“วันนี้เวลาเราพูดถึงเรื่องความยั่งยืน คำว่า ‘Sustainability’ อย่างเดียวไม่พอแล้ว มันต้องการอะไรที่ไปได้ไกลกว่านั้น นั่นคือ ‘Regenerative”

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล หรือคุณหนุ่ย ผู้อำนวยการ Sustainable Brands (SB) Thailand ย้ำคำนี้กับเราถึงแนวคิดหลักของงานประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘SB’23 BANGKOK CHANTHABURI: Regenerating Local Food & Future’ ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนสมดุลโลกเพื่ออนาคต ผ่านการฟื้นคืนระบบอาหาร

ก่อนที่งานประชุม SB’23 จะเกิดขึ้นในวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2566 เราได้มีโอกาสสนทนากับคุณหนุ่ย หนึ่งในบุคคลที่ทำงานขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมโดยมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง มากกว่า 8 ปีนับจากวันที่คุณหนุ่ย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนประเทศไทยของ Sustainable Brands (SB) เธอได้จัดงานประชุมระดับโลกขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีวิทยากรจาก Sustainable Brand (SB) Global ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา และ SB ในประเทศต่างๆ รวมถึงวิทยากรจากองค์กรในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และหาคำตอบเพื่อสร้างโลกของธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนสำหรับอนาคต

การผ่านเข้ามาของโควิด-19 ที่สร้างความระส่ำระสายในทุกมิติ ได้ช่วยสะท้อนทิศทางของโลกที่หมุนเปลี่ยนไปในทางลบ จนสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงให้กับธรรมชาติและทุกชีวิต การร่วมกันหาคำตอบถึงหนทางที่จะไปต่อโดยชุมชนนักคิด นักสร้างสรรค์ นักสร้างแบรนด์ นักธุรกิจ จึงเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ ซึ่งในปีนี้ คำตอบของคำว่า ‘ความยั่งยืน’ มีคำว่า ‘Regenerative’ เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ในการต่อภาพของคำว่ายั่งยืนให้สมบูรณ์และไปได้ไกลขึ้น

และ SB’23 จะพาเราไปรู้จักคำนี้อย่างลึกซึ้ง ผ่านกิจกรรมคัดสรรที่พาเราไปไกลกว่าห้องประชุม

การสร้างความยั่งยืนผ่านการฟื้นคืนไปได้ไกลกว่า
“แปดปีที่เราจัดงาน SB มา เรามีคำว่า Sustainability เป็นปลายทางอยู่ แต่หลังจากที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ของสิ่งแวดล้อม และเห็นสังคมที่ผ่านช่วงโควิดมา คนเริ่มเข้าใจแล้วว่าแค่คำว่า Sustainable ซึ่งเป็นวิธีการนั้นไม่พอ มันถึงจุดที่จะต้องพัฒนาไปให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเวลาเราพูดเรื่องความยั่งยืน เราจะพูดกันอยู่ในเรื่อง 3R คือ Reuse, Reduce, Recycle ซึ่งถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าเป็นคำที่โฟกัสกับปัจจุบันทั้งนั้น คือการนำกลับมาใช้ซ้ำ ลดการใช้สิ่งที่ย่อยสลายยากซึ่งอาจกลายเป็นภาระของโลกในระยะยาวนับพันปีเช่นพลาสติก และการเปลี่ยนรูปแบบของที่เคยใช้แล้วผ่านกรรมวิธีให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประโยชน์

“แต่เพื่อทำให้ปัจจุบันไปได้ไกลมากขึ้นเราต้องมีแนวคิด Regenerative ซึ่งหลักของคำนี้คือคำว่า ‘Restore’ การดึงกลับมา เพราะคำนี้คือการบอกว่า การจะสร้างความยั่งยืนให้กับโลกอย่างแท้จริง มันต้องไปดึงเอาสิ่งที่เคยเป็นความอุดมสมบูรณ์ และพยายามฟื้นคืนสิ่งที่เคยเป็นทรัพยากรสำคัญกลับมา”

Regenerative จึงเป็นการให้คุณค่า ใส่ใจทั้งระบบที่เกื้อกูลกันให้กลับมา ไม่ใช่แค่ยืดเวลาจากสิ่งที่มีอยู่ให้นานที่สุด แต่เป็นการมองอย่างสัมพันธ์ และมองไปไกลถึงโลกอนาคต นำความอุดมสมบูรณ์กลับมา และสร้างสิ่งที่เสียไปหรือหายไปให้กลับมาขยายตัวเพิ่ม เพื่อให้เป็นโอกาสและทางออกที่สังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังต้องการในตอนนี้

คุณหนุ่ยเล่าว่า SB Global ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Regenerative มาเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วแล้ว เมื่อ SB Thailand นำกระบวนทัศน์นี้มาใช้ ก็ได้มาประยุกต์กับบริบทในไทยเพื่อให้ตอบโจทย์กับสังคมไทย ด้วยธีม ‘Regenerating Local Food & Future’ ผ่าน 2 หัวข้อใหญ่ที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาธุรกิจและศักยภาพของประเทศ คือเรื่อง Food System (ระบบอาหาร) และ Placemaking (การฟื้นฟูและสร้างพื้นที่ให้เป็นจุดกำเนิดของความฟื้นคืนความยั่งยืน)

“เรามีความมั่นใจว่าธุรกิจอาหารเป็นหัวใจหลักของประเทศ เราเลยทำเรื่อง Regenerative Food เพราะเชื่อว่าถ้าเราทำให้ระบบอาหารมีการเปลี่ยนแปลง อนาคตก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะเรามีผู้คนที่อยู่ในระบบอาหารเยอะมาก เป็นการเปิดแนวคิดใหม่ๆ ให้พี่น้องคนทำแบรนด์ทำธุรกิจที่ใส่ใจกับเรื่องนี้ได้เห็นวิธีการที่กว้างมากขึ้น ลึกมากขึ้น และที่สำคัญคือ ความเชื่อมโยงของทั้งระบบ”

กรุงเทพฯ-จันทบุรี สองพื้นที่เรียนรู้
ความพิเศษของ SB’23 คือ นอกจากจะเป็นการประชุมที่เกิดจากความร่วมมือของสองประเทศ คือ SB Thailand และ SB Spain แล้ว ยังได้จัดกิจกรรมขึ้นในสองพื้นที่ คือกรุงเทพฯ และจันทบุรี โดยที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้นั้น จะจัดขึ้นที่ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่โรงแรมศิวาเทล โรงแรมที่สร้างธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนมาตั้งแต่แรกเริ่มจนปัจจุบัน

ส่วนวันที่ 4-5 พฤศจิกายนนั้น จะเป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการจริง ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะเจาะประเด็นทั้งสองอย่างลงลึก และนำกรณีศึกษาระดับนานาชาติมาส่งต่อให้กับคนทำแบรนด์ นักธุรกิจ นักคิด และคนทั่วไป ที่มีความใส่ใจในเรื่องนี้ ได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการใช้วิธีการต่างๆ และการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เกิด ‘Regenerative Future’ ได้จริงในประเทศไทย โดยมีพริกไทยและกระวาน พืชสำคัญของจันทบุรีเป็นวัตถุดิบชูเรื่องและชูโรง

“ไทยกับสเปนมีอะไรที่คล้ายกันในแง่ภูมิศาสตร์และไลฟ์สไตล์ของคน และเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร เราเลยชวนมาทำอะไรร่วมกัน ซึ่ง global speaker ที่จะมาในงานนี้มีสามคน คือมาร์ค บัคลี่ย์, เจนนี่ แอนเดิร์สซัน, และซานดร้า ปีน่า”

ขยายความต่อสักนิดว่า มาร์ค บัคลีย์ คือนักคิดและนักปฏิบัติการด้านอาหาร และเป็นตัวแทนความยั่งยืนจาก UNSDG ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการทำงาน ESG และการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงมามากมาย เป้าหมายของเขาคือการปฏิรูปการเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม หรืออุตสาหกรรมที่อาจสร้างผลกระทบอย่างรวดเร็ว และยังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบรรยายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปฏิรูปอาหาร ครั้งนี้เขาจะพูดคุยในหัวข้อ ‘The Regenerative Food System : Food That Save The Future’ และร่วมเวิร์กช็อปถึงวิธีที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในประเทศไทย

ส่วนเจนนี่ แอนเดิร์สซัน ซีอีโอจาก We Activate The Future ผู้ร่วมก่อตั้ง The Really Regenerative Centre เป็นนักวางกลยุทธ์สร้างสรรค์ และเป็นที่ปรึกษาที่ได้รับการยอมรับและให้ความสำคัญในการทำงานกับองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องความยั่งยืน ผ่านการปรับใช้กลยุทธ์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน จะพูดคุยในหัวข้อ ‘The Regenerative Future : Real Business Cases’ และร่วมเวิร์กช็อปอย่างเจาะลึกเป็นครั้งแรกในเอเชีย เรื่อง Regenerative Placemaking

ขณะที่ซานดร้า ปีน่า ผู้อำนวยการทั่วไปของ SB ประเทศสเปน และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ SB Global จะพูดคุยในหัวข้อ ‘Role of The Regenerative Brands’ และร่วมเวิร์กช็อปว่าแบรนด์จะทำอย่างไรให้การฟื้นคุณค่าจากสิ่งที่คุณมีให้เป็นจริงได้ ผ่านเครื่องมือพิเศษของ SB คือ Brand Transformation Roadmap

“เจนนี่กับมาร์คมาจากโกลบอล เราก็จะได้รับฟังแง่คิดในระดับโลก ในขณะที่เราซึ่งเป็นฝั่งธุรกิจและเกษตรกรในไทย ก็จะพูดคุยกับเขาว่าเราเจอปัญหาอะไรบ้าง คนที่มาร่วมเวิร์กช็อปซึ่งเป็นคนไทยและต่างชาติที่สนใจในประเด็นนี้ก็จะได้ร่วมกันคิดหาทางออก เช่น ถ้าเราจะเอาเรื่องพริกไทยมาผูกโยงกับเรื่องท่องเที่ยว จะออกมาในรูปแบบไหน หรือถ้าเราจะเอากระวานมาสร้างอนาคตเพิ่มเติมให้กับเมืองจันท์ เราจะผูกโยงเขากับเรื่อง marketing และ branding ในมิติไหนได้บ้าง และทั้งสองคนก็จะได้เรียนรู้เหมือนกันว่าเมืองจันท์ของเรามีดีอะไร แล้วเราจะช่วยกันฟื้นฟูยังไงเพื่อให้ไปได้ถึงอนาคต

“และเป็นครั้งแรกของการจัดงาน ที่เราจะมีช่วงเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน ได้ตั้งคำถาม หาคำตอบจากวิทยากร เพราะเขาจะต้องเป็นคนที่สานต่อเรื่องความยั่งยืนในอนาคต ขณะเดียวกันก็มีการออกร้านของผลิตภัณฑ์ยั่งยืนจากไทยและสเปน ที่จะมานำเสนอ Regenerative Products ให้ได้สนุกสนาน และมองเห็นว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ใกล้แบบทำได้จริง จนเราทุกคนสามารถเรียนรู้และสามารถปรับใช้กับตัวเอง ครอบครัว ชุมชน องค์กร หรือประเทศชาติได้”

คุณหนุ่ยฉายภาพกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ก่อนพาเรามุ่งหน้าสู่จันทบุรี จังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์หลากหลาย ทั้งในเรื่องอาหาร วัตถุดิบการเกษตร และสถานที่ที่สมบูรณ์ด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่นั่นมีพริกไทยจันท์พันธุ์แท้และลูกกระวานรอเราอยู่

ตามหาพริกไทยจันท์-กระวาน วัตถุดิบทองคำที่รอการฟื้นคืน
แม้จันทบุรีจะเป็นแหล่งปลูกพริกไทยแหล่งใหญ่ของไทย แต่สายพันธุ์ที่ปลูกกันนั้นกลับเป็นสายพันธุ์มาเลเซีย ขณะที่พริกไทยจันท์แท้ๆ ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองนั้น กลับกำลังสูญหายจากการเข้ามาแทนที่ของพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งจากการสำรวจของทีมงาน SB Thailand พวกเขาพบว่า มีพริกไทยจันท์พันธุ์ดั้งเดิมเหลืออยู่เพียง 30 ต้นเท่านั้น

ส่วนกระวานที่เรากำลังออกตามหา คือลูกกระวานที่หลงเหลืออยู่เพียงบนพื้นที่สูงอย่างภูเขา เพราะธรรมชาติของกระวาน หากปลูกในพื้นราบจะไม่ออกเมล็ด เราจึงมักพบแต่เพียงหน่อกระวานที่นำมาบริโภคในมื้ออาหาร ทั้งที่ในอดีตนั้น พริกไทยพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีฤทธิ์ร้อน และลูกกระวานซึ่งมีฤทธิ์เย็น คือผลผลิตส่งออกที่เคียงคู่กันเสมอ

“พวกเราไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่เราเป็นคนทำธุรกิจ เป็นคนทำแบรนดิ้ง ดังนั้นเราจะไม่ได้พูดว่า พริกไทยและกระวานปลูกยังไง แต่เราจะสร้างความเชื่อมโยงว่า เราจะสามารถผูกโยงเรื่องนี้ไปสู่การท่องเที่ยวได้ยังไง เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างรายได้ เราต้องเอาเรื่องเหล่านี้มาผูกโยงกับวิถีในการสร้างมูลค่าเพิ่ม”

คุณหนุ่ยชี้ให้เห็นว่า จันทบุรีมีความพร้อมเพราะมีคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่องความยั่งยืนอยู่ในพื้นที่ กิจกรรมปูพื้นสำหรับผู้ร่วมงานในวันที่ 4 จึงเป็นดินเนอร์มื้อพิเศษในธีม ‘Herb-Heritage-Hope’ ด้วยแนวคิด Regenerative สัมผัสกับรสจันท์ที่กำลังจางหายจากคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าและเชฟรุ่นใหม่ที่ใส่ใจอดีต และการกู้คืนสูตรต้นตำรับอาหารเมืองจันท์ที่แท้จริงให้ฟื้นคืนมา

“ถ้าเป็น Sustainable เราจะคิดแค่ว่า ดึงเอาเมนูกลับมาใช้ให้ยั่งยืนไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็น Regenerative เราจะต้องหาให้ได้ว่าทำไมมันจึงจางหาย แล้วถ้าเอากลับมาจะได้ประโยชน์อะไร อะไรคือศักยภาพ นี่คือความต่างกันของสองคำนี้”

และในวันถัดมา จะเป็นการร่วมเวิร์กช็อปที่สุธีร์ ออร์แกนิกฟาร์ม ในหัวข้อ ‘The Regenerative Food’ และ ‘The Regenerative Placemaking’ เพื่อร่วมเรียนรู้การนำแนวคิด Regenerative ไปใช้จริงในระบบเกษตร อาหาร และระบบการฟื้นฟูเมืองที่ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว

“แต่เป็นการกอบกู้ชีวิตและเสน่ห์ที่แท้จริงของเมืองจันท์ให้กลับมาอีกครั้ง ผ่านเรื่องราวของพริกไทยและกระวาน ที่อุดมคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และมีแง่มุมทางประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันพืชสำคัญสองชนิดนี้กำลังจางหายไป เราจะมาร่วมตั้งคำถามและหาคำตอบกับคนจันทบุรีว่า จะฟื้นคืนคุณค่าของพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองและกระวานให้กลับมาได้อย่างไร โดยมาร์คและเจนนี่จะนำกระบวนการเวิร์กช็อปด้วยตัวเอง

“เราอยากดึงให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่า พืชพันธุ์ของจันทบุรีไม่ได้มีแค่ทุเรียนหรือลองกอง แต่เราพูดถึงอะไรที่สเกลเล็กกว่านั้นคือพริกไทยและกระวานที่มีอนาคตมากมายในแง่ที่ทั้งเป็นอาหารและอาหารเป็นยา มันจะเป็นวาระที่ทำให้คนได้เห็นความสำคัญกับคำว่า ‘authentic’ ทำให้เกษตรกรได้เห็นว่า หลายสิ่งหลายอย่างมีคุณค่าในตัวเองโดยธรรมชาติ และมันสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้”

คำอธิบายของคุณหนุ่ย เชื่อมโยงให้เราเห็นถึงความสำคัญของการฟื้นทรัพยากรที่เคยมีคุณค่าและมูลค่า ขณะเดียวกันเธอก็ให้ความเห็นว่าในแง่มุมของการทำธุรกิจว่า หากแบรนด์ขับเคลื่อนในแนวทาง Regenerative มากขึ้น ก็จะเป็นผลดีกับทุกคน ในวันที่โลกต้องการการฟื้นคืนความสมดุล

“เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าบางสิ่งบางอย่างอาจเกิดขึ้นมาและหายไป หากสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่เรื่องที่มีคุณค่าอยู่ในตัวซึ่งโดนมองข้าม บางครั้งเพียงแค่หันกลับไปมองและหยิบขึ้นมา เพื่อค้นหาว่าคุณค่าของสิ่งนั้นอยู่ที่ไหน อาจสร้างความมหัศจรรย์ให้กับคนในยุคนี้และยุคต่อไปได้ เช่นคุณอาจคิดว่าแพลงตอนเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญ จนพบว่าแพลงตอนเหล่านี้มีคุณค่ากับโลกใต้น้ำมากแค่ไหน

“ถ้าคุณไม่เห็นระบบที่เอื้อและเกื้อกูลต่อกัน คุณจะไม่สามารถฟื้นอะไรขึ้นมาจากฐานรากได้เลย และเพียงแค่เพราะสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในระบบชีวิตของเรา ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่สำคัญในระบบของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และโลกด้วย เพราะสุดท้ายแล้วแบรนด์ของคุณจะไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคนึกถึง แต่การค้นพบถึงคุณค่าของแบรนด์จากแก่นข้างใน สามารถเปลี่ยนโลกของคนทำแบรนด์และผู้คนที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด รวมทั้งต่อให้เจออีกกี่วิกฤต เราก็จะกลับมาเข้มแข็งและพร้อมจะฟื้นฟูคุณค่าของทุกสิ่งที่สำคัญ ที่สัมพันธ์กับทุกชีวิตและธรรมชาติให้เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างงดงามเสมอและตลอดไป

คุณหนุ่ยทิ้งท้ายถึงความคาดหวังจากงานประชุม SB’23 นี้ว่า “หวังว่าจะมีก้าวต่อๆ ไปที่ต่อยอดจากสิ่งที่เราไปทำกิจกรรมออกมาอีกเยอะๆ เป็นก้าวย่างที่ดีขนาดที่มาร์คกับเจนนี่อยากจะกลับมาดูผลงานที่ทำเอาไว้ และเราหวังว่าจันทบุรีจะเป็นต้นแบบของการทำเรื่อง Regenerative ให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้ ที่สำคัญอย่างยิ่งเราอยากให้ Local Brands ได้แสดงบทบาทให้โลกเห็นว่า เรามีความสามารถและศักยภาพขนาดไหนในการเป็นส่วนหนึ่งของระบบการฟื้นคืนอนาคต”

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่สนใจอยากจะเข้าร่วมเรียนรู้ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘SB’23 BANGKOK CHANTHABURI: Regenerating Local Food & Future’ สามารถซื้อบัตรเข้าร่วมงานได้ที่ www.sbthailand.com หรือติดต่อคุณดรุณี โทร. 081-817-0453 เวลา 09.00 – 18.00 น. ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2566 ราคาบัตรเข้าร่วมทุกกิจกรรม เริ่มต้นที่ 30,000 บาท และพิเศษ EARLY BIRD สำหรับทุกกิจกรรม เพียง 27,000 บาท