยู่ต่ออย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะในเรื่องสายพันธุ์ที่มีอยู่นับร้อยสายพันธุ์

ปณิธานบนเตียงในวันที่ยังป่วย

“ช่วงที่ผมนอนป่วย อยู่ๆ ก็คิดขึ้นมาว่ารากเหง้าเรามาจากทุเรียน ทำไมเราไม่กลับไปทำทุเรียนของเรา” สุรศักดิ์เล่าถึงวันที่เขาฉุกคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลง ในวันที่เขาได้อยู่กับตัวเองเมื่อล้มป่วยจนต้องนอนติดเตียงจากอาการเส้นประสาทเสื่อมตามกรรมพันธุ์ เขาคิดถึงชีวิตวัยเด็กที่ปู่ย่าตายายของเขาทำสวนทุเรียนเป็นอาชีพ จนในปีหนึ่งคราวที่เขายังเด็ก ถนนรัตนาธิเบศร์ถูกตัดผ่าน ส่งสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงให้เมืองเข้ามาอย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่ปี หน้าตาของเมืองนนท์ก็เปลี่ยนไปจนไม่เห็นเค้า

“ผมตั้งปนิธานว่าถ้าหายจะทำงานจิตอาสาในเรื่องการอนุรักษ์ทุเรียน จะเก็บรวมรวมสายพันธุ์ทุเรียนของนนท์แท้ๆ ในพื้นที่ที่เหลือรอดจากน้ำท่วมจากปี 2485 กลับมา”

สุรศักดิ์เล่าว่า ชาวสวนทุเรียนที่นี่เคยประสบกับภัยน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว แต่ก็กลับคืนมาได้ด้วยคนเก่าคนแก่ และไม่นานมานี้เอง ก็เป็นอีกคราวที่ทุเรียนเมืองนนท์เฉียดพ้นกับการสิ้นชื่อ หากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ไม่ทรงมีพระราชดำริให้มีการเก็บกู้ยอดทุเรียนจากต้นที่ยืนจมน้ำรอตาย ในครั้งที่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554  ไปเก็บรักษากิ่งพันธุ์ไว้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทำการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอด และส่งกิ่งพันธุ์คืนกลับบ้านเกิดให้กับชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ได้นำไปปลูกอีกครั้ง โดยสวนคุณแผ่นดิน ก็เป็นอีกหนึ่งสวนที่เคยล่มไปเพราะน้ำท่วม และได้รับกิ่งพันธุ์จากโครงการฯ มาปลูกในสวนที่ฟื้นขึ้นมาใหม่

“ท่านทรงเล็งเห็นว่าทุเรียนเรากำลังจะจมน้ำตายหมด จึงให้คนมาตัดยอดทุเรียนเพื่อเก็บสายพันธุ์ที่เป็นของนนท์แท้ๆ เอาไว้ก่อน แล้วท่านก็มีโครงการทำแปลงอนุรักษ์ทุเรียนไว้ที่ปากเกร็ดด้วยหลังจากนั้น โดยให้กลุ่มเกษตรกรช่วยดูแล เราก็คิดว่าท่านยังเล็งเห็นเลยว่าทุเรียนนนท์เป็นรากเหง้าของเรา ถ้ามันสูญพันธุ์ไปสายพันธุ์หนึ่ง เราเอากลับมาไม่ได้แล้วนะ แล้วเราอยู่ในพื้นที่แท้ๆ ทำไมเราไม่ทำอะไร”

ปี 2560 ร่างกายของสุรศักดิ์กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เขาลุกขึ้นจากเตียงคนป่วย และทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ ด้วยการเดินเข้าหาสวนทุเรียนทีละสวน เพื่อสืบเสาะต้นทุเรียนสายพันธุ์ดั้งเดิม เมื่อพบก็ขอเก็บยอดมาเสียบปักชำ เพื่อให้การขยายพันธุ์ทุเรียนทำได้เร็วขึ้น

“มันตื่นตาตื่นใจมากว่าที่สวนที่เราเข้าไป เขามีพันธุ์ที่เราเห็นสมัยเด็ก อย่างย่ำมะหวาด กบชายน้ำ ความรู้สึกมันเหมือนผมได้ไปกอดปู่ยาตายายอีกครั้ง ต้นเขาสวยใหญ่ เงา ไม่เป็นโรค ผมไม่คิดว่าจะมีต้นแบบนี้เหลืออยู่แล้ว”

ตามหาทุเรียนพันธุ์แท้

กบชายน้ำ กบไว ย่ำมะหวาด พานพระศรี กำปั่นตาแพ อีลวง ฯลฯ อีกหลายต่อหลายชื่อของสายพันธุ์ทุเรียนที่สุรศักดิ์เอ่ยถึง ล้วนเป็นชื่อที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะสายพันธุ์ที่คุ้นหูคนทั่วไป ยังไงก็คือหมอนทอง ชะนี กระดุม ก้านยาว อะไรทำนองนั้นมากกว่า ตามที่นิยมขายกัน

“ทุเรียนนนท์มีหลายสายพันธุ์ แล้วสมัยก่อนคนนนท์มีการผสมพันธุ์ทุเรียน แต่ละสวนจะมีทีเด็ดของเขา”

“ปู่ผมเคยได้รางวัลชนะเลิศทุเรียนไม่มีชื่อ เราก็คิดว่าต้นตระกูลเราก็มีดี ขนาดไม่มีชื่อก็ยังประกวดได้รางวัลในสมัยนั้น”

แล้วสวนของคุณสุรศักดิ์เองตอนนี้ไม่มีแล้วหรือ? เราอดสงสัยไม่ได้ จึงได้รู้ความจริงที่น่าเจ็บใจแทนว่า เขาเคยมีสวนทุเรียน เมื่อคราวปี 2554 ที่น้ำท่วม สวนทุเรียนอื่นล่ม แต่สวนของเขายังอยู่ แล้วกลับเพิ่งมาล่มเอาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพราะถูกขโมยเข้ามาล้อมต้นเอาไปจากสวน จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำของตัวเองต่อ เพราะตั้งใจอยู่กับการเก็บสายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์เสียแล้วมากกว่า

“ถ้าในเชิงการค้า ไม่มีอะไรตีหมอนทองได้เลย ต้องขอบคุณคนเพาะที่ไม่ได้หวงสายพันธุ์ไว้ และกระจายไปปลูกไว้ที่อื่น เพราะถ้าไม่อย่างนั้นน้ำท่วมมาคงไม่มีหมอนทองแล้ว” คำที่เขาเล่าทำให้เราได้รู้ว่าทุเรียนหมอนทองเกิดที่เมืองนนท์นี้เอง โดยต้นตอนั้นเกิดจากการเอาเมล็ดสายพันธุ์กำปั่นไปเพาะ แล้วได้ทุเรียนกลายพันธุ์ที่เนื้อเยอะ มีสีเหลืองกว่าเดิม และรูปทรงสวย

“เราไม่ซีเรียสเลยว่าทุเรียนนนท์จะไปโตอยู่ที่ไหนได้ แค่ขอให้เป็นพันธุ์แท้ แต่การจะบอกว่าได้เมล็ดพันธุ์แท้จากนนท์ไปปลูก อันนี้ไม่แท้แล้วครับ เรื่องเมล็ดเป็นจุดด้อยของทุเรียนเลย ถ้าเกิดการผสมเกสรโดยวิธีเปิด หรือวิธีธรรมชาติ จะเกิดสายพันธุ์ใหม่”

“เราไม่สามารถควบคุมได้ว่าผึ้งจะเอาเกสรจากต้นไหนมาผสม แต่ถ้าเอายอดหรือกิ่งตอนไป จะยังได้ทุเรียนพันธุ์แท้”

เพื่อตามหาทุเรียนนนท์สายพันธุ์แท้ สุรศักดิ์ดั้นด้นไปในสวนทุเรียนหลายจังหวัด เมื่อพบก็จะนำยอดกลับมาเสียบเพื่อขยายพันธุ์ แล้วแจกจ่ายไปยังเกษตรกร แต่การตามหาของเขานั้น ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วเจ้าของต้นบอกว่าใช่ ก็จะเชื่อเลย เพราะมีวิธีการที่ต้องค้นหาต้นสายที่มาเป็นเรื่องเป็นราว เขายกตัวอย่างการไปเจอต้นพันธุ์อีบาตรแท้ที่ปัตตานีให้ฟัง ว่าเป็นการสืบค้นจากหม้อทะนนเก่าแก่ ซึ่งเป็นหม้อดินเผาของชาวนนท์ ที่ไปพบเข้าที่จังหวัดนั้น

“พอเจอหม้อทะนนที่ปัตตานี เราก็สืบค้นไปว่าสมัยก่อนเราลำเลียงทุเรียนไปทางเรือด้วยการใส่หม้อทะนนไปเพราะไม่มีกระถาง ไม่มีถุง ดังนั้นก็จะเอากิ่งทุเรียนใส่หม้อ ใส่ขี้เลนเพื่อล่อรากแล้วลงเรือไป ระหว่างทางก็ใช้น้ำหยอดเลี้ยงไปเรื่อยๆ เพื่อเอาไปปลูกที่ปัตตานี ตอนนี้ต้นนี้ก็ยังอยู่ อายุสักเจ็ดสิบถึงแปดสิบปีได้” เขายกหม้อทะนนที่ปากบิ่นไปตามกาลเวลา ที่ก้นหม้อยังทิ้งรอยรากของทุเรียนเป็นพยาน ส่วนลายที่เห็นอยู่บนผิวหม้อ เป็นตัวบ่งบอกว่าตีขึ้นที่บ้านไหนของนนท์

“ผมไปดูพันธุ์ก้านยาวที่บอร์เนียว ซึ่งเคยมีการเอาไปปลูกไว้เมื่อปี 2521 ปลูกจากกิ่งตอน ไปอยู่ที่โน่นแล้วงามมาก เห็นแล้วอยากขอยอดกลับมาจริงๆ แต่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดจากต้นที่กลายพันธุ์หรือเปล่า เพราะเอาไปจากทางใต้”

ภูมิปัญญากับการทำสวนแบบพึ่งพาธรรมชาติ

“ดินที่นนท์นี่สมัยก่อนปลูกยังไงก็ขึ้น เพราะดินดีมาเป็นร้อยปี วิธีการปลูกแต่เดิมก็คือการยกโคก คือแทงดินให้เป็นโคก เอาหยวกกล้วยรอง แล้วปลูกโดยใช้กิ่งตอน ตอนปี 2528 ผมเห็นเวลาตาซื้อกิ่งพันธุ์จากที่อื่นมาปลูก เขาจะค่อยๆ หยอดน้ำเอาดินเดิมออกเพื่อจัดรากใหม่ก่อนปลูก แต่ละสวนมีเทคนิคต่างกัน บางคนตัดรากแก้วออกเลย ที่ต้องล้างรากเพราะเขาต้องการเห็นระบบรากก่อนปลูก เขามีความพิถีพิถันมาก”

ระหว่างร่องทุเรียน คือท้องร่องที่ปล่อยน้ำเข้ามาเลี้ยง หากเป็นสมัยก่อนก็คือแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ปัจจุบันต้องอาศัยน้ำประปาส่งเข้าท้องร่อง “เราเปิดน้ำประปาเข้าระบบแล้วสูบไปเลี้ยงที่ต้น สมัยก่อนไม่เจอปัญหาแบบนี้

“เดี๋ยวนี้โลกมันร้อน มันแล้งขึ้นทุกวัน เราเป็นคนปลายน้ำเจ้าพระยาเรา น้ำทะเลดันขึ้นมาถึง ดินก็ตรึงโซเดียมเอาไว้”

ชคดี เจ้าของสวนคุณแผ่นดิน เล่าให้เราฟังขณะพาชมสวนทุเรียน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะทุเรียน หากแต่ปลูกผลไม้อย่างอื่นผสมด้วยอย่างมะยงชิด ลำไย ขนุน ฯลฯ เพื่อให้เกิดผลผลิตหมุนเวียน มะยงชิดกำลังสุกพอดีกิน ถูกหุ้มไว้ด้วยถุงผ้าเนื้อบางจ๋อย ที่ง่ายต่อการมองเห็นลูก และนำมาใช้ซ้ำได้ ขวดน้ำพลาสติกเจาะด้านข้าง ใส่เมทิลแอลกออล์ชุบสำลีไว้ล่อแมลงวันทองไม่ให้ไปกวนผลไม้

สวนคุณแผ่นดิน ปลูกและดูแลด้วยวิธีธรรมชาติตามภูมิปัญญาโบราณซึ่งปราศจากเคมี และอยู่ระหว่างการยื่นขอใบรับรองการตรวจแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อรับรองการเป็นเกษตรอินทรีย์ ตามแนวทางการดูแลของสวน

“ต้นทองหลางที่ปลูกไว้ข้างท้องร่องนี่คือภูมิปัญญาดั้งเดิมเลย ชาวสวนเขาจะปลูกต้นทองหลางก่อนเพื่อล่อแมลงให้มาเจาะต้นทองหลาง ไม่อย่างนั้นแมลงจะเจาะต้นทุเรียน แล้วพอต้นทองหลางใหญ่ขึ้นก็สามารถบังแดดและรักษาความชื้นบนหน้าดิน ทำหน้าที่เป็นไม้พี่เลี้ยง สวนก็จะครึ้มไปหมด แล้วเราก็ปลูกพืชตระกูลพลู พริกไทย ดีปลีให้เลื้อยขึ้น เก็บผลผลิตขายได้”

นอกจากจะทำหน้าที่เป็นไม้พี่เลี้ยง สุรศักดิ์อธิบายว่า “ชาวสวนที่นี่ประณีตตั้งแต่การปลูกและบำรุงรักษาดิน ใบทองหลางซึ่งมีสังกะสีเยอะจะหล่นทับถมอยู่ในดินเลน เวลาที่มีการสาดเลน ดินที่สาดเลนในท้องร่องจะนุ่มมาก แล้วเขาจะเอาดินนั้นมาทำโคก ดินจะฟู และรากจะเดินดี

“พอมาทำเรื่องอนุรักษ์ เราก็มาสอนเกษตรกรเองการเสียบยอด การปลูก และการดูแลรักษาให้เกษตรกร”

“การที่ดินมีค่าความเค็มสูงกว่าเดิม ไม่สามารถใช้ปลูกได้ ทำให้เราต้องตัดการใช้ขี้เลนในการรองก้นหลุมเหมือนสมัยก่อนออก ดินที่เสียเราต้องเอามาตีใหม่ เอาแกลบ เอากาบมะพร้าเข้ามาช่วยฟื้นฟูดิน บางสวนก็ใช้ดินถุงในการปลูกล่อรากก่อนเพราะมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์กว่า ร่วนซุยกว่า ดินที่สวนตอนนี้เป็นดินเหนียวธรรมดานี่เอง แร่ธาตุอินทรียวัตถุมันต่ำลงทุกปี

“ต้องบอกว่ากลุ่มเกษตรกรที่นนท์ต้องมีเงินทุนสำรองที่เยอะพอสมควรในการดำรงชีวิต เพราะค่าใช้จ่ายสูง น้ำในการรดพืชเราใช้น้ำประปา เรามีท้องร่องก็จริง แต่ระบบชลประทานเข้าไม่ถึง เราจึงต้องเปิดน้ำประปาใส่ท้องร่อง แต่ตอนนี้ก็เปิดไม่ไหวเพราะอากาศร้อน ดินมีการดูดซับน้ำที่สูง เปิดเท่าไรก็ลงชั้นใต้ดินหมด ก็ต้องทำระบบรดที่โคนต้นเลย”

กระจายการอนุรักษ์ไปสู่พื้นที่นอกสวน

ที่สวนคุณแผ่นดินมีกิ่งพันธุ์ที่เสียบยอดเก็บไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่ออยู่จำนวนหนึ่ง โดยสุรศักดิ์เป็นคนทำหน้าที่นี้ เขาบอกว่าต้องรีบเก็บเอาไว้ก่อนที่สวนจะล่ม แล้วค่อยนำแจกให้เกษตรอีกรอบหนึ่ง

“หน้าที่ของเราคือดูว่าที่ไหนจะล่ม ก่อนที่ต้นแม่จะตายเราจะรีบเก็บยอดก่อน”

“อายุทุเรียนเดี๋ยวนี้สั้นลง อย่างเมื่อสองปีที่แล้วเพิ่งให้ลูก พอมาอีกปีตายไปสิบต้น ทุเรียนเขาหมดแรง เหมือนการบำรุงรักษามันช้า ดินที่เป็นดินเหนียวทำให้การดูดซับอาหารช้ากว่าที่อื่น แล้วมีเรื่องน้ำที่ไม่พออีก เลยทำให้ต้นโทรม

“อย่างต้นลวงพระราชทาน พอเห็นท่าไม่ดี เราเก็บยอดไปใส่ต้นตอที่เราสั่งเมล็ดมาจากสุราษฎร์ ที่ต้องใช้ต้นพันธุ์พื้นเมืองสุราษฎร์เพราะมีความทนทานในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ลำต้นแข็งแรง และทนต่อโรค เราเอากิ่งทุเรียนนนท์ไปเสียบ กลายเป็นต้นใหม่ที่อยู่ในสวนเดิม

“ตอนนี้โครงการของการไฟฟ้าก็มาติดต่อให้เรานำทุเรียนนนท์พันธุ์แท้ไปปลูกในพื้นที่รอบนอกของการไฟฟ้าบางกรวย และเราก็มีปลูกในพื้นที่ด้วยอย่างในวัด ในโรงเรียน เราปลูกให้ฟรีเลย ดูแลการปลูกให้ แค่ขอให้มีคนช่วยรดน้ำให้เราหน่อย ตอนนี้ที่ไปปลูกไว้ที่โรงเรียนวัดบางอ้อยช้าง ก็ได้ผลผลิตแล้ว แต่ความจริงการเอาไปปลูกในที่เหล่านี้เราไม่ได้หวังผลเรื่องผลผลิต เราหวังผลว่าจะมีต้นทุเรียนของเราให้ประชาชนได้เห็น เพราะการปลูกแต่ในสวนคนอื่นไม่เห็น อย่างที่วัดสว่างอรารมณ์ ผมก็ทำเสียบยอดจากต้นที่เหลือรอดจากน้ำท่วมปี 2485 ไปปลูกเอาไว้

“เราหวังผลให้คนได้เรียนรู้ คนเข้าวัดก็ไปเห็น ปลูกที่โรงเรียนเด็กนักเรียนก็เห็น พวกเขาจะได้รู้ว่าทุเรียนนนท์ยังอยู่นะ ไม่ได้มีเหลือแค่ชื่ออย่างเดียว คำว่า ทุเรียนเหนือชั้น เครื่องปั้นดินเผา เมืองเก่าวัดงามฯ ซึ่งอยู่ในคำขวัญเก่าของจังหวัดจะต้องไม่เหลือแต่ชื่อ”

“ผมมองว่าถ้าเราไม่ทำเรื่องอนุรักษ์เอาไว้ตอนนี้ อนาคตทุเรียนเมืองนนท์จะสูญ ไม่เหลืออะไร หรืออาจจะเหลืออยู่ในพิพิธภัณฑ์ ให้เราได้เห็นต้นทุเรียนปลอม”

เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทั้งๆ ที่ปลายทางแล้วนั้นทุเรียนมีราคาสูงมาก จุดเด่นเรื่องราคาไม่สามารถจูงใจชาวสวนให้กลับมาทำสวนทุเรียนได้หรือ สุรศักดิ์ให้เหตุผลว่า “ตอนนี้มีคนภายนอกที่เห็นกำไรจากการทำทุเรียน มีคนจากที่อื่นเข้ามาซื้อพื้นที่ทำทุเรียน เพราะหวังผลเรื่องทุเรียนแพง แต่บอกก่อนว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด อย่าเพิ่งคิดว่าปลูกยังไงให้ได้ผลผลิต เอาเรื่องต้นให้รอดก่อน ต่อให้ปลูกแบบเคมีพร้อมยังไม่รอดเลย เพราะสภาวะแวดล้อม ความชื้นในอากาศ ตอนนี้มันไม่ได้แล้ว”

นอกจากทำเรื่องการขยายพันธุ์และให้ความรู้ในการดูแล สุรศักดิ์ยังอยู่ในชมรมคนรักทุเรียนแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อการซื้อขายทุเรียนพรีเมียมทางออนไลน์และส่งออกต่างประเทศ นอกจากเป็นรายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ใช้เป็นทุนในการออกทำงานอนุรักษ์ และยังเป็นช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง

“จากสิ่งที่เราได้ทำมา เราเห็นว่าตอนนี้เกษตรกรมีความรู้มากขึ้น เขาสามารถเสียบยอดเองได้ แต่อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เขามือสั่น และสายตาไม่ดีแล้ว แต่การปลูกดีขึ้นกว่าเดิม คือปลูกแล้วไม่ตาย ตอนนี้ผลผลิตยังไม่ออกเพราะเพิ่มเริ่มปลูกกันใหม่ แค่อัตราการรอดสูงกว่าที่เป็นอยู่เราก็พอใจมากแล้ว”

สิ่งที่เขายังหวัง คืออยากจะเห็นคนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญกับพืชท้องถิ่น แม้ความหวังตอนนี้จะยังดูไกล แต่ก็ยังดีกว่าไม่ลงมือทำอะไรเลย

“เรามีโครงการให้กลุ่มเครือญาติ คือพ่อแม่เข้ามาสืบสานต่อจากปู่ย่าตายาย ตอนนี้คนที่กลับเข้ามาดูแลสวนคือคนวัยเกษียณ ส่วนคนรุ่นใหม่ที่จังหวัดนนท์ยังไม่มี แต่ในต่างจังหวัดเริ่มมีเข้ามาทำบ้างแล้ว ผมก็ยังหวังว่าในอนาคตจะมีคนมาทำงานอนุรักษ์ต่อจากผม ผมจะนำภูมิปัญญาที่ปู่ย่าตายาย ประกอบกับเทคนิคใหม่ๆ มีมาสอนต่อ เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้นำองค์ความรู้นี้ไปใช้ต่อได้ และเพื่อให้ทุเรียนพันธุ์แท้ไม่หายไปไหน”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, สวนคุณแผ่นดิน